×

ตั้งแต่ Sony จนถึงบริษัทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทนไม่ได้แล้ว! กลุ่มธุรกิจญี่ปุ่นเรียกร้องให้ทางการจริงจังกับ ‘กิจการอวกาศ’ ได้แล้ว ก่อนที่จะล้าหลังคนอื่น

15.07.2021
  • LOADING...
กิจการอวกาศ

ดูเหมือนว่าช่วงนี้แวดวง ‘อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศ’ เริ่มจะคึกคักขึ้นเรื่อยๆ หลังมีข่าวดีของบรรดามหาเศรษฐีฝั่งอเมริกาที่ประสบความสำเร็จด้านการบุกเบิกทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์ออกมาให้ชื่นชมอย่างไม่ขาดสาย รวมถึงมหาอำนาจโลกอย่างจีนและรัสเซียที่เพิ่งส่งยาน Chang’e 5 ลงจอดบนดวงจันทร์ไปเมื่อปีที่แล้ว

 

การเคลื่อนไหวของประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ ทำให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นไม่อยากตกโผ ทนรอท่าทีของรัฐบาลไม่ไหว จึงรวมตัวกันร่อนหนังสือเปิดผนึกถึงรัฐบาลให้เร่งเดินหน้าพิจารณา ‘อุตสาหกรรมอวกาศ’ อย่างจริงจังเสียที หากปรารถนาที่จะยืนในวงการนี้ต่อ

 

วันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมดวงจันทร์ (The Lunar Industry Vision Council) ยื่นหนังสือเรื่อง ‘วิสัยทัศน์ของอุตสาหกรรมดวงจันทร์’ ต่อ ชินจิ อิโนอุเอะ รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบกิจการนโยบายอวกาศของญี่ปุ่น โดยมี 3 ประเด็นสำคัญ คือ

 

  1. เรียกร้องให้รัฐบาลส่งเสริมกิจการอวกาศในเชิงพาณิชย์มากขึ้น
  2. ออกกฎระเบียบโดยละเอียดเรื่องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรนอกโลก
  3. เปิดกว้างให้เอกชนสามารถมีส่วนร่วมในโครงการขนาดใหญ่อย่างภารกิจบนดวงจันทร์ด้วย

 

กลุ่มที่รวมตัวกันยื่นหนังสือครั้งนี้นำโดยมหาวิทยาลัยเบอร์ต้นของประเทศ 2 แห่ง สมาชิกสภานิติบัญญัติของพรรคการเมืองหลายคน พ่วงมาอีก 30 บริษัท ที่มีตั้งเเต่ สถาบันวิจัยของ Sony ที่ผลิตหุ่นยนต์สุนัข Aibo, Dentsu เอเจนซีโฆษณาเจ้าใหญ่ของญี่ปุ่น, Obayashi บริษัทก่อสร้างชั้นนำ, Yokogawa ผู้ผลิตเครื่องมืออุตสาหกรรม หรือแม้แต่บริษัทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป Nissin ก็เอากับเขาด้วย

 

ญี่ปุ่นถือว่าเป็น 1 ใน 4 ประเทศ (สหรัฐอเมริกา, ลักเซมเบิร์ก และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ที่เพิ่งบัญญัติกฎหมายว่าด้วยเรื่องการดำเนินกิจการอวกาศเชิงพาณิชย์ ประกอบกับเมื่อเดือนที่แล้ว รัฐสภาญี่ปุ่นได้เห็นชอบอนุมัติให้ภาคเอกชนของประเทศเข้าถึงและใช้ทรัพยากรอวกาศได้อย่างถูกกฎหมาย

 

เรื่องนี้สอดคล้องกับการที่ญี่ปุ่นเป็นสมาชิกในสนธิสัญญาอาร์เทมิส (Artemis Accords) ที่ว่าด้วยแนวทางความร่วมมือระหว่างกันในแผนการสำรวจดวงจันทร์ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งอนุญาตให้ประเทศและบริษัทต่างๆ จัดตั้งเขตพิเศษบนดวงจันทร์

 

“จะมีการเปลี่ยนแปลงทางกระบวนทัศน์ โดยที่ดวงจันทร์จะถูกรวมเข้ากับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกและก่อตัวเป็นระบบนิเวศเดียวสำหรับกิจกรรมอวกาศ” สภากล่าวในรายงาน “ญี่ปุ่นล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆ ในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนดังกล่าว แต่ตอนนี้เป็นเวลาที่ญี่ปุ่นจะต้องเป็นผู้นำในการปฏิวัติอุตสาหกรรมทางดวงจันทร์ ที่จะสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่นำโดยภาคเอกชนบนดวงจันทร์”

 

อย่างไรก็ดี การบุกตลาดดวงจันทร์ในอนาคตอันใกล้นี้ไม่เพียงแต่พึ่งพาภาคอุตสาหกรรมอวกาศเองเท่านั้น ยังต้องอาศัยการกำกับดูแลรัฐบาลควบคู่กันไปด้วย เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกด้านการรวบรวมข้อมูลและการขนส่ง

 

โดยรัฐบาลนั้นมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งทำได้โดยยกเว้นภาษีกำไรส่วนต่าง (Capital Gain) ลดภาษีด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงออกมาตรการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

สิ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นต่อในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศครั้งนี้คือ การที่มีบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ลงสนามประเดิมไปก่อนแล้ว ทั้ง Virgin Galactic ของ เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน ที่เพิ่งประกาศความสำเร็จในการร่วมทดสอบขึ้นบินไปยังเส้นระดับขอบอวกาศ (Edge of Space) เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา

 

หรือ Blue Origin ของ เจฟฟ์ เบโซส์ ที่การพัฒนาจรวด New Shepard ไปได้สวย รวมไปถึง SpaceX ของ อีลอน มัสก์ ที่อยู่ในระหว่างพัฒนาจรวดให้ขึ้นไปท่องอวกาศได้อย่างปลอดภัย

 

ทำให้มีการมองว่า การพุ่งทะยานออกนอกโลกครั้งนี้ของญี่ปุ่นนั้นจะใช้ต้นทุนที่ถูกกว่าและสามารถส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรโดยมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าถึง 10 เท่า เมื่อเทียบกับการบุกเบิกในช่วงทศวรรษที่แล้ว

 

อย่างไรก็ตาม ต้นปีนี้มีข่าวเซอร์ไพรส์วงการ เมื่อ ยูซากุ มาเอซาวา มหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่นและผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มสินค้าแฟชั่นออนไลน์ Zozotown ได้รับคัดเลือกให้เดินทางไปอวกาศเชิงพาณิชย์ สำรวจดวงจันทร์ร่วมกับ SpaceX ผ่านยาน Starship พร้อมประกาศหาผู้ร่วมเดินทางอีกกว่า 8 คน ภายในปี 2023

 

เป็นไปได้ว่าข่าวนี้อาจเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้บรรดาภาคธุรกิจหันไปขบคิดพิจารณาถึงการดำเนินงานของรัฐบาลตัวเอง จึงเป็นที่มาของการร่อนหนังสือนี้ในที่สุด

 

การบุกตลาดบนดวงจันทร์นั้นนอกจากจะมีขึ้นเพื่อขยายศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของภาครัฐแล้ว ยังมีขึ้นเพื่อเป้าหมายระยะยาวที่จำเป็นต่อมวลมนุษยชาติด้วย คือ การสำรวจแร่ฮีเลียม-3 เชื้อเพลิงพลังงานสะอาดที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์แบบฟิวชันที่จำเป็นต่อโลกอนาคต ซึ่งแร่นี้พบได้ในชั้นดินและฝุ่นของดวงจันทร์ (Lunar Regolith) เท่านั้น

 

“ดวงจันทร์รวมไปถึงอาณาบริเวณรอบวงโคจรของโลกและดวงจันทร์ (Cislunar Space) จะกลายเป็นปราการแรกของระบบนิเวศอวกาศ (Space Ecosystem)” สภาอุตสาหกรรมดวงจันทร์กล่าวในหนังสือรายงาน “ญี่ปุ่นจำเป็นต้องเริ่มกิจกรรมการสำรวจดวงจันทร์โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาอุตสาหกรรมทางดวงจันทร์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย วันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กิจการอวกาศแล้ว ซึ่ง ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA กล่าวเสริมว่า กฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้ประเทศไทยมีความพร้อมและรองรับการสร้างเศรษฐกิจอวกาศ หรือ New Space Economy ที่เน้นบทบาทร่วมจากภาครัฐและภาคเอกชน

 

“หลังจากนี้ร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศจะถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาและการพิจารณาของรัฐสภา ก่อนที่จะประกาศบังคับใช้เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อพัฒนาประเทศไทยของเรา” ดร.ปกรณ์กล่าว

 

ต้องจับตาว่าหลังจากที่ พ.ร.บ. กิจการอวกาศ ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว เราจะเห็นทิศทางอะไรที่จริงจังออกมาบ้าง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising