×

ผู้นำจีน-สหรัฐฯ พบจุดร่วมบนความขัดแย้ง สัญญาณบวกบนความสัมพันธ์ที่ผันผวน

15.11.2022
  • LOADING...
โจ ไบเดน สีจิ้นผิง

ไฟสปอตไลต์เวลานี้สาดส่องไปที่เกาะบาหลี สถานที่จัดประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ในประเทศอินโดนีเซีย หากแต่สิ่งที่หลายคนจับตาอาจไม่ใช่ตัวประชุม แต่เป็นการพบกันนอกรอบของสองผู้นำมหาอำนาจเบอร์ 1 และ 2 ของโลก ท่ามกลางความตึงเครียดจากความขัดแย้งและการแข่งขันในทุกมิติระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่สร้างบรรยากาศอึมครึมไปทั่วโลก

 

ภาพการจับมือกันระหว่าง โจ ไบเดน และ สีจิ้นผิง ทำให้อุณหภูมิการเมืองโลกลดลงไปบ้าง หลังจากที่ร้อนระอุมาหลายเดือนจากไฟสงครามในยูเครน วิกฤตการณ์ในช่องแคบไต้หวัน รวมถึงการทดสอบขีปนาวุธต่อเนื่องของเกาหลีเหนือในช่วงหลัง ซึ่งทำให้คาบสมุทรเกาหลีตึงเครียดระลอกใหม่

 

อย่างน้อยการพบกันตัวต่อตัวของผู้นำจีนและสหรัฐฯ ครั้งแรกในรอบ 3 ปี ก็ทำให้เราสบายใจได้บ้างว่า สองมหาอำนาจยังแง้มประตูการทูตเพื่อสื่อสารกันอยู่ แม้ว่าประเด็นที่สองฝ่ายคุยกันและเห็นพ้องกันจะไม่มีอะไรใหม่นักก็ตาม

 

ทั้งคู่คุยอะไรกันบ้างในเวลา 3 ชั่วโมง?

 

จีน-สหรัฐฯ กับสถานะ ‘คู่แข่ง’ ที่จะขับเคี่ยวไปตลอด

สำหรับสหรัฐฯ แล้ว จีนไม่ใช่แค่ขั้วตรงข้ามของอุดมการณ์ทางการเมือง หรือเป็นคู่ขัดแย้งในประเด็นปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ที่ขึ้นมาท้าทายระเบียบโลกที่สหรัฐฯ สร้างมา อีกทั้งท้าชิงบัลลังก์เบอร์ 1 ของสหรัฐฯ ในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และการทหาร ครอบคลุมตั้งแต่วิทยาการ AI ไปจนถึงห้วงอวกาศ แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญมองตรงกันว่า จีนอาจต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีในการไล่ตามสหรัฐฯ จนทันก็ตาม แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธว่าจีนคือภัยคุกคามเบอร์ 1 ที่สหรัฐฯ ไม่อาจกาชื่อทิ้งได้อีกต่อไป

 

การแข่งขันที่ดุเดือดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทำให้หวนนึกถึงบรรยากาศการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าเวลานี้เรากำลังอยู่ในยุคสงครามเย็นครั้งใหม่แล้วหรือไม่

 

แต่หลังการพบปะระดับทวิภาคีกับ สีจิ้นผิง ที่บาหลี ไบเดนยืนยันกับนักข่าวที่ตั้งคำถามนี้ว่า จะไม่เกิดสงครามเย็นครั้งใหม่ขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ตามที่หลายฝ่ายกังวล

 

แม้มีประเด็นไม่ลงรอยเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนในจีน โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ในซินเจียงและชนกลุ่มน้อยในทิเบต รวมถึงการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองฮ่องกง แต่ลึกๆ แล้วทั้งคู่ต่างตระหนักดีว่าเสถียรภาพของโลกขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ

 

เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ไบเดนส่งสัญญาณที่จะประนีประนอมกับจีน โดยเน้นย้ำว่าสหรัฐฯ ไม่ต้องการขัดแย้งกับจีน แม้ว่าการแข่งขันที่ดุเดือดระหว่างสองประเทศจะดำเนินต่อไปก็ตาม

 

และที่บาหลีนี้ไบเดนกล่าวอีกครั้งว่า “เราจะแข่งขันกันอย่างแข็งขัน แต่ผมไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง แต่ต้องการจัดการกับการแข่งขันนี้อย่างรับผิดชอบ และผมต้องการทำให้แน่ใจว่าทุกประเทศจะปฏิบัติตามกฎกติการะหว่างประเทศ”

 

ซึ่งดูเหมือน สีจิ้นผิง ก็มีจุดยืนเดียวกัน โดยในช่วงต้นการประชุมผู้นำจีนยอมรับว่า “เราจำเป็นต้องวางแนวทางที่ถูกต้องสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในขณะที่โลกมาถึงทางแยก” 

 

สีจิ้นผิง กล่าวว่า ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ไม่ควรมีลักษณะที่เรียกว่า Zero-Sum Game หรือเมื่อมีฝ่ายหนึ่งได้ก็ต้องมีฝ่ายหนึ่งเสียเสมอไป แต่โลกใบนี้กว้างใหญ่เพียงพอที่จะรองรับการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของทั้งจีนและสหรัฐฯ      

 

จุดยืนต่อไต้หวันยังไม่เปลี่ยน

ในส่วนประเด็นไต้หวัน ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์สามเส้าระหว่าง ‘ปักกิ่ง-วอชิงตัน-ไทเป’ มีความยุ่งยากซับซ้อนนั้น ไบเดนเชื่อว่าจีนจะไม่พยายามใช้กำลังเข้ารุกรานไต้หวันในเวลาอันใกล้นี้อย่างแน่นอน 

 

จุดนี้อาจช่วยคลายวิตกไปได้บ้าง หลังเกิดความกังวลว่าจีนอาจใช้ไม้แข็งกับไต้หวัน ภายหลังจากที่ช่องแคบไต้หวันเกิดความตึงเครียดจากกรณีที่ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไทเปเมื่อเดือนสิงหาคม ซึ่งทำให้จีนจัดซ้อมรบปิดล้อมไต้หวันครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา

 

ไบเดนยืนยันกับสีว่า นโยบายของสหรัฐฯ ที่มีต่อไต้หวันนั้นไม่เปลี่ยนแปลง โดยในอดีตรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีคนใดต่างก็ยึดถือหลักนโยบาย ‘ความคลุมเครือเชิงกลยุทธ์’ (Strategic Ambiguity) ซึ่งก็คือการรักษาความสัมพันธ์กับไต้หวันในระดับที่ไม่เป็นทางการ ภายใต้กฎหมาย Taiwan Relations Act ที่มีข้อผูกพันให้รัฐบาลสามารถจัดหาอาวุธเชิงรับให้ไต้หวันเพื่อป้องกันประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็มีนโยบายที่คลุมเครือว่าสหรัฐฯ จะเข้าปกป้องไต้หวันหรือไม่ หากจีนใช้กำลังทหารรุกราน 

 

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ โจ ไบเดน ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ บรรดาผู้สังเกตการณ์มองว่า นโยบาย Strategic Ambiguity ที่มีต่อไต้หวันนั้นเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่คลุมเครือน้อยลง เพราะไบเดนพูดย้ำต่อสาธารณะหลายครั้งว่า สหรัฐฯ จะแทรกแซงทางทหาร หากจีนบุกโจมตีไต้หวัน แม้ว่าทำเนียบขาวจะออกมาปฏิเสธคำพูดของไบเดนทุกครั้งก็ตาม

 

ในการประชุมผู้นำจีน-สหรัฐฯ สีจิ้นผิง เน้นย้ำหลายครั้งรวมถึงในครั้งนี้ด้วยว่า สหรัฐฯ จะต้องยึดมั่นในหลักการจีนเดียว (One China Policy) ซึ่งหมายถึงการที่สหรัฐฯ ยอมรับว่ามีรัฐบาลจีนเป็นตัวแทนของคนจีนบนเวทีโลกเพียงรัฐบาลเดียว และจะไม่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันอย่างเป็นทางการ

 

พบ ‘จุดร่วม’ ในประเด็นยูเครน กดดันจีนหยุดเกาหลีเหนือทดสอบนิวเคลียร์

นอกจากประเด็นไต้หวันแล้ว โจ ไบเดน ยังหารือกับ สีจิ้นผิง ในประเด็นสงครามในยูเครนและการทดสอบขีปนาวุธบ่อยผิดปกติของเกาหลีเหนือ ซึ่งด้านหนึ่งก็สะท้อนว่า ถึงแม้จีนกับสหรัฐฯ จะแข่งขันกันอย่างเข้มข้น แต่ในอีกด้านหนึ่งสหรัฐฯ ก็ต้องการความร่วมมือและการสนับสนุนจากจีนในกลไกแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการทูตเช่นเดียวกัน 

 

ซึ่งการประชุมรอบนี้ไบเดนได้คำตอบเกี่ยวกับจุดยืนของจีนในสงครามยูเครนว่า จีนไม่เห็นด้วยกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยูเครน ซึ่งเป็นจุดยืนเดียวกับสหรัฐฯ ขณะเดียวกันจีนก็ต้องการให้เกิดสันติภาพขึ้น แม้ว่าเวลานี้ยังไม่มีทางออกสำหรับปัญหาที่มีความซ้ำซ้อนนี้ก็ตาม

 

ส่วนประเด็นเกาหลีเหนือนั้นไบเดนเผยในการแถลงข่าวหลังพบสีว่า เขาไม่แน่ใจว่าจีนจะสามารถควบคุมเกาหลีเหนือได้หรือไม่ แต่ไบเดนหวังว่าปักกิ่งจะใช้อิทธิพลกดดันเปียงยางได้ เขาบอกกับ สีจิ้นผิง ว่าจีนมีพันธกรณีที่จะห้ามปรามเกาหลีเหนือไม่ให้ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหม่ ซึ่งเหมือนเตือนว่าจีนก็มีบทบาทรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย

 

ดังนั้นจึงต้องจับตาดูต่อว่าเกาหลีเหนือจะมีความเคลื่อนไหวอย่างไรต่อจากนี้ แต่ไบเดนได้แจ้งกับผู้นำจีนแล้วว่า หากเกาหลีเหนือทดสอบนิวเคลียร์ครั้งใหม่ สหรัฐฯ จะออกมาตรการตอบโต้ ซึ่งไม่ได้มุ่งเป้าไปที่จีนโดยตรง แต่เป็นการส่งสารถึงเกาหลีเหนือว่า สหรัฐฯ จะปกป้องพันธมิตรรวมถึงผืนแผ่นดินของชาวอเมริกัน

 

ไบเดน-สีจิ้นผิง พบกัน เป็นสัญญาณบวกจริงหรือ เราตั้งความหวังได้แค่ไหน? 

ถึงแม้การพบกันของ โจ ไบเดน และ สีจิ้นผิง จะไม่เกิดผลลัพธ์หรือข้อตกลงที่มีนัยสำคัญ ทว่าก็มีสัญญาณบวกที่ช่วยลดอุณหภูมิทางการเมืองระหว่างประเทศลง ขณะที่ประตูความร่วมมือระหว่างสองมหาอำนาจเริ่มแง้มออก โดยสองชาติตกลงที่จะกลับมาเจรจาในปัญหาต่างๆ ในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจีนในฐานะประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดของโลกมีส่วนรับผิดชอบโดยตรงต่อปัญหานี้

 

เอียน ชง นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า การประชุมรอบนี้มีโทนบวกอยู่ โดยสองประเทศยอมรับว่ามีบางประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของสองชาติ ซึ่งรวมถึงเสถียรภาพของโลกที่จะไม่ปล่อยให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ตึงเครียดจนควบคุมไม่อยู่

 

ขณะที่ ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ว่า ทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศยังขึ้นอยู่กับการเมืองและสถานการณ์ภายในของสหรัฐฯ ด้วย โดยจะเห็นว่าไบเดนมีท่าทีอ่อนลงต่อจีน เพราะช่วงเวลานี้สหรัฐฯ เองก็กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สามารถดำเนินการทูตที่แข็งกร้าวกับจีนแบบเดิมได้ 

 

อย่างไรก็ตาม ชงเตือนว่าอย่าเพิ่งตั้งความหวังไว้สูงนัก เพราะความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ มีความผันผวนสูง หนทางข้างหน้าจึงอาจขรุขระ ไม่ราบเรียบ และจะมีลักษณะลุ่มๆ ดอนๆ เช่นนี้ไปตลอด

 

ขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าผลเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ก็อาจเป็นตัวกำหนดทิศทางความสัมพันธ์วอชิงตัน-ปักกิ่งในช่วง 2 ปีที่เหลือของไบเดนด้วย โดยหลายฝ่ายคาดว่า หากรีพับลิกันกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ตามคาด พวกเขาจะกดดันรัฐบาลไบเดนให้ดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวกับจีนมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการผลักดันในสภาคองเกรสให้เพิ่มงบประมาณกลาโหม เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและป้องกันภัยคุกคามจากจีน

 

ภาพ: Kevin Lamarque / Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising