×

ไบเดน ลงนามคำสั่งให้หน่วยงานรัฐจัดซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในสหรัฐฯ มากขึ้น หวังปลุกเศรษฐกิจ กระตุ้นจ้างงานในประเทศ

โดย THE STANDARD TEAM
26.01.2021
  • LOADING...
ไบเดน ลงนามคำสั่งให้หน่วยงานรัฐจัดซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในสหรัฐฯ มากขึ้น หวังปลุกเศรษฐกิจ กระตุ้นจ้างงานในประเทศ

สำนักข่าว AP รายงานอ้างแหล่งข่าววงในที่เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งผู้บริหาร สั่งให้หน่วยงานของรัฐทั่วประเทศสั่งซื้อสินค้าจากบรรดาผู้ผลิตในสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงงานทั้งหลาย ในระหว่างที่ประธานาธิบดีไบเดนเริ่มกระบวนการเจรจากับทางสภาคองเกรสเพื่ออนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้คำสั่งผู้บริหารดังกล่าวจะปรับเปลี่ยนกฎหมาย Buy American ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับให้หน่วยงานรัฐของสหรัฐฯ ทุกหน่วยงานต้องจัดซื้อสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ โดยกฎที่เปลี่ยนใหม่นี้จะทำให้คู่สัญญาที่ผลิตสินค้าให้หน่วยงานรัฐจำหน่ายสินค้าที่ผลิตในต่างประเทศให้กับหน่วยงานรัฐได้ยากขึ้น

นอกจากนี้กฎที่เปลี่ยนใหม่ยังกำหนดให้ส่วนประกอบของสินค้าส่วนใหญ่จะต้องมาจากโรงงานในสหรัฐฯ และคุ้มครองสินค้าอเมริกัน โดยเพิ่มส่วนต่างทางราคาที่หน่วยงานรัฐจะสามารถซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้ ซึ่งหมายความว่าราคาสินค้าจากต่างประเทศที่ขายให้หน่วยงานรัฐอาจแพงกว่าหรือเท่ากับราคาสินค้าชนิดเดียวกันที่ผลิตในอเมริกา

ขณะเดียวกันก็นำงบประมาณรัฐ 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปจัดซื้อจัดจ้างเพื่อสนับสนุนโรงงานและการจ้างงานในประเทศ หลังการจ้างงานในโรงงานสหรัฐฯ ลดลงราว 540,000 ตำแหน่งมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว เนื่องจากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19

ยิ่งไปกว่านั้นยังเปิดโอกาสให้บริษัทใหม่ๆ ได้มาเป็นคู่สัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับรัฐบาลมากขึ้น โดยคำสั่งนี้จะให้มีการจัดทำเว็บไซต์สาธารณะสำหรับบริษัทที่ได้รับการยกเว้นให้ขายสินค้าจากต่างประเทศให้กับรัฐบาลได้ เพื่อให้ผู้ผลิตสินค้าในสหรัฐฯ มีข้อมูลมากขึ้น และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น

คำสั่งผู้บริหารฉบับนี้ยังกำหนดให้มีการเพิ่มตำแหน่งงานในสำนักงบประมาณและการจัดการของทำเนียบขาว เพื่อให้คอยติดตามว่ารัฐบาลจะซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้นหรือไม่โดยเฉพาะ รวมถึงกำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องรายงานความคืบหน้าในการซื้อสินค้าสัญชาติอเมริกัน พร้อมสนับสนุนกฎหมาย Jones Acts ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้สิทธิเรือที่ติดธงชาติสหรัฐฯ เท่านั้นที่สามารถขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือของสหรัฐอเมริกาได้

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนับเป็นไปตามคำมั่นสัญญาที่ผู้นำสหรัฐฯ เคยให้ไว้ว่าจะใช้พลังของหน่วยงานรัฐในการเข้าไปสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ ซึ่ง Lori Wallach ผู้อำนวยการ Public Citizen’s Global Trade Watch ได้ออกมาแสดงความยินดีและขอบคุณคำสั่งผู้บริหารดังกล่าวของประธานาธิบดีไบเดน ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เม็ดเงินภาษีของสหรัฐฯ รั่วไหลออกนอกประเทศปีละพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะสินค้าและบริษัทกว่า 60 ประเทศได้รับการปฏิบัติเสมือนเป็นสินค้าและบริษัทสัญชาติอเมริกันเพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล

นอกจากนี้ความเคลื่อนไหวดังกล่าวยังมีขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ผู้นำสหรัฐฯ ได้ยกสายหารือเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศกับนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี โดยโฆษกของรัฐบาลเยอรมนีเปิดเผยว่า ผู้นำทั้งสองชาติต่างมีความเห็นตรงกันว่า การแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาท้าทายต่างๆ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจอย่างใกล้ชิดเท่านั้น

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า การพูดคุยของผู้นำทั้งสองชาตินับเป็นสัญญาณที่ดี หลังความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับเยอรมนีเข้าสู่ภาวะปั้นปึ่งเย็นชาในช่วงอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่แสดงความเห็นโจมตีเยอรมนีในประเด็นเรื่องการส่งออกและการสนับสนุนองค์การนาโต ทำให้นายกรัฐมนตรีแมร์เคิลกล่าวออกมาในปี 2017 ว่า ยุโรปไม่สามารถพึ่งพาพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ ได้อีกต่อไป และขอให้สหรัฐฯ พึ่งพาตนเองให้มากขึ้น

Steffen Seibert โฆษกรัฐบาลเยอรมนีเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีแมร์เคิลได้แสดงความยินดีกับประธานาธิบดีไบเดน ซึ่งรวมถึงยินดีที่สหรัฐฯ กลับเข้ามาเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) และการกลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีส ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะให้คำมั่นที่จะร่วมมือกันในการเผชิญหน้ากับวิกฤตการระบาดและรับมือกับนโยบายการต่างประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจการค้า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความตึงเครียดในอิหร่านกับอัฟกานิสถาน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X