สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นรายงานว่า จำนวนกิจการในอุตสาหกรรมร้านอาหารและภัตตาคารทั่วประเทศญี่ปุ่นในปีนี้จ่อล้มละลายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากผู้ประกอบหลายแห่งไม่สามารถประคับประคองสภาพคล่องของกิจการในช่วงวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ได้
โดยแนวโน้มดังกล่าวมีขึ้นจากการสำรวจของบริษัทวิจัย Tokyo Shoko Research ซึ่งพบว่าการล้มละลายของกิจการที่มีหนี้อย่างน้อย 10 ล้านเยน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีจำนวนทั้งสิ้น 792 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 8%
ขณะเดียวกันการที่รัฐบาลท้องถิ่นกรุงโตเกียวและอีกหลายเมืองได้ออกมาตรการบังคับให้บรรดาร้านอาหารลดชั่วโมงการเปิดให้บริการลงเพื่อสกัดกั้นการระบาด ทำให้มีความเป็นไปได้เกือบแน่นอนว่าตัวเลขธุรกิจที่ล้มละลายจะมากกว่าสถิติเดิมที่ทำไว้ในปี 2011 ซึ่งอยู่ที่ 800 แห่ง
ผลการสำรวจพบว่า ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นและร้านราเมนจะมีสัดส่วนจำนวนล้มละลายมากที่สุดที่ 192 แห่ง ตามมาด้วยภัตตาคารและร้านอาหารบริการตนเอง (Cafeteria) ที่ 184 แห่ง และร้านอาหารกึ่งผับอย่าง ‘อิซากายะ’ ที่ 162 แห่ง
ขณะที่หากพิจารณาโดยยึดเมืองเป็นหลักพบว่า นครโอซาก้าจะมีร้านอารหารล้มละลายมากที่สุดที่ 146 แห่ง ตามด้วยกรุงโตเกียวที่ 129 แห่ง และจังหวัดไอจิที่ 76 แห่ง
นอกจากนี้หากนับรวมบรรดากิจการที่สมัครใจจะปิดตัวลง หรือล้มละลายด้วยหนี้ที่ต่ำกว่า 10 ล้านเยน จะทำกิจการที่ล้มละลายสูงถึงราว 2,400 แห่ง
“ถึงแม้บรรดาธุรกิจจะได้รับความช่วยเหลือด้วยนโยบายสินเชื่อไร้ดอกเบี้ย และไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน กระนั้นธุรกิจร้านอาหารเหล่านี้ก็ไม่สามารถรับมือกับต้นทุนค่าใช้จ่ายของกิจการและค่าแรงได้ หากยอดขายของร้านยังไม่อาจกระเตื้องขึ้นได้” แถลงการณ์ของ Tokyo Shoko Research ระบุ
ทั้งนี้อุตสาหกรรมร้านอาหารของญี่ปุ่นเคยได้รับความเสียหายอย่างหนักในปี 2011 หลังเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเสียหายหนักจนต้องงัดแผนรัดเข็มขัดออกมาใช้ และแม้จะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาได้ แต่เพราะค่าแรงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนร้านอาหารล้มละลายของญี่ปุ่นมีมากกว่า 700 แห่งต่อปีนับตั้งแต่ปี 2017
วิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลต่อบรรยากาศรื่นเริงในช่วงส่งท้ายปีโดยรวมของญี่ปุ่นอีกด้วย เมื่อผลการสำรวจของ Tokyo Shoko Research พบว่า 90% ของบริษัทญี่ปุ่นไม่มีแผนที่จะจัดงานเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าตอนรับปีใหม่ในปี 2020 นี้ เนื่องจากต้องการช่วยลดความเสี่ยงที่พนักงานอาจติดเชื้อโควิด-19 ได้
ทั้งนี้ Bonenkai หรือ งานเลี้ยงส่งท้ายปีเก่า และ Shinnenkai หรืองานเลี้ยงต้อนรับปีใหม่ ถือเป็นงานฉลองที่สำคัญอย่างยิ่งในวัตนธรรมองค์กรของญี่ปุ่น ส่งผลให้ช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม กลายเป็นช่วงเวลาที่คึกคักรื่นเริงที่สุดของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจออนไลน์กับบริษัท 10,059 ทั่วญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 9-16 พฤศจิกายน พบว่า 87.8% ไม่ได้วางแผนจัดงานเลี้ยงประจำปี โดยบริษัทในฮอกไกโด โอซาก้า และกรุงโตเกียว ซึ่งมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ไม่มีแผนจัดงานรื่นเริงใดๆ จำนวนมากสุด เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ เช่น อาคิตะและซางะ ที่พบการติดเชื้อสูงมาก
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: