×

นักข่าวสาว NHK เหยื่อรายล่าสุดที่สะท้อนความเสี่ยงของการทำงานหนักจนตาย

06.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • งานวิจัยพบว่า ลูกจ้างชาวเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉลี่ยแล้วพวกเขามีโควต้าวันลาเพียง 8.8 วันต่อปีเท่านั้น และน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของลูกจ้างทั้งหมดที่จะได้รับค่าจ้างในช่วงที่ทำงานล่วงเวลา ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะประสบกับปัญหาป่วยเป็นโรค Karōshi หรือ ‘สภาวะทำงานหนักมากเกินไปจนตาย’ (Overwork Death) สูงมาก
  • จากการรายงานสถิติเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายครั้งล่าสุด (2015) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า คนญี่ปุ่นตัดสินใจฆ่าตัวตายมากกว่า 20,000 คนต่อปี นับว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายของพลเมืองสูงเป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกอย่าง G7

     คุณเป็นหนึ่งคนที่กำลังทำงานหนักเกินไปหรือเปล่า?

     จนทำให้คุณอยากจะร้องเพลง ‘เสมอ’ ของปู-พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ดังๆ เพื่อบอกให้เจ้านายได้รับรู้ถึงความเหน็ดเหนื่อยที่คุณมี

     ภาระหน้าที่การทำงานที่หนักอึ้งและยาวนานกำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญที่พนักงานบริษัทส่วนใหญ่ในเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่นต้องพบเจอ จากงานวิจัยพบว่า ลูกจ้างชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉลี่ยแล้วพวกเขามีโควต้าวันลาเพียง 8.8 วันต่อปีเท่านั้นในปี 2015 และน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของลูกจ้างทั้งหมดที่จะได้รับค่าจ้างในช่วงที่ทำงานล่วงเวลา

 

 

     ความเครียดและความอ่อนล้าจากการทำงานอย่างหนักนี้เองที่ทำให้ลูกจ้างจำนวนมากต้องจบชีวิตลง ทั้งการเสียชีวิตอย่างฉับพลัน (จากการที่ร่างกายทนทำงานต่อไปไม่ไหวอีกแล้ว) หรือแม้แต่เลือกที่จะคร่าชีวิตของตัวเองเพื่อยุติปัญหาทั้งหมด ซึ่งจากการรายงานสถิติเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายครั้งล่าสุด (2015) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า คนญี่ปุ่นตัดสินใจฆ่าตัวตายมากกว่า 20,000 คนต่อปี นับว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายของพลเมืองสูงเป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกอย่าง G7 ซึ่งสะท้อนถึงภาวะปัญหาด้านสุขภาพจิตของพลเมืองที่ต้องรีบเยียวยาแก้ไขโดยด่วน

 

 

เมื่อตารางชีวิตส่วนใหญ่มีแต่งาน งาน งาน และงาน

     วัฒนธรรมการทำงานของชาวญี่ปุ่นกลายเป็นที่ถกเถียงกันอีกครั้ง หลังจากสื่อท้องถิ่นหลายสำนักนำเสนอข่าวการเสียชีวิตของนักข่าวสาว วัย 31 ปี ที่มีชื่อว่า มิวะ ซาโดะ (Miwa Sado) ซึ่งทำงานอยู่ในสำนักข่าวยักษ์ใหญ่อย่าง NHK ในกรุงโตเกียว เธอเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวฉับพลันตั้งแต่ปี 2013 เนื่องมาจากการทำงานหนักมากเกินไป ในเดือนที่เสียชีวิต เธอมีวันหยุดเพียง 2 วันเท่านั้น และยังทำงานมากกว่า 159 ชั่วโมง โดยอดีตเจ้านายเก่าของเธอเพิ่งออกมาชี้แจงรายละเอียดการตายของเธอในสัปดาห์นี้นี่เอง

     มาซาฮิโกะ ยามาอูชิ (Masahiko Yamauchi) เจ้าหน้าที่อาวุโสของสำนักข่าว NHK กล่าวว่า การเสียชีวิตของซาโดะสะท้อนว่าองค์กรมีปัญหาในเรื่องของชั่วโมงการทำงานที่ต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน เขาใช้เวลากว่า 3 ปีก่อนที่เขาจะตัดสินใจออกมาเผยเรื่องนี้ให้สาธารณชนได้รับรู้ เพื่อเป็นเกียรติแก่การจากไปของบุคลากรที่ทำงานอย่างหนักเพื่อองค์กร

     ทางด้านพ่อแม่ของนักข่าวที่เสียชีวิตเผยว่า “ถึงแม้ว่าจะผ่านไปกว่า 4 ปีแล้ว พวกเราก็ยังไม่เคยทำใจได้เลยว่าลูกสาวของเราได้จากไปแล้วจริงๆ พวกเราหวังว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับครอบครัวเราจะไม่เสียเปล่า” โดยพวกเขาหวังว่าการเสียชีวิตของซาโดะจะเป็นรายชื่อท้ายๆ ของผู้ที่เสียชีวิตจากการทำงานหนักมากเกินไปภายในสังคมการทำงานของญี่ปุ่น

 

 

     ‘ชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป’ ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของลูกจ้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังไม่นับรวมเรื่องสภาพแวดล้อมการทำงานหรือลักษณะนิสัยของเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะเจ้านายที่อาจจะโมโหร้ายและจู้จี้จนอาจจะสร้างภาวะตึงเครียดและความกดดันให้แก่พวกเขามากยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้ลูกจ้างญี่ปุ่นจำนวนมากตัดสินใจฆ่าตัวตายและอาจจะประสบกับปัญหาป่วยเป็นโรค Karōshi หรือ ‘สภาวะทำงานหนักมากเกินไปจนตาย’ (Overwork Death) ได้ในที่สุด

     รัฐบาลญี่ปุ่น นำโดยนายชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) นายกรัฐมนตรี ระบุว่าในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2016 มีลูกจ้างญี่ปุ่นตัดสินใจฆ่าตัวตายมากกว่า 2,000 คน ซึ่งล้วนมาสาเหตุมาจากการทำงานหนักมากจนเกินไป ทั้งนี้รัฐบาลจึงพยายามออกมาตรการเพื่อควบคุมและจำกัดชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสมให้แก่ผู้ประกอบการและนายจ้างทุกคน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจากสภาวะทำงานหนักมากเกินไปจนตายที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หากไม่เร่งจัดการแก้ไขโดยด่วน

 

 

     ….หากคุณเป็นอีกคนที่กำลังเข้าข่ายลักษณะอาการนี้ สิ่งที่ต้องทำอันดับต้นๆ คือการสำรวจตรวจสอบทางเลือกและหนทางเจรจาต่อรองที่คุณมี ถ้าท้ายที่สุดแล้วผลลัพธ์ที่ได้คือการทำงานที่หนักเกินไปเหมือนเดิม ไม่แน่ว่า ‘It’s time to say goodbye.’ อาจจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคุณ

 

 

Photo: TOSHIFUMI KITAMURA/AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising