×

“วันนี้เศรษฐกิจเราเงียบ แย่มากๆ” ยอดขายรถยนต์ร่วง อสังหาทรุด กำลังซื้อคนไทยหาย กกร. ให้ GDP ไทยโตมากสุดแค่ 2.7%

03.07.2024
  • LOADING...

กกร. คงเป้า GDP ทั้งปีโตที่กรอบ 2.2-2.7% เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้น หลังเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักอย่างยอดขายรถยนต์ร่วงต่อเนื่อง ภาคอสังหาทรุดตัว และกำลังซื้อคนไทยยังคงเปราะบาง ชี้เศรษฐกิจภายในซบเซา การค้าโลกกดดัน เตรียมรับความเสี่ยงจากสงครามการค้าที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษี สินค้าจีนรอบใหม่อาจกระทบสินค้าส่งออกไทยที่เป็นห่วงโซ่อุปทานให้แก่จีน และค่าระวางเรือพุ่งขึ้น 95% ซ้ำเติมการส่งออกไทย วอนรัฐบาลหามาตรการเร่งด่วนกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมส่งเสียงถาม “ขึ้นค่าแรง ช่วยหรือซ้ำ”

 

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ขณะนี้การค้าโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนและระยะเวลาการขนส่งเพิ่มขึ้น ปัจจัยหลักๆ เป็นผลจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่รุนแรงมากขึ้น และผู้ประกอบการบางส่วนเร่งสั่งซื้อสินค้าก่อนมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ต่อจีนที่จะมีผลภายในปีนี้ 

 

จึงส่งผลให้ค่าระวางเรือล่าสุดปรับตัวขึ้น 95% เมื่อเทียบจากเดือนเมษายน 2567 เมื่อใช้ระยะเวลาในการขนส่งนานขึ้นตามภาวะขนส่งคับคั่งและขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมต่อภาคการผลิตและการส่งออกของโลกในระยะข้างหน้า ดังนั้นคาดการณ์การส่งออกทั้งปี 2567 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.8-1.5% จากเดิม 0.5-1.5% 

 

ยอดขายรถยนต์วูบ-อสังหาทรุด

 

แม้ว่า กกร. ยังคงกรอบ GDP ที่ 2.2-2.7% และเงินเฟ้อ 0.5-1.0% เท่าเดิม แต่ห่วงการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์จะส่งผลกระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทย เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศยังเปราะบาง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสูงอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์และภาคอสังหาริมทรัพย์ 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

เนื่องจากยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกหดตัว 24% ส่วนหนึ่งมาจากผู้บริโภคมีรายได้จากเศรษฐกิจนอกระบบเป็นสัดส่วนสูง ส่วนยอดโอนอสังหาริมทรัพย์ 4 เดือนแรกสำหรับบ้านจัดสรรหดตัว 11.8% และอาคารชุดหดตัว 7.4%

 

“กกร. ยังคงกรอบ GDP ปีนี้อยู่ที่ 2.2-2.7% ซึ่งหากอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหามีแนวโน้มหดตัวมากขึ้นเช่นนี้ อาจกระทบต่อ GDP ปีนี้ลดลงกว่าที่คาดไว้อีก 0.3-0.4%”

 

 

หวั่น ‘เกมการค้าโลก’ ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย 

 

ผยงกล่าวอีกว่า การส่งออกไทยเผชิญความเสี่ยงจากสงครามการค้าของสหรัฐฯ และจีน การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ต่อสินค้าจีนรอบใหม่ที่อาจกระทบสินค้าส่งออกไทยที่เป็นห่วงโซ่อุปทานให้แก่จีน ซึ่งประเมินว่าสินค้าเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วน 19.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปจีน 

 

โดยสินค้าที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบมาก เช่น ยางแผ่น ยางแท่ง เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ แต่อาจมีปัจจัยบวกชั่วคราวจากการเร่งสั่งซื้อสินค้าและการปรับเปลี่ยนมาส่งออกจากไทย คาดว่ามูลค่าการส่งออกทั้งปีปรับดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังมีประเด็นฉุดรั้งจากเรื่องต้นทุนจากการขาดแคลนเรือและตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงระยะเวลาการขนส่งที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวข้างต้น

 

“ขอให้ภาครัฐเร่งหามาตรการหรือแนวทางเร่งด่วน เพื่อรับมือกับสถานการณ์การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่มีแนวโน้มลากยาวตลอดช่วงที่เหลือของปี รวมถึงลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคการผลิตจากการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน

 

“ที่สำคัญคือ การชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์ที่มีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย อุปสงค์ในประเทศยังเปราะบาง และกังวลถึงต้นทุนด้านพลังงานที่สูงอีกด้วย” ผยงกล่าว

 

โลกเปลี่ยนเร็ว เอกชนเตรียมรื้อสมุดปกขาวเสนอรัฐบาล 

 

ผยงกล่าวต่ออีกว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในโลก ซึ่งโมเมนตัมเศรษฐกิจโลกมีความวุ่นวายสูง การทำอะไรที่โดดออกมาจากภาพรวมของโลกคงลำบาก เครื่องยนต์เศรษฐกิจของไทย อย่างเช่น เรื่องส่งออกที่เคยรุ่งเรือง ก็มีความท้าทาย

 

อย่างไรก็ตาม ในวิกฤตก็ถือว่ายังมีโอกาส เพราะบางภาคส่วนได้ประโยชน์จากการปรับปรุงใหม่ การเปลี่ยนผ่านของซัพพลายเชน และการสั่งสินค้า แต่ต้องยอมรับว่าสินค้าแบบเดิมๆ ได้รับผลกระทบ เช่น การส่งออกสินค้าไปจีน แต่จีนเองก็มีการปรับปรุงสินค้าใหม่ ทั้งหมดนี้ถือเป็นพลวัตที่เกิดขึ้น 

 

แม้ระบบเศรษฐกิจในประเทศมีนโยบายระยะสั้น กลาง และยาว ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่แล้ว ส่วนข้อเสนอแนะมีการทบทวนสมุดปกขาวที่จะยื่นให้รัฐบาลอีกครั้ง เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีหลายปัจจัยที่พลิกผันไป ทำให้ต้องพิจารณาใหม่ระหว่างเอกชน 3 สถาบัน 

 

ขึ้นค่าแรง ‘สัญญาณอันตราย’ ห่วงธุรกิจ SMEs ตาย

 

ด้าน ทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำยิ่งซ้ำเติมปัญหา และการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะยิ่งส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในจีน 

 

แม้มีซัพพลายส่งไปตลาดอื่นได้ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด จึงถือเป็นสัญญาณที่อันตรายมากๆ เศรษฐกิจทั้งภายในก็แย่ ภายนอกก็มีแรงกดดันหนัก 

 

“โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีแรงงานเกิน 70% ไม่ได้ต้องการให้ปรับขึ้นค่าแรง รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงถึง 3 ครั้งต่อปียิ่งไม่มีเหตุผล จึงไม่ต้องการให้เกิดการชี้นำจากฝ่ายใด โดยเฉพาะภาครัฐบาล”

 

เนื่องจากอุตสาหกรรมจะต้องเดินหน้าไปด้วยกันให้ได้ หากมีการปรับขึ้นค่าแรงบวกกับสัญญาณอันตรายจากปัจจัยต่างประเทศ โอกาสที่อุตสาหกรรมขนาดเล็กอย่าง SMEs จะยิ่งถูกกระทบจนอาจล้มหายไปก่อนได้ ขอฝากถึงรัฐบาลให้ไตร่ตรองให้ดี อย่ากดดันภาคอุตสาหกรรม

 

ต่อคำถามที่ว่า มีข้อเสนอเร่งด่วนอะไรไปถึงรัฐบาล ทวีย้ำว่า เอกชนเองก็อยากฝากคำถามถึงรัฐบาลว่า ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอะไรจะออกมาบ้าง เพราะหากถามเอกชนก็ตอบไม่ได้ ทำได้เพียงแต่เอาตัวให้รอดด้วยตัวเองก่อนเท่านั้น

 

วันนี้เศรษฐกิจไทยเงียบ ผมอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมจังหวัดซึ่งทราบดีว่าไม่ได้แย่แค่ภูมิภาค กรุงเทพฯ ก็ยังเงียบ เศรษฐกิจเราแย่มากๆ กำลังซื้อประชาชนไม่มี ยอดขายรถยนต์ร่วง ภาคอสังหาก็ทรุด” ทวีกล่าว

 

ขึ้นค่าแรง 400 บาท ‘ช่วยหรือซ้ำ’

 

ด้าน พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพเศรษฐกิจโลกที่มีปัญหาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อมีปัญหาระยะสั้นเกิดขึ้น รัฐบาลจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเพื่อมาช่วยนั้น

 

“หอการค้าไม่แน่ใจว่าปรับขึ้นมาช่วยหรือซ้ำเติม เพราะตอนนี้แค่ประกาศว่าจะมีการปรับขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ หลายธุรกิจก็ไปไม่รอดแล้ว”

 

ทางออกมองว่า รัฐบาลจะต้องพยายามสร้างงานเพื่อให้คนมีงานทำ มีรายได้ โรงงานเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตเพราะส่งออกได้ สะท้อนถึงเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งเงื่อนไขที่จะทำให้ภาพนี้เกิดขึ้นได้ในตอนนี้ยังไม่มีอะไรมาสนับสนุน อาทิ ต้นทุนพลังงาน และหากมีการปรับขึ้นค่าแรงมาเพิ่มต้นทุน จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่มีกลไกตามธรรมชาติอยู่แล้ว หากมีการฝืนกลไก จะส่งผลให้เกิดปัญหามากกว่า

 

อย่างไรก็ตาม “เชื่อว่าปัจจัยบวกยังคงเป็นภาคการท่องเที่ยว รวมถึงภาคเอกชนก็เห็นด้วยที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS” ผยงกล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X