×

จับตา ‘ไบเดน’ เยือนอิสราเอล เปิดฉากทริปตะวันออกกลางครั้งแรก ถกปัญหาภัยคุกคามอิหร่าน-เชื่อมสัมพันธ์ซาอุ

โดย THE STANDARD TEAM
15.07.2022
  • LOADING...
‘ไบเดน’ เยือนอิสราเอ

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เดินทางเยือนอิสราเอลตั้งแต่วันพุธ (13 กรกฎาคม) ที่ผ่านมา โดยเป็นประเทศแรกในทริปการเยือนตะวันออกกลางครั้งแรก นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ท่ามกลางการจับตามองจากทั่วโลก 

 

กำหนดการสำคัญของผู้นำสหรัฐฯ ในทริปนี้ คือการได้พบปะพูดคุยกับ ยาอีร์ ลาปิด นายกรัฐมนตรีรักษาการของอิสราเอล และอดีตนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ก่อนจะเดินทางไปเยือนเขตเวสต์แบงก์ เพื่อพูดคุยกับฝ่ายปาเลสไตน์ ซึ่งนำโดยประธานาธิบดี มาห์มูด อับบาส 

 

จากนั้นไบเดนจะเดินทางต่อไปยังเมืองเจดดาห์ของซาอุดีอาระเบีย เพื่อพูดคุยกับรัฐบาลซาอุ และเข้าร่วมการประชุมสุดยอดสภาความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council Summit) หรือ GCC+3 และมีกำหนดการเข้าเฝ้ามกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ซึ่งทำเนียบขาวยืนยันว่า จะไม่มีการแถลงข่าวภายหลัง

 

ในการเยือนอิสราเอลเป็นประเทศแรกนั้น ไบเดนได้พูดคุยอะไรกับผู้นำอิสราเอลไปแล้วบ้าง และมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน THE STANDARD สรุปมาไว้ที่นี่

 

ไฮไลต์อยู่ที่อิหร่าน

  • สำหรับไฮไลต์ในการเยือนอิสราเอล คือการพูดคุยของไบเดน กับลาปิด โดยเฉพาะประเด็นนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งที่ผ่านมาถือเป็นเส้นแบ่งที่ทั้งสองผู้นำต่างสงวนท่าที และมีแนวทางดำเนินการที่ต่างกัน

 

  • The New York Times ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างท่าทีของทั้งสองประเทศเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยระบุว่าอิสราเอลนั้นใช้วิธีตั้งแต่ก่อวินาศกรรมอย่างลับๆ ไปจนถึงปฏิบัติการลอบสังหาร เพื่อชะลอศักยภาพของอิหร่าน ในการเสริมสมรรถนะเชื้อเพลิงนิวเคลียร์

 

  • ส่วนไบเดนนั้นยืนกรานที่จะใช้วิถีทางการทูต และการฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ในปี 2015 ซึ่งเขามองว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการยุติปัญหานี้อย่างถาวร

 

  • ลาปิดพยายามผลักดันไบเดนให้ทำมากกว่าการให้คำมั่นในการยับยั้งอิหร่านจากการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ โดยหลังการพูดคุย ทั้งสองผู้นำ ได้แสดงจุดยืนร่วมกัน ด้วยการลงนามใน ‘ปฏิญญาเยรูซาเลม’ ซึ่งเป็นปฏิญญาเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อให้คำมั่นว่าสหรัฐฯ จะใช้ทุกสิ่งที่มีในอำนาจของประเทศ ป้องกันอิหร่านไม่ให้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์

 

อิสราเอลพร้อมฟื้นสัมพันธ์ซาอุ

  • อิสราเอลได้เพิ่มการมีส่วนร่วมในระบบนิเวศทางการทูตของตะวันออกกลางมากขึ้นเรื่อยๆ หลังการบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับ 3 ประเทศอาหรับ ได้แก่ บาห์เรน โมร็อกโก และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ให้กลับคืนสู่ระดับปกติ โดยเป็นข้อตกลงที่มีรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นตัวกลางเจรจาและสนับสนุน

 

  • ในการแถลงที่เยรูซาเลม หลังพูดคุยกับไบเดน นายกรัฐมนตรีลาปิดแสดงท่าทีว่า อิสราเอลพร้อมที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับชาติอาหรับอื่นๆ รวมถึงซาอุ พร้อมทั้งฝากไบเดนให้ส่งต่อข้อความจากอิสราเอลไปยังผู้นำซาอุ และชาติอาหรับอื่นๆ ระหว่างที่เข้าร่วมการประชุม GCC+3 โดยระบุข้อความว่า “มือของเรานั้น ยื่นออกไปเพื่อสันติภาพ” ซึ่งมีความหมายชัดเจนถึงความต้องการฟื้นฟูสัมพันธ์ทางการทูต

 

“เราพร้อมที่จะแบ่งปันเทคโนโลยีและประสบการณ์ของเรา พร้อมให้คนของเราได้พบปะและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน พร้อมให้นักวิทยาศาสตร์ของเราร่วมมือกัน และภาคธุรกิจของเราร่วมงานกัน” ลาปิดกล่าว 

 

  • ขณะที่ไบเดนไม่ได้แสดงท่าทีชัดเจนใดๆ ถึงการผลักดันการฟื้นฟูสัมพันธ์ ระหว่างอิสราเอลและชาติอาหรับ แต่ยืนยันว่าจะส่งต่อข้อความแห่งสันติภาพนี้ไปยังผู้นำซาอุ และชาติอาหรับอื่นๆ โดยตรง

 

  • ทั้งนี้ ในอดีตรัฐบาลซาอุเคยแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับอิสราเอล จนกว่าจะมีการตั้งรัฐปาเลสไตน์ แต่ในช่วงที่ผ่านมา ผู้นำทางการเมืองของซาอุมีการวิพากษ์วิจารณ์ท่าที และความเป็นผู้นำของปาเลสไตน์มากขึ้น ในขณะที่ชาวซาอุบางส่วนเริ่มแสดงความเห็นสนับสนุนการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิสราเอลเป็นระดับปกติ

 

  • รายงานจากสื่ออิสราเอลชี้ว่า มีการเจรจาหลังบ้าน เพื่อเพิ่มจำนวนเที่ยวบินอิสราเอลที่ได้รับอนุญาตให้บินเหนือน่านฟ้าของซาอุ ขณะที่รัฐบาลอิสราเอลยังขอให้ซาอุอนุญาตให้ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในอิสราเอลได้เดินทางไปแสวงบุญที่ซาอุ โดยบินตรงจากอิสราเอลไปยังซาอุด้วย

 

ไบเดน หนุนเจรจาสันติภาพ อิสราเอล-ปาเลสไตน์

  • ระหว่างการหารือกับผู้นำอิสราเอล ประธานาธิบดีไบเดนเรียกร้องให้มีการเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ และเน้นย้ำข้อเรียกร้องในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและข้อพิพาทระหว่างสองรัฐ

 

“อิสราเอลยังคงต้องเป็นรัฐยิวที่เป็นอิสระและเป็นประชาธิปไตย วิธีที่ดีที่สุดในการบรรลุเป้าหมายยังคงเป็นวิธีแก้ปัญหาระหว่าง 2 รัฐ”

 

  • ขณะที่รายงานจากสื่อเผยว่า ไม่มีประเด็นสำคัญที่เฉพาะเจาะจงเรื่องปาเลสไตน์ระหว่างการหารือของสองผู้นำ แต่ไบเดนได้แสดงท่าทีว่า ต้องการให้สหรัฐฯ ยังคงอยู่ในวงจรของการพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องกับประชาชนปาเลสไตน์ เช่น แผนก่อสร้างนิคมของชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์ที่ยังไม่เกิดขึ้น

 

ภาพ:Israeli Government Press Office / Handout / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising