จำนวนประชากรที่ลดลง ปัญหาสังคมสูงวัย และแรงงานขาดแคลน ทำให้ ‘ประเทศญี่ปุ่น’ เลือกนำ ‘หุ่นยนต์’ มาใช้ทดแทนแรงงานคน แต่ความท้าทายใหม่คือการสร้างหุ่นยนต์ให้ทำงานได้ ‘เทียบเท่ามาตรฐานของมนุษย์’ ซึ่งบทความใน The New York Times เล่าเรื่องนี้ไว้น่าสนใจ
ยกตัวอย่างงานที่ฟังดูง่ายสำหรับมนุษย์อย่างการปอกเปลือกมันฝรั่ง แต่เมื่อทำงานในลักษณะอุตสาหกรรมกลับกลายเป็นงานซ้ำซากและใช้เวลานาน ดังนั้นโรงงานแปรรูปอาหารมันฝรั่งในฮอกไกโดทางเหนือของญี่ปุ่นจึงออกแบบหุ่นยนต์ปอกเปลือกมันฝรั่งมาทดสอบ
แต่พบว่าปัญหาคือเซนเซอร์ของหุ่นยนต์ไม่ไวพอ ในขณะที่มือของมนุษย์สามารถปอกมันฝรั่งทุกทิศทาง แต่หุ่นยนต์กลับสามารถหมุนได้ทิศทางเดียวเท่านั้น ที่สำคัญยังไม่สามารถเฉือนเอาหน่อซึ่งมีพิษออกไปได้
“โดยพื้นฐานแล้วหุ่นยนต์ไม่สามารถทำงานได้ตามมาตรฐานของมนุษย์” อากิฮิโตะ ชิบายามะ ผู้จัดการโรงงานของกลุ่มยามาซากิ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองอาซาฮิกาวะ เมืองขนาดกลางในฮอกไกโด เล่าถึงโรงงานแห่งนี้ที่มีคนงาน 30 คน และต้องปอกมันฝรั่งวันละ 15 ตัน
‘หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ’ แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ที่ผ่านมามีนโยบายตั้งเป้าหมายที่จะใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต่างๆ มาช่วยแก้ปัญหาด้านประชากรศาสตร์รวมถึงการขาดแคลนแรงงาน เพราะปัจจุบันจำนวนประชากรของญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ส่วนหนึ่งเพราะจำนวนคนเสียชีวิตมากกว่าอัตราการเกิด เบื้องต้นประเมินว่าปี 2019 อัตราการเสียชีวิตจะมากกว่าอัตราการเกิดประมาณ 5.1 แสนคน ถือเป็นครั้งแรกที่มีส่วนต่างมากกว่า 5 แสนคน
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขล่าสุดระบุว่าอัตราการเกิดของเด็กญี่ปุ่นในปี 2019 มีจำนวน 8.64 แสนคน ลดลง 5.9% นับเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่รัฐบาลเริ่มรวบรวมข้อมูลในปี 1899 หรือเมื่อ 120 ปีก่อน ซึ่งอัตราการลดลงยังเร็วกว่าที่สถาบันวิจัยประชากรและประกันสังคมแห่งชาติประเมินไว้ ซึ่งลดลงต่อเนื่องจากปี 2018 ที่มีอัตราการเกิดที่ต่ำกว่า 8.7 แสนคน
การให้ความสำคัญกับ ‘หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ’ นั้นสอดคล้องไปกับพิมพ์เขียวของรัฐบาล Society 5.0 ซึ่งตั้งเป้าหมายให้ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างราบรื่นด้วยระบบซึ่งจะรวบรวมพื้นที่ในโลกไซเบอร์ (พื้นที่เสมือนจริง) และพื้นที่ทางกายภาพ (พื้นที่จริง) เข้าด้วยกันผ่านเทคโนโลยีขั้นสูงที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ เน้นย้ำมาโดยตลอด
จุดอ่อนหุ่นยนต์ ทำได้แต่งานง่าย ไม่ซับซ้อน
หลายธุรกิจในญี่ปุ่นผลักดันการใช้หุ่นยนต์ในระบบการทำงาน เช่น Uniqlo ฟาสต์แฟชั่นยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น จับมือกับสตาร์ทอัพเพื่อนร่วมชาติ Mujin ในการพัฒนาหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เพื่อสร้างหุ่นยนต์สองแขนรุ่นใหม่ที่สามารถหยิบจับเสื้อยืดเพื่อพับและบรรจุลงในกล่องก่อนส่งไปถึงมือของลูกค้า
เดิมทีงานเหล่านี้ต้องใช้แรงงานมนุษย์ แต่ปัจจุบันเริ่มถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ โดยมีรายงานว่า 90% ของแรงงานในโรงงานของกรุงโตเกียวถูกทดแทนด้วย ‘หุ่นยนต์’ ในระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ
“หุ่นยนต์สามารถทำงานง่ายๆ แต่ไม่ใช่งานที่ต้องใช้วิจารณญาณหรือความสามารถในการประเมินการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ต่างๆ” โทชิยะ โอคุมะ รองผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ระดับโลกในแผนกธุรกิจหุ่นยนต์ของ Kawasaki Heavy Industries ผู้พัฒนาหุ่นยนต์ซึ่งประกอบในโรงงานรถยนต์กล่าว
การใช้ระบบหุ่นยนต์จะช่วยให้ญี่ปุ่นลดและหลีกเลี่ยงการนำเข้าแรงงานต่างชาติได้มากขึ้น ทั้งนี้ญี่ปุ่นเป็นผู้นำการใช้ระบบหุ่นยนต์มาติดตั้งในโรงงานผลิตรถยนต์ช่วงปี 1970 แต่ส่ิงที่ญี่ปุ่นเรียนรู้ได้คือระบบหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานซับซ้อนได้นั้นมีต้นทุนและราคาสูงกว่าแรงงานมนุษย์
ขณะเดียวกันความพยายามในการใช้ระบบหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติ เช่น เทคโนโลยีรถขับเคลื่อนด้วยตัวเอง โดรน ระบบหุ่นยนต์เพื่อการบริการ ฯลฯ อาจสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมา
ตัวอย่างเช่น โรงแรมทางตอนใต้ของญี่ปุ่นปรับใช้หุ่นยนต์มาเป็นพนักงานต้อนรับ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนสุดท้ายต้องเลิกใช้หุ่นยนต์ เพราะมีกรณีร้องเรียนจากลูกค้าว่าพวกเขาไม่ได้รับการต้อนรับที่ดีเหมือนกับพนักงานที่เป็นมนุษย์
นอกจากนี้ที่เมืองโออิตะทางภาคใต้ของญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีรถเมล์ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยตนเองชนกับรถคันหนึ่งบนถนน จากกรณีนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ตระหนักว่ายานพาหนะขับเคลื่อนอัตโนมัติยังไม่พร้อมใช้กับสถานการณ์บนท้องถนน เช่น กรณีการจราจรติดขัดบนถนน หรือสัญญาณไฟแดง
เทรนด์หุ่นยนต์รุกตลาดสิงคโปร์ เกาหลีใต้ เยอรมนี
แม้ปัจจุบันภาพลักษณ์ญี่ปุ่นยังเป็นผู้นำระบบหุ่นยนต์มาหลายทศวรรษ รวมถึงเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์เชิงอุตสาหกรรมรายใหญ่ของโลก
แต่จากข้อมูลสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติระบุว่าปัจจุบันสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และเยอรมนี มีอัตราส่วนแรงงานหุ่นยนต์ต่อแรงงานมนุษย์สูงกว่าประเทศญี่ปุ่นแล้ว
โดยมุมมองทางตะวันตกมองว่าระบบหุ่นยนต์เป็นภัยคุกคาม ในขณะที่ทางญี่ปุ่นมองว่าระบบหุ่นยนต์เป็นตัวช่วยของแรงงานและเป็นมิตรมากกว่า
“ในโลกแห่งความจริง หุ่นยนต์ได้รับการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ของสังคมที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี” เจนนิเฟอร์ โรเบิร์ตสัน ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนกล่าว
การที่จำนวนแรงงานในระบบลดลงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิต การก่อสร้าง และภาคเกษตรกรรม จึงต้องผลักดันระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอื่นๆ อาทิ Hokuren บริษัทแปรรูปอาหาร ตัดสินใจทดสอบรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ผลิตโดย UD Trucks ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Volvo ในญี่ปุ่น
เจ้าหน้าที่ของ Hokuren กล่าวว่าจำเป็นต้องมีการทดสอบเพิ่มเติมเพื่อให้แน่ใจว่ายานพาหนะสามารถรับมือกับอุปสรรคบนท้องถนนที่มีหิมะ น้ำแข็ง หรือการเปลี่ยนของสัญญาณไฟจราจร
ทั้งนี้รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระยะสั้นผ่านการออกวีซ่าให้แก่แรงงานต่างชาติมากขึ้น แต่ระยะยาวยังให้ความสำคัญด้านการพัฒนาระบบหุ่นยนต์อย่างต่อเนื่อง และมุ่งหวังการใช้ระบบหุ่นยนต์เพื่อแก้ปัญหานี้ในระยะยาว
สุดท้ายแล้วต้องติดตามความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นและมุมมองของสังคมว่าจะยอมรับการใช้ ‘หุ่นยนต์’ มาทำงานในระบบ แล้ว ‘แรงงานมนุษย์’ จะไปอยู่ตรงไหน?
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: