×

จั๊ด-ธีมะ กาญจนไพริน ชำแหละตัวตน วิธีคิด สังคม การเมืองยุคไทยแลนด์ 4.0

13.02.2018
  • LOADING...

 

จะเป็นเพราะด้วยลีลา แววตาขึงขัง ฝีปากจัดจ้าน ผสมกับกิมมิกเล่าข่าวแบบจิกกัดปนขำ หรือเป็นเพราะประเด็นข่าวที่สังคมกำลังสนใจอยู่ก็ตามที แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำหน้าที่พิธีกรข่าวของ จั๊ด-ธีมะ กาญจนไพริน ผ่านรายการ ‘จั๊ดซัดทุกความจริง’ ทางช่อง ONE 31 นั้นกำลังโด่งดังและถูกแชร์บนไทม์ไลน์โซเชียลมีเดียอย่างมากมายในระดับที่เจ้าตัวยังยอมรับว่า ‘ถูกจดจำ’ มากที่สุดในชีวิต  

 

ย้อนกลับไป จั๊ดเริ่มต้นงานในสายบันเทิงมานานหลายปี ผ่านมาแล้วทั้งอาชีพนักจัดรายการวิทยุฝีปากกล้า พิธีกรรายการบันเทิง ไปจนถึงงานแสดงภาพยนตร์และละคร ก่อนจะได้รับโอกาสให้กระโดดสู่สนามการเมืองในยุคที่ความขัดแย้งในประเทศกำลังรุนแรง ซึ่งในเวลาเดียวกันนั้นเองที่เขาเริ่มผันตัวสู่ ‘สนามข่าว’ แถมยังทำมันได้ดีจนกลายเป็นกระแสโด่งดังที่ไม่ใช่เฉพาะทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่เรตติ้งรายการข่าวของเขาทางช่อง ONE 31 ก็สูงส่งในระดับท็อปด้วยเช่นกัน

 

วันนี้เมื่อสปอตไลต์ฉายส่อง น่าสนใจว่าเขามองปรากฏการณ์ครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นกับชีวิตตัวเองในแง่มุมไหน โด่งดังแล้วจะยังไงต่อ จริงไหมที่คนชื่นชอบเขาก็มากล้น ขณะที่คนชังเพราะแบ็กกราวน์ทางการเมืองก็มากมาย กลิ่นพรรคการเมืองสีฟ้าติดตัวมีปัญหาอะไรไหม ตกลงว่าทัศนคติในฐานะคนข่าวของ ‘จั๊ดซัดทุกความจริง’ เป็นแบบไหน คนข่าวต้อง ‘กลาง’ หรือ ‘เอียง’ ได้

 

อ่านคำตอบจาก ‘ปาก’ พิธีกรข่าวที่ผ่านร้อนผ่านหนาวเพราะปากด้วยตัวเองเลยก็แล้วกัน

 

 

ย้อนกลับไปเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าคุณเริ่มเข้ามาเป็นคนข่าวได้อย่างไร

ผมเริ่มเป็นคนข่าวจากการจับพลัดจับผลู คือธรรมชาติของผมเป็นคนชอบคุยเรื่องพวกนี้อยู่ก่อนแล้ว ย้อนกลับไป ความจริงคำว่า ‘judgejudd’ ที่ผมใช้ในแอ็กเคานต์ทั้งหมดทางโซเชียลเน็ตเวิร์กมันมาจากรายการวิทยุที่ผมเคยจัดในสังกัด RS ในยุคนั้นชื่อรายการ จั๊ดดดด-จัด โปรดิวเซอร์ตั้งชื่อนี้ให้เพราะเป็นคนจัดมาก   

 

การโดนพักงานครั้งแรกในตอนนั้น ความจริงผมไม่รู้ตัวนะ เช้าวันนั้นผมก็เข้าไปจัดรายการตามปกติคือเวลา 8 โมงเช้าถึง 11 โมง ธรรมชาติของผมคือจะเอาหนังสือพิมพ์มากาง หนังสือพิมพ์จะเตรียมมาเยอะ เปิดเพลงเสร็จผมก็เล่าข่าวโน่นนิดนี่หน่อย คือตอนแรกผมก็เป็นดีเจสายตลกโปกฮาแหละ แต่ระยะหลังผมมาเล่าข่าวแบบตลก  

 

กระทั่งมีอยู่วันหนึ่ง เป็นเช้าวันที่คุณสมัคร สุนทรเวช ถึงแก่อนิจกรรม (24 พฤศจิกายน 2552) ผมก็หยิบเอาเพลง โลกหมุนเวียน (ต้นฉบับร้องโดย เอื้อ สุนทรสนาน) ซึ่งเป็นเพลงที่คุณสมัครชอบและเคยร้องไว้บนเวทีหนึ่งขึ้นมาเปิด เนื้อหาในเพลงบอกไว้ว่า คนเราเนี่ย มีชีวิตอยู่ก็ทำอะไรให้มันดีเถอะ เพราะเมื่อตายแล้วมันเอาอะไรไปไม่ได้ พอเปิดออกไป หลังจากนั้นผมโดนพักงานเลย 1 สัปดาห์

 

เหตุผลคือคุณไปพูดอะไรที่รุนแรงเกินไป แต่ความจริงคือผมไม่ได้พูด ผมแค่เปิดเพลงนี้ออกไปในวันที่คุณสมัครเสียชีวิต เป็นเวอร์ชันที่คุณสมัครร้องเอง เนื้อหาคือตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ แล้วก็พูดปิดท้ายว่าวันนี้เป็นวันที่ท่านถึงแก่อนิจกรรม สำหรับผู้ใหญ่ ผมคงดูไม่เคารพคนตายซึ่งเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นไม่รู้ตัว เป็นวัยรุ่น พักก็พัก  

 

หลังจากนั้นผมออกจาก RS ไปทำงานให้กับอีกบริษัทหนึ่ง กระทั่งปลายปี 2554 ประเทศไทยเจอวิกฤตน้ำท่วม ผมก็ทำคลิปวิดีโอด่าฉิบหายวายป่วง คือไม่ได้รู้สึกรักหรือชอบใครหรอก แค่น้ำมันท่วม ผมก็เลยเปิดคอมพิวเตอร์ในห้องนอน บันทึกภาพและเสียงแล้วอัปโหลดมันขึ้นไปบนอินเทอร์เน็ต ผลปรากฏว่ามันเป็นคลิปที่คนพูดถึงมาก คนดูเพียบเลย แต่นอกเหนือจากคนดูเพียบคือตกงานด้วย   

 

 

บริษัทให้เหตุผลในการพักงานไหมว่าเป็นเพราะอะไร

น่าจะเป็นเพราะผมไปพูดเรื่องน้ำท่วมนี่แหละถึงทำให้ผมโดนพักงาน ปกติการพักจากการจัดรายการวิทยุเนี่ย เขาจะพักครั้งละสัปดาห์ แต่คราวนี้หลังจากผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ ผมโทรศัพท์กลับไปถามว่าจันทร์หน้าผมกลับไปทำงานได้หรือยัง เขาบอกว่า ‘ยัง’ พอผ่านไปสัปดาห์ที่สอง โทรกลับไปถามใหม่ว่าทำได้หรือยัง คำตอบคือ ‘ยัง’ พอเข้าสัปดาห์ที่ 3 เขาถึงได้บอกว่าไม่ต้องมาทำแล้ว ซึ่งในตอนนั้นผมไม่มีงานบนหน้าตักเลย หน้าที่การงานของผมเป็นศูนย์  

 

หลังจากนั้นอยู่ดีๆ ก็มีเคเบิลช่องหนึ่งคือ Bluesky ที่ตอนนั้นเขาเพิ่งเปิดช่องใหม่ๆ เลย โทรมาถามผมว่าอยากทำรายการทีวีไหม เราเพิ่งเปิดสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ถ้าสนใจลองเข้ามาคุยกัน ผมก็เข้าไปคุย พอคุยเสร็จผมได้จัดรายการเลย เป็นรายการทีวีรายการแรกๆ ของช่อง และผมเป็นรุ่นแรกของ Bluesky จนถึงตอนนี้ทำรายการ ฟ้าทะลายโจร มากำลังจะครบ 7 ปีแล้ว (ปัจจุบัน Bluesky ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ฟ้าวันใหม่)  

 

ซึ่งในระหว่างที่จัดรายการนั้นมันก็ต้องมีเรื่องการเมือง คราวนี้ผมเริ่มเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง เริ่มเข้าไปทำงานในสภา ทีนี้จมลึกเลย แล้วในระหว่างนั้นประเทศไทยก็เริ่มมีความขัดแย้งทางการเมือง ผมเองก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับเขาด้วย แต่ขณะเดียวกัน ช่วงนั้นผมก็ได้ทำรายการบันเทิงควบคู่ไปด้วยที่ช่อง Play Channel (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น GTH On Air) เพราะการทำรายการการเมืองอย่างเดียวรายได้มันน้อย ก็อยู่ไม่ได้ โชคดีว่ารุ่นพี่ผมที่เรียนคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ อยู่ที่ GTH กันเยอะ เขาเห็นผมไม่ค่อยมีงาน เลยให้เข้ามาทำรายการบันเทิงไปพลาง ทำการเมืองไปพลาง กลายเป็นหนึ่งร่างสองวิญญาณคู่ขนานกัน

 

จนกระทั่งปี 2558 ผมมีโอกาสได้ทำรายการข่าวที่ออกอากาศสัปดาห์ละครั้ง ชื่อ Sunday Summary ทางช่อง GMM 25 เป็นรูปแบบการเล่าข่าวที่จะฮาๆ หน่อย หลังจากนั้นช่อง ONE ก็ชวนว่าลองมาเล่าข่าวดูไหม แต่คราวนี้เป็นข่าวแบบข่าวจริงๆ แล้วนะ ไม่ใช่ทำรายการข่าวแบบกึ่งๆ วาไรตี้ คือคุณไปเป็นผู้ประกาศข่าวแบบเต็มตัวเลย อยู่กับกองบรรณาธิการข่าว ทำงานแบบเป็นผู้สื่อข่าว สนใจจะมาไหม ตอนแรกก็คิดอยู่ เพราะไม่เคยทำสายนี้มาก่อน แต่สุดท้ายผมบอกว่าทำ แล้วพอเข้ามาช่อง ONE ผมก็ได้เล่าข่าวตั้งแต่ตอนนั้น

 

เคยคิดไหมว่าอยู่ๆ วันหนึ่ง แทบตลอด 24 ชั่วโมงของคุณจะต้องอยู่กับข่าวสารตลอดเวลาขนาดนี้  

ไม่นึกเลยครับ สมัยเรียนผมรู้ตัวตั้งแต่ ม.ปลาย ว่าจะต้องเรียนนิเทศศาสตร์ให้ได้ ผมเรียนที่เตรียมอุดมศึกษา ระหว่างเรียนผมทำละครเวทีไปด้วย โอ้โห รู้สึกว่าชอบการแสดงมาก คิดเลยว่าโตขึ้นเราจะต้องอยู่ในวงการละครเวที หรือถ่ายละคร

 

หลังจากนั้นพอจบ ม.ปลาย ผมเข้าไปเรียนที่นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ทุกคนจะรู้จักผมดีในฐานะนักทำละครเวที อยู่แต่กับละครเวทีตั้งแต่ปี 1 ยันปี 4 ทั้งเขียนบท ซ้อมการแสดง เป็นแอ็กติ้งโค้ชบ้าง ได้เป็นผู้กำกับบ้าง ตอนเป็นรุ่นพี่ปี 4 ผมชอบการแสดงมาก เคยอยากไปเรียนต่อด้านการแสดงด้วยซ้ำ แต่ลงท้ายการแสดงมันก็ไปได้ไม่ดี ผมเคยรับบทเป็นเพื่อนพระเอก เป็นตุ๊ด เป็นแต๋ว เป็นผู้สื่อข่าว เป็นเพื่อนนางร้าย ฯลฯ เป็นบทประเภทที่ไม่ได้มีตลอดเวลาเพื่อให้เราสามารถจะยึดเป็นอาชีพหลัก

 

พอชอบและฝันแบบนี้ เราเลยไม่คิดไม่ฝันว่าวันหนึ่งจะได้มาอยู่ในวงการข่าว หรือคนจะรู้จักเราในฐานะคนเล่าข่าว เพราะเมื่อก่อนก็ไม่ได้สนใจข่าว แต่ชีวิตก็พาเราไหลมาเอง

 

แน่นอนว่าชื่อของธีมะ กาญจนไพริน เคยเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองไทยอยู่พักหนึ่ง ถามจริงๆ ถึงวันนี้แม้จะเข้ามาสู่สนามข่าว แต่กลิ่นการเมืองยังติดตัวคุณแค่ไหน และมันส่งผลกับหน้าที่การงานที่กำลังไปได้ดีของคุณบ้างไหม

มีครับ มีคนรู้สึกอยู่ในคอมเมนต์เยอะ ทุกวันนี้คนก็ยังมีความอคติครับ จริงๆ แล้วมีหลายกระแสเหมือนกันว่าการที่ผมมารายงานข่าวที่ทีวีดิจิทัลเนี่ย มันเป็นความพยายามในการจะล้างภาพของผม ล้างภาพความเป็นการเมือง เป็นซีก เป็นฝั่งออกไป ซึ่งบอกเลยว่าผมไม่ได้พยายามจะล้าง

 

อย่างเวลาผมมาจัดรายการที่ช่อง ONE ผมได้เจอกับคุณบอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ (

ประธานกรรมการฝ่ายบริหาร สถานีโทรทัศน์ช่อง ONE) คุณบอยบอกว่า “เวลาคุณเล่าข่าวการเมือง คุณต้องระวังมากเลยนะ เพราะต้องอย่าลืมว่าคุณเคยเป็นคนการเมืองของฝั่งหนึ่งมาก่อน ดังนั้นเวลาคุณเล่าข่าวการเมือง คุณต้องคิดให้มากกว่าเดิมอีกสองเท่า

 

ผมก็คิดมากจริงๆ นะ แต่ผมก็อยากให้ท่านผู้ชมลองติดตามต่อไป เพราะผมเชื่อว่าช่วงเวลานี้หลายๆ อย่างมันยังนิ่ง เราต้องรอดูช่วงเลือกตั้ง รอดูหลังจากเลือกตั้งว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล ถึงเวลานั้นเดี๋ยวมาดูกันว่าถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลแล้วผมจะกล้าด่าเขาไหม ผมเชื่อว่าตรงนั้นแหละจะเป็นจุดพิสูจน์

 

 

กล้าจริงๆ เหรอ

กล้าสิครับ ผมกล้าด่า ถ้าเข้ามาทุจริตผมด่าแน่ๆ มากไปกว่านั้นผมเชื่อว่าเราต้องแยกให้ออกระหว่างชีวิตส่วนตัวกับการทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว การเป็นผู้สื่อข่าวเนี่ย ถ้าผมไปเชียร์ประชาธิปัตย์สุดลิ่มทิ่มประตู ผมจะโดนสังคมสั่งสอนเอง ไม่ต้องห่วง โดยเฉพาะเมื่อผมรายงานอยู่ในทีวีดิจิทัล ผมไม่ทำตัวเองพังอย่างนั้นแน่นอน แต่ในฐานะประชาชนปกติ คุณรู้อยู่แล้วว่าถ้ามีการเลือกตั้ง ผมจะเลือกใคร  

 

ไม่ต้องแอ๊บว่าเชียร์พรรคสีฟ้า

ผมไม่แอ๊บ ผมไม่เถียง ถ้าดูการเมืองตะวันตกเนี่ย เราจะเห็นคาแรกเตอร์ของหลายๆ สถานีโทรทัศน์ ยกตัวอย่าง Fox News คุณจะรู้ว่าเขาเลือกรีพับลิกัน ถ้าดูแอนเดอร์สัน คูเปอร์ (ผู้สื่อข่าวและผู้ดำเนินรายการ Anderson Cooper 360° ทางสถานีโทรทัศน์ CNN) คุณจะรู้ว่าเขาเลือกใคร หรือถ้าคุณดูจอห์น โอลิเวอร์ (พิธีกรรายการคุยข่าว Last Week Tonight with John Oliver ออกอากาศทุกคืนวันอาทิตย์ ทางช่อง HBO) คุณจะรู้ว่าเขาเลือกใคร

 

ฉะนั้นถ้าใครติดตามรายการข่าวของเมืองนอก คุณจะรู้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่คนคนหนึ่งจะประกาศอย่างชัดเจนว่า “ฉันเล่าข่าวก็จริงนะ แต่ถึงเวลาเลือกตั้ง ฉันจะไปเลือกคนนี้” ผมเชื่อว่าเราต้องเป็นแบบนั้น เพราะผู้ประกาศข่าวทุกคนที่คุณเห็นอยู่ในช่องทีวีของเมืองไทยเนี่ย เมื่อถึงเวลาเข้าคูหา เขาไม่กา 2 เบอร์หรอกครับ เพราะนั่นคือบัตรเสีย

 

แต่ขณะเดียวกัน ผมก็เชื่อด้วยว่าไม่มีใครหรอกที่จะสามารถเชียร์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู หรือไม่พูดถึงเลย ในขณะที่ฝั่งที่คุณเชียร์เขากำลังทำผิด ฉะนั้นเราว่ากันเป็นเคสๆ ดีกว่า รอดูเถอะครับ สมมติว่าถ้ามีคนของพรรคประชาธิปัตย์ โอ้โห เละเทะมาก เราก็ต้องพูดอย่างสาดเสียเทเสีย ในขณะเดียวกัน ถ้าพรรคอื่นๆ ยกตัวอย่าง พรรคเพื่อไทย เขาคิดนโยบายเลือกตั้งออกมาแล้วมันว้าว เราก็ต้องยอมรับ ต้องมีคำชมให้เขาบ้าง นั่นคือการทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชน แต่เมื่อถึงวันเลือกตั้ง คุณรู้ดีอยู่แล้วว่าผมจะไปเลือกใคร  

 

…แล้วผมไม่ได้บอกนะครับว่าคนของประชาธิปัตย์ทุกคนเป็นคนดี ‘ไม่ใช่’ ผมไม่ได้บอกนะว่าทุกคนในเพื่อไทยทุกคนเป็นคนเลว ‘ไม่ใช่’ แต่ด้วยความที่การเมืองระบบประชาธิปไตยของไทยในปัจจุบันมันติดล็อกอยู่อย่างหนึ่งคือระบบพรรคการเมือง ยังไงก็ตาม ถ้าคุณจะเป็นตัวแทนประชาชน คุณต้องมีพรรคการเมืองเป็น represent ซึ่งผมไม่ได้บอกนะว่าไส้ในของทุกพรรคแม่งดี

 

ในพรรคการเมืองทุกพรรคมีคนประเสริฐเลิศเลอซ่อนอยู่ เพียงแต่เงื่อนไขในระบบพรรคการเมืองเขามันต้องเป็นพวกพ้องร่วมกันทำ มันไม่มีทางที่ใครจะสามารถเป็นวันแมนโชว์ ดังนั้นถ้าถามว่าผมปลื้มพรรคประชาธิปัตย์หรือผมปลื้มคนในพรรคประชาธิปัตย์ ผมขอใช้คำว่า ‘ปลื้มเป็นตัวบุคคล’ ครับ

 

ผมปลื้มตัวบุคคลเพราะผมรู้สึกว่าบางคนเป็นคนที่น่าเคารพ น่าศรัทธา เขาควรจะได้รับโอกาสเข้ามาทำงานการเมือง แล้วถามว่าในพรรคเพื่อไทยหรือว่าพรรคการเมืองอื่นๆ มีคนเก่งไหม มีครับ

 

เช่นกันในรัฐบาล คสช. ที่บริหารอยู่ตอนนี้มีคนเก่งและคนห่วยไหม มีครับ ผมก็ปลื้มเป็นตัวบุคคลไป ความจริงถ้าทำได้ก็อยากจะเอาคนเก่งเหล่านี้มารวมตัวกันด้วยซ้ำ แต่มันทำไม่ได้หรอก มันก็เลยต้องเลือกสักทีมหนึ่ง

 

 

ถ้าอย่างนั้นคำที่เขาบอกกันว่า ‘สื่อมวลชนต้องเป็นกลาง’ คุณก็ไม่น่าจะเห็นด้วย  

เป็นกลางเหรอ ไม่เห็นด้วย ไม่มีทาง ผมมองว่าเป็นภาวะอุดมคติที่คนในวงการข่าวนั้นสร้างสรรค์กันมาและพยายามจะเป็น แต่ในความเป็นจริงคุณลองไปเปิดดูทุกช่อง ถ้านั่งดูข่าวกับผม ผมจะบอกได้เลยนะว่าเขาอยู่ฝั่งไหน เขาเป็นกลางหรือไม่เป็นกลาง ยกตัวอย่าง คุณเปิดไปดู Voice TV เปิดไปดู News TV เปิดไปดู Spring News คุณจะรู้เลยว่าเขาฝั่งไหน หรือเปิดไปดูบางรายการ คุณรู้เลยว่าพิธีกรคนนี้มีแบ็กกราวน์ยังไง รายการข่าวเกือบทุกรายการที่พิธีกรข่าวมีตัวตนที่คนดูจำได้ ถ้าคุณติดตาม จะรู้เลยว่าเขาอยู่ฝั่งไหน

 

อีกอย่างผมเชื่อว่าการที่คุณพยายามจะเป็นกลาง นั่นเป็นกรอบที่ทำให้รายการข่าวของคุณไม่น่าสนใจนะ เพราะคุณจะเพลย์เซฟทุกอย่าง เพลย์เซฟทุกมุม จะเล่าอะไรแล้วคุณก็กั๊กอยู่ตรงกลาง

 

ผมยกตัวอย่างการเล่าข่าวสังคม เด็กมันตีกัน แล้วไอ้เด็กที่ตีกันเนี่ยนะแม่งตีกันมาวันแล้ววันเล่า ส่งเข้าสถานพินิจครั้งแล้วครั้งเล่า พอกลับไปเรียนมันก็ตีกันอีก กระทั่งวันหนึ่งมันตีเด็กตาย ถามว่าถ้าเล่าข่าวนี้ไปแบบเพลย์เซฟแล้วจบข่าวด้วยประโยค ‘…ทุกคนในสังคมต้องช่วยกันนะครับ’ แต่ความจริงคือเรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องที่สังคมจะไปช่วยอะไรได้ กูช่วยมึงมาหลายครั้งแล้ว มึงนั่นแหละที่ต้องรับผิดชอบตัวเอง เพราะสังคมช่วยมึงมาตลอด แบบนี้คือผมเล่าข่าวเอียง แต่ถามว่านี่เป็นความจริงของสังคมไหม ผมว่านี่เป็นความจริงของสังคม

 

เวลาดูคุณทำหน้าที่พิธีกรข่าวในรายการ บางทีก็รู้สึกว่าในความขำนั้นผสมไปด้วยภาษาจิกกัด เสียดสี ซึ่งแอบแรงอยู่เหมือนกัน นั่นเป็นความตั้งใจหรือเป็นตัวตน

ผมว่าไม่แรงไปนะ ผมคิดว่าพยายามนำเสนออยู่ในกรอบของตัวเองมากกว่า และถ้าผมไม่ทำนะ พิธีกรข่าวหลายคนของหลายช่องที่เขามีคาแรกเตอร์ เราต่างก็มีตัวตนของตัวเองเพื่อดึงดูดให้คนมาดูข่าว ซึ่งเป็นประโยชน์ แต่ทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าผมจะไม่ไปทำร้ายใครจนถึงขั้นผิดกฎหมาย ทุกวันนี้ผมพยายามรักษากรอบของตัวเองให้อยู่ในภาวะที่จะไม่เปิดช่องให้ใครมาดำเนินคดีกับผม ซึ่งถ้าไปถึงตรงนั้น เดี๋ยวจะเดือดร้อนทั้งผมและบริษัท

 

 

แสดงว่ามีกฎของตัวเองที่จะไม่ก้าวเกินไปกว่าเส้นนี้

ผมมีกฎ มีกรอบของตัวเองครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้ามาทำงานในทีวีดิจิทัล เมื่อก่อนผมจัดรายการทางสถานีการเมือง โอ้โห ไม่มีกรอบกว่าทุกวันนี้เยอะมาก เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว

 

มันต่างกันอย่างไร ทำไมตอนทำรายการช่องทีวีการเมืองถึงไม่กลัว แต่กลับมามีกรอบของตัวเองในช่องทีวีดิจิทัล

ผมมองอย่างนี้ครับ ตอนทำทีวีการเมืองคนดูค่อนข้างน้อยกว่าทีวีดิจิทัลและไม่มีการแชร์ต่อ มันเฉพาะกลุ่มมาก แต่พอเข้ามาทำทีวีดิจิทัล มาทำรายการข่าวให้ช่อง ONE คนดูเยอะขึ้นมาก ซึ่งเราต้องยอมรับว่าพอคนดูเยอะขึ้นมาก งานของเราเริ่มเข้าสู่โซเชียลมีเดีย เกิดการตัดคลิปบางช่วงบางตอนในรายการไปเผยแพร่ คราวนี้กลายเป็นทวีคูณ คือถ้าเราพูดถึงใครแป๊บเดียวเขารู้เลย ซึ่งตลอดช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาถือเป็นบทเรียนสำคัญของผมเลยนะ

 

ผมแปลกใจเหมือนกันนะว่าทำไมถึงได้รับความสนใจขนาดนี้ เชื่อไหมครับว่าเทปแรกที่คนเอาไปแชร์ทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ถ้าจำไม่ผิด มันเพิ่งเกิดขึ้นตอนช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมานี่เอง คือคลิป ‘ตำรวจเออเร่อ’ ซึ่งเชื่อไหมครับว่าเหตุการณ์ในคลิปนั้นเกิดขึ้นจากความผิดพลาดที่ผมไม่ได้ตั้งใจ

 

ตอนนั้นกะว่าเสิร์ชแล้วมีชื่อตำรวจขึ้นมาแน่นอน

มีแน่นอน เพราะผมเคยกดเข้าไปทดลองแล้วก่อนหน้านั้นมันมี พอถึงเวลาเข้ารายการผมก็เล่าข่าว หยิบขึ้นมาอีกทีแล้วตั้งใจจะเสิร์ชให้ผู้ชมดู อ้าว เออเร่อ (หัวเราะ) ทำอะไรไม่ถูกเลย แต่พอคลิปถูกตัดออกไปคนก็ชอบ

 

เรียกว่าสวรรค์ส่งมาให้ดังจริงๆ หลังจากนั้นกลายเป็นว่าค้นพบทางของตัวเอง

ไม่ได้ตั้งใจจริงๆ มันเกิดขึ้นจากท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ต้องขอบคุณท่านจริงๆ ที่ให้โอกาสผม เพราะหากไม่มีเธอวันนั้น ไม่มีฉันวันนี้ ตรงกับชื่อเพลงวง D2B เมื่อก่อนเลย (หัวเราะ)

 

สัปดาห์ต่อมาคือเรื่องหวย ไหนลองตั้งใจทำดู คือคิดแล้วว่าเมื่อสัปดาห์ก่อนคนชอบเว้ยเวลาเกิดความผิดพลาด หรือเวลาเล่าข่าวคุณต้องหามุกอะไรเล่น จึงค่อยๆ กลายเป็นความตั้งใจแล้วคนชอบจริงๆ หลังจากนั้นทำอะไรออกมาก็กลายเป็นที่พูดถึงตลอดเลย

 

ทุกวันนี้ความจริงมันทำให้ผมเครียดเลยนะ พอถึงวันพฤหัสบดีจะหงุดหงิดงุ่นง่าน พรุ่งนี้จะมีมุมอะไรให้เราเล่น กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ผมเข้าประชุมกับผู้บริหาร เขาเตือนมาคำหนึ่งว่า เฮ้ย เราอย่าติดกับดักนะ กับดักของเราตอนนี้คือพยายามคิดเฉพาะมุกที่จะเล่นจนละเลยคอนเทนต์ แต่ความเป็นจริงคือการทำข่าว คอนเทนต์ต้องมาก่อน แล้วจึงค่อยไปคิดมุกเสริม คิดแต่ว่าวันนี้จะเล่นอะไร วันนี้จะไปซื้ออะไรมาแต่งตัวดีวะ (หัวเราะ) พอรู้อย่างนี้ผมเลยต้องพยายามไม่ติดกับดักของตัวเอง เพราะถ้าเล่นมากไป ผมมองว่าแก่นของรายการข่าวจะเสียแล้วกลายเป็นซิทคอมไปซะ

 

 

หลังจากโด่งดัง ตอนนี้คุณสนุกกับงานข่าวขนาดไหน

สนุกครับ ต้องบอกว่าช่วงแรกๆ ที่เข้ามาทำรายการที่ช่อง ONE ผมมีความไม่เข้าใจในระบบของทีวีดิจิทัล และไม่เข้าใจในระบบของการวัดเรตติ้งพอสมควร เช่น ผมไม่เข้าใจว่าทำไมข่าวแบบที่ผมชอบมันไม่มีเรตติ้ง แล้วผมก็งงมากว่าข่าวที่คนดูชอบมักจะเป็นข่าวสังคมครับ ประมาณผัวฆ่าเมีย เมียฆ่าผัว ข่าวอาชญากรรม รถชน เกี่ยวกับเรื่องทางเพศ ฯลฯ หรือไม่ก็ข่าวที่มีคลิปวิดีโอที่เป็นภาพเหตุการณ์จริง มีดราม่าให้ติดตาม มีคำตอบให้ค้นหาว่าใครผิดใครถูก คนจะชอบมาก

 

แต่ถ้าใครย้อนกลับไปดู ผมจะไม่นำเสนอข่าวอุบัติเหตุแบบเอาคลิปมาเปิด ข่าวผัวเมียตีกัน หรือข่าวที่เป็นเชิงสังคมเพียวๆ ผมจะไม่ทำ แต่ผมจะเลือกทำข่าวที่เป็นเชิงนโยบายของภาครัฐด้วย เช่น ข่าวรถเมล์ โบกรถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ค่าครองชีพ ฯลฯ ข่าวเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องดราม่าอย่างเดียวนะครับ แต่มันเป็นเรื่องที่สั่นสะเทือนไปถึงคนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและคนที่อยู่ในวงการเหล่านี้ว่าทำไมเมืองไทยมันแก้กันไม่ได้สักที ทั้งๆ ที่ต่างชาติเขาแก้ไขได้ เราหยิบเอาเรื่องเหล่านี้มาพูด แต่พูดให้มันตลกโปกฮามากยิ่งขึ้น เพียงแต่มันเป็นตลกที่มีอะไร

 

ว่ากันตามตรง การทำหน้าที่ในแวดวงข่าว การที่ใครสักคนจะโดดเด่นออกมาเป็นที่จดจำจนสังคมยอมรับนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ตอนนี้ ‘จั๊ดซัดทุกความจริง’ โด่งดังมากในเวลาไม่นาน คุณมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร กลัวไหมว่าปรากฏการณ์นี้จะเหมือนพลุไฟประเภทที่มาไวไปไว

ผมเชื่อนะว่าผมสามารถไปได้เรื่อยๆ แบบนี้อีกพอสมควร จุดที่ผมคิดว่าคงทำไม่ได้คือจุดที่ทำให้รายการเป็นที่พูดถึงทุกสัปดาห์ ซึ่งตรงนี้ผมพยายามปรับทัศนคติแล้วว่าไม่เป็นไร เพราะการไม่ได้ถูกพูดถึงไม่ได้แปลว่าเราทำเนื้อหาไม่ดี เพียงแต่ข่าวในสัปดาห์นั้นอาจจะไม่มีกิมมิกบางอย่างให้เล่นจริงๆ หรือเราคิดกันไม่ออก แต่เพราะข่าวมันมาแบบนั้นจริงๆ ชีวิตคนในเนื้อข่าวมันไม่ได้เหมือนอย่างในบทละครที่เราสามารถจะสรรสร้างอะไรขึ้นมาก็ได้จากจินตนาการ แต่การรายงานข่าวไม่ใช่ เพราะเราต้องยึดอยู่กับสิ่งที่เป็นความจริงในสังคม

 

มันอาจจะมีบางสัปดาห์ที่โลกใบนี้ไม่เกิดอะไรที่มันว้าวมากจนสามารถจับมาเล่นได้ สิ่งนั้นแหละที่เป็นเหมือนพลุ แต่สิ่งที่ไม่เป็นพลุเลยและเป็นสิ่งที่คนทำงานสามารถจะนำเสนอไปได้เรื่อยๆ คือวิธีการย่อยข่าวให้ง่ายอย่างมีข้อมูล

 

ผมเชื่อว่าด้วยการที่ผมเป็นคนรักเรียน เป็นคนชอบอ่าน ทำให้เรามีข้อมูลทางสังคมศาสตร์ ทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ มากเพียงพอในการที่จะย่อยบางอย่างออกมาให้คนเข้าใจง่าย ซึ่งจุดเด่นตรงนี้ผมจะคงไว้ อีกอย่างที่สำคัญคือวิธีการเล่าในแบบของผมที่ผมไม่ได้ไปเอามาจากใคร เพราะมันคือตัวตนของผม

 

กว่าจะมาเป็นคาแรกเตอร์แบบรายการ ‘จั๊ดซัดทุกความจริง’ คุณผ่านส่วนผสมของใครมาบ้าง

ผมชอบคุณจอห์น โอลิเวอร์ มาก คือเขากำหนดตัวเองเป็นคอเมเดียนนะ แต่จริงๆ เขาคือคนเล่าข่าว รายการของเขาชื่อ Last Week Tonight with John Oliver ขนาดภาษาอังกฤษของผมงูๆ ปลาๆ ผมนั่งดูแล้วเปิดซับไตเติ้ลไปด้วย โอ้โห รายการโคตรดีเลยครับ

 

รายการนี้จะมีสัปดาห์ละครั้ง เขาใช้เวลาพูดในรายการไม่เกิน 15-20 นาที แต่ละประเด็นที่เขาพูดในรายการคือหนักโคตรๆ เช่น พูดเรื่องสงครามนิวเคลียร์ พูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ พูดเรื่องความร้อนระอุบนคาบสมุทรเกาหลี พูดเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดี พูดเรื่องสงครามซีเรีย พูดเรื่องโลกร้อน พูดเรื่องปัญหาผู้อพยพ ฯลฯ เขาพูดประเด็นระดับโลก แต่สอดแทรกความตลก ซึ่งเป็นตลกแบบที่ผมใฝ่ฝันมากเลย

 

ถ้าเป็นไปได้ ในอนาคตที่ผมเลเวลอัพสูงสุด ผมมีความใฝ่ฝันว่าจะอยากมีสักรายการหนึ่งที่ผมจะนำเสนอข่าวแบบที่ฝันเลย คือนำเสนอข่าวการเมือง เศรษฐกิจ สังคมในระดับมหภาค บัตรคนจน โครงสร้างประชากร กฎจราจร รัฐธรรมนูญ ปัญหาการปฏิรูปการศึกษา โครงสร้างระบบสาธารณูปโภค รถไฟความเร็วสูง ฯลฯ ผมอยากพูดในเรื่องที่ยากมากๆ แต่เรื่องพวกนี้คือสิ่งที่กำหนดความเป็นไปของสังคม จากนั้นเรานำมาร้อยเรียงในแบบฉบับของตัวเองแล้วทำให้คนดู ‘หัวเราะ’

 

สุดท้ายมันจะออกมาเป็นยังไงไม่รู้นะ แต่ผมรู้สึกว่าของแบบนี้มันต้องสั่งสม แล้ววันหนึ่งถ้าทำได้ ผมจะมีความสุขมาก

 

 

ตอนนี้คุณคิดว่าตัวเองดังแล้วหรือยัง

อย่าเรียกว่าดังเลยครับ ผมว่าเริ่มมีคนรู้จัก มีคนรู้ชื่อ ผมเองอยู่ในวงการบันเทิงมาตั้งแต่ปี 2546 เคยเป็นมาแล้วทั้งนักจัดรายการวิทยุ เล่นหนัง เล่นละคร พูดง่ายๆ ว่าอยู่ในวงการที่ต้องการชื่อเสียงเป็นส่วนประกอบ แต่ที่ผ่านมาผมยังไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองมีคนรู้จักมากเท่าชีวิต ณ ตอนนี้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผมโด่งดัง สำหรับผมคิดแค่ว่ามีคนรู้จักเราเพิ่มมากขึ้น

 

ตอนนี้คลิปข่าวรายการ ‘จั๊ดซัดทุกความจริง’ กลายเป็นคลิปที่ถูกแชร์กันมากมาย ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ คลิปเหล่านี้มักจะเป็นเรื่องราวข่าวสารทางสังคมที่เกี่ยวกับกับวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ คิดว่าเพราะจุดนี้หรือเปล่าที่ทำให้ลีลาของ ‘จั๊ด’ ซัดตรงเข้าไปในหัวใจคนดูจนกระทั่งเกิดการพูดถึงและแชร์ต่อๆ กันไป

พอผมเข้ามาทำข่าว ผมเชื่อว่าคนดูข่าวส่วนใหญ่จำนวนเป็นแสนเป็นล้านเป็นคนที่ชีวิตต้องเผชิญกับสิ่งต่างๆ ในสังคมอยู่ทุกวี่วัน บางเรื่องที่เจอมันเป็นความไม่เป็นธรรม บางเรื่องเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ตื่นเช้าขึ้นมาเขาต้องเจอกับอะไรบ้างในชีวิตประจำวัน เขาเดินทางไปทำงาน ไปส่งลูก ตกเย็นเดินไปซื้อกับข้าวที่ตลาด มันมีปัญหาซ่อนอยู่ในทุกๆ กิจกรรมที่เกิดขึ้นของมนุษย์ นั่นคือความบิดเบี้ยวบางอย่างที่ควรจะหยิบมานำเสนอ ตรงนี้คือสิ่งที่ผมเรียนรู้จากการเข้ามาทำช่อง ONE  

 

มันมีหลายคำถามมากนะครับที่คนไทยเกิดจนตายไปแล้วหลายคนแต่ก็ยังไม่ได้คำตอบ เราก็พยายามหยิบขึ้นมาถามอีกครั้งหนึ่ง ถามแบบแทงใจดำ ถามแบบที่รายการทีวีอื่นเขาไม่ถาม ถามตรงๆ ไปเลยว่ามันกำลังเกิดอะไรขึ้นในสังคมหรือในวิถีชีวิตของเรา

 

คุณคิดอย่างไรที่ตั้งแต่เด็กจนทุกวันนี้ ประเทศไทยของเรายังจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

จากเคยถูกเรียกว่าเป็น ‘เสือตัวที่ห้า’ จนตอนนี้เขาไม่ให้เราเป็นแล้ว (หัวเราะ) ผมว่าปัญหาสำคัญของประเทศไทยเลยคือปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งผมไม่รู้หรอกนะว่าต้องแก้ยังไง แต่ในทัศนคติส่วนตัว ผมรู้ว่านี่คือปัญหาใหญ่

 

ประเทศของเราเป็นประเทศที่มีกฎหมายเยอะ แล้วก็ขยันออกกฎหมายกัน แต่กลายเป็นว่ากฎหมายเล็กๆ น้อยๆ เรายังไม่ปฏิบัติตาม ผมยกตัวอย่าง ถ้าเราลองไปข้ามถนนที่หน้าตึกแกรมมี่ ผมท้าทายเลยว่า 100% ทุกครั้งที่มีไฟแดงให้รถหยุดเพื่อให้คนข้ามถนน ต้องมีรถที่ไม่หยุดแล้วฝ่าไฟแดง

 

หรือถ้าเป็นช่วงกลางวัน ผมอยากจะพาเดินไปที่แยกอโศก-เพชรบุรีตัดใหม่ คุณจะได้เห็นการพร้อมใจกันฝ่าไฟแดงเสมือนวันมาฆบูชาที่พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูปมาชุมนุมร่วมกันโดยไม่ได้นัดหมาย แต่นี่คือการฝ่าไฟแดงพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย แล้วแม่งเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีไฟแดงเกิดขึ้น

 

ฉะนั้นเราไม่ต้องไปเรียกร้องอะไรเลยครับ เพราะเรายังอยู่ในประเทศที่คนยังฝ่าฝืนกฎหมายกันอยู่ในชีวิตประจำวัน ทั้งหมดล้วนแต่เป็นความผิดเล็กๆ น้อยๆ แต่ไม่มีใครจับ ส่วนคนทำผิดก็ทำไป

 

ขนาดตัวผมเอง ทุกวันนี้บางทีผมซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปทำงานก็ยังไม่ใส่หมวกกันน็อก หรืออย่างเช่นคนที่นั่งขายของบนทางเท้า ทุกที่และทุกวันล้วนมีการละเมิดกฎหมายเล็กๆ น้อยๆ กันตั้งแต่คนระดับล่างสุดไปจุดถึงระดับสูงสุด ซึ่งเราต่างก็รู้ แต่มันหาทางแก้ไม่ได้ แล้วสุดท้ายเราก็เพิกเฉยมันไป

 

อย่างที่คุยกันวันนี้ เดี๋ยวพอคุยกันเสร็จผมก็ไปทำงานอื่นของผมแล้ว ผมรู้นะว่าสิ่งนี้มันมีอยู่ แต่ผมเลือกที่จะเพิกเฉย ซึ่งขอโทษนะครับ ผมเองก็เห็นแก่ตัวที่จะไม่เป็นคนออกมารณรงค์ว่าเราควรแก้ไขในสิ่งเหล่านี้ เพราะผมก็เชื่อว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนยิ่งใหญ่พอจะทำ ผมเองก็ต้องกิน ต้องใช้ชีวิตให้อยู่รอดไปในแต่ละวัน  

 

แล้วกับประโยคว่า ‘ใครๆ ก็ทำกัน’ ล่ะ คุณคิดเห็นอย่างไรบ้าง

(หัวเราะ) นี่ก็เป็นปัญหาอีก มันจะมีคำพูดบางชุดนะครับที่จริงๆ แล้วเป็นเราพูดกันจนชิน ทั้งที่ควรจะกำจัดมันทิ้งไป เช่น ทำอะไรตามใจคือไทยแท้ เป็นบ้าไปแล้วหรือไงถึงภูมิใจอะไรกับการมาทำอะไรตามใจแล้วเรียกว่าเป็นคนไทยแท้ๆ คือเราไม่ควรทำให้มันกลายเป็นคำขวัญประจำชาติ ถ้าการทำอะไรตามใจมันขัดต่อกฎการอยู่ร่วมกันในสังคมเราก็ไม่ควรไปดีใจ เพราะถ้าดีใจกันหมด สังคมมันก็อยู่ไม่ได้

 

 

จากเคยเป็นคนการเมือง วันหนึ่งกลายเป็นคนข่าว ถามเล่นๆ แล้วกันถ้าว่าเลือกตั้งครั้งหน้าเกิดขึ้นแล้วมีคนชวนไปเล่นการเมืองอีก คุณจะไปไหม

ยังไม่ไปครับ

 

ใช้คำว่ายังไม่ไป

ณ ตอนนี้ผมมีความสุขกับการรายงานข่าวมาก แล้วหลังจากได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในแวดวงการเมืองมาพักหนึ่ง ผมรู้สึกว่าการเมืองไทยต้องการคนที่มีความพร้อมหรือคนที่มีคุณสมบัติบางประการมากกว่านี้ ซึ่งผมเชื่อว่าความสามารถขนาดผม…เสิร์ฟให้ได้ไม่พอหรอกสำหรับการทำอะไรเพื่อเป็นรัฐบาล การเป็นพรรคฝ่ายค้าน หรือการจะลงไปทำอะไรเพื่อส่วนรวม

 

ผมเชื่ออีกนะครับว่าภาวะของคนที่เหมาะกับการกระโจนเข้าไปสู่แวดวงการเมือง หนึ่ง คุณต้องไม่มีภาระหรือหนี้สินแบบคนปกติในประเทศไทย สถานภาพทางการเงินของคุณต้องมั่นคงเพียงพอชนิดที่ว่าแม่คุณจะไม่เดือดร้อนถ้าวันหนึ่งคุณไม่มีอะไรทำ คุณต้องมั่นใจว่ามีขนาดนั้นแล้วถึงค่อยลงไปทำ  

 

…แต่ถ้าผมแก่กว่านี้ ผมอาจจะคิดใหม่อีกที เมื่องานทางด้านสื่อมวลชนของผมมันถึงจังหวะที่รู้สึกว่าตัวเองพร้อม แต่จะไม่ใช่การเข้าไปแบบเดิมอีกแล้ว หมายถึงแบบที่เมื่อมีโอกาสเข้ามาปุ๊บแล้วคว้าหมับเลย เพราะเราเรียนรู้มาแล้วว่าสภาพแวดล้อมในนั้นมันคืออะไร

 

เหมือนเข็ดกับการเมืองพอสมควร

ผมเข็ดพอสมควรนะ พอเข้าไปปุ๊บมันรู้สึกเลยว่าคือวงการของคนที่จะเข้าไปรันประเทศ มันคือวงการที่เคี่ยวที่สุดเลย แล้วเราก็ไม่สามารถจะรู้ถึงจิตใจและความเป็นไปทั้งหมดของคนในแวดวงนี้ได้เลย หน้าฉากผมอาจจะรู้บางอย่าง แต่มันน่าจะมีอีกหลายอย่างแหละที่ผมยังไม่รู้

 

องค์ประกอบที่ทำให้ผมกลัวที่สุดไม่ว่าจะเข้าไปทำอะไรหรืออยู่ที่ไหนก็ตาม นั่นคือการที่เราไม่สามารถคอนโทรลอะไรได้เลย ผมหมายถึงบางทีเราไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ ณ เวลานี้มันคืออะไร หรือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่มันทำไปเพื่ออะไรกันแน่วะ ตกลงสิ่งที่เรารู้มันเป็นจริงหรือเปล่าวะ แต่โอเค ทำมันไปก่อนแล้วกัน …แต่ทำแล้วมันคือดีใช่ไหม สำคัญกับตัวเรากว่านั้นคือเราไม่รู้เลยว่าเมื่อทำไปแบบนี้แล้ว เราจะโดนอะไร ใครจะได้อะไร หรือใครจะเสียอะไรบ้าง

 

พูดง่ายๆ ว่าการเมืองยากกว่าที่คิด

การเมืองคือสิ่งที่ยากครับ เพราะมันคือการบริหารภาพรวมทั้งหมด ผมเชื่อว่าศักยภาพของผมที่มีตอนนี้ ผมทำงานสื่อมวลชนเวิร์กที่สุด มีความสุขที่สุด ผมเชื่อแบบนั้น แล้วผมสามารถทำประโยชน์ให้กับคนหมู่มากได้มากกว่าการที่ผมจะเข้าไปนั่งเป็นส่วนประกอบเล็กๆ ส่วนประกอบหนึ่งในรัฐสภา แล้วก็ไม่รู้ว่าอะไรคืออะไร

 

ถ้าย้อนกลับไปได้ จั๊ด-ธีมะ กาญจนไพริน จะยังกระโดดไปทำงานการเมืองอยู่ไหม

ผมเชื่อว่าผมไป ผมคิดว่าถ้าให้ย้อนกลับไปแล้วไปแก้อะไรได้ผมก็ไม่อยาก เพราะประสบการณ์ตรงนั้นก็ถือว่าเป็นอะไรที่ดี ถ้าวันนั้นผมไม่มีโอกาสตรงนั้น วันนี้ผมอาจจะไม่มีองค์ประกอบบางอย่างที่ตัวเองเป็นอยู่ในตอนนี้ก็ได้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X