ตัวเลขการส่งออกของญี่ปุ่นลดลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี เนื่องจากอุปสงค์ในต่างประเทศที่ลดลง ส่งสัญญาณถึงอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ต้องพึ่งพาตลาดภายนอกมากขึ้น เนื่องจากการใช้จ่ายภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัว
วันนี้ (17 สิงหาคม) กระทรวงการคลังญี่ปุ่นรายงานว่า มูลค่าการส่งออกในเดือนกรกฎาคมลดลงจากปีก่อนหน้า 0.3% โดยหดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021 เนื่องจากยอดจัดส่งชิ้นส่วนสำหรับผลิตชิปลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับความต้องการรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เคยคาดการณ์ไว้ว่าตัวเลขจะลดลง 0.2%
ขณะที่ยอดการนำเข้าลดลงเป็นเดือนที่ 4 โดยลดลง 13.5% จากปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการลดลงที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2020 เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ผ่อนคลายลง แต่ยังลดลงน้อยกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 15.2%
ญี่ปุ่นกลับมาขาดดุลการค้าอีกครั้ง โดยขาดดุล 7.8 หมื่นล้านเยน (538 ล้านดอลลาร์) หลังจากเกินดุล 4.3 หมื่นล้านเยนในเดือนก่อนหน้า ผิดคาดจากที่นักเศรษฐศาสตร์เคยประเมินว่า ยอดเกินดุลจะขยายตัวเป็น 4.79 หมื่นล้านเยน
ตัวเลขดังกล่าวปรากฏขึ้นหลังจากข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัว 6% ในไตรมาสที่สอง โดยการขยายตัวส่วนใหญ่มาจากอุปสงค์ภายนอก เมื่อรวมกับสัญญาณเศรษฐกิจภายในที่ยังอ่อนแอ เช่น การใช้จ่ายของครัวเรือนลดลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันในเดือนมิถุนายน ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจยังคงนโยบายการเงินผ่อนคลายเป็นพิเศษ เพื่อรอดูว่าการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างจะเป็นแนวโน้มต่อเนื่องหรือไม่
ข้อมูลการส่งออกยังคงเน้นย้ำถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สมดุลในนานาประเทศ การส่งออกไปยังสหรัฐฯ และยุโรป เพิ่มขึ้น 13.5% และ 12.4% ตามลำดับ ในขณะเดียวกันการส่งออกไปยังจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ลดลง 13.4% เป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม โดยยอดจัดส่งรถยนต์และชิ้นส่วนชิปลดลงที่เลขสองหลัก
การส่งออกไปยังจีนลดลง 8 เดือนติดต่อกัน ซึ่งเป็นแนวโน้มที่อาจยังคงอยู่เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงซบเซา เศรษฐกิจจีนเติบโตช้ากว่าที่คาดในไตรมาสที่ 2 ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ลดการคาดการณ์การเติบโตในปีนี้แล้ว
การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้แรงหนุนจากการขนส่งรถยนต์ซึ่งเพิ่มขึ้น 34% เนื่องจากข้อบกพร่องของห่วงโซ่อุปทานได้รับการแก้ไขแล้ว ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นยังส่งออกรถยนต์ไปยังยุโรปมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าความต้องการนั้นจะยั่งยืนหรือไม่ เพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรปยังมีสัญญาณชะลอตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง
Makoto Ishikawa ผู้ร่วมวิจัยอาวุโสของ ITOCHU Research Institute กล่าวว่า “อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังฟื้นตัว แต่แนวโน้มนี้ไม่นานอาจถึงจุดอิ่มตัว เมื่อถึงตอนนั้นการส่งออกของญี่ปุ่นไปยังยุโรปและสหรัฐฯ ก็จะอ่อนแอลง”
ตัวเลขที่ลดลงของการนำเข้ามาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง ราคาน้ำมันเบรนท์เฉลี่ยอยู่ที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนกรกฎาคม ลดลงจากประมาณ 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การลดลงดังกล่าวส่งสัญญาณว่า อัตราเงินเฟ้อที่ขับเคลื่อนด้วยสินค้าโภคภัณฑ์กำลังผ่อนคลายลงตามมุมมองของธนาคารกลางญี่ปุ่น
แต่การอ่อนค่าของเงินเยนสู่ระดับอ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ได้ผลักดันให้ต้นทุนสินค้านำเข้าสูงขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่ 142.32 เยนต่อดอลลาร์ โดยค่าเงินเยนอ่อนค่าลง 4.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ตัวเลขดุลการค้ายังคงขาดดุลแม้การท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวจะช่วยนำเงินเข้าประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนญี่ปุ่นทะลุ 2 ล้านคนเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันในเดือนกรกฎาคม ฟื้นตัวประมาณ 78% ก่อนเกิดโรคระบาด
แต่ภาคการท่องเที่ยวกำลังจะเผชิญผลกระทบในอนาคตข้างหน้า หลังจากสัปดาห์ที่แล้วจีนยุติการห้ามกรุ๊ปทัวร์ไปยังญี่ปุ่น สถาบันวิจัย Daiwa คาดการณ์ว่า กรุ๊ปทัวร์จีนจะเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจากประมาณ 2 แสนล้านเยนเป็นประมาณ 4.1 ล้านล้านเยน (2.82 หมื่นล้านดอลลาร์) ในปีนี้
ค่าเงินเยนที่อ่อนกำลังกระตุ้นความสนใจอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยวในการมาเยือนญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังควรช่วยเพิ่มผลกำไรของผู้ส่งออก แต่ก็สร้างแรงกดดันต่อการนำเข้าด้วย Shuji Tonouchi นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Mitsubishi UFJ Morgan Stanley เปิดเผยว่า “การอ่อนค่าของเงินเยนอย่างต่อเนื่องจะเพิ่มจำนวนเงินที่ต้องชำระในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบและส่งผลเสียต่อดุลการค้าในระยะสั้น”
อ้างอิง: