จำไม่ได้แล้วว่าที่ผ่านมาเคยมี ‘มนุษย์’ คนใดบ้างที่ใช้การแสดงสะกดจนละสายตาไม่ได้ในแบบที่ วาคีน ฟีนิกซ์ ทำกับเราจากบท อาเธอร์ เฟล็ก ใน Joker
ทุกอย่างที่เขาแสดงออกมามันดีเสียจนคำว่า ‘แบก’ หนังเอาไว้ทั้งเรื่องยังน้อยเกินไป เพราะเขาสามารถช่วย ‘ยกระดับ’ ให้หนังเรื่องนี้ไปไกลกว่าที่หนังหลายเรื่องเคยทำได้
ดีเสียจนถ้ารางวัลออสการ์มีกำหนดประกาศในช่วงเวลานี้ แล้วเราไม่เห็นเขาได้ขึ้นไปพูดสปีชสดุดีโจ๊กเกอร์ ตอนขึ้นรับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ก็มีโอกาสเกิด ‘ม็อบตัวตลก’ ออกมาประท้วงแบบในหนังได้เหมือนกัน
ถ้าว่ากันตามจริง ภาพรวมของหนังยังไม่ถึงขั้นที่เราจะคาดหวังให้คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เพราะถึงแม้ตัวละคร อาเธอร์ เฟล็ก จะซับซ้อน แต่ยังอยู่บนการเล่าเรื่องที่ตรงไปตรงมา ชนิดที่ถ้าเคยดูหนังดราม่าที่ว่าด้วยพลเมืองชั้นล่างที่ถูกกดขี่จนไร้ตัวตน ไม่มีปากเสียง และรู้เรื่องราวของโจ๊กเกอร์มาบ้างก็พอจะเดาทิศทางและสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังได้ไม่ยากนัก
ราวกับว่าผู้กำกับอย่าง ท็อดด์ ฟิลลิปส์ ไม่ใช่แค่กำกับหนังเรื่องนี้ แต่ได้ทุ่มพลังทั้งหมดไปกับการสื่อสาร และกำกับให้วาคีน ฟีนิกซ์ ถ่ายทอดและทำหน้าที่ One Man Show ของเรื่องได้อย่างไร้ที่ติ แน่นอนว่าเขาและทีมงานคนอื่นๆ ควรได้รับเครดิตในเรื่องนี้ไปด้วยแบบเต็มๆ
จากการสร้างฉากจำตั้งแต่การฉีกยิ้ม, ร่ายรำ, ถูกทำร้าย, สูบบุหรี่, ควักปืนขึ้นมายิง ฯลฯ ที่ต่อมากลายเป็นซีนที่คนทำหนังจะต้องเอามาเปิดดูซ้ำๆ โดยเฉพาะนักแสดงที่ต้องเก็บการแสดงออกทั้งหมดของวาคีน ฟีนิกซ์ เป็นตัวอย่าง เพื่อศึกษาและพัฒนาตัวเองต่อไป
และเราอยากแนะนำจริงๆ ว่าควรดูหนังเรื่องนี้ในโรง IMAX เพื่อสังเกตท่าทางและจ้องตากับอาเธอร์ เฟล็ก หรือโจ๊กเกอร์กันแบบชัดๆ จะสุนทรียะมากที่สุด รวมทั้งการใช้เสียงและดนตรีประกอบ (เพลงประกอบของ แฟรงก์ ซินาตรา ดีมากทุกเพลง) ที่เป็นอีกหนึ่งส่วนที่พาเราดำดิ่งลงไปในหัวใจของตัวละครได้มากขึ้นไปอีก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘เสียงหัวเราะ’ ของเขา ที่ทำให้นิยามของเสียงที่เคยใช้จรรโลงโลก เยียวยาหัวใจเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง
กลายเป็นเสียงหัวเราะแห่งความเจ็บแค้น โศกเศร้า เย้ยหยัน และเปล่งเสียงออกมาดังๆ ให้กับชีวิต สังคมเฮงซวย และอาการป่วย…ที่ไม่แม้แต่จะอนุญาตให้เขาแสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมา
ถึงจะเคยเห็นการหัวเราะในลักษณะดังกล่าวจากหนังเรื่องอื่นๆ มาบ้าง แต่การแสดงของวาคีน ฟีนิกซ์ ที่เก็บรายละเอียดไปถึงการกระตุกเกร็งของกล้ามเนื้อที่คอและริมฝีปาก ในเวลาที่พยายามสะกดเสียงหัวเราะเอาไว้ ในขณะที่สีหน้าและดวงตายังเก็บความรู้สึกลึกๆ เอาไว้อย่างครบถ้วน
อีกสิ่งหนึ่งที่เราชอบมากๆ คือทุกครั้งที่อาเธอร์ เฟล็ก จ้องมองไปบนเวทีสแตนด์อัพคอเมดี้ หรือจอโทรทัศน์ที่กำลังฉายภาพพิธีกรที่เขาชื่นชอบด้วยแววตาประกายสุข พร้อมกับรอยยิ้มจากความรู้สึกจริงแท้ ในโลกที่แสนจอมปลอมและโหดร้าย
ยิ่งเราเห็นเขามีความสุขมากเท่าไร เสียงแหลมเล็กในจังหวะประหลาดไม่อาจคาดเดาที่ได้ยินทุกครั้งเวลาเขาหัวเราะ ก็ยิ่งเสียดแทงกรีดลึกลงไปในใจของเราทุกที
เสียงหัวเราะเขาอาจเกรี้ยวกราด แววตาเขาอาจดูเศร้า แต่ในใจเรามีแต่ความกลัวและเคียดแค้นไปกับทุกสิ่งที่ทำให้เขา (รวมทั้งตัวเรา) เป็นแบบนี้
เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องเกินเลยที่ในสหรัฐอเมริกาต้องมีการเพิ่มกำลัง เพื่อป้องกันเหตุการณ์รุนแรงที่อาจมีใครลุกขึ้นมาทำพฤติกรรมเลียนแบบตัวละครในเรื่องขึ้นมา รวมทั้งการออกมาเตือนว่าคนที่ป่วยหรือมีภาวะซึมเศร้าอาจจะไม่เหมาะกับการรับชมหนังเรื่องนี้เท่าไรนัก เพราะสิ่งที่โจ๊กเกอร์ทำอาจกลายเป็นเหตุผลสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหาขึ้นมาได้
การแสดงของวาคีน ฟีนิกซ์ มีพลังมากขนาดนั้นจริงๆ
แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมเท่าไรนัก หากใครสักคนจะถูกห้ามไม่ให้ดูหนังเรื่องนี้ เพราะอย่างน้อยที่สุด เขาก็ได้สร้างสรรค์ศิลปะด้านการแสดงขั้นสูงสุดเท่าที่ ‘ศิลปิน’ คนหนึ่งสามารถสร้างสรรค์ออกมาได้ขนาดนี้
แม้เสียงหัวเราะของเขาอาจไม่ช่วยจรรโลงโลก แต่งานศิลปะของเขาก็ยังทำหน้าที่จรรโลงใจ และสะท้อนความเป็นไปในจิตใจมนุษย์บนโลกออกมาได้อย่างเต็มที่ที่สุด
ท้ายสุดสิ่งที่เขาแสดงออกมา คือการทำให้เราเข้าใจมนุษย์ที่ชื่ออาเธอร์ เฟล็ก และโจ๊กเกอร์มากขึ้นว่าทำไมเขากลายเป็นคนแบบนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะยอมรับการกระทำของเขาได้ทุกอย่าง และปลดปล่อยคำว่า ‘อาชญากร’ ออกจากตัวเขาไปได้อย่างใด
หนังเข้าฉายอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ตุลาคม 2562
Photo: Warner Bros.
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์