×

‘พาวเวลล์’ ส่งสัญญาณชัดเตรียมขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ลั่น Fed พร้อมงัดเครื่องมือคุมเงินเฟ้อให้อยู่หมัด

22.04.2022
  • LOADING...
พาวเวลล์

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กล่าวระหว่างการเข้าร่วมวงอภิปรายกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งว่าด้วยเรื่องของเศรษฐกิจโลก (Globla Economy) เมื่อวานนี้ (21 เมษายน) ว่าการประชุม Fed ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5 เปอร์เซ็นต์อย่างเป็นทางการ ท่ามกลางการเตรียมความพร้อมของ Fed ในการเข้าควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่หมัด

 

ก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคม Fed ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2018 โดยมีเป้าหมายเพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ด้วยตัวเลขเงินเฟ้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว ทำให้บรรดานักลงทุนจากการสำรวจของ CME FedWatch Tool คาดหวังว่า Fed จะดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25 เปอร์เซ็นต์ในการประชุมเดือนพฤษภาคมนี้

 

ทั้งนี้พาวเวลล์แสดงความเห็นว่า เป็นเรื่องที่เหมาะสมที่จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเล็กน้อย พร้อมกล่าวถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25 เปอร์เซ็นต์ก่อนหน้าว่าเกิดขึ้นในช่วงที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่น้อยกว่าปัจจุบัน ดังนั้นเมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจึงต้องเพิ่มขึ้นตามเพื่อให้สอดคล้องกัน

 

สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า หน้าที่หลักของ Fed ในขณะนี้ก็คือการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงจากระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี จนแตะระดับเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนที่ยุ่งยากของการดำเนินการในครั้งนี้ของ Fed ก็คือการที่จะต้องหาทางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะถดถอย

 

พาวเวลล์กล่าวว่า ในฐานะประธาน Fed เป้าหมายของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็คือก่อให้เกิดผลลัพธ์แบบซอฟต์แลนดิ้ง ที่จะไม่สร้างความเสียหายรุนแรงให้แก่การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวม

 

ขณะเดียวกันประธาน Fed ยังยอมรับว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีเกราะป้องกันผลกระทบจากสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนมากกว่ายุโรป แต่สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ดังกล่าวก็เป็นแรงกดดันสำคัญที่มีต่อภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ เพราะสงครามยูเครน บวกกับวิกฤตการระบาดของโควิดที่ยังคงมีอยู่ ทำให้ราคาพลังงานและอาหารยังคงแพงขึ้น

 

พาวเวลล์กล่าวว่า Fed จะใช้เครื่องมือที่มีเพื่อทำให้ระบบซัพพลายมีเสถียรภาพ รวมถึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างซัพพลายกับดีมานด์ในตลาดกลับมาสมดุลอีกครั้ง

 

ก่อนหน้านี้บรรดานักเศรษฐศาสตร์หลายสำนัก รวมถึงนักเศรษฐศาสตร์ในสังกัดของ Fed เองต่างคาดหวังว่าอัตราเงินเฟ้อจะพุ่งแตะระดับสูงสุดในช่วง 2-3 เดือนแรกของปีนี้ แต่ก็ต้องผิดหวัง โดยพาวเวลล์ระบุว่า เงินเฟ้ออาจแตะยอดสูงสุดไปแล้วในช่วงเดือนมีนาคม ทว่าก็ไม่มีอะไรมายืนยันได้ ต้องรอติดตามสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิดต่อไป

 

สำหรับการประชุม Fed ครั้งถัดไปจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 3-4 พฤษภาคม ซึ่งจะมีวาระหลักคือการเห็นชอบในสิ่งที่คาดหมายว่าจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยหนึ่งในหลายๆ ครั้งในปีนี้

 

ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ก่อนหน้าการประชุมกับ IMF เพียงไม่นาน พาวเวลล์ได้พบปะหารือกับ พอล วอล์กเกอร์ อดีตประธาน Fed ซึ่งต่อสู้ฟาดฟันกับภาวะเงินเฟ้อในช่วงทศวรรษที่ 1970 และ 1980 จนได้รับการยกย่องให้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐด้านเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ของยุค ซึ่งในปี 1980 วอล์กเกอร์จัดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อจัดการกับตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งแตะระดับ 2 หลัก

 

ด้านความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (21 เมษายน) ปิดตลาดปรับตัวในแดนลบ โดยดัชนี Nasdaq ขยับลงมากกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากนักลงทุนขานรับในทางลบต่อท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed รวมถึงประธาน Fed ที่ส่งสัญญาณของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกในปีนี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ หลังจากที่ 1 วันก่อนหน้านี้ตลาดเพิ่งจะขยับปรับขึ้นมาเล็กน้อย

 

ทั้งนี้ ดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones ปรับตัว ลดลง 368.03 จุด หรือ 1.05 เปอร์เซ็นต์ ปิดที่ 34,792.76 จุด ส่วนดัชนี S&P 500 ลดลง 65.79 จุด หรือ 1.48 เปอร์เซ็นต์ ปิดที่ 4,393.66 จุด และดัชนี Nasdaq ลดลง 278.41 จุด หรือ 2.07 เปอร์เซ็นต์ ปิดที่ 13,174.65 จุด

 

นักลงทุนในตลาดยังคงเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง เพราะยังคงกังวลต่อแนวโน้มด้านเศรษฐกิจถดถอย ในส่วนของราคาน้ำมันขยับปรับขึ้นเล็กน้อย โดยน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้น 1.60 ดอลลาร์ ปิดที่ 103.79 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 1.53 ดอลลาร์ ปิดที่ 108.33 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นเป็นผลสืบเนื่องจากการที่สหภาพยุโรป (EU) ยังคงพิจารณาทบทวนความเป็นไปได้ของการห้ามนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย แม้จะมีคำเตือนจาก เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ที่ระบุว่า EU จำเป็นต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการแบนนำเข้าพลังงานจากรัสเซียโดยสิ้นเชิง เพราะมีแนวโน้มจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น

 

ส่วนราคาทองคำปิดตลาดเมื่อวานนี้ (21 เมษายน) ในแดนลบติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ทำให้นักลงทุนลดการถือครองทองคำ โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน ลดลง 7.40 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,948.20 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X