×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: ส่องนโยบายเด่น โจ ไบเดน กับแนวคิดดึงอเมริกากลับคืนสู่ความปกติเดิม

21.08.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 mins. read
  • สิ่งที่ไบเดนพยายามชูโรงให้เป็นจุดขายของเขามาตลอดคือเรื่องภาวะผู้นำ ในยามที่ประเทศเผชิญกับวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ซึ่งไบเดนมองว่าทรัมป์ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ทั้งในเรื่องประสิทธิภาพในการควบคุมโรคระบาด และการสื่อสารกับชาวอเมริกัน
  • อาจกล่าวได้ว่านโยบายของไบเดนคือการกลับไปสู่ความเป็นปกติแบบยุคโอบามา อะไรแปลกๆ ที่เกิดมาในยุคทรัมป์ ไบเดนจะเอาออกไปให้หมด ซึ่งจุดขายเรื่องการกลับไปสู่ความปกติ (แบบไม่ซ้ายสุดโต่ง) เป็นที่ถูกอกถูกใจของชาวอเมริกันบางส่วน

ในระหว่างการประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตที่จัดขึ้น 4 วัน (17-20 สิงหาคม 2020) โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แสดงวิสัยทัศน์และเผยนโยบายในฐานะแคนดิเดตชิงชัยเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2020 อย่างเป็นทางการ ซึ่งไบเดนประกาศชัดว่า เขาจะยุติ ‘ฤดูกาลแห่งความมืดมนอันยาวนาน’ ของโดนัลด์ ทรัมป์ 

 

บทความนี้จะเจาะนโยบายสำคัญในแต่ละด้านของไบเดน ซึ่งหลายๆ นโยบายสะท้อนความเป็นทางเลือกตรงกลางที่ไม่สุดโต่งเหมือนทรัมป์ ขณะเดียวกันก็ไม่ซ้ายสุดขั้วเหมือนนักการเมืองเดโมแครตหลายๆ คน

 

นโยบายจัดการกับโควิด-19

สิ่งที่ไบเดนพยายามชูโรงให้เป็นจุดขายของเขามาตลอดคือเรื่องภาวะผู้นำ (Leadership) เขาพยายามเน้นย้ำให้คนอเมริกันเห็นว่าทรัมป์ตอบสนองต่อวิกฤตโควิด-19 ได้สับสนอลหม่าน มีการสื่อสารออกมาอย่างผิดๆ เช่น บอกว่าสหรัฐฯ ควบคุมโควิด-19 ได้แล้ว (ทั้งที่จริงๆ ยังทำไม่ได้), การระบุว่าใส่หน้ากากไม่มีประโยชน์, ไม่โปรโมตการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing), มีการโจมตีผู้เชี่ยวชาญด้านการสาธารณสุขอย่าง ดร.แอนโทนี เฟาซี เป็นต้น

 

ไบเดนบอกว่ารัฐบาลของเขาจะมีวินัยเรื่องการสื่อสาร ประชาชนจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องและอัปเดต นอกจากนี้เขาจะฟังคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญและออกนโยบายที่อิงกับข้อมูลทางการแพทย์ ซึ่งเอาเข้าจริงมันดูเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่รัฐบาลทรัมป์กลับล้มเหลวในเรื่องนี้อย่างไม่น่าเชื่อ จนคู่แข่งสามารถนำเรื่องเบสิกแบบนี้ไปทำเป็นแคมเปญหาเสียงได้ 

 

อีกนโยบายหนึ่งที่ไบเดนชูขึ้นมาคือ เขาจะสนับสนุนงบประมาณให้มีการตรวจโควิด-19 ฟรีทั่วประเทศ เพราะตอนนี้ยังมีปัญหาอยู่ว่า คนอเมริกันบางส่วนที่ไม่มีประกันสุขภาพไม่กล้าไปตรวจ เพราะกลัวไม่มีเงินจ่ายค่าตรวจ ทำให้คนที่เป็นโรคบางส่วนไม่ได้รับการวินิจฉัยและอยู่แพร่เชื้อในชุมชนต่อไป และทำให้การสืบสวนหาช่องทางของการกระจายตัวของโรค (Test and Trace Strategy) ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

 

 

นโยบายด้านเศรษฐกิจ

ไบเดนชูนโยบายที่มีชื่อว่า Buy Americans ซึ่งเป็นนโยบายมูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ซึ่งจะว่าไปก็มี Sentiment ของแนวคิดพหุนิยมและชาตินิยมคล้ายๆ ของทรัมป์) โดยที่ไบเดนจะใช้เงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาจากโควิด-19 โดยเขาจะใช้เงินก้อนใหญ่ก้อนนี้ไปลงทุนกับโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน (ถนน สะพาน ระบบราง ฯลฯ) และมีข้อกำหนดว่าอุปกรณ์ เครื่องมือ วัตถุดิบที่ใช้ทั้งหมดต้องซื้อภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นให้มีการจ้างงานและเงินสะพัดในประเทศ (ไอเดียการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการให้รัฐลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานนี้คล้ายกับที่ แฟรงคลิน ดี. โรสเวลต์ ทำสมัยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ (The Great Depression)

 

ส่วนอีก 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ไบเดนจะใช้ลงทุนไปกับการวิจัยเทคโนโลยี 5G, รถไฟฟ้า/พลังงานสะอาด และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีบางอย่าง ที่ตอนนี้ดูเหมือนจีนจะก้าวนำอเมริกาไปหนึ่งช่วงตัวแล้ว และกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่มีการจ่ายค่าตอบแทนสูง

 

เกิดคำถามว่า ไบเดนจะเอาเงินจากไหนมาทำโครงการ Buy Americans 

 

ส่วนหนึ่งก็จะมาจากการกู้ยืม อีกส่วนหนึ่งจะมาจากการยกเลิกกฎหมายลดภาษีนิติบุคคลที่ออกโดยทรัมป์ในปี 2017 ซึ่งน่าจะทำให้รัฐบาลกลางเก็บภาษีได้เพิ่มหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแน่นอนว่าการยกเลิกการลดภาษีให้กลับไปจัดเก็บในอัตราเดิมย่อมทำให้ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนลดลง และอาจทำให้ตลาดหุ้นตกได้ ซึ่งไบเดนก็อาจจะไม่แคร์มาก ไม่เหมือนกับทรัมป์ที่ให้ความสำคัญกับตลาดหุ้นมาก และพยายามจะออกมาตรการหรือออกมาพูดเชียร์ให้หุ้นขึ้นตลอด

 

สิ่งที่ไบเดนเห็นแตกต่างจากทรัมป์คือเรื่องของสงครามการค้าด้วย ไบเดนเชื่อว่าการค้าแบบเสรีจะนำไปสู่ความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจทั้งโลก การตั้งกำแพงภาษีสู้กันไปมาแบบที่ทรัมป์ทำกับจีน ในที่สุดแล้วจะทำให้เกิดความเสียหายต่อทั้งสองฝ่าย เพราะต่างก็ไม่สามารถขายสินค้าให้กันได้ และราคาสินค้าที่สูงขึ้นจากกำแพงภาษีก็จะไปลดความสามารถในการบริโภคของผู้บริโภคด้วย ไบเดนเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาจะยกเลิกสงครามการค้ากับจีนอย่างแน่นอนเมื่อเขาเป็นประธานาธิบดี

 

แต่อย่างไรก็ดี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทีมไบเดนไม่ค่อยพูดถึงมากนัก เพราะนโยบายกำแพงภาษีเป็นนโยบายที่ป๊อปปูลาร์ในหมู่ผู้ใช้แรงงานผิวขาวในมลรัฐทางตอนกลางของประเทศ เพราะพวกเขาเป็นผู้ได้ประโยชน์โดยตรงจากนโยบายเทรดวอร์ของทรัมป์ที่เน้นหนักไปที่การปกป้องอุตสาหกรรมหนักในประเทศ ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมของพวกเขายังขายของได้ เพราะสินค้าที่ผลิตออกมามีราคาถูกกว่าสินค้านำเข้าจากจีน (ที่ถูกเก็บภาษีอย่างหนักหน่วง)

 

ยิ่งถ้าเป็นเรื่องเขตการค้าเสรีหรือกึ่งเสรีอย่าง Trans-Pacific Partnership (TPP) แล้ว ไบเดนยิ่งอ้ำอึ้ง เขาไม่พูดให้ชัดว่าเขาสนับสนุน TPP หรือไม่ ส่วนผู้เขียนเชื่อว่าไบเดนสนับสนุน TPP เพราะเขามีความเชื่อว่าการค้าที่มากจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง และที่สำคัญนโยบาย TPP นี้ร่างขึ้นมาในสมัยรัฐบาลบารัก โอบามา ที่เขาเป็นรองประธานาธิบดี (ก่อนที่ทรัมป์จะฉีกทิ้งไป) แต่ที่เขาอ้ำๆ อึ้งๆ คงเป็นเพราะว่าถ้าพูดเรื่องนี้ชัดไป จะทำให้เขาเสียคะแนนกับผู้ใช้แรงงานผิวขาวที่จะเป็นผู้เสียผลประโยชน์กับดีลนี้ (เพราะงานในภาคอุตสาหกรรมหนักน่าจะไหลไปที่เวียดนามกับเม็กซิโก) 

 

อันที่จริงประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ผู้เขียนคิดว่าทีมทรัมป์น่าจะเอามาโจมตีไบเดนได้ แต่ก็ยังแปลกใจที่ทรัมป์ไม่เล่นเรื่องนี้เท่าไร กลับไปเล่นเรื่องที่ว่าไบเดนแก่เกินแกงแล้วบ้าง สมองเสื่อมแล้วบ้าง

 

อีกนโยบายที่สำคัญที่ต้องพูดถึงคือเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำ (ในระดับประเทศ) ของอเมริกาอยู่ที่ 7.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ซึ่งแทบจะไม่พอกินสำหรับประเทศที่มีค่าครองชีพสูงๆ อย่างอเมริกา (แค่ค่าเช่าอพาร์ตเมนต์ก็ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 600-700 ดอลลาร์) ซึ่งเรื่องค่าแรงขั้นต่ำนี้เป็นประเด็นที่นักการเมืองซ้ายจัดอย่าง เบอร์นี แซนเดอร์ส และ เอลิซาเบธ วอร์เรน เอามาใช้เป็นนโยบายหลักในการหาเสียงตั้งแต่สมัยเลือกตั้งขั้นต้น 

 

ฝ่ายซ้ายจัดชูนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง และนโยบายนี้ก็ถูกอกถูกใจชนชั้นแรงงานและคนผิวสี (ที่มักจะทำงานในอุตสาหกรรมที่จ่ายเงินแค่ค่าแรงขั้นต่ำ) อย่างมาก จนแม้แต่นักการเมืองกลางซ้ายอย่างไบเดนต้องหันมายอมรับนโยบายนี้เพื่อดึงคะแนนเสียงจากคนกลุ่มนี้กลับมา 

 

แต่หลังจากไบเดนชนะการเลือกตั้งขั้นต้นก็ดูเหมือนว่าเขาจะไม่ค่อยได้พูดถึงนโยบายนี้เท่าไรแล้ว ผู้เขียนมองว่าไบเดนไม่ได้ชอบนโยบายนี้แต่แรก แต่พอฝ่ายซ้ายจัดหยิบประเด็นนี้มาหาเสียง ไบเดนจึงต้องตามน้ำ พอได้เป็นประธานาธิบดีจริงๆ เขาอาจจะไม่ผลักดันนโยบายนี้ตามที่เคยพูดไว้ ยิ่งตอนนี้มีปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำจากโควิด-19 การเพิ่มค่าแรงหนึ่งเท่าตัวภายในชั่วข้ามคืนอาจจะทำให้ธุรกิจจำนวนมากแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มไม่ไหวและล้มหายตายจากไป 

 

สำนักงานงบประมาณของสภาคองเกรสเคยประเมินไว้ว่า ถ้าค่าแรงขึ้นเป็น 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงจริงๆ ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากน่าจะไปไม่ไหว และน่าจะมีคนตกงานเพิ่มขึ้นเกิน 1 ล้านคน ดังนั้นผู้เขียนจึงคิดว่าท้ายที่สุดไบเดนน่าจะผลักดันการขึ้นค่าแรง แต่คงไปไม่ถึง 15 ดอลลาร์ตามที่ลั่นวาจาไว้

 

 

นโยบายด้านสีผิวและกระบวนการยุติธรรม

สิ่งที่ไบเดนจะไม่ทำแน่ๆ คือเขาจะไม่พูดจาดูถูกคนผิวดำแบบทรัมป์ เช่น จะไม่พูดว่าประเทศในแอฟริกาที่เป็นต้นกำเนิดของคนผิวดำในอเมริกาเป็น Shit Hole Country หรือบอกว่าเมืองที่มีคนดำเยอะอย่างๆ บัลติมอร์เป็นเมืองที่อาศัยแล้วเหมือนอยู่ในนรก ไบเดนจะเห็นอกเห็นใจการประท้วงของกลุ่ม Black Lives Matter ไม่ส่งกำลังทหารเข้าไปปราบผู้ประท้วงอย่างที่ทรัมป์ทำ และไบเดนก็จะไม่พูดจาในเชิงสนับสนุนกลุ่ม White Supremacy ด้วย

 

ในส่วนของความไม่เท่าเทียมในกระบวนการยุติธรรมที่เป็นหัวข้อหลักในการประท้วงนั้น ไบเดนก็มีนโยบายหลายอย่างที่จะแก้ปัญหานี้ เช่น จะลดบทลงโทษของการมียาเสพติดในครอบครอง (เพราะคนผิวสีส่วนใหญ่ติดคุกด้วยคดียาเสพติด และนักอาชญวิทยาหลายคนก็มองตรงกันว่าโทษในคดียาเสพติดของอเมริกานั้นรุนแรงเกินไป) รวมถึงการลดโทษการมีกัญชาในครอบครองให้เหลือแค่โทษปรับ (แต่ไบเดนไม่ไปไกลถึงขั้นกัญชาเสรีแบบแซนเดอร์สหรือวอร์เรน), ยกเลิกระบบประกันตัวโดยใช้เงิน (Cash Bail) เพราะระบบนี้ทำให้คนจนผิวสีจำนวนมากต้องติดคุกระหว่างรอคำพิพากษาด้วยเหตุที่ไม่มีเงินสดมาวางเป็นหลักประกัน และเพิ่มงบประมาณจ้างทนายสาธารณะ (Public Defender) เพิ่ม เพื่อให้คนผิวสีที่ยากจนและไม่มีเงินจ้างทนายส่วนตัวมาสู้คดี มีโอกาสเข้าถึงทนายสาธารณะได้มากขึ้น

 

ส่วนซ้ายจัดอย่างการยุบหรือลดเงินงบประมาณของตำรวจลง (Defund The Police) ไบเดนไม่น่าจะเอาด้วย

 

นโยบายด้านผู้อพยพ

รัฐบาลของไบเดนจะมีความเป็นมิตรต่อผู้อพยพมากกว่าทรัมป์อย่างแน่นอน ไบเดนจะยกเลิกการแบนประเทศมุสลิม, จะยกเลิกการลดโควตาผู้อพยพและกรีนการ์ดที่ทรัมป์เพิ่งออกนโยบายมาในปีนี้ อีกทั้งเพิ่มโควตาผู้ลี้ภัยให้มากขึ้น, ไม่สร้างกำแพง และไบเดนจะคงช่องทาง (Pathway) สู่การเป็นพลเมือง (Citizen) ให้กับลูกของผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย (ที่เรียกว่ากลุ่ม Dreamer) ซึ่งทรัมป์พยายามจะกำจัดมาตลอด

 

ส่วนนโยบายยุบสำนักงานควบคุมการอพยพและการเข้าเมือง (Immigration and Customs Enforcement หรือ ICE) ที่นักการเมืองซ้ายจัดของพรรคอย่าง อเล็กซานเดรีย โอกาซิโอ-กอร์เตส เสนอนั้น ไบเดนไม่เอาด้วย

 

นโยบายด้านสาธารณสุข

ไบเดนไม่เอาด้วยกับนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Medicare For All) เนื่องจากนโยบายนี้ต้องใช้เงินเยอะ (ซึ่งก็แปลว่าต้องขึ้นภาษีเยอะๆ) แต่ไบเดนจะสร้างประกันสุขภาพราคาถูกที่ออกโดยรัฐมาให้ประชาชนเลือกซื้อ (Public Option) ในกรณีที่ประชาชนคนนั้นมีรายได้ต่ำจนไม่สามารถไปซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทประกันเอกชนได้ นอกจากนี้ไบเดนยังบอกด้วยว่า จะพยายามออกกฎหมายมาควบคุมราคายาไม่ให้แพงเกินไป ซึ่งในทางปฏิบัติอาจจะทำได้ยาก

 

นโยบายด้านการศึกษา

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งขั้นต้น มีนโยบายของฝ่ายซ้าย 2 นโยบายที่ป๊อปปูลาร์มากในหมู่คนหนุ่มสาว ได้แก่ นโยบายเรียนมหาวิทยาลัยฟรี และนโยบายยกเลิกหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเพื่อเรียนมหาวิทยาลัย (ให้รัฐบาลไปจ่ายหนี้ให้แทน) ไบเดนมองว่า 2 นโยบายนี้สุดโต่งและใช้เงินมากเกินไป เขาจึงไม่สนับสนุน 2 นโยบายนี้ ไบเดนสนับสนุนเพียงการให้เรียนฟรีในระดับ Community College (เทียบกับบ้านเราคือ ปวช./ปวส.) และขยายวงเงินของทุนการศึกษาให้เปล่าของรัฐบาลกลางแก่นักเรียนที่ยากจน (ที่เรียกว่า Pell Grant)

 

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

ไบเดนไม่ได้สนับสนุนนโยบาย Green New Deal ของฝ่ายซ้ายในพรรคแบบเต็มตัว แต่เขาก็รับเอาหลักการหลายอย่างมาใช้ในแผนของเขา เช่น การตั้งเป้าหมายให้สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ไม่มีการปลดปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ (Net-Zero Emission) ภายในปี 2050 และการพัฒนาพลังงานสะอาดก็อยู่ในแผนเศรษฐกิจ Buy Americans ของเขา และไบเดนก็สัญญาว่าจะพาอเมริกากลับไปเข้าร่วมกับประชาคมโลกในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่คนทั้งโลกพร้อมใจกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (อเมริกาเข้าร่วม Paris Agreement ในสมัยโอบามา ก่อนที่ทรัมป์จะถอนตัวออกมา เพราะมองว่าการพยายามลดการปลดปล่อยคาร์บอนเป็นความยุ่งยากของธุรกิจ ทำให้เศรษฐกิจไม่เติบโต)

 

ฝ่ายซ้ายในพรรคเดโมแครตพยายามจะแบนการขุดเจาะน้ำมันในดินโดยอาศัยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Fracking เพราะการขุดเจาะแบบนี้สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยเฉพาะการปนเปื้อนของน้ำมันดิบลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ไบเดนไม่เอาด้วย เพราะกลัวว่าการแบนจะส่งผลกระทบให้คนตกงานจำนวนมาก โดยเฉพาะรัฐทางตอนกลางของประเทศ ที่เศรษฐกิจต้องพึ่งพารายได้จากการทำ Fracking

 

นโยบายด้านอาวุธปืน

นโยบายด้านอาวุธปืนของไบเดนค่อนข้างจะอยู่ในระดับเดียวกับนักการเมืองเดโมแครตทั่วไป ได้แก่ สนับสนุนการตรวจสอบข้อมูลประวัติอาชญากรรมของผู้ที่จะซื้อปืนทุกคน, แบนการซื้อขายอาวุธสงคราม และเปิดโอกาสให้ประชาชนฟ้องร้องผู้ผลิตปืนได้ (ถ้าพลาดเอาไปขายให้คนมีประวัติอาชญากรรม) แต่ไบเดนจะผลักดันกฎหมาย 3 ข้อนี้ได้ไหม ก็ขึ้นกับว่าพรรคเดโมแครตจะคุมเสียงส่วนมากในสภาสูงและสภาล่างด้วยหรือเปล่า (โอบามาก็เคยมีนโยบายแบบนี้ แต่ก็ผลักดันกฎหมายผ่านสภาไม่สำเร็จ)

 

นโยบายด้านการต่างประเทศ

ทรัมป์ดำเนินนโยบายแบบ America First ด้วยการลดความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและการทหารแก่ประเทศอื่นๆ (นโยบายแบบนี้มีชื่อเรียกว่า Isolationism) แต่ไบเดนไม่เห็นด้วย ไบเดนเห็นว่าอเมริกาต้องเป็นตำรวจโลก ต้องแผ่อิทธิพลไปยังประเทศต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ของอเมริกาเอง และเพื่อความสงบสุขของโลก (ซึ่งนโยบายตำรวจโลกนี้ ประธานาธิบดีทุกคนเห็นตรงกันมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น เพิ่งมาเปลี่ยนตอนที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี) ถ้าไบเดนชนะการเลือกตั้ง ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและการทหารแก่ประเทศต่างๆ น่าจะกลับไปสู่ระดับปกติ

 

ถ้าจะให้สรุปสั้นๆ อาจกล่าวได้ว่านโยบายของไบเดนคือการกลับไปสู่ความเป็นปกติแบบยุคโอบามา อะไรแปลกๆ ที่เกิดมาในยุคทรัมป์ ไบเดนจะเอาออกไปให้หมด ซึ่งจุดขายเรื่องการกลับไปสู่ความปกติ (แบบไม่ซ้ายสุดโต่ง) ของไบเดนดูจะเป็นที่ถูกอกถูกใจของชาวอเมริกันที่เหนื่อยหน่ายกับความประหลาดของทรัมป์มากว่า 3 ปี ทำให้คะแนนของไบเดนตอนนี้นำห่างจากทรัมป์พอสมควรจากการสำรวจของโพลหลายๆ สำนัก

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X