×

กกร. ปรับ GDP ปี 63 หดตัว 6-7% ชี้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 แผ่วจากโลกยังไม่ฟื้นตัว

02.12.2020
  • LOADING...
กกร. ปรับ GDP ปี 63 หดตัว 6-7% ชี้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 แผ่วจากโลกยังไม่ฟื้นตัว

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สรุปผลการประชุมในวันนี้ (2 ธันวาคม) ว่าทาง กกร. ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 หดตัวน้อยลง โดยคาดว่าทั้งปีนี้ GDP จะหดตัว 6-7% โดยการส่งออกจะหดตัว 7-8% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะติดลบ 0.9-1.0%

 

ทั้งนี้ มีมุมมองว่าไตรมาส 4/63 เศรษฐกิจไทยยังแผ่วลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/63 ส่วนหนึ่งเพราะการส่งออกของไทยยังได้รับผลกระทบทางอ้อมจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวดขึ้นภายหลังจากการกลับมาระบาดที่รุนแรงขึ้นในหลายประเทศ โดยมีปัจจัยบวกใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ ความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เป็นบวกต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งหนุนความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

 

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะปรับตัวดีขึ้น จากภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังที่คาดว่าจะมีการใช้วัคซีนในวงกว้าง และปัจจัยบวกจากมาตรการของสหรัฐฯ แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ 

 

ส่วนหนึ่งปัจจัยลบของไทยคือการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวได้จำกัด และตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง ทำให้ภาครัฐยังเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2564 ทั้ง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของครัวเรือนต้องออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ที่จะหนุนการลงทุนเอกชนและความเชื่อมั่น

 

ขณะที่ทางสมาคมโรงแรมไทย เสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรมและท่องเที่ยว โดย กกร. ขอให้รัฐพิจารณา 2 มาตรการ ได้แก่

 

1. มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับกรณีหนี้คงเหลือเดิมปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นคงที่ 2% พร้อมพักการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 ปี และขอวงเงินสนับสนุนเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจไทย อนุมัติปล่อยสินเชื่อได้ไม่เกินรายละ 60 ล้านบาทต่อโรงแรม ในอัตราดอกเบี้ย 2% ปลอดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 ปี เมื่อครบกำหนดแล้วให้แปลงเป็นสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยต่ำผ่อนชำระกับธนาคารพาณิชย์

 

หากลูกค้ามีหลักประกันไม่พอ ขอให้ บสย. หรือรัฐบาลเป็นผู้จัดตั้งกองทุนค้ำประกัน และไม่จำกัดสิทธิสำหรับโรงแรมขนาดใหญ่ที่มีวงเงินรวมเกิน 500 ล้านบาท

2. มาตรการสนับสนุนเงินเดือนค่าจ้างร้อยละ 50 Co-payment เพื่อรักษาการจ้างงาน สนับสนุนให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจ้างพนักงานเดิมจำนวน 200,000 คน (จำนวนไม่เกิน 30% ของจำนวนพนักงานปัจจุบัน) ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี 

 

นอกจากนี้ขอให้ภาครัฐพิจารณามาตรการช่วยเหลือธุรกิจส่งออก กรณีขาดแคลนตู้สินค้าอย่างรุนแรง ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นช่วงไตรมาส 2/64 


ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัว 2-4% การส่งออกจะขยายตัว 3-5% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 0.8-1.2%

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X