×

กกร. คาด GDP ไทยโต 3-3.5% แม้ส่งออกติดลบ 1-0% ยังลุ้นกลับมาขยายตัวครึ่งปีหลังตามจีน-สหรัฐฯ ห่วงต้นทุนค่าไฟและภัยแล้งดันราคาสินค้าขยับยกแผง

03.05.2023
  • LOADING...

กกร. คงประมาณการ GDP ปี 2566 ยังเติบโต 3-3.5% แม้ส่งออกยังติดลบ 1-0% ครึ่งปีหลังมีลุ้นกลับมาขยายตัวจากตลาดจีน-สหรัฐฯ ฟื้น ขณะที่ในประเทศ ผู้ประกอบการแบกรับภาระต้นทุนสูง ห่วงต้นทุนค่าไฟและภัยแล้งทุบราคาสินค้าจ่อขยับขึ้นยกแผง โดยเฉพาะราคาอาหารพุ่ง 5.10% พร้อมขอรัฐบาลใหม่รับโจทย์เร่งแก้ 6 ข้อ 

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวมีโอกาสแตะระดับ 30 ล้านคนในปี 2566 ซึ่งสูงกว่าประมาณการเดิม โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มมากขึ้น และเป็นปัจจัยสนับสนุนทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเติบโตได้มากกว่าครึ่งปีแรก

 

ดังนั้น กกร. จึงประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 (พฤษภาคม 2566) ไว้ในกรอบเดิม คือเติบโต 3-3.5% ส่วนภาวะการส่งออก ติดลบ 1-0% และเงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 2.7-3.2%

 

ทั้งนี้ จากการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจประเทศหลักอย่างจีนและสหรัฐฯ ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา GDP เริ่มทยอยฟื้นตัวจากภาคบริการที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ขณะที่ภาคการผลิตซึ่งชะลอตลอดไตรมาสที่ 1 เริ่มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ที่แม้ยังต้องเผชิญกับปัญหาของสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจมากนัก

 

และได้รับสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของภาคการผลิตในตลาดหลัก มีผลต่อภาคการส่งออกไทย จากการฟื้นตัวโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร จึงคาดว่าการส่งออกไทยจะหดตัวในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2566) ก่อน จากนั้นจึงจะกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

 

ขณะเดียวกัน ภาวะต้นทุนการผลิตทั่วโลกอยู่ในระดับสูงและอาจปรับตัวลง ทำให้ราคาในตลาดโลกของสินค้าโภคภัณฑ์ในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจหลักยังทรงตัวในระดับสูง และมีแนวโน้มลดลงช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม 

 

เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ผู้ประกอบการมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้นราคาสินค้า เพื่อผ่อนภาระต้นทุนต่อไปในระยะข้างหน้า อาจมีผลกระทบต่อราคาสินค้าและต้นทุนที่มีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยกดดันภาคธุรกิจและครัวเรือน รวมถึงต้องจับตาความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้ง ซ้ำเติมราคาอาหารภายในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูงด้วย

 

“รัฐบาลควรเร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำภาคตะวันออกให้แล้วเสร็จตามแผน เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำเติมโรงงาน และผลกระทบจากดีเซลราคาแพงจนทำให้ต้องปรับราคาสินค้า ต่อมาก็เป็นเรื่องของค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และแม้ค่าไฟงวดพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 จะอยู่ในอัตราเฉลี่ย 4.70 บาทต่อหน่วย ยังถือว่าอยู่ในอัตราสูง ทำให้ภาพรวมเฉลี่ยราคาสินค้าจะปรับราว 5-10% โดยขณะนี้เป็นการทยอยปรับและจะมีต่อเนื่องหลังกลางปีนี้ เพราะบางส่วนยังแบกรับภาระต้นทุนเอาไว้” เกรียงไกรกล่าว

 

ตั้งโจทย์ 6 ข้อให้รัฐบาลใหม่เร่งมือแก้

 

ด้าน สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จะมีการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ หลายพรรคการเมืองอยู่ระหว่างการหาเสียง ซึ่ง กกร. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการดำเนินนโยบายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงได้จัดทำข้อเสนอต่อพรรคการเมือง เพื่อให้ทราบถึงความต้องการของภาคเอกชน โดยมี 6 ประเด็นหลัก ดังนี้

 

  1. ด้าน Competitiveness เช่น การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน

 

  1. ด้าน Ease of Doing Business เช่น ปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเร่งปรับปรุงกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาตภาครัฐ 

 

  1. ด้าน Digital Transformation เช่น ส่งเสริมการเป็น Technology Hub ของประเทศไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะมีโอกาสสูงที่จะดึงเอาเม็ดเงินและทุนระดับโลกเข้าสู่ประเทศไทย

 

  1. ด้าน Human Development เช่น การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ มีการสนับสนุนระบบการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐานสากล และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทยและต่างด้าว

 

  1. ด้าน SME เช่น สนับสนุนให้มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว และเร่งการปรับโครงสร้างหนี้ และจัดตั้งกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการ SME เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ

 

  1. ด้าน Sustainability เช่น ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG และการจัดทำแผนรองรับปัญหาการขาดแคลนอาหาร (Food Security) แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ยกระดับมาตรการทั้งก่อน ขณะ และหลังเป็นหนี้ เน้นการมีวินัยด้านเครดิต และการเสริมความรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy)

บทความที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising