หากพูดถึงภาพยนตร์วัยรุ่นและความรัก ภาพที่ใครหลายคนนึกถึงคงหนีไม่พ้นหนุ่มสาวในชุดนักเรียนนักศึกษา กับฉากหลังของโรงเรียนกวดวิชาและสยามสแควร์
แต่ภาพยนตร์เรื่อง ‘อโยธยามหาละลวย’ จะเล่าเรื่องราวของวัยรุ่นกลุ่มใหม่ พาผู้ชมย้อนเวลาไปในยุคสมัยอันรุ่งเรื่องของการค้าขาย ณ อโยธยา แผ่นดินพระนารายณ์ เพื่อสัมผัสชีวิตของเหล่าวัยรุ่นที่พรั่งพร้อมไปด้วยคาถาอาคม พละกำลัง ความรัก และมิตรภาพ
เพื่อให้แฟนๆ สัมผัสกับพลังแห่งอาคมได้มากขึ้น THE STANDARD POP จึงชวน เจมส์ จิรายุ และโบว์ เมลดา สองพระนางจากภาพยนตร์ ‘อโยธยามหาละลวย’ มาเดินบนเส้นทางแห่งเวทมนตร์ในชีวิตจริง พูดคุยถึงความมหัศจรรย์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ และความน่าตื่นเต้นในชีวิตนักแสดงของพวกเขา
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่นี่
ลิงค์บทความ (เจมส์ จิรายุ – โบว์ เมลดา ออกจากอโยธยา ร่ายคาถาในชีวิตจริง)
THE STANDARD POP: ในเมื่อหนังพาเราย้อนสมัย ถ้าอย่างนั้นช่วยพาเราย้อนกลับไปในวันแรกที่ทั้งสองคนเข้าวงการหน่อยได้ไหมว่าตอนนั้นรู้สึกอย่างไร ตอนที่ได้แคสต์งานแรก เล่นละครเรื่องแรก ร้องเพลงครั้งแรก
เจมส์: งานแรกของผมมัน จริงๆ มันมีหนังก่อนหน้านั้นครับ แต่ว่าหนังตอนนั้นอยู่พิษณุโลก ก็ยังไม่ได้อะไร แต่ว่ามาจริงจังก็เป็นตอนคุณชายพุฒิภัทรนี่แหละครับคือเรื่องแรกในชีวิตเลย (สุภาพบุรุษจุฑาเทพ ตอน คุณชายพุฒิภัทร – 2556) แล้วก็มาแบบงงๆ ครับ เพราะว่ามาแล้วก็ได้ทำงานเลย คือเข้ากรุงเทพฯ มาแค่ 2 เดือน แทบจะไม่ได้เวิร์กช็อปหรือเรียนแอ็กติ้งเหมือนคนอื่น มันเลยกลายเป็นความตื่นเต้นที่ทำให้แค่บทสั้นๆ ผมก็จำไม่ได้แล้ว และมันเป็นเรื่องน่าตกใจ เพราะสิ่งที่เราเห็นตรงหน้ามันคือคนในทีวีที่เราไม่คุ้นเคยมาก่อน เราเคยเห็นเขาแค่ในทีวี แล้วผมอยู่ต่างจังหวัดมาโดยตลอด พออายุ 19 ปี ได้เข้ามากรุงเทพฯ แล้วเห็นแบบนี้มันก็มหัศจรรย์นะ ในตอนนั้น
THE STANDARD POP: เรียกว่าเป็นเวทมนตร์ไหม เป็นหนึ่งในเวทมนตร์ใหม่ในชีวิตที่เราเจอ
เจมส์: ประมาณนั้นก็ได้ครับพี่ เพราะว่าทุกๆ อย่างมันดูเหมือนเป็นเรื่องมหัศจรรย์น่ะ ที่เราได้อยู่ ได้สัมผัส แล้วก็ได้ทำงาน มันเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น ผมจำได้ว่าตัวเองมือสั่น ขาสั่น แล้วก็แบบใจสั่น แล้วก็ไม่ได้คิดเรื่องอะไรเลย คิดแต่ว่าจะทำอย่างไรดีเพื่อให้มันรอดไปได้เป็นวันๆ หรือว่าแค่รอดไปแค่เป็นชั่วโมง ผมก็ดีใจแล้ว ผมรู้สึกว่าเวลาในแต่ละวันแต่ละวินาทีมันช่างช้าเหลือเกิน
THE STANDARD POP: แล้วโบว์ล่ะ ตอนเข้าวงการแรกๆ เป็นอย่างไรบ้าง
โบว์: การเข้าวงการของโบว์ส่วนใหญ่จะเริ่มาจากแม่เลยค่ะ แม่จะเป็นคนให้โอกาสตลอด ทั้งเป็นนักร้อง นางแบบ นักแสดง แม่ก็ให้ไปเรียนแอ็กติ้ง ต่อให้จะเจอครูที่สอนไปดุไป เราก็พยายามอย่างเต็มที่นะ แล้วสุดท้ายค่อยไปบอกแม่ว่า ไม่เอาแล้ว ไม่เรียนแล้ว ครูดุ เวลาเราไปประกวด ไปแคสต์โฆษณา ต่อให้ได้หรือไม่ได้ แม่ก็จะสอนตลอดว่าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ถ้าได้ก็โชคดีไป ทำให้เราไม่ได้รู้สึกคาดหวังกับอะไร แล้วเราก็จะรู้สึกว่าไม่เป็นไร ซึ่งก็ส่งผลมาตอนโตด้วย โบว์เลยเป็นคนไม่ค่อยคาดหวังอะไรสักเท่าไรค่ะ แต่พอแม่สอนให้โบว์ไม่คาดหวัง เราก็จะรู้สึกว่าแม่ก็อย่าคาดหวังกับโบว์ด้วย ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม
เจมส์: ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี
โบว์: เรื่องเรียนก็บอกแม่เหมือนกันค่ะ ว่าอย่าคาดหวัง อย่าหวังว่าจะได้เกรด 4
เจมส์: อันนี้เริ่มไม่ดีละ
โบว์: ไม่ มันแล้วแต่ความถนัดของคนไง แม่เล็งเห็นตั้งแต่ช่วงประถมแล้วค่ะว่าเราเป็นอะไรที่ใช้สมองไม่ได้ ต้องเป็นแนวกิจกรรมมากกว่า แต่พอเราไม่คาดหวังอะไรเลย บางทีมันไม่มีจุดหมาย มันไม่มีเป้าหมาย แล้วหนูรู้สึกว่าพอเราโตมาแบบนี้ พออายุ 24 ปี เราเพิ่งจะมารู้สึกว่า เฮ้ย เราจะทำตามแม่ทุกอย่างไม่ได้ คนเรามันต้องโตนะ คนอื่นเขาขับรถไปทำงาน มีธุรกิจ มีความคิดที่จะทำนู่นทำนี่ สร้างนู่นสร้างนี่แล้ว แต่ตัวหนูไม่คิดอะไรเลย เราเป็นคนที่แล้วแต่มาตลอดแบบนี้ หลังๆ ก็เลยอยากจะมีรีสอร์ต มีโรงแรมเป็นของตัวเอง อยากทำเพราะว่าตั้งแต่มหาวิทยาลัยแล้ว ที่เราอยากจะเรียนอะไรเราก็ไม่ได้เรียนอย่างที่เราต้องการ ก็เลยตั้งคำถามว่าทำไมนะ
THE STANDARD POP: ช่วงหลังๆ เราจะเห็นหนังหรือละครหลายเรื่องเอาประวัติศาสตร์มาตีความใหม่ คิดว่าอะไรคือการตีความที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ‘อโยธยา’ ในเรื่องนี้
เจมส์: ส่วนใหญ่ผมมักจะได้เล่นละครพีเรียดที่มันมีแต่เรื่องราวในประวัติศาสตร์ การเสียกรุง และการรักษาเอกราช แต่เรื่องนี้มันจะเล่าถึงเรื่องราวของวัยรุ่นสมัยนั้น วัยรุ่นจริงๆ เลยนะครับ ที่ไปเที่ยวโรงชำเราหรือโคมแดง แล้วก็มีเรื่องของเวทมนตร์คาถา ไสยศาสตร์ที่อยู่ในนั้น มีการสักยันต์มาเพื่อต่อสู้กัน แก่งแย่งชิงดีกัน ซึ่งผมว่ามันเป็นอีกรสชาติหนึ่งของภาพยนตร์พีเรียดของไทย ผมว่าถ้าเรามองภาพรวมๆ อย่างอังกฤษมี Harry Potter ผมว่าในไทยพีเรียดเรื่องนี้มันเป็นความแฟนซีของมนตร์ดำหรือเวทมนตร์คาถา มันก็สนุกดี เราก็เคยได้ยินเรื่องแบบนี้กันมา การรักษาด้วยยาผีบอก หรือการเสกข้าวสารอะไรแบบนี้ ซึ่งความแฟนซีแบบนี้มันเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะมันสามารถสะท้อนประวัติศาสตร์ สะท้อนวัฒนธรรมในยุคสมัยนั้นได้ ว่าคนไทยในสมัยก่อนมีความเชื่อในสิ่งนี้อยู่
ตัวอย่างภาพยนตร์ อโยธยามหาละลวย
THE STANDARD POP: แล้วในส่วนของ ‘ออสร้อย’ ตัวละครนี้มีความน่าสนใจอย่างไร แล้วมีความเหมือนหรือแตกต่างจากโบว์อย่างไร
โบว์: ถ้าเป็นพาร์ตของออสร้อย ตัวนางเอกก็จะอยู่ในโรงชำเราเลยค่ะ เป็นนักร้อง แล้วก็จะมีอาคม มีคาถาเหมือนกัน เป็นคาถาเมตตามหานิยม แล้วก็คาถาป้องกันตัว ไม่ให้เจออันตราย แต่มันก็จะมีแบบว่าไม่สามารถสู้กับคนที่มีอาคมแรงกว่าตัวเรา อย่างเช่น พระเอก หรือคนที่เข้ามาจีบเรา ตัวออสร้อยเองเป็นคนค่อนข้างเรียบร้อย แต่จะทำให้เห็นผู้หญิงในมุมที่ไม่ว่าจะสมัยไหนก็สามารถเป็นคนที่เริ่มก่อนได้ ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม เช่น การเริ่มจีบก่อน ถ้าเทียบกับโบว์ ก็จะมีทั้งเหมือนบ้างและต่างบ้าง ความคล้ายก็คือเราคิดเหมือนกับออสร้อยเรื่องการเริ่มจีบใครก่อน เราคิดว่าจีบก่อนจะเป็นอะไร ไม่เป็นไรหนิ
THE STANDARD POP: รู้สึกว่าตัวละครตัวนี้มีความเป็นเฟมินิสต์เยอะมากน้อยขนาดไหน
โบว์: ค่อนข้างเลยค่ะ คือตัวละครตัวนี้มีศักดิ์ศรีมากๆ มองว่าการรักเดียวใจเดียวเป็นสิ่งสำคัญ แล้วก็มองว่าเราเป็นผู้หญิงก็สามารถนำผู้ชายได้ ช่วยได้ เท่าที่เราทำได้ สามารถดูแลตัวเองได้ แล้วก็ค่อยพึ่งพาผู้ชายเฉพาะเรื่องที่จำเป็นต้องพึ่งพา
THE STANDARD POP: แล้วป้าข้างบ้าน ที่ไม่ได้หมายถึงป้าข้างบ้านจริงๆ แต่เป็นเสียงลือเสียงเล่าอ้างต่างๆ เสียงพวกนี้มีผลกับเราไหม
เจมส์: คือผมไม่ค่อยรู้เหมือนกันครับ อาจจะมีคนพูดกันแหละ แต่ผมไม่ค่อยได้รับมาฟังเลย ด้วยความที่ผมดื้อมาก ดื้อแบบขนาดกับพ่อแม่ก็ดื้อ
โบว์: ดื้อเงียบ
เจมส์: ใช่ แต่ว่าคือผมก็ไม่ได้ปฏิเสธนะ แต่ก็ไม่ทำ ด้วยความที่ผมเป็นคนขี้เกียจอธิบาย ไม่ชอบความขัดแย้ง และชอบหนีปัญหา ในช่วงหนึ่งเราเลยพูดไปส่งๆ แล้วก็คิดว่าเดี๋ยวมันก็มีทางออก ไม่อยากให้คนอื่นมายุ่ง ก็เลยเป็นที่มาของเพลง ‘ดื้อ’ ของผม ขอ Tie-in เลยนะ (หัวเราะ)
มิวสิกวิดีโอเพลง ดื้อ (Cause of you)
THE STANDARD POP: สุดท้ายแล้วในฐานะของนักแสดงและคนที่อยู่ในวงการละคร เวลามีคนพูดถึงละครในแง่ที่มันไม่ค่อยสร้างสรรค์สังคมและติดภาพเดิมอยู่ เรารู้สึกอย่างไรกับคำวิจารณ์เหล่านี้
เจมส์: มันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ คือในมุมหนึ่งเขาก็จะพยายามบอกว่านี่มันคือการสะท้อนสังคม วัฒนธรรมที่มันเป็นอยู่ แต่เรื่องจริงๆ ผมว่าละครมันไม่ได้ฉีกจากเวย์เดิม เพราะมันมีเรื่องให้คิดเยอะ ในเรื่องของการทำ เรื่องคนทำ เรื่องของผู้ฟัง ผู้ชมในแบบเก่าที่มีอยู่ ซึ่งคนใหม่ๆ ที่เข้ามา เขาก็จะไปแย่งพื้นที่อันเก่าตรงนั้นไม่ได้อยู่แล้ว เขาก็จะต้องไปหาเวย์ใหม่ เรื่องแบบนี้มันเลยไม่มีวันตายตัว เพราะสุดท้ายวันหนึ่งเขาก็ต้องหาคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่ไปเสิร์ฟคนสมัยใหม่ หรือคนที่คิดแบบเขาอยู่แล้ว
โบว์: เราก็คิดแบบนั้นเหมือนกัน คิดแบบที่คนอื่นคิด แล้วหนูก็เห็นด้วยกับพี่เจมส์ สิ่งที่เราทำได้ก็คือทำในส่วนของตัวเองให้ดีที่สุด
เจมส์: ใช่ หน้าที่ของนักแสดงเราก็คือ อยู่ตรงไหนก็ได้ที่เราชอบและทำหน้าที่ของเราให้เต็มที่ ถ้าเกิดเราไม่ชอบในส่วนนี้ เราก็แค่ไปทำในส่วนอื่น