×

โจ ไบเดน พบ สีจิ้นผิง ที่บาหลี มีอะไรน่าจับตา

13.11.2022
  • LOADING...

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา และประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน เตรียมพบปะหารือกันที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียในวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายนนี้ ก่อนที่การประชุมสุดยอดผู้นำ G20 จะเปิดฉากขึ้น นับเป็นการพบกันครั้งแรกของทั้งคู่ นับตั้งแต่ไบเดนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงต้นปี 2021 ท่ามกลางการจับตามองของทั่วโลก

 

สำหรับการพบปะกันครั้งล่าสุดของผู้นำสหรัฐฯ และผู้นำจีน ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน ในช่วงที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือก่อนที่ประชาคมโลกจะเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด ซึ่งทำให้บริบทแวดล้อมในเวทีโลกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจระหองระแหงเรื่อยมาจากสงครามการค้าและเทคโนโลยี

 

ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันและปักกิ่งตกต่ำลงสุดขีด จากกรณี แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ เยือนกรุงไทเปของไต้หวัน ซึ่งทำให้จีนตอบโต้โดยการจัดซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน จนส่งผลให้บรรยากาศบริเวณช่องแคบไต้หวันตึงเครียด ขณะที่สหรัฐฯ ได้ออกมาตรการแบนส่งออกเซมิคอนดักเตอร์เพื่อสกัดการพัฒนาเทคโนโลยีและอาวุธยุทโธปกรณ์ของจีน

 

คำถามสำคัญคือ ไบเดนและสีจิ้นผิงจะปรับความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่นี้ในการประชุมที่บาหลีครั้งนี้ได้หรือไม่ 

 

และการประชุมครั้งนี้เราจะได้เห็นผลลัพธ์อะไรบ้าง

 

โอกาสที่จะเห็นแถลงการณ์ร่วมของผู้นำทั้งสองประเทศมีมากน้อยแค่ไหน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการสหรัฐฯ รายหนึ่งคาดการณ์ว่า การพบปะกันของไบเดนและสีจิ้นผิงในครั้งนี้อาจไม่ได้นำไปสู่การออกแถลงการณ์ร่วมกัน แม้ไบเดนจะเชื่อว่าการสร้างรากฐานให้กับความสัมพันธ์เป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างที่ผูกมัดและจำกัดกรอบการแข่งขันของทั้งสองประเทศไว้

 

โดยก่อนหน้านี้ ภายหลังจากที่ไบเดนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แล้ว ก็มีโอกาสต่อโทรศัพท์สายตรงถึงประธานาธิบดีสีจิ้นผิงหลายต่อหลายครั้ง แต่การพูดคุยดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ความดุเดือดและความร้อนแรงของการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐฯ และจีนลดน้อยถอยลงได้เลย

 

ขณะที่ อีวาน เมเดรอส อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ และอดีตที่ปรึกษาทำเนียบขาวเกี่ยวกับประเทศจีนกล่าวว่า “ผมไม่เชื่อว่าการประชุมกันเพียงครั้งเดียวจะช่วยฟื้นฟูหรือกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ใหม่ได้ ถ้าพวกเขาโชคดีและทุกอย่างเป็นไปด้วยดี บางทีผู้นำทั้งสองประเทศก็อาจจะยอมปรับเปลี่ยนท่าทีบ้างเล็กน้อย”

 

ทางด้านไบเดนเคยระบุว่า เป้าหมายของเขาในการพบปะกับผู้นำจีนในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่สีจิ้นผิงกังวลและให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ รวมถึงวางแนวทางและขีดเส้นแดงว่าอะไรคือสิ่งที่สหรัฐฯ และจีนห้ามก้าวล้ำเส้นนี้ และขอบเขตของการแข่งขันกันจะอยู่ที่จุดไหน

 

ไต้หวัน หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ไม่อาจละเลย

สำหรับประเทศจีนแล้ว อาจไม่มีประเด็นใดสำคัญไปกว่าประเด็นของไต้หวัน เพราะประเด็นนี้เกี่ยวพันกับอำนาจอธิปไตยที่จีนหวงแหนโดยตรง และนี่จะเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ไบเดนและสีจิ้นผิงอาจจะหารือกันบนโต๊ะประชุม หลังจากที่ประเด็นไต้หวันมีส่วนอย่างมากที่ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศตึงเครียดและร้อนระอุมากยิ่งขึ้น

 

โดยจีนมองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ไม่สามารถแบ่งแยกได้ โดยในประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็มีการเน้นย้ำว่าจีนจะเดินหน้าผลักดัน ‘การรวมชาติด้วยสันติวิธี’ (Peaceful Reunification) แต่อย่างไรก็ตาม การใช้กำลังขู่บังคับก็ยังเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ทางการจีนอาจเลือกใช้หากมีความจำเป็น

 

ทั้งนี้ ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นอีกระลอก หลังจากที่ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวันในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเยือนไต้หวันของผู้นำระดับสูงของสหรัฐฯ คนแรกในรอบ 25 ปี โดยจีนได้ตอบโต้ด้วยการซ้อมรบทางทหารรอบๆ เกาะไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างจีน-ไต้หวัน-สหรัฐฯ ตึงเครียดมากยิ่งขึ้นไปอีก

 

นอกจากคณะผู้แทนสหรัฐฯ ที่นำโดยเพโลซีแล้ว ยังมีคณะผู้แทนจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนและเข้าพบประธานาธิบดีไช่อิงเหวินที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงไทเปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทางการจีนยิ่งไม่พอใจสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก 

 

แต่อย่างไรก็ตาม ไบเดนน่าจะใช้โอกาสการพบกันครั้งแรกนี้ เน้นย้ำกับสีจิ้นผิงถึงความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยจุดยืนที่สหรัฐฯ มีต่อไต้หวันจะยังคงไม่เปลี่ยนไป อีกทั้งสหรัฐฯ เองก็ประกาศจุดยืนแน่ชัดว่า ตนไม่ได้สนับสนุนการประกาศเอกราชของไต้หวันแต่อย่างใด 

 

หรือประชาคมโลกกำลังอยู่ในช่วงสงครามเย็น 2.0?

นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยต่างกำลังตั้งข้อสังเกตว่า หรือประชาคมโลกในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงสงครามเย็น 2.0 ที่เป็นการต่อสู้กันของสองมหาอำนาจที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีน

 

โดยแนวนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของไบเดน มักจะให้น้ำหนักไปที่การตอบโต้และรับมือกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากจีนเป็นสำคัญ หนึ่งในตัวอย่างที่สำคัญคือ การดำเนินมาตรการควบคุมการส่งออก ห้ามขายไมโครชิปที่ทันสมัยและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าดังกล่าวไปยังจีน เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ฉายภาพแนวนโยบายที่สหรัฐฯ เคยมีต่อสหภาพโซเวียตเมื่อช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา 

 

คริส มิลเลอร์ ผู้เขียนหนังสือ Chip War: The Fight for the World’s Most Critical Technology กล่าวว่า ตลอดช่วงสงครามเย็นที่ผ่านมา เราเห็นชุดนโยบายควบคุมและจำกัดการส่งออกอย่างเข้มงวดที่สหรัฐฯ มีต่อสหภาพโซเวียต และในขณะนี้ ถ้าจะให้พูดกันตามตรงก็เรียกได้ว่ามีความคล้ายคลึงกันมากจริงๆ 

 

โดยทางการสหรัฐฯ เผยว่า มาตรการควบคุมการส่งออกทั้งหลายได้รับการออกแบบมา เพื่อไม่ให้เทคโนโลยีสำคัญตกไปอยู่ในมือของหน่วยงานด้านการทหารและความมั่นคงของจีน ในขณะที่หลายฝ่ายมองว่า มาตรการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมากกว่าที่สหรัฐฯ คาดการณ์ไว้

 

มิลเลอร์แสดงความเห็นว่า แม้มาตรการดังกล่าวจะเคยส่งผลต่อสหภาพโซเวียต แต่ในกรณีของจีน การบังคับใช้มาตรการดังกล่าวให้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพอาจเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น อีกทั้งไมโครชิปมีขนาดเล็กมาก ง่ายต่อการลักลอบนำเข้าผ่านแนวชายแดน รวมถึงการบังคับใช้ยังต้องอาศัยความร่วมมือของบรรดาประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ที่ซับซ้อนอีกด้วย 

 

เบื้องต้นทางการจีนไม่เห็นด้วยกับท่าทีดังกล่าวของสหรัฐฯ แต่ยังไม่ได้ดำเนินมาตรการตอบโต้อย่างจริงจัง เนื่องจากการประกาศดำเนินมาตรการควบคุมดังกล่าวของสหรัฐฯ มีขึ้นในช่วงไม่กี่วันก่อนที่ทางการจีนจะปรับเปลี่ยนสมาชิกของคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมือง ในช่วงการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 2 ในรอบ 1 ทศวรรษ ภายใต้การนำของสีจิ้นผิง

 

การพบกันที่บาหลี อาจเปิดประตูการสื่อสารระหว่างสหรัฐฯ และจีนอีกครั้ง

หลายฝ่ายเชื่อว่าหากไบเดนและสีจิ้นผิงสามารถรวบรวมเจตจำนงทางการเมืองหรือหาจุดร่วมบางอย่างได้ การพบปะของทั้งคู่ที่เกาะบาหลีในครั้งนี้อาจจะช่วยเปิดประตูการสื่อสารระหว่างสหรัฐฯ และจีนขึ้นอีกครั้ง 

 

หลังจากที่ทางการจีนตัดสินใจตัดช่องทางการสื่อสารและระงับความร่วมมือในด้านต่างๆ กับสหรัฐฯ จากกรณีที่เพโลซีเดินทางเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ยิ่งทำให้การติดต่อสื่อสารของสองรัฐบาลลดน้อยลงไปอีก

 

โดย สกอตต์ เคนเนดี ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษา ประจำศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ชี้ว่า การขาดการติดต่อสื่อสารระหว่างกันเป็นปัญหาร้ายแรงและอันตราย ยิ่งในช่วงที่ผ่านมาที่การเดินทางไปมาหาสู่กันถูกจำกัดลง การขาดการติดต่อสื่อสารกันยิ่งทำให้การแก้ปัญหาต่างๆ แทบเป็นไปไม่ได้เลย 

 

ดังนั้นการประชุมหารือกันในครั้งนี้อาจมีประตูหน้าต่างแห่งโอกาสบานเล็กๆ เกิดขึ้น เนื่องจากจีนเองก็ผ่านพ้นการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ไปแล้ว ขณะที่สหรัฐฯ เองก็อยู่ในช่วงท้ายๆ ของการนับคะแนนผลการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ แล้ว นี่จึงอาจเป็นช่วงเวลาที่ผู้นำของทั้งสองประเทศจะหารือกันในเชิงยุทธศาสตร์ของความสัมพันธ์ โดยไม่มีเงื่อนไขของการเมืองภายในประเทศมาเกี่ยวพันหรือครอบงำทุกๆ ประโยคของการสนทนา และอาจนำไปสู่การหารือด้านการค้าและเศรษฐกิจ รวมถึงการเปิดพรมแดนระหว่างกันมากยิ่งขึ้น

 

ในขณะที่ จูเฟิง อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยหนานจิงของจีน มองว่าไม่ควรมีใครตั้งความหวังกับการประชุมในครั้งนี้สูงเกินไป การพูดคุยอย่างจริงจังอาจทำให้ผู้นำทั้งสองประเทศเข้าใจจุดยืนกันมากยิ่งขึ้น แต่ก็อาจจะแค่นั้น ไม่ได้นำไปสู่อะไร

 

ส่วนเมเดรอส อดีตที่ปรึกษารัฐบาลสหรัฐฯ มองว่า ช่วงเวลาในปัจจุบันเป็นช่วงเวลาของความอันตราย แม้จะมีบางแง่มุมที่คล้ายคลึงกับทศวรรษ 1950-1960 ที่เมื่อระดับความไม่ไว้วางใจของสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตเพิ่มสูงขึ้น ทั้งคู่ก็ต่างทดสอบและตรวจสอบขอบเขตของกันและกัน 

 

โดยหลังจากวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา ทั้งสองผ่านประสบการณ์ความตึงเครียดร่วมกันและต่างมีบทเรียนราคาแพงจากสงครามโลก จึงนำไปสู่การบรรลุข้อตกลงร่วมกันที่ผสานผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศในเวลาต่อมา อาทิ ข้อตกลงจำกัดการใช้อาวุธ แต่ในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ยังไม่มีข้อตกลงร่วมหรือมติร่วมที่เป็นรูปธรรมในลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด

 

บทสรุปของการพบกันระหว่างสองผู้นำประเทศมหาอำนาจในครั้งนี้จะเป็นอย่างไร ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

 

แฟ้มภาพ: Alexandros Michailidis / 360b / Shutterstock

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X