×

บทเรียนจาก Gotham ในภาพยนตร์ Joker สู่ฮ่องกง และประเทศไทย

09.10.2019
  • LOADING...
บทเรียนจาก Gotham ในภาพยนตร์ Joker

*คำเตือน: บทความนี้มีเนื้อหาที่กล่าวถึงและเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์เรื่อง Joker 

 

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปสอนหนังสือ บรรยาย และร่วมแสดงความคิดเห็นในรายการโทรทัศน์ ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจีน และสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในหลายโอกาส หลายวาระ

 

และคำถามที่สำคัญที่สุด 2 คำถามก็คือ ข้อเรียกร้องที่แท้จริง (Insight) ของกลุ่มผู้ชุมนุมคืออะไร? และสาเหตุหลัก (Root Cause) ที่ต้องออกมาเรียกร้องสิ่งนั้นคืออะไร?

 

สำหรับผม ผมพิจารณาว่าข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมได้ก้าวข้าม 5 ข้อเรียกร้องในวาระแรกตั้งแต่เดือนมิถุนายนไปนานแล้ว 

 

1. ถอดถอนร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน 2. ไม่ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม 3. ห้ามการกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมเป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ และ/หรือ ผู้ก่อจลาจล 4. ต้องให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติเพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และ 5. เรียกร้องให้ แคร์รี ลัม ต้องลาออก และให้มีการเลือกตั้งโดยใช้หลักการสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป (Universal Suffrage)

 

แต่ข้อเรียกร้องที่สำคัญที่สุด ณ ปัจจุบัน คือ ผู้ชุมนุมเรียกร้อง ‘คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นบนเกาะฮ่องกง’ และนี่คือ Insight ที่พวกเขาต้องการอย่างแท้จริง

 

ต่อคำถามที่ 2 ก็คือ แล้วทำไมคุณภาพชีวิตบนเกาะฮ่องกงถึงเสื่อมทรามขนาดนั้น ขนาดที่ประชาชนกว่า 53,200 คนต้องอาศัยอยู่ใน ‘บ้านกรงหมา (Cage Home)’ ซึ่งอาศัยอยู่อย่างแออัดในเขต Sham Shui Po, Mong Kok, To Kwa Wan, และ Tai Kok Tsui ในขณะที่อีกหลายล้านคนต้องอาศัยในเมืองที่ค่าครองชีพสูงที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก ที่อยู่อาศัยก็เป็นเพียงห้องเล็กๆ ที่ราคาแสนแพง และไม่มีโอกาสที่จะได้ครอบครองเป็นของตนเอง เพราะโดยเฉลี่ยเงินเดือนชาวฮ่องกงที่เป็นผู้ชายจะอยู่ที่ 19,100 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 75,000 บาทไทย) ในขณะที่ผู้หญิงจะมีเงินเดือนเฉลี่ยที่ 14,700 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 57,000 บาทไทย) 

 

แค่ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชาย-หญิงก็เป็นปัญหาสำคัญแล้ว ทำไมผู้หญิงถึงได้เงินเดือนเฉลี่ยน้อยกว่าผู้ชายถึง 24% ในขณะที่ห้องเช่าขนาด 1 ห้องนอน อยู่ที่ 16,551 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อเดือน (ประมาณ 64,500 บาทไทย) และโดยเฉลี่ยคนฮ่องกงมีพื้นที่ส่วนตัวสำหรับพักอาศัยเพียง 47.8 ตารางฟุตต่อคน หรือใหญ่กว่าโต๊ะปิงปองเล็กน้อยเท่านั้น (Annual Demographia International Housing Affordability Survey) และที่สำคัญกว่านั้นคือ อาศัยอยู่ในระบบเศรษฐกิจและระบบการเมืองที่ ‘ไม่มีความหวัง และไม่มีอนาคต’

 

ผมมักจะตอบคำถามที่สอง ว่าสาเหตุส่วนใหญ่ที่ฮ่องกงเป็นเช่นนี้เนื่องมาจาก ‘ทุนนิยมสามานย์’ ที่มองไม่เห็นหัวคนอื่นๆ ไม่มีสังคม ไม่มีประชาคมที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทุกๆ คนดำเนินกิจกรรมทุกสิ่งทุกอย่างเพียงเพื่อสนองความต้องการและผลประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนรวม

 

ทุนนิยมที่พวกเรานักเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์เรียนมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย (ส่วนตัว ผมก็ยังเรียนรู้อยู่จนถึงทุกวันนี้) ก็คือ ระบบที่ทุกคนเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง โดยวางอยู่บนข้อสมมติที่ว่า มนุษย์ทุกคนมีธรรมชาติที่รักสงบ ร่วมมือ สนับสนุนการแข่งขันอย่างสร้างสรรค์ ใช้เหตุผลในการตัดสินใจมากกว่าการใช้อารมณ์ ปัจเจกบุคคลทุกคนมีจิตสำนึกด้านบวก เหมือนที่ อดัม สมิธ บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่เขียนไว้ในหนังสือ The Theory of Moral Sentiments ในปี 1759 เพื่อเป็นข้อสมมติก่อนที่จะเขียนตำราเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่เล่มแรกที่ชื่อว่า An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations หรือที่นิยมเรียกกันว่า The Wealth of Nations ในปี 1776

 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นความเลวร้ายอย่างที่สุดคือ สังคมที่บิดเบี้ยวเสียจนข้อสมมติเรื่องปัจเจกบุคคลว่าทุกคนมีจิตสำนึกด้านบวกไม่เกิดขึ้น เป็นภาพที่แสดงออกถึงความเลวร้ายอย่างที่สุดที่สังคมไม่ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มนุษย์คิดแต่จะแสวงหาผลประโยชน์อย่างตะกรุมตะกราม ได้แสดงออกเป็นภาพที่เรารับรู้ได้ง่ายได้ ชัดเจน และกดดันที่สุด ในภาพยนตร์เรื่อง Joker ของผู้กำกับ ท็อดด์ ฟิลลิปส์ เขียนบทโดยตัวฟิลลิปส์เองและ สกอตต์ ซิลเวอร์ และมีนักแสดงนำคือ วาคีน ฟีนิกซ์ 

 

ก็อตแธม คือเมืองที่โหดร้าย ทุกคนคิดแต่จะแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเอง ชายวัยกลางคนที่กำลังมีปัญหาทั้ง Midlife Crisis และปัญหาทางจิต อย่าง อาเธอร์ เฟล็ก ที่แสดงโดยวาคีน ฟีนิกซ์ จึงถูกกดดันจนกลายเป็นตัวร้ายตลอดกาลแห่งมหานครแห่งนี้ในนาม Joker ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงคำกล่าวคลาสสิกในหนังสือการ์ตูนคอมิก Batman: The Killing Joke ได้อย่างชัดเจนว่า “All it takes is one bad day to reduce the sanest man alive to lunacy. That’s how far the world is from where I am. Just one bad day.” 

 

และวันที่เลวร้ายเพียงวันเดียวที่กดดันเขาอย่างแสนสาหัสคือวันที่ทุนนิยมสามานย์ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพของมัน วันที่ทั้งเมืองสกปรกรกรุงรัง เพราะคนงานเก็บขยะกำลังประท้วง จึงไม่มีใครทำงานและปล่อยให้สิ่งแวดล้อมของเมืองเน่าเฟะ โดยไม่ได้สำนึกว่าหน้าที่ของตนคือการทำให้บ้านเมืองสะอาด 

 

เด็กวัยรุ่นที่แกล้งและทำร้ายตัวตลกที่ไม่มีทางสู้เพียงเพราะต้องการความสนุกสนาน โดยไม่ได้นึกถึงว่าคนที่ถูกกลั่นแกล้งจะเดือดร้อนเพียงไหน 

 

บริษัทที่กดขี่ลูกน้องโดยไม่รับฟังว่าเขาเจอวันที่เลวร้ายอะไรมาบ้าง แต่นึกถึงแค่เงินที่ต้องชดใช้ เช่นเดียวกับเจ้าของธุรกิจที่นึกถึงแต่เฉพาะผลงานที่ต้องได้รับจากการจ้างคนไปทำงาน

 

เมืองที่ยกเลิกสวัสดิการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา เพียงเพราะพิจารณาว่า มันเป็นภาระทางงบประมาณที่สูง โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงว่า ผู้ป่วยทางจิตที่ไร้ที่พึ่ง จะสามารถสร้างความรุนแรงได้แค่ไหน

 

แม่ที่ก่นด่าคนแปลกหน้าที่เข้ามาเล่นสนุกกับลูก เพียงเพราะความรำคาญ โดยไม่นึกถึงว่า คนที่เจตนาดี เขาจะเสียใจหรือไม่ที่ทำดีแล้วถูกด่า

 

เพื่อนร่วมงานที่ใช้เวลาเปราะบางของเพื่อนร่วมงานในการเสนอขายสินค้า และยังไปโกหกนายจ้างเพียงเพื่อให้ตนเองพ้นจากการมีส่วนร่วมในการกระทำผิด หรือแม้แต่การไปเยี่ยมเยือน โดยปากบอกว่าเป็นเพื่อนกันต้องแคร์กัน แต่ในความเป็นจริงคือการไปหาเบาะแสว่าตนเองจะถูกลากเข้าไปในคดีความหรือไม่

 

คนมีการศึกษา คนมีฐานะ ที่สนุกสนานจนเกินขอบเขต และข่มเหงคนรอบข้างที่พิจารณาว่าเขาไม่มีทางสู้ และแน่นอนที่สุด พิธีกรรายการโทรทัศน์ที่พร้อมจะลากคนที่ถูกมองว่าน่าสมเพชคนหนึ่งขึ้นมาบนเวทีเพื่อสร้างความขบขันเพื่อเรียกเรตติ้ง โดยไม่ได้สนใจสภาพจิตใจของผู้ที่ถูกย่ำยี ฯลฯ 

 

ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะทุกคนทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนบนสภาพสังคมที่ทำให้มนุษย์บิดเบี้ยว และไม่มีจิตสำนึกด้านบวกซึ่งกันและกันอีกต่อไป 

 

ในกรณีของเฟล็กอาจจะเลวร้ายไปกว่านี้ เพราะแม้แต่แม่ที่เขารักและดูแลอย่างดีก็ยังหลอกและสร้างปัญหาให้กับเขา หรือแม้แต่ความรักที่เกิดขึ้นกับหญิงสาวก็ไม่ได้มีอยู่จริง เป็นแต่เพียงมายาคติในหัวที่คิดไปเอง เพียงเพราะยาที่เคยได้รับในการบำบัด ถูกตัดงบประมาณออกไป

 

แน่นอนว่า ไม่ได้มีเพียงเฟล็กเพียงคนเดียวที่ต้องเผชิญชะตาชีวิตบัดซบในเมืองที่เลวร้ายแห่งนี้ แต่การแสดงออกของเขากลับทำให้คนที่รู้สึกว่าตนเองต่ำต้อย ไร้ค่า ไร้อนาคตจำนวนมาก ออกมาสร้างความวุ่นวายไปทั่วท้องถนน และมอง The Joker หรือตัวตลกว่าเป็นเสมือนตัวแทนแบบ Anti-Hero ที่ให้สิทธิ์ที่จะให้พวกเขาออกมาสร้างความวุ่นวาย ออกมาทำอะไรก็ได้เพื่อความสะใจ รวมถึงออกมาทำร้าย ทำลาย คนที่เห็นต่าง และแน่นอน ทำได้แม้แต่การฆ่าสังหารชีวิตของคนที่อยู่ในสถานะตรงข้าม กรณีนี้ก็คือการสังหารมหาเศรษฐี โธมัส เวย์น และภรรยา ต่อหน้าลูกชาย (บรูซ) เพียงเพราะมันรวยกว่าเรา เพียงเพราะคุณภาพชีวิตมันดีกว่าเรา เพียงเพราะเราไม่ได้มีอย่างมัน…เหล่านี้คือสังคมที่บิดเบี้ยวและน่าวิตกกังวลเป็นที่สุด 

 

บทเรียนจาก Gotham ในภาพยนตร์ Joker

 

ลองนึกดูว่า คนที่อาศัยอยู่ในบ้านกรงหมาบนเกาะฮ่องกงเขาจะรู้สึกอย่างไร เขามีที่พึ่งหรือไม่ เขามีใครออกมาเรียกร้องสิทธิเหล่านี้หรือไม่ สังคมที่ไม่เท่าเทียมกันเกิดขึ้นเพราะอะไร ตัวแทนของพวกเขาที่ถูกเลือกเข้าไปในสภานิติบัญญัติของฮ่องกงเคยทำหน้าที่เหล่านี้หรือไม่ 

 

ถ้าใครเคยไปฮ่องกงหลายๆ ครั้งก่อนหน้านี้จะรู้ว่า สังคมฮ่องกงไม่ใช่สังคมที่น่าอยู่นัก คนฮ่องกงคือคนที่รีบเร่ง และก่นด่ากับทุกๆ เรื่องที่ตนเองไม่สบอารมณ์ ถ้าคุณพาลูกเล็กๆ ของคุณเข้าไปในร้านอาหาร แล้วลูกของคุณร้องไห้งอแง ในสังคมที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน พนักงานเสิร์ฟและคนในร้านอาจจะเข้ามาเล่นกับลูกคุณเพื่อปลอบ หรืออาจจะเอาขนมเข้ามาให้เพื่อให้เด็กอารมณ์ดีขึ้น แต่ในฮ่องกง คนในร้านอาหารจะเริ่มด่าคุณที่ทำให้พวกเขาหนวกหู และเจ้าของร้านแทนที่จะช่วยคุณ เขาจะมาเชิญคุณออกจากร้านแทน 

 

ฮ่องกงคือหนึ่งในตัวอย่างของระบบเศรษฐกิจที่ไม่เท่าทันกับ Disrupt หลายๆ เรื่อง อาทิ การกระจายรายได้ของฮ่องกงเลวร้าย เราได้ยินชื่อมหาเศรษฐีฮ่องกงที่มีเงินรวยล้นฟ้าจำนวนมาก ทุกคนใช้ชีวิตหรูหราในคฤหาสน์ราคาแพงมหาศาล ในขณะที่คนจำนวนมากต้องนอนในบ้านกรงหมา แน่นอนมีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วเช่นนี้ บางคนอาจจะโทษเรื่องของนโยบายรัฐที่เอาใจนายทุน บางคนอาจจะโทษเรื่องของคอร์รัปชันฉ้อราษฎร์บังหลวง บางคนอาจจะโทษไปถึงโครงสร้างของระบบทุนนิยม ฯลฯ แต่ตัวการสำคัญที่มีผลไม่มากก็น้อยคือ ความที่สังคมฮ่องกงไม่สามารถปรับตัวให้เท่าทันกับ Technology Disruption

 

ลองนึกถึงภาพอาคารที่พักอาศัยที่แออัด ทุกคนอยู่ในห้องเล็กๆ พวกนั้น เราจะเห็นว่ามันเป็นอาคารแบบเก่า น่าถูกสร้างมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960-1970 ช่วงเดียวกันกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 3 หรือ Industry 3.0 ที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1970-1980 ที่คอมพิวเตอร์และระบบออโตเมชันเริ่มถูกนำมาใช้แทนกำลังคนในภาคการผลิตครับ

 

ช่วงแรกๆ คนก็กลัวกันว่า คอมพิวเตอร์จะมาแย่งงานคนระดับล่าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ ในตอนนั้นคอมพิวเตอร์ยังทำความสะอาดบ้าน ยังขับรถส่งสินค้า ยังทำสวน ยังล้างห้องน้ำไม่ได้ คอมพิวเตอร์ไม่ได้มาทดแทนคนงานระดับล่าง หากแต่มันมาทดแทนคนงานในระดับกลาง

 

จากทศวรรษ 1970–2010 เป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว ที่คอมพิวเตอร์มาแทนคนงานระดับกลางที่ทำงานประจำแบบ Routine ไม่ว่าจะเป็นงานเสมียน งานเลขานุการ งานจองตั๋ว งานนั่งโต๊ะต่างๆ สำนักงานสถาปนิกที่เคยต้องใช้ Draftsman เป็นร้อยๆ คนนั่งเขียนแบบ ถูกแทนที่ด้วย AutoCAD เพียงคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวที่ทำให้ดีไซเนอร์หนึ่งคนทำงานแทนคนงานที่จบอาชีวะเป็นร้อยๆ คนได้ 

 

ลักษณะงานแบบนี้เกิดขึ้นทั่วทั้งเกาะฮ่องกงที่ค่าแรงสูงขึ้นเรื่อยๆ และเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยก่อนที่ใดๆ ในโลก และคนเหล่านี้นั่นแหละที่กลายเป็นเหยื่อ เป็นพวกที่ต้องไปนอนในบ้านกรงหมา ไม่มีอนาคต ไม่มีหนทาง

 

คำถามคือ แล้วคนในฮ่องกงไม่แคร์กันหรือ ไม่ช่วยเหลือเจือจานกันหรือ ไม่มีใครออกมาสร้างระบบหรือกฎเกณฑ์ใดๆ ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาเหล่านี้เลยหรือ คำตอบคือยากครับ 

 

หากเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ ฮ่องกงซึ่งมีพื้นที่ 1,108 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่สิงคโปร์มีพื้นที่เพียง 722.5 ตารางกิโลเมตร ความหนาแน่นของประชากรฮ่องกงอยู่ที่ 6,777 คนต่อตารางกิโลเมตร ในขณะที่สิงคโปร์มีความหนาแน่นประชากรอยู่ที่ 7,804 คนต่อตารางกิโลเมตร จะเห็นได้ว่าฮ่องกงมีพื้นที่มากกว่า มีประชากรเบาบางกว่า แต่กลับมีปัญหาบ้านกรงหมา ในขณะที่เราไม่เคยได้ยินเรื่องเหล่านี้ในสิงคโปร์

 

ทั้งนี้เพราะสิงคโปร์มีแนวคิดมาตั้งแต่ปี 1963 ว่าเรื่องที่อยู่อาศัยคือปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาคน และเมื่อคนมีคุณภาพ ประเทศก็จะมีเศรษฐกิจที่ดีเพราะมีปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ และเรื่องสำคัญอย่างที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีเงื่อนไขและข้อจำกัดแบบสิงคโปร์ พวกเขาไม่สามารถจะให้กลไกตลาดเป็นกลไกในการจัดสรร สิงคโปร์จึงมีรัฐวิสาหกิจ Singapore Housing and Development Board ขึ้น ทำให้ปัจจุบันชาวสิงคโปร์กว่า 82% อยู่ในอาคารสงเคราะห์ของรัฐบาล โดยแต่ละครอบครัวมีขนาดที่อยู่อาศัยเฉลี่ยเป็นแฟลตขนาด 4 ห้องนอน และจ่ายราคาอยู่ที่ 4.5-22 ล้านบาท สำหรับการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง

 

แต่ฮ่องกงคือสถานการณ์ตรงกันข้าม เพราะพื้นที่ในฮ่องกงถูกกันไว้ให้เป็น Non-built-up land ถึง 76% ของพื้นที่ มีพื้นที่สำหรับ Residential เพียง 7% และนี่คือสิ่งที่วางแผนไว้ตั้งแต่สมัยยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ กลไกตลาดทำให้ฮ่องกงไม่มีรัฐวิสาหกิจแบบสิงคโปร์ เพราะในระบบทุนนิยมรัฐไม่ควรทำกิจการแข่งขันกับภาคเอกชน 

 

คำถามต่อมาคือ แล้ว ส.ส. ฮ่องกงในสภานิติบัญญัติ เขาไม่คิดที่จะแก้ไขกฎเกณฑ์การวางผังเมืองเช่นนี้หรือ คำตอบก็คือ แม้แต่ ส.ส. ที่ออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมกว่า 10 คน จาก 7 พรรคการเมือง ต่างก็ไม่เคยมีการผลักดันให้มีการแก้ไขเรื่องราวเหล่านี้ เพราะในความเป็นจริง ส.ส. ฮ่องกงไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน หากแต่เป็นตัวแทนของกลุ่มธุรกิจที่เข้ามารักษาผลประโยชน์และทำนโยบายเพื่อเอื้อธุรกิจของตน และในกลุ่มนี้ธุรกิจที่ควบคุมเสียง ส.ส. มากที่สุด คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 

 

ดังนั้น ฮ่องกงจะไม่มีวันแก้กฎหมายผังเมืองเด็ดขาด เพราะยิ่งที่ดินสำหรับสร้างอาคารบ้านเรือนมีจำกัดเท่าไร ราคาอสังหาริมทรัพย์ก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น และนั่นหมายถึงกำไรมหาศาลของธุรกิจที่สนับสนุนนักการเมืองที่ออกกฎเกณฑ์เหล่านี้

 

สังคมที่ไม่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ก็ทำให้ประชาชนเดือดร้อน สร้างสังคมและระบบเศรษฐกิจที่ทุกคนมองไม่เห็นอนาคต แต่คนเราต่อให้กดดันแค่ไหน ก็จะมีคนอยู่สองประเภทเสมอ นั่นคือ คนประเภทที่หนึ่ง Hero ที่ยอมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่โทษคนอื่นๆ และพยายามพัฒนาตนเองเพื่อออกจากวังวนแห่งนี้ รวมทั้งพยายามพัฒนาให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น คนแบบนี้คือ Batman 

 

ในขณะที่คนประเภทที่สอง Villain คนกลุ่มนี้จะโทษว่าทุกอย่างเป็นความผิดของสังคม เป็นความผิดของทุกคน ของทุกสิ่งอย่าง ยกเว้นตนเอง คนกลุ่มนี้คือ Joker และพลพรรคที่ลุกขึ้นมาทำร้ายทำลายเมืองของตนเอง และโบ้ยความผิดให้ทุกเรื่องยกเว้นเรื่องของตนเอง

 

ในฮ่องกง สำหรับพวก Hardcore ที่ปัจจุบันออกมาใช้ความรุนแรง ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ ทำลายทรัพย์สินทั้งของราชการและของเอกชน หรือแม้แต่ปล้นสะดมร้านค้า ก็เช่นเดียวกัน คนเหล่านี้คงจะมองไม่เห็นว่าความบิดเบี้ยวของฮ่องกงเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมีรากเหง้าของปัญหาที่ต่อเนื่องยาวนาน บางทีอาจจะยาวนานมาตั้งแต่สมัยอาณานิคมก่อนปี 1997 แต่คนเหล่านี้ก็เลือกที่จะกล่าวโทษเอากับจำเลยที่ง่ายที่สุด นั่นคือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ความบ้าคลั่ง บิดเบี้ยว และการทำลายล้างจึงยังคงเกิดขึ้นบนเกาะฮ่องกง 

 

และแน่นอนว่า ถ้าคุณไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ที่ความบิดเบี้ยวของระบบของฮ่องกงเองซึ่งยืดเยื้อเรื้อรังมานานหลายสิบปี แล้วปัญหาเหล่านี้จะสิ้นสุดได้อย่างไร กลุ่มผู้ชุมนุมที่นิยมความรุนแรง กลุ่ม Hard Core ยังคงเดินหน้า และทำแม้แต่การเรียกร้องให้ต่างชาติเข้าแทรกแซงกิจการภายในของฮ่องกง หรือเรียกร้องในสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ นั่นคือ การแยกตัวออกจากสาธารณรัฐประชาชนจีน 

 

การเรียกร้องโดยใช้ความรุนแรงรังแต่จะสร้างเงื่อนไขที่ทำให้ทางการฮ่องกงต้องร้องขอความช่วยเหลือจากแผ่นดินใหญ่ การทำลายล้างและก่อการจลาจลเปรียบเสมือนการจุดไฟเผาบ้านของตนเอง และทำให้คนฮ่องกงที่อาจจะเคยเห็นด้วยกับผู้ชุมนุมเปลี่ยนใจไม่สนับสนุนอีกต่อไป เพราะสิ่งที่พวกเขาทำหลายๆ อย่าง มันเกินขอบเขตของความพอดีไปแล้ว เดินหน้าเรียกร้องต่อไปด้วยวิธีการรุนแรงแบบที่เกิดขึ้น ไม่เป็นผลดีทั้งกับกลุ่มผู้ชุมนุม และกับฮ่องกงเองอย่างแน่นอน

 

และคำถามที่สำคัญที่สุดสำหรับคนไทยก็คือ เราคงต้องติดตามทั้งภาพยนตร์ Joker และสถานการณ์ในฮ่องกง แล้วไม่ใช่มานั่งชี้หน้าด่ากันว่าฝ่ายหนึ่งเป็นสลิ่มหัวโบราณ กับอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ชังชาติ

 

แต่เราคงต้องติดตามสถานการณ์แล้วเรียนรู้และตั้งคำถามกับตนเองว่า บ้านเมืองของเรามีปัญหาเช่นนี้หรือไม่ สังคมไทยที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูล เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ยังคงอยู่หรือไม่ ปัจเจกชนที่คิดบวกคิดดียังมีมากกว่าหรือมีน้อยกว่า มีคนเลวพยายามสร้างวาทกรรมแบ่งฝักแบ่งฝ่ายประชาชนหรือไม่ และนี่คือบทเรียนจาก Joker ก็อตแธม และฮ่องกง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising