×

ญี่ปุ่นเล็งพิจารณาเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์โรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก หวังตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ลดต้นทุน พึ่งพานำเข้า

29.05.2024
  • LOADING...

ท่ามกลางต้นทุนราคาพลังงานที่สูงลิ่วเพราะพึ่งพาการนำเข้าเกือบทั้งหมด รัฐบาลญี่ปุ่น หน่วยงานท้องถิ่น และบริษัทการไฟฟ้าโตเกียว (Tokyo Electric Power Co.) กำลังเดินเรื่องเพื่อขอฉันทมติจากประชาชนในการพิจารณาอนุญาตเปิดทางให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกกลับมาเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ 7 เครื่องเพื่อผลิตไฟฟ้าได้อีกครั้ง

 

ทั้งนี้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์คาชิวาซากิ-คาริวะ (Kashiwazaki-Kariwa Nuclear Power Plant: KK) ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่น ในภูมิภาคที่ขึ้นชื่อเรื่องหิมะตกหนักและการผลิตเหล้าสาเก ปัจจุบันโรงไฟฟ้าดังกล่าวถูกปิดใช้งาน โดยเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์สึนามิและการล่มสลายของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ ทางตะวันออกของญี่ปุ่นในปี 2011 ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องคิดใหม่เกี่ยวกับการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์

 

โรงไฟฟ้าแห่งนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นเพชรเม็ดงามในยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นในการเพิ่มพลังงานปรมาณูให้เป็น 50% ของพลังงานผสมของประเทศภายในปี 2030 แถมยังได้ใบรับรองจาก Guinness World Records ว่ามีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 8.2 กิกะวัตต์ ถือเป็นปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ที่มากที่สุดในโลก และเป็นผลผลิตซึ่งเพียงพอที่จะจ่ายไฟให้กับครัวเรือนมากกว่า 13 ล้านครัวเรือน

 

จนถึงขณะนี้การตัดสินใจปิดโรงไฟฟ้าดังกล่าวพิสูจน์ให้ญี่ปุ่นตระหนักว่าเป็นการตัดสินใจที่ราคาแพงมหาศาล เพราะญี่ปุ่นที่ขาดแคลนทรัพยากรต้องใช้เงินจำนวนมากในการนำเข้าถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติเหลว และแหล่งพลังงานอื่นๆ โดยญี่ปุ่นนำเข้าแหล่งพลังงานคิดเป็นมูลค่าที่มากกว่าการส่งออกรถยนต์ถึงประมาณ 27 ล้านล้านเยน (ราว 1.72 แสนล้านดอลลาร์) ขณะที่ในปีที่แล้วครัวเรือนและธุรกิจของญี่ปุ่นถูกกดดันให้อนุรักษ์พลังงานในช่วงที่มีความต้องการพลังงานสูงสุด และการที่ประเทศต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมากได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อคำมั่นของญี่ปุ่นในการมีส่วนจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

นอกจากเหตุผลด้านต้นทุนพลังงานที่สูงลิ่วแล้ว ความต้องการเปิดใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังเป็นผลพวงจากแนวทางสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่น ด้วยการดันให้แดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้เป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำของการผลิตชิป ดึงดูดผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก เช่น Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. พร้อมด้วยการสร้าง Data Center ซึ่งทั้งการเป็นฐานผลิตชิป หรือการสร้างศูนย์ข้อมูล ล้วนเป็นกิจกรรมที่สูบพลังงานในปริมาณมหาศาล ดังนั้นการเปิดใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่มีไม่มากนักของญี่ปุ่น

 

รายงานระบุว่า ปัจจุบันเริ่มมีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดว่าทางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ KK และ Tokyo Electric Power Co. ซึ่งเป็นผู้ดูแลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ สมควรได้รับโอกาสครั้งที่สองหรือไม่

 

ทั้งนี้ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นเท่านั้นที่เริ่มพิจารณาแนวทางการใช้โรงฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่ ซึ่งภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ทางสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (International Atomic Energy Agency: IAEA) คาดการณ์ว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจเพิ่มขึ้น 24% ภายในปี 2030 และ 140% ภายในปี 2050 ซึ่งขณะนี้มีอย่างน้อย 15 ประเทศที่กำลังสร้างเครื่องปฏิกรณ์ใหม่ โดยประเทศที่มีแนวโน้มสร้างโรงไฟฟ้ามากที่สุดคือจีน ซึ่งปัจจุบันกำลังพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 24 แห่ง

 

ด้าน BloombergNEF กล่าวในรายงานเมื่อเดือนเมษายนว่า อินเดียต้องการเพิ่มกำลังการผลิตนิวเคลียร์เป็น 3 เท่าภายในต้นทศวรรษ 2030 แม้แต่ซาอุดีอาระเบีย บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ ก็ยังเจรจากับสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการสร้างโครงการนิวเคลียร์พลเรือนของตน

 

อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าทั้งหมดที่กล่าวมายังไม่มีที่ไหนที่มีขนาดเทียบเท่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ KK โดย ราฟาเอล มาริอาโน กรอสซี ผู้อำนวยการทั่วไปของ IAEA กล่าวในการสัมภาษณ์เมื่อเดือนมีนาคมที่กรุงโตเกียว ของญี่ปุ่น โดยระบุว่า เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับญี่ปุ่นที่จะต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ KK อีกครั้ง

 

ทั้งนี้การรีสตาร์ทเครื่องเตาปฏิกรณ์ที่ไม่ได้ใช้งานมานาน และการสร้างเครื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการเมือง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถให้พลังงานที่ปราศจากคาร์บอนได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งแตกต่างจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ที่ไม่สม่ำเสมอ แต่โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่ๆ มักใช้เวลาสร้างนานกว่าทศวรรษ และก่อให้เกิดของเสียที่ยังคงเป็นอันตรายเป็นเวลาหลายพันปี

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X