×

ความมั่นคงและข่าวรัฐประหารที่จอร์แดน: ดินแดน ‘โอเอซิสแห่งเสถียรภาพ’ อาจจะลุกเป็นไฟ

07.05.2021
  • LOADING...
ความมั่นคงและข่าวรัฐประหารที่จอร์แดน: ดินแดน ‘โอเอซิสแห่งเสถียรภาพ’ อาจจะลุกเป็นไฟ

HIGHLIGHTS

11 mins. read
  • เสถียรภาพของจอร์แดนในห้วงเวลาปัจจุบันอาจเป็นความต้องการของภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงอำนาจในจอร์แดนอาจส่งผลต่อดุลอำนาจและสถานภาพเดิมของภูมิภาค เพราะแม้ว่าจอร์แดนจะเป็นประเทศเล็กๆ แต่ก็เป็นรัฐสำคัญที่ถ่วงดุลอำนาจในภูมิภาค และเป็นรัฐกันชนระหว่างขั้วอำนาจต่างๆ ในภูมิภาค
  • การที่เจ้าชายฮัมซาห์ทรงทำวิดีโอพูดถึงสถานการณ์และวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล รวมทั้งบอกว่าพระองค์ถูกกักบริเวณ ในขณะที่กองทัพรีบปฏิเสธว่าไม่ได้มีการกักตัวแต่อย่างใด ย่อมแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่ของประชาชนจำนวนไม่น้อย และฝ่ายความมั่นคงก็ตระหนักดีว่าหากดำเนินมาตรการที่ไม่เหมาะสมหรือรุนแรงกับพระองค์ จะทำให้ประชาชนไม่พอใจจนเกิดการประท้วงได้ 
  • แม้สถานการณ์ดูคลี่คลายหรือคงจะผ่านพ้นวิกฤตไปได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้อาจไม่จบลงง่ายๆ เหมือนที่ผ่านมา เพราะนอกจากปัญหาความไม่พอใจเรื่องเศรษฐกิจและการบริหารประเทศยังคงปรากฏอยู่ต่อเนื่องแล้ว ข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงที่ชี้ว่ามีอำนาจภายนอกสนับสนุนอยู่นั้น อาจกลายเป็นปัญหาความมั่นคงระยะยาวที่ต้องจับตาต่อไป
  • ตัวแสดงสำคัญที่ถูกเพ่งเล็งหรือต้องสงสัยว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการหนุนหลังกลุ่มที่ต้องการโค่นกษัตริย์อับดุลลอฮ์นั้น อาจเป็นซาอุดีอาระเบีย อิสราเอล หรือเป็นแผนการร่วมกันของหลายประเทศ ทั้งซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิสราเอล และสหรัฐอเมริกา

นับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 1946 ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน (Hashemite Kingdom of Jordan) ถือเป็นประเทศที่มีความสงบเรียบร้อยและมีเสถียรภาพที่ดี ท่ามกลางความวุ่นวายที่รายล้อมภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในประเทศรอบบ้านอย่างอิรัก ซีเรีย อิสราเอล หรือแม้แต่ซาอุดีอาระเบีย 

 

ด้วยเหตุนี้ จอร์แดนจึงได้ชื่อว่าเป็น ‘Oasis of Stability’ หรือ ‘เสถียรภาพกลางทะเลทราย’ แม้จะมีบางสถานการณ์ที่ส่อแววจะเกิดปัญหา แต่ก็คลี่คลายได้โดยเร็ว ไม่กระทบต่อความมั่นคง ความเรียบร้อย หรือความแตกแยกรุนแรงภายใน แต่สถานการณ์ล่าสุดในจอร์แดนกำลังส่อเค้าจะเกิดปัญหาที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และกำลังบั่นทอนความมั่นคงของประเทศนี้ จากกระแสข่าวลือและความเคลื่อนไหวมากมาย ทั้งการล้มแผนรัฐประหาร การกักบริเวณเจ้าชายฮัมซาห์ บิน ฮุสเซน การจับกุมบุคคลสำคัญๆ ที่ใกล้ชิดพระองค์ การกล่าวหาเจ้าชายว่ากำลังบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ หรือแม้แต่ข่าวโจมตีราชวงศ์และฝ่ายความมั่นคงว่ากำลังสมคบคิดกันใส่ร้ายเจ้าชายฮัมซาห์ เป็นต้น 

 

เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา อดีตมกุฎราชกุมารฮัมซาห์ บิน ฮุสเซน ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอเป็นภาษาอังกฤษ มีเนื้อหาโดยสรุปที่บอกกับสื่อและสังคมทั่วไปว่า “ผู้บัญชาการกองทัพได้มาหาข้าพเจ้า โดยบอกห้ามไม่ให้ข้าพเจ้าออกไปข้างนอก ไม่ให้สื่อสารกับใคร ไม่ให้พบใคร… ข้าพเจ้าไม่ใช่คนที่จะต้องมารับผิดชอบในความล้มเหลวของรัฐบาลที่ทุจริตและทำงานไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งปรากฏให้เห็นในโครงสร้างการปกครองของเราตั้งแต่ 15-20 ปีแล้ว และยังแย่ลงเรื่อยๆ ทุกปี” ทั้งนี้ ความหมายคือการถูกกักบริเวณ

 

นอกจากนี้ พระองค์ยังได้เผยแพร่บันทึกเสียงบทสนทนากับนายพลยูซุฟ หุนัยฎี ผู้บัญชาการกองทัพจอร์แดน ต่างฝ่ายต่างใช้สรรพนามเรียกอีกฝ่ายอย่างสุภาพและให้เกียรติว่า ‘Sidi’ หรือ ‘Sir’ โดยฮัมซาห์ได้กล่าวว่า “ท่านครับ ข้าพเจ้าเป็นชาวจอร์แดนคนหนึ่งที่มีอิสระเสรี เป็นลูกของพระบิดา (กษัตริย์ฮุสเซน บิน ทาลาล) มีสิทธิที่จะคลุกคลีกับลูกๆ ของประชาชนในประเทศของข้าพเจ้า และเพื่อรับใช้ประเทศของข้าพเจ้า ตามที่ได้ให้คำสัญญาและสาบานไว้กับพระบิดา ที่ในขณะนั้นกำลังนอนอยู่บนเตียงที่ท่านเสียชีวิต แต่ตอนนี้ท่านมาหาข้าพเจ้า ได้โปรดให้อภัยข้าพเจ้าด้วยที่ข้าพเจ้าจะขอถามว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วท่านอยู่ไหน ตอนนั้นข้าพเจ้าได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นมกุฎราชกุมารของประเทศนี้โดยคำสั่งของพระบิดา… ผมได้สาบานกับพระบิดาว่าจะสานต่อพระราชกรณียกิจ รับใช้ประเทศและประชาชนของข้าพเจ้าตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่ พอมาถึงวัน นี้วันซึ่งทุกอย่างยุ่งเหยิง คุณกลับมาบอกให้ผมเชื่อมั่นเลื่อมใสคุณกระนั้นหรือ ทั้งที่มันไม่ใช่ความผิดของผม และผมก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ด้วย”

 

ในวิดีโอการให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศ เจ้าชายฮัมซาห์ยังได้วิจารณ์ผู้นำจอร์แดนว่าทุจริตคอร์รัปชัน ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของพอกพ้องมากกว่าประโยชน์สาธารณะ พระองค์ย้ำว่าจะไม่ทำตามคำสั่งทหาร เจ้าชายฮัมซาห์ยังบอกว่าสถานการณ์กำลังแย่ ชุดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของพระองค์ก็ถูกเปลี่ยน ผู้บัญชาการกองทัพจอร์แดนก็มาข่มขู่ถึงที่บ้าน ซึ่งพระองค์ได้บันทึกทุกสิ่งอย่างที่เขาได้พูดกับพระองค์ 

 

มีการปล่อยข่าวต่างๆ นานาว่าเจ้าชายฮัมซาห์ถูกจับตัว แต่ผู้บัญชาการกองทัพปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง แค่ได้รับคำสั่งให้หยุดกิจกรรมที่อาจถูกนำไปสู่การบั่นทอนความมั่นคงและเสถียรภาพของจอร์แดน อัลหุนัยฎีพูดกับเจ้าชายฮัมซาห์โดยบอกว่า พระองค์ได้ล้ำเส้นแดงแล้ว นอกจากนี้ยังย้ำว่าการมาเตือนครั้งนี้เป็นเพียงการสื่อสารในนามกองทัพ ไม่ใช่ในนามของกษัตริย์ และเป็นการมาขอให้หยุดใช้ Twitter หยุดติดต่อกับผู้นำชนเผ่าและบุคคลที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อราชอาณาจักร

 

รองนายกรัฐมนตรีจอร์แดนท่านหนึ่งชี้ว่า เจ้าชายฮัมซาห์ได้มีการประสานงานกับอำนาจภายนอก มีหน่วยข่าวกรองต่างประเทศติดต่อภรรยาของฮัมซาห์ เพื่อจัดเตรียมเครื่องบินเพื่อหลบหนีออกจากจอร์แดน 

 

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น รอยร้าวระหว่างเจ้าชายฮัมซาห์กับรัฐบาลจอร์แดนและภายในพระราชสำนักจะดำเนินไปอย่างไร หรือว่ากำลังเกิดการรัฐประหาร ฯลฯ ในวันที่ 5 เมษายน สำนักพระราชวังได้เปิดเผยว่าเจ้าชายฮัมซาห์ได้ลงพระนามในหนังสือยืนยันความภักดีต่อกษัตริย์อับดุลลอฮ์ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงการปิดรอยร้าวที่เกิดขึ้น โดยจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดนอย่างเคร่งครัด พระองค์จะยังคงให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนกษัตริย์อัลดุลลอฮ์และมกุฎราชกุมารของพระองค์ ในหนังสือยังระบุข้อความว่า ผลประโยชน์ของประเทศชาติสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เราต้องให้การสนับสนุนกษัตริย์ที่พยายามปกป้องจอร์แดนและผลประโยชน์แห่งชาติ ทั้งนี้ ก่อนจะมีการเผยแพร่หนังสือฉบับนี้เพียงไม่กี่ชั่วโมง มีข่าวว่าพระปิตุลาฮัสซัน บิน ทาลาล หรือลุงของกษัตริย์อัลดุลลอฮ์และเจ้าชายฮัมซาห์ ได้เดินทางไปพบเจ้าชายฮัมซาห์ที่วังของพระองค์ จึงเชื่อกันว่าน่าจะเป็นการพูดคุยเพื่อคลี่คลายสถานการณ์

 

ต่อมากษัตริย์อับดุลลอฮ์ทรงกล่าวถึงเรื่องนี้เป็นครั้งแรกในวันที่ 8 เมษายน ว่า “การปลุกระดมถูกทำให้สิ้นสุดลงแล้ว… เหตุการณ์นี้ไม่ได้เป็นความท้าทายที่อันตรายที่สุดต่อความมั่นคงของประเทศ แต่เป็นสิ่งที่เจ็บปวดที่สุดสำหรับข้าพเจ้าตั้งแต่ครองราชย์มา 22 ปี มีการปลุกปั่นทั้งจากภายในและภายนอก” พระองค์ทรงยืนยันว่าเจ้าชายฮัมซาห์ยังอยู่กับครอบครัวของพระองค์ที่พระราชวังของฮัมซาห์ และอยู่ภายใต้การดูแลของพระองค์ 

 

แม้สถานการณ์ดูคลี่คลายมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อกษัตริย์อับดุลลอฮ์และเจ้าชายฮัมซาห์ได้ปรากฏตัวร่วมกันในพิธีเฉลิมฉลองเอกราชครบรอบ 100 ปี แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยังคงทำให้จอร์แดนกลายเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะถือเป็นหนึ่งในตัวแสดงสำคัญของภูมิภาค ความไม่แน่นอนและเสถียรภาพของจอร์แดนจะส่งผลต่อภูมิรัฐศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของจอร์แดนครั้งนี้มีหลายประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจ โดยอาจไล่เรียงได้ ดังนี้ 

 

จอร์แดน ความสำคัญเชิงภูมิรัฐศาสตร์

หลังกระแสข่าวรัฐประหารแพร่สะพัดออกไป หรือเมื่อมีข่าวกักบริเวณเจ้าฮัมซาห์ไม่นาน จะเห็นได้ว่าบรรดาผู้นำในตะวันออกกลาง รวมทั้งมหาอำนาจนอกภูมิภาค ต่างแสดงท่าที่สนับสนุนกษัตริย์อับดุลลอฮ์ ไม่ว่าจะเป็นโมร็อกโก โอมาน ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ บาห์เรน เลบานอน คูเวต อิรัก เยเมน กาตาร์ สภาความร่วมมืออ่าวอาหรับ และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น การแสดงท่าทีอย่างรวดเร็วของบรรดาผู้นำหลายประเทศย่อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของจอร์แดนเป็นอย่างดี 

 

เสถียรภาพของจอร์แดนในห้วงเวลาปัจจุบันอาจเป็นความต้องการของภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงอำนาจในจอร์แดนอาจส่งผลต่อดุลอำนาจและสถานภาพเดิมของภูมิภาค เพราะแม้ว่าจอร์แดนจะเป็นประเทศเล็กๆ แต่ก็เป็นรัฐสำคัญที่ถ่วงดุลอำนาจในภูมิภาค และเป็นรัฐกันชนระหว่างขั้วอำนาจต่างๆ ในภูมิภาค เพราะรายล้อมไปด้วยประเทศที่เป็นตัวแสดงสำคัญอย่างซีเรียทางเหนือ อิรักทางตะวันออกเฉียงเหนือ ซาอุดีอาระเบียทางตะวันออกและทิศใต้ ทางตะวันตกมีพรมแดนส่วนใหญ่ติดอิสราเอล และปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์ อีกทั้งยังอยู่ไม่ไกลกับอียิปต์ 

 

ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์เช่นนี้ทำให้จอร์แดนเป็นประเทศที่ต้องวางท่าทีอย่างระมัดระวัง อีกทั้งจอร์แดนยังมีสถานะเป็นผู้ดูแลมัสยิดอัลอักซอ ศาสนสถานสำคัญลำดับที่สามของอิสลาม ตั้งอยู่ในเยรูซาเลม และมีข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอลที่ลงนามกันมาตั้งแต่ปี 1994 

 

รู้จักเจ้าชายฮัมซาห์ อดีตมกุฎราชกุมารผู้ได้รับความชื่นชมในจอร์แดน

เจ้าชายฮัมซาห์เป็นบุตรคนโตของเจ้าหญิงนูร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาพระชายาของกษัตริย์ฮุสเซน โดยเจ้าชายฮัมซาห์เป็นบุตรที่กษัตริย์ฮุสเซนทรงรักมาก และทรงโปรดให้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์ แต่เมื่อพระองค์ทรงใกล้สิ้นพระชนม์ ตอนนั้นเจ้าชายฮัมซาห์ยังทรงพระเยาว์มาก กษัตริย์ฮุสเซนจึงรับสั่งแต่งตั้งให้อับดุลลอฮ์ บิน ฮุสเซน บุตรชายคนโตของพระองค์กับเจ้าหญิงมูนา ขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารแทนเจ้าชายฮัสซัน บิน ทาลาล ผู้เป็นลุง และรับสั่งให้เจ้าชายฮัมซาห์ขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารเมื่ออับดุลลอฮ์เป็นกษัตริย์ต่อจากพระองค์ เมื่อกษัตริย์ฮุสเซนสิ้นพระชนม์ในปี 1999 อับดุลลอฮ์จึงขึ้นเป็นกษัตริย์ และแต่งตั้งเจ้าชายฮัมซาห์เป็นมกุฎราชกุมารตามพระประสงค์ของกษัตริย์ฮุสเซน แต่ต่อมาในปี 2004 กษัตริย์อับดุลลอฮ์ได้ปลดเจ้าชายฮัมซาห์ และแต่งตั้ง เจ้าชายอัลฮุสเซน บิน อับดุลลอฮ์ บุตรคนโตของตัวเองขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารสืบมา

 

แม้ไม่มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แต่ฮัมซาห์ยังคงเป็นเจ้าชายที่ได้รับความนิยมมากในจอร์แดน ด้วยบุคลิกลักษณะที่ไม่ถือพระองค์และเข้าถึงประชาชนคนทั่วไป ที่สำคัญคือพระองค์มีลักษณะที่คล้ายกับพระบิดากษัตริย์ฮุสเซนมาก 

 

การที่พระองค์ทรงทำวิดีโอพูดถึงสถานการณ์และวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล รวมทั้งบอกว่าพระองค์ถูกกักบริเวณ ในขณะที่กองทัพรีบปฏิเสธว่าไม่ได้มีการกักตัวแต่อย่างใด ย่อมแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่ของประชาชนจำนวนไม่น้อย และฝ่ายความมั่นคงก็ตระหนักดีว่าหากดำเนินมาตรการที่ไม่เหมาะสมหรือรุนแรงกับพระองค์ จะทำให้ประชาชนไม่พอใจจนเกิดการประท้วงได้ 

 

ข่าวลือรัฐประหาร หรือแค่ปลุกปั่นให้เกิดการประท้วง

เมื่อมีข่าวว่าเจ้าชายฮัมซาห์ถูกกักบริเวณ คนใกล้ชิดพระองค์ถูกควบคุมตัว จึงเกิดข่าวลือว่ามีความพยายามทำรัฐประหารขึ้นภายในประเทศ ส่วนผู้บัญชาการกองทัพยืนยันว่าเป็นการสกัดแผนบั่นทอนความมั่นคงของประเทศ ซึ่งไม่ได้ยืนยันชัดๆ ว่ามีความพยายามในการรัฐประหาร ในอีกด้านหนึ่งเจ้าชายฮัมซาห์เชื่อว่าเป็นแผนการของฝ่ายความมั่นคงกับราชสำนัก ที่ต้องการสกัดกั้นพระองค์ไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมือง หรือติดต่อสัมพันธ์กับกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาล

 

นักวิเคราะห์บางคนมองว่า ถึงแม้เจ้าชายฮัมซาห์จะแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาล แต่ก็ไม่มีผลต่อความมั่นคงถ้าไม่มีทหารหนุนหลัง เพราะลำพังพระองค์ไม่ได้มีอำนาจอะไรเลย

 

อดีตทูตอิสราเอลประจำจอร์แดนคนหนึ่งพูดว่า “ในประเทศนี้คุณไม่สามารถทำรัฐประหารได้ถ้าไม่มีทหารช่วย ซึ่งตอนนี้ไม่มีสัญญาณใดๆ” (ว่าทหารจะก่อรัฐประหาร) ทั้งนี้ อดีตทูตผู้นี้ไม่เชื่อว่ามีความพยายามในการทำรัฐประหาร สอดคล้องกับอดีตเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คนหนึ่งที่บอกว่า “นี่ไม่ใช่การรัฐประหาร แต่อาจเป็นการปลุกระดมให้เกิดการประท้วงบนถนน ซึ่งมีกลุ่มชนเผ่าสนับสนุนอยู่ (People Uprising on Street) 

 

ด้วยเหตุนี้ อาจเป็นผลให้ฝ่ายความมั่นคงจอร์แดนกังวลว่าจะเกิดการประท้วง และระมัดระวังมาตรการต่างๆ ที่ใช้กับเจ้าชายฮัมซาห์ เพื่อไม่ให้เกิดการประท้วงขึ้นในประเทศ 

 

การประท้วงทางการเมืองของจอร์แดนที่ผ่านมา ไม่แรง คลี่คลายได้ แต่ครั้งนี้อาจไม่จบ

แม้จอร์แดนจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่การเมืองมีเสถียรภาพค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง แต่กระนั้นก็มีความเคลื่อนไหวและการประท้วงทางการเมืองอยู่เป็นระยะๆ มีลักษณะเด่นคือไม่รุนแรง ไม่บานปลาย ไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและราชวงศ์ฮัชไมต์จอร์แดน การประท้วงทุกครั้งจบลงด้วยสันติและการประนีประนอม มีทางออกร่วมกันเสมอ แต่ครั้งนี้อาจไม่ง่ายเหมือนที่ผ่านมา 

 

หากย้อนมองความเคลื่อนไหวของประชาชนที่ลงถนนประท้วงผู้ปกครองครั้งสำคัญๆ ในจอร์แดน จะพบว่าเหตุประท้วงครั้งแรกๆ มีจุดเริ่มต้นในปี 1989 ที่ประชาชนประท้วงไม่พอใจราคาสินค้าและค่าครองชีพต่างๆ ที่สูงขึ้น กษัตริย์ฮุสเซนในขณะนั้นได้แก้ปัญหาโดยการปรับปรุงระบบการเมืองให้มีลักษณะที่เปิดกว้างมากขึ้น กล่าวคือ ให้มีการเลือกตั้งรัฐสภาขึ้นในประทศ ให้ประชาชนได้มีตัวแทนของตัวเองในสภาแห่งนี้ แต่กษัตริย์ยังคงมีอำนาจสูงสุด ฝ่ายค้านและผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศต่างพอใจกับแนวทางการแก้ไขหรือการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น กษัตริย์ฮุสเซนเองก็ได้รับความนิยมชมชอบมากขึ้น

 

การปฏิรูปทางการเมืองยังคงดำเนินต่อเนื่อง ที่สำคัญคือกษัตริย์ฮุสเซนสามารถสร้างการปรองดองครั้งประวัติศาสตร์กับกลุ่มต่างๆ ที่เคยต้องการโค่นพระองค์ และสามารถดึงกลุ่มนิยมแนวทางอิสลามหรืออิสลามิสต์ (Islamist) มาร่วมทำงานกับรัฐบาล ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ

 

ด้วยต้นทุนทางการเมืองที่กล่าวมา อาจเป็นผลให้กระแสอาหรับสปริง (2011) หรือการลุกฮือประท้วงในจอร์แดนต่างออกไปจากประเทศอาหรับอื่นๆ โดยการประท้วงในจอร์แดนมีลักษณะที่น่าสนใจคือเป็นการประท้วงอย่างสันติ จำกัดขอบเขตและจุดมุ่งหมายของการประท้วงชัดเจนด้วยข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูป แก้ไขปัญหาที่มีอยู่ ไม่ใช่การประท้วงเพื่อโค่นล้มผู้นำหรือมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง 

 

การประท้วงในจอร์แดนตามกระแสอาหรับสปริง ถือเป็นพัฒนาการครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศในแง่ที่ว่าเป็นการลงถนนประท้วงของคนหลายกลุ่มร่วมกัน ประกอบด้วยกลุ่มผู้นำชนเผ่า กลุ่มอิสลามิสต์ กลุ่มฝ่ายซ้าย กระนั้นกษัตริย์และราชวงศ์ฮัชไมต์จอร์แดนก็ไม่ได้รู้สึกกังวลมากนัก เพราะผู้ประท้วงเรียกร้องแค่การปฏิรูป และการชุมนุมประท้วงก็ไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่มีผู้ประท้วงเสียชีวิตแม้แต่คนเดียว

 

หลังผู้นำอียิปต์ ฮุสนี มุบาร็อก ที่อยู่ในอำนาจมาอย่างยาวนาน ถูกโค่นในเวลาเพียงไม่กี่วัน ย่อมส่งผลต่อความมั่นคงของผู้ปกครองในประเทศต่างๆ โดยต้องเร่งหาทางคลี่คลายสถานการณ์โดนเร็ว กษัตริย์อับดุลลอฮ์ทรงไม่ได้นิ่งนอนใจเช่นกัน พระองค์ทรงแก้ไขสถานการณ์ด้วยการปลดคณะรัฐบาล จากนั้นให้สัญญาว่าจะเร่งปฏิรูปการเมืองให้เร็วที่สุด โดยให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น พร้อมกับรับรองว่าประชาชนจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและปลอดภัย ต่อมาได้มีการตั้งคณะกรรมการเจรจาแห่งชาติ (National Dialogue Committee) ประกอบด้วยผู้นำทางการเมืองและสังคม 52 คน เพื่อยกร่างกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมืองใหม่ นอกจากนี้ กษัตริย์ยังตั้งคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปการเมือง คณะกรรมการชุดนี้มีชื่อว่า ‘Royal Committee’ ด้วยวิธีการแบบนี้ทำให้กระแสการประท้วงอาหรับสปริงในจอร์แดนคลี่คลายลง

 

อย่างไรก็ตาม ความไม่พอใจรัฐบาลของบางกลุ่ม โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจ ยังคงปรากฏให้เห็นและนำไปสู่การประท้วงอีกครั้งในช่วงต้นปี 2017 ครั้งนี้ผู้ประท้วงที่เป็นกลุ่นชนเผ่าต้องการโค่นล้มรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฮานี อัล มุลกี สาเหตุของการประท้วงมาจากเรื่องการขึ้นราคาสินค้า ภาษีนำเข้า และภาษีสินค้าอื่นๆ ปัญหาหนี้สินของประเทศที่สูงขึ้น ปัญหาความยากจน และอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น ขบวนการประท้วงครั้งนี้เรียกในภาษาท้องถิ่นว่า ‘Herak’ หรือ ‘ความรุ่งโรจน์’ 

 

ในช่วงแรกรัฐบาลจอร์แดนและฝ่ายความมั่นคงอาจไม่ได้สนใจต่อการเคลื่อนไหวประท้วงนี้มากนัก แม้จะดำเนินมาต่อเนื่องเป็นระยะๆ ก็ตาม จนกระทั่งมีความเคลื่อนไหวของเจ้าชายฮัมซาห์ ที่มีการสร้างสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำชนเผ่าซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเจ้าชายฮัมซาห์ได้ไปพบปะกับผู้นำชนเผ่าเหล่านี้บ่อยขึ้น อีกทั้งยังไปสถานที่ที่มีการชุมนุมรวมตัวกันวิจารณ์กษัตริย์อย่างเปิดเผย แม้พระองค์จะไม่ได้พูดหรือแสดงความเห็นใดๆ แต่การไม่คัดค้านย่อมส่งสัญญาณให้ฝ่ายความมั่นคงไม่สบายใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  

 

ทั้งนี้ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์การกักบริเวณล่าสุด มีกระแสข่าวว่าการประท้วงกำลังจะกลับมาเริ่มขึ้นอีกครั้ง จึงอาจเป็นเหตุผลให้ฝ่ายความมั่นคงประเมินแล้วว่า หากปล่อยให้เกิดการประท้วงขึ้นโดยมีเจ้าชายฮัมซาห์พัวพัน และตามข้อมูลคือมีการสนับสนุนจากอำนาจนอกประเทศด้วย อาจกระทบความมั่นคงของประเทศรวมทั้งราชวงศ์ฮัชไมต์จอร์แดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่คนจอร์แดนจำนวนมากกำลังโกรธและไม่พอใจต่อสภาพเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่จากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาคนว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาความยากจนก็เพิ่มมากขึ้น

 

นอกจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ประชาชนส่วนหนึ่งยังไม่พอใจการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขของรัฐบาล โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนออกซิเจนในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งของรัฐที่เพิ่งจะสร้างใหม่ในเมืองอัลซัลฏ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 6 คน เหตุการณ์นี้ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งไม่พอใจ ในขณะเดียวกันก็ปรากฏสัญญาณบางอย่างในเชิงเปรียบเทียบความนิยมระหว่างกษัตริย์อัลดุลลอฮ์กับเจ้าชายฮัมซาห์ เห็นได้จากการที่กษัตริย์อับดุลลอฮ์ทรงเสด็จไปที่โรงพยาบาลแห่งนั้นหลังเกิดเหตุ แม้จะมีกลุ่มผู้คนที่สนับสนุนกษัตริย์อับดุลลอฮ์มารับเสด็จ แต่ก็ปรากฏว่ามีบางกลุ่มตะโกนว่า “ประเทศล่มจมแล้ว” ในอีกด้านหนึ่ง เจ้าชายฮัมซาห์ทรงเสด็จไปเยี่ยมครอบครัวของผู้เสียชีวิตรายหนึ่ง พระองค์ทรงได้รับการต้อนรับอย่างดี ซึ่งญาติได้แสดงความขอบคุณและกล่าวยกย่องในความใจกว้างของพระองค์

 

ด้วยกระแสความไม่พอใจในหลายๆ เรื่องที่กำลังเพิ่มมากขึ้น และการประท้วงของกลุ่มชนเผ่าที่เชื่อว่ากำลังจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างเจ้าชายฮัมซาห์กับกลุ่มผู้นำชนเผ่า อาจเป็นเหตุผลให้ฝ่ายความมั่นคงรีบชิงตัดไฟแต่ต้นลม แยกเจ้าชายฮัมซาห์ออกมาจากฝ่ายต่อต้าน ด้วยการปิดกั้นการติดต่อสื่อสารกับกลุ่มชนเผ่า และใช้วิธีการแก้ไขความขัดแย้งภายในราชวงศ์ด้วยวิถีการประนีประนอมแบบฮัชไมต์ โดยใช้ความอาวุโสของพระปิตุลาหรือลุงเป็นผู้เจรจาหาทางออกอย่างสันติ จนนำมาสู่การลงนามในจดหมายแสดงความจงรักภักดีของเจ้าชายฮัมซาห์ และการปรากฏตัวพร้อมกับกษัตริย์อับดุลลอฮ์ในเวลาต่อมา

 

แม้สถานการณ์ดูคลี่คลายหรือคงจะผ่านพ้นวิกฤตไปได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้อาจไม่จบลงง่ายๆ เหมือนที่ผ่านมา เพราะนอกจากปัญหาความไม่พอใจเรื่องเศรษฐกิจและการบริหารประเทศยังคงปรากฏอยู่ต่อเนื่องแล้ว ข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงที่ชี้ว่ามีอำนาจภายนอกสนับสนุนอยู่ อาจกลายเป็นปัญหาความมั่นคงระยะยาวที่ต้องจับตาต่อไป 

 

ใครคืออำนาจภายนอก เบื้องหลังกระแสต่อต้านในจอร์แดน

เมื่อข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงจอร์แดนชี้ว่ามีอำนาจภายนอกที่กำลังสนับสนุนการบ่อนทำลายความมั่นคงในราชอาณาจักร จึงทำให้เกิดคำถามและข้อสันนิษฐานต่างๆ นานา ว่าอำนาจภายนอกนี้คือใครหรือประเทศไหนอยู่เบื้องหลังการปลุกปั่นให้เกิดการลุกฮือประท้วงในจอร์แดนหรือความเป็นไปได้ในการก่อรัฐประหาร 

 

ทั้งนี้ ตัวแสดงสำคัญที่ถูกเพ่งเล็งหรือต้องสงสัยว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการหนุนหลังกลุ่มที่ต้องการโค่นกษัตริย์อับดุลลอฮ์นั้น อาจเป็นซาอุดีอาระเบีย หรืออาจเป็นอิสราเอล หรือเป็นแผนการร่วมกันของหลายประเทศ ทั้งซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิสราเอล และสหรัฐอเมริกา

 

กรณีซาอุดีอาระเบีย แม้จะเป็นประเทศแรกๆ ที่ออกแถลงการณ์สนับสนุนกษัตริย์อับดุลลอฮ์ แต่ก็ยังถูกมองอย่างเคลือบแคลงว่าอาจเกี่ยวข้องกับความพยายามโค่นกษัตริย์อับดุลลอฮ์และเปลี่ยนขั้วอำนาจในจอร์แดน ทั้งนี้ เพราะมีการจับกุมบุคคลสำคัญๆ ที่ใกล้ชิดเจ้าชายฮัมซาห์และมีความเกี่ยวโยงกับซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะบัสเซม อะวาดุลลอฮ์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของจอร์แดน เคยถูกแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้พิพากษาศาลสูงสุดในปี 2007 ทำหน้าที่ไม่ถึง 1 ปีก็ถูกปลด จากนั้นได้ย้ายไปอยู่ที่ดูไบและตั้งบริษัท Tomouh Consultancy เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ เขาอาศัยและเดินทางไปมาระหว่างซาอุดีอาระเบียกับยูเออี มีหุ้นส่วนในธุรกิจธนาคารกับนักธุรกิจซาอุดีอาระเบีย (Arab National Bank) และเป็นหัวหน้าธนาคารสาขาลอนดอนร่วมกับหุ้นส่วนชาวซาอุดีอาระเบียหลายคน อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในกรรมการของกลุ่มธุรกิจธนาคารในบาห์เรนอย่าง Al Baraka Banking Group แต่ที่สำคัญคือ มีบางรายงานระบุว่าเขาเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย บางแหล่งข่าวบอกว่าเขาคือหนึ่งในคนที่ร่วมผลักดันการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่อารัมโก (Aramco) ในช่วงเดือนมกราคม อะวาดุลลอฮ์เองก็ได้ไปปรากฏตัวร่วมกับบิน ซัลมาน ในระหว่างการประชุม Future Investment Initiative (FII) ที่จัดขึ้นที่กรุงริยาด

 

อีกคนที่ถูกควบคุมตัวคือ ชารีฟ ฮาซัน บิน ซาอิ๊ด หนึ่งในสมาชิกราชวงศ์ที่มีความใกล้ชิดกับเจ้าชายฮัมซาห์ ซึ่งเชื่อกันว่ามีธุรกิจในซาอุดีอาระเบีย โดยบางรายงานบอกว่าเขาถือสองสัญชาติ ทั้งซาอุดีอาระเบียและจอร์แดน

 

ไม่ได้มีเพียงซาอุดีอาระเบียเท่านั้นที่ถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ เว็บไซต์ middleeastmonitor.com อ้างอิงหนังสือพิมพ์ Al-Akhbar ที่รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรายหนึ่ง บอกว่า “ความพยายามในการโค่นกษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่สอง เป็นแผนการร่วมกันของหลายฝ่าย ทั้งอิสราเอล ยูเออี ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอเมริกา” แหล่งข่าวระบุว่า เหตุที่อิสราเอลต้องการโค่นกษัตริย์อับดุลลอฮ์ เพราะพระองค์ทรงคัดค้าน ‘ข้อตกลงแห่งศตวรรษ’ (Deal of the Century) หรือแผนสันติภาพตะวันออกกลาง ที่เสนอโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อันเป็นข้อเสนอที่ปาเลสไตน์เสียเปรียบทุกทางและขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ จอร์แดนมองว่าแผนการนี้จะนำไปสู่การหาที่อยู่ใหม่ให้ปาเลสไตน์ และผนวกดินแดนส่วนหนึ่งของจอร์แดนที่เรียกว่า Jordan Valley เข้าเป็นของอิสราเอล กษัตริย์อับดุลลอฮ์ทรงแสดงจุดยืนคัดค้านมาตลอด ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ก็ชูนโยบายการผนวกดินแดนบางส่วนของเวสต์แบงก์เข้าเป็นของอิสราเอล

 

นอกจากนี้แล้ว ข้อตกลงดังกล่าวจะนำไปสู่การสูญเสียสิทธิของจอร์แดนในการเป็นผู้ดูแลมัสยิดอัลอักซอ ตามข้อตกลงสันติภาพที่อิสราเอลกับจอร์แดนลงนามกันตั้งแต่ปี 1994 ในรายงานของ Al- Akhbar ยังบอกด้วยว่า มกุฎราชกุมารบิน ซัลมาน ยอมสนับสนุนแผนการของอิสราเอล ผลตอบแทนคือซาอุดีอาระเบียจะได้รับสิทธิในการเป็นผู้ดูแลมัสยิดอัลอักซอในเยรูซาเลมแทนจอร์แดน หากโค่นกษัตริย์อับดุลลอฮ์สำเร็จ ซึ่งเป็นแผนการที่ได้รับไฟเขียวจากสหรัฐอเมริกา โดยบิน ซัลมาน ได้เตรียมให้อดีตหัวหน้าผู้พิพากษาอะวาดุลลอฮ์ ทำหน้าที่ถ่ายโอนอำนาจภายในราชวงศ์ (ให้เจ้าชายฮัมซาห์ขึ้นเป็นกษัตริย์) ในรายงานยังระบุว่าได้วางตัวให้โมฮัมเหม็ด ดะห์ลัน ชาวปาเลสไตน์ อดีตผู้นำกลุ่มฟาตะห์สาขากาซา และอดีตรัฐมนตรีความมั่นคงขององค์การบริหารปาเลสไตน์ (Palestinian Authority) ให้เป็นผู้ระดมคนปาเลสไตน์ในจอร์แดนและชนเผ่าท้องถิ่นลุกขึ้นต่อต้าน รวมไปถึงการติดอาวุธให้กลุ่มชนเผ่าทางใต้ เพื่อใช้กำลังต่อต้านในกรณีที่จำเป็น และจะมอบสัญชาติให้เพื่อเป็นการตอบแทน

 

ดะห์ลันเป็นคู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญของมะห์มูด อับบาส ผู้นำปาเลสไตน์ ดะห์ลันถูกขับออกจากกลุ่มฟาตะห์ตั้งแต่ปี 2011 ด้วยข้อครหาว่ามีส่วนในการลอบสังหารยัสเซอร์ อาราฟัต ต่อมายังถูกกล่าวหาเรื่องอื่นๆ เช่น คอร์รัปชัน การมีความสัมพันธ์ลับกับอิสราเอล ทั้งนี้ หลังจากถูกขับออกจากพรรค ดะห์ลันก็หนีไปอยู่ที่ยูเออี และไปรับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงให้กับยูเออี ดะห์ลันถูกมองว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังบทบาทของยูเออีในสงครามกลางเมืองในเยเมน ที่สำคัญถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังการผลักดันให้ยูเออีปรับความสัมพันธ์กับอิสราเอล แม้ดะห์ลันจะปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ แต่การที่เขาไม่แสดงท่าทีคัดค้านการตัดสินใจของยูเออี ยิ่งทำให้เกิดข้อสงสัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

ความสัมพันธ์ที่ตกต่ำระหว่างอิสราเอลกับจอร์แดนในระยะหลังที่มีปมขัดแย้งระหว่างกันหลายเรื่อง ยิ่งทำให้กระแสข่าวว่าอิสราเอลมีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนโค่นอำนาจในจอร์แดนมากขึ้น กษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่สองเองก็ทรงไม่ไว้ใจนายกรัฐมนตรีอิสราเอลที่จ้องจะขยายดินแดนอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ อีก เช่น เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มกุฎราชกุมารฮุสเซนแห่งจอร์แดนได้ทรงยกเลิกการเดินทางไปมัสยิดอัลอักซอในเยรูซาเลม ซึ่งตามข้อตกลงปี 1994 จอร์แดนคือผู้ดูแลศาสนสถานที่สำคัญของมุสลิมและคริสเตียนในเยรูซาเลม อิสราเอลไม่มีอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ดังกล่าว (แต่ในทางปฎิบัติ อิสราเอลยังใช้อำนาจควบคุมพื้นที่นี้และปิดกั้นการใช้สถานที่นี้เป็นระยะๆ) เหตุที่ต้องยกเลิก เพราะทางการจอร์แดนไม่พอใจที่อิสราเอลไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของมกุฎราชกุมารเดินทางร่วมคณะตามจำนวนและมาตรการที่จอร์แดนกำหนด จอร์แดนจึงตอบโต้ทันทีในวันถัดมา โดยการไม่อนุญาตให้เฮลิคอปเตอร์ของเนทันยาฮูที่กำลังจะเดินทางไปยูเออีบินผ่านน่านฟ้าจอร์แดน ผ่านไปหลายชั่วโมงจอร์แดนจึงเปลี่ยนท่าที โดยยอมให้ใช้น่านฟ้าของตัวเองได้ แต่ปรากฏว่าเนทันยาฮูได้ยกเลิกการเดินไปยูเออีเลย อิสราเอลตอบโต้ด้วยการไม่จัดส่งน้ำที่ปั๊มขึ้นมาจากแม่น้ำจอร์แดนไปให้กับจอร์แดนตามข้อตกลง ปี 1994 การตอบโต้หนักขึ้นเมื่อจอร์แดนออกแถลงการณ์เรียกร้องอิสราเอลยุติการบุกรุกรายวันของอิสราเอลที่เข้าไปตั้งที่อยู่อาศัยรอบๆ มัสยิดอัลอักซอ โดยมีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงอิสราเอลให้การคุ้มครอง 

 

อีกเหตุผลหนึ่งที่อาจทำให้อิสราเอลไม่พอใจกษัตริย์อับดุลลอฮ์คือ ในช่วงที่อิสราเอลกำลังเข้าสู่สมรภูมิเลือกตั้งที่เข้มข้น มีข่าวออกมาว่ากษัตริย์อับดุลลอฮ์ได้ทรงพบกับเบนนี กันต์ซ อดีตผู้บัญชาการทหาร และหัวหน้าพรรคบลูแอนด์ไวต์ คู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญของเนทันยาฮู ด้วยความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลง จึงทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าอิสราเอลอาจอยู่เบื้องหลังแผนการปลุกปั่นความขัดแย้งในจอร์แดนและโค่นกษัตริย์อับดุลลอฮ์

 

ทั้งหมดนี้คือปัญหาการเมืองภายในราชอาณาจักรฮัชไมต์และความมั่นคงของจอร์แดนที่เชื่อมโยงการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความขัดแย้งกับอิสราเอลซึ่งเป็นเพื่อนบ้านสำคัญที่มีข้อตกลงสันติภาพระหว่างกัน หากความสัมพันธ์ขัดแย้งตึงเครียดหนัก อาจนำไปสู่การทบทวนข้อตกลงดังกล่าว ที่จะส่งผลอย่างมากต่อดุลอำนาจและสถานภาพเดิมของตะวันออกกลาง หรือหากเกิดการประท้วง การรัฐประหาร และการเปลี่ยนแปลงภายในราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน ดินแดนที่ได้ชื่อว่า ‘โอเอซิสของเสถียรภาพ’ ในตะวันออกกลางอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 

 

ภาพ: Getty Images, ShutterStock

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising