เจเรมี ฮันต์ (Jeremy Hunt) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ของสหราชอาณาจักร กล่าวยอมรับเมื่อเร็วๆ นี้ว่า รัฐบาลของ ลิซ ทรัสส์ ดำเนินนโยบายด้านภาษีที่ไกลและเร็วเกินไป พร้อมกับระบุว่าในอนาคตอันใกล้ภาษีจะต้องเพิ่มขึ้น และจะต้องลดการใช้จ่ายเพื่อฟื้นเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือ
ถ้อยแถลงดังกล่าวของฮันต์มีขึ้นเมื่อค่ำวันเสาร์ (15 ตุลาคมตามเวลาอังกฤษ) โดยเขากล่าวว่า รัฐบาลต้องซื่อสัตย์ต่อประชาชน และต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนทั้งเรื่องการใช้จ่ายและจัดเก็บภาษี ขณะเดียวกันเขายังให้คำมั่นว่า “สิ่งสำคัญที่สุดในการตัดสินใจของเราคือการปกป้องและช่วยเหลือครอบครัว ธุรกิจ และผู้คนที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- รู้จัก ‘เจเรมี ฮันต์’ อดีตผู้ชิงเก้าอี้นายกฯ สู่ รมว.คลังอังกฤษคนล่าสุด ท่ามกลางความท้าทาย Perfect Storm
- ‘ลิซ ทรัสส์’ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ไล่ ‘รมต.คลัง’ พ้นตำแหน่ง เซ่นแผนลดภาษี
- รมว.คลังอังกฤษคนล่าสุด ‘เจเรมี ฮันต์’ ยันเดินหน้าผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ ระบุนโยบายภาษีของนายกฯ นั้น ‘ไกลและเร็วไป’
“โฟกัสของผมอยู่ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ได้รับการสนับสนุนอย่างมีเสถียรภาพ” ฮันต์กล่าว และเสริมว่า “แรงผลักดันในการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นถูกต้องแล้ว เพียงแต่ไกลและเร็วเกินไป”
ทั้งนี้ ฮันต์ได้รับเลือกให้มารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ของสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเข้ารับตำแหน่งที่เร่งด่วน เนื่องจากนายกรัฐมนตรี ลิซ ทรัสส์ ล้มเหลวในการสร้างความมั่นใจให้กับตลาดด้วยการกลับลำมาใช้นโยบายลดหย่อนภาษีนิติบุคคล ตามมาด้วยการตัดสินใจปลด ควาซี ควาร์เต็ง (Kwasi Kwarteng) พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทั้งที่เพิ่งอยู่ในตำแหน่งได้เพียง 38 วัน
ในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันเสาร์ (15 ตุลาคม) นั้น ฮันต์ได้เปิดเผยความคิดของเขาเองว่า การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถทำได้โดยการลดภาษี และแม้ว่าทรัสส์จะส่งต่อแนวนโยบายกับฮันต์ว่า จะไม่มีการกลับลำนโยบายลดภาษีอย่างที่ควาร์เต็งประกาศเมื่อเดือนที่แล้ว แต่ดูเหมือนฮันต์จะมีแนวทางของตัวเองอยู่แล้ว โดยเมื่อวันเสาร์เขากล่าวกับสำนักข่าว BBC ว่า เขาจะซื่อสัตย์ต่อประเทศอย่างเต็มที่เกี่ยวกับวิกฤตนี้ และจะลดค่าใช้จ่ายตามที่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม ฮันต์ปฏิเสธที่จะบอกว่าผลประโยชน์ของครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อหรือไม่ โดยให้เหตุผลว่า ส่วนตัวแล้วเขาค่อนข้างอ่อนไหวต่อประเด็นปากท้องของผู้คน โดยเฉพาะประชาชนฐานราก จึงไม่อาจให้พันธสัญญาใดๆ ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น
อ้างอิง: