Joseon Exorcist คือซีรีส์ K-Zombie ที่ผู้เขียนติดตามข่าวและกำลังจะตั้งใจดู เพราะติดใจอารมณ์ซอมบี้สายเกาหลีมาตั้งแต่ Train to Busan และ Kingdom แต่ออกอากาศไปได้เพียงสองตอนก็มีอันต้องประกาศยกเลิกการฉาย เพราะถูกโจมตีจากชาวเน็ตที่ไม่พอใจความเป็น ‘จีน’ ในเรื่อง โดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่จีนเคลมว่าตัวเองเป็นต้นกำเนิด ‘กิมจิ’ อาหารประจำชาติเกาหลี จากนั้นก็เริ่มลามไปถึงซีรีส์เรื่องต่างๆ อย่าง Joseon Exorcist ก็โดนเรื่องขนมไหว้พระจันทร์ และเครื่องเคลือบของจีน ไปจนถึงการบิดเบือนใส่ร้ายบุคคลในประวัติศาสตร์ ซึ่งเรื่องนี้ลุกลามใหญ่โตถึงขั้นแบนสปอนเซอร์ แบนนักแสดง จนทีมผู้สร้างตัดสินใจยกเลิกการออกอากาศทั้งๆ ที่ถ่ายทำไปแล้วถึง 10 ตอน
ภาพจาก Joseon Exorcist
เคสนี้ทำให้นึกถึงดราม่าเรื่อง ‘โขน’ ของไทยกับกัมพูชาเมื่อไม่กี่ปีก่อนที่ต่างคนต่างเคลมว่าตัวเองเป็นต้นฉบับ และกลายเป็นประเด็นอีกครั้งในปี 2561 เมื่อยูเนสโกประกาศให้ ‘โขน’ ขึ้นทะเบียนบัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พร้อมๆ กับที่ ‘โขน’ กัมพูชา ก็ได้ขึ้นทะเบียนเช่นกัน จนเกิดความสับสนว่ากัมพูชานำโขนประเภทเดียวกับของไทยไปขึ้นทะเบียนหรือไม่ ซึ่งความจริงแล้ว ยูเนสโกขึ้นทะเบียนให้ทั้งโขนไทยและโขนกัมพูชา โดยโขนไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนคือ ‘การแสดงโขนในประเทศไทย’ หรือ ‘Khon Masked Dance Drama in Thailand’ ส่วนโขนของกัมพูชาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนคือ ‘ละครโขน’ หรือ ‘Lkhon Khol Wat Svay Andet’ การแสดงทั้งสองประเภทอาจจะมีรากใกล้เคียงกัน แต่ก็มีรูปแบบที่แตกต่างกัน
ตามความคิดเห็นของผู้เขียน วัฒนธรรมโยกย้ายถ่ายเทกันได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างไทยและกัมพูชา หรือแม้กระทั่งประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการใช้ ‘พื้นที่’ กำหนดอาณาเขตของประเทศเพิ่งเริ่มมาใช้ก็ในยุคล่าอาณานิคมนี่เอง โดยก่อนหน้านั้นการขยายอำนาจของอาณาจักรชี้วัดจาก ‘ผู้คน’ ที่ยอมสวามิภักดิ์ต่างหาก การโยกย้ายถ่ายเทของประชากรย่อมนำวัฒนธรรมเฉพาะไปสู่ดินแดนใหม่ จนเกิดเป็นวัฒนธรรมร่วมในภูมิภาค อย่างไทยมีกะปิ เมียนมาก็มีกะปิ หรืออย่างขนมจีนที่คนไทยคุ้นเคย ก็มีต้นกำเนิดมาจากคะนอมจิน ซึ่งแปลว่าเส้นสุกของมอญ หรือคำบางคำของไทยก็ยืมมาจากเขมร เป็นต้น ต่อมาเมื่อมีการกำหนดความเป็นประเทศก็ต้องสร้างอารมณ์ร่วมในความเป็น ‘ชาติ’ ของพลเมืองในพื้นที่นั้นๆ บางทีก็อาจจะมากเกินไป กลายเป็นลัทธิชาตินิยมสุดโต่งที่ฝากบาดแผลในประวัติศาสตร์มาแล้วหลายครั้ง
มีเคสหนึ่งเป็นกรณีที่น่าสนใจ ย้อนกลับไปเมื่อ 2546 เกิดการจราจลที่กรุงพนมเปญเนื่องจากความไม่พอใจ ‘กบ-สุวนันท์ คงยิ่ง’ จนถึงขั้นเผาสถานทูตไทยและทำลายทรัพย์สินของธุรกิจไทยในกัมพูชา โดยอ้างว่ากบ สุวนันท์เคยให้สัมภาษณ์ว่า ‘นครวัด’ เป็นของไทย ทั้งที่เธอไม่เคยพูด ซ้ำร้ายไปกว่านั้น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน ยังโหมโรงให้สัมภาษณ์ว่า กบ สุวนันท์ ไม่มีค่าเทียบได้กับใบหญ้าในนครวัดไปอีก ยิ่งทำให้ข่าวลือที่ไม่มีมูลความจริงกลับน่าเชื่อถือขึ้นมา เรื่องนี้ลุกลามใหญ่โตถึงขั้นต้องอพยพคนไทยในกัมพูชาและปิดชายแดน จนในที่สุดรัฐบาลกัมพูชาต้องยอมจ่ายค่าชดเชย 6 ล้านดอลลาร์เป็นค่าชดเชยสำหรับสถานทูตไทยที่ถูกทำลายไป นี่คือพิษร้ายของกระแสชาตินิยมที่ทำให้หลงลืมเช็กข่าวและความเป็นไปได้
ภาพจากอินสตาแกรม @kob_nada_nadol
มาถึงประเด็นเรื่องบิดเบือนประวัติศาสตร์ ผู้เขียนคิดว่าขึ้นอยู่กับการตีความ เพราะเอาเข้าจริงเรื่องประวัติศาสตร์เหมือนจะเป็นสิ่งที่หยุดนิ่ง แต่เมื่อมีหลักฐานใหม่ๆ ก็ต้องตีความใหม่ เพราะคงไม่มีใครเป็นประจักษ์พยานว่าเรื่องนั้นจริงหรือไม่จริง (แต่อย่างในกรณีรายการ ช่องส่องผี นั่นก็สุดขีดจินตนาการเกินไปหน่อย) อย่างละครเรื่อง ศรีอโยธยา ก็มีการตีความถึงพระเจ้าเอกทัศน์ด้วยมุมมองที่แตกต่างจากในตำราเรียนที่ว่าพระองค์เป็นกษัตริย์เสเพล เพราะจากจดหมายเหตุจากหลายๆ ที่ก็บันทึกว่าพระองค์สามารถรักษากรุงศรีอยุธยาไว้ได้นานทีเดียว ซึ่งถ้าเสเพลจริงกรุงก็คงแตกไปก่อนหน้านั้นนานแล้ว อีกอย่างก็คือเมื่อเอาเรื่องราวในประวัติศาสตร์มาสร้างเป็นหนังหรือละคร ก็ต้องใส่อารมณ์และความรู้สึกลงไป ไม่อย่างนั้นก็ไม่ต่างจากการดูสารคดี อย่างกรณีภาพยนตร์เรื่องสุริโยทัย แม้จะทำรายได้ในเมืองไทยเยอะ แต่ในตลาดต่างประเทศก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเน้นที่ความจริงในประวัติศาสตร์ที่ต่างชาติก็ไม่เก็ต พอจะเชื่อมโยงด้วยอารมณ์ ‘รัก โลภ โกรธ หลง’ แบบมนุษย์ก็ไปไม่ถึง ทั้งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้หวังไปตีตลาดโลกโดยใช้ทุนสร้างมหาศาลที่สุดในประวัติศาตร์หนังไทยเลยก็ว่าได้
ภาพจากละครเรื่องศรีอโยธยา
ส่วนอีกหนึ่งกรณีศึกษาก็คือละครเรื่อง เพลิงพระนาง ซึ่งนำเนื้อหาบางส่วนของหนังสือ เที่ยวเมืองพม่า พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหนังสือ พม่าเสียเมือง ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช มาแต่งแต้มเติมสีสันเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในเมืองสมมติชื่อ ‘เมืองทิพย์’ (เยาวรุ่นคงรู้จักกันดี) เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงว่าบิดเบือนประวัติศาสตร์ แต่ด้วยเนื้อหาที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์จริง (ตามความเข้าใจของคนส่วนหนึ่ง) ก็ไม่วายเกิดเรื่องดราม่า เมื่อครอบครัวของกษัตริย์พระองค์สุดท้ายของพม่าให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่าไม่พอใจละครเรื่อง เพลิงพระนาง เพราะเหมือนเป็นการจำลองเหตุการณ์ช่วงปีสุดท้ายของราชวงศ์คองบอง ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งคล้ายกรณีสังหารหมู่พระราชวงศ์ร่วม 100 คน ทางผู้สร้างก็ออกมาได้ชี้แจงว่าละครเรื่องนี้ใช้แค่เค้าโครงบางส่วนอยู่ในการรับรู้ของคนไทย ส่วนที่มีคนโยงว่าเป็นประวัติศาสตร์ชาติอื่นก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล และยืนยันว่าละครเรื่องนี้สร้างสรรค์จากจินตนาการ
ภาพจากละครเรื่องเพลิงพระนาง
สรุปแล้วผู้เขียนคิดว่าบิดเบือนหรือไม่บิดเบือนก็ขึ้นอยู่กับการตีความใดๆ ก็ตามมันต้องเกิดขึ้นจากชุดข้อมูลที่มากพอ ซึ่งหนังหรือละครอาจจะทำหน้าที่แค่จุดประเด็น ต่อจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของคนดูที่อยากรู้ต้องไปศึกษาหาข้อมูลต่อ ถ้าหนังหรือละครเรื่องไหนทำได้ ก็หมายความว่าเรื่องนั้นๆ ให้มากกว่าความบันเทิง แต่ยังจุดประกายความรู้ได้อีกต่างหาก ยิ่งละครไทยย้อนยุคกันเก่งมากด้วย ถ้าได้ดูจบแล้วค้นคว้าต่อเพื่อให้เกิดการถกเถียง ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าจะปล่อยให้เรื่องนั้นถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา คุณว่าไหม?
ภาพ: @kob_nada_nadol, Joseon Exorcist, ละครเรื่องเพลิงพระนาง, ละครเรื่องอโยธยา
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล