เศรษฐกิจของแดนซามูไรซึ่งใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลกกำลังเผชิญกับการทดสอบที่สำคัญซึ่งอาจส่งผลต่อเส้นทางการเติบโตที่ ‘เปราะบาง’ โดยที่ทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่ ‘ความเชื่อมั่นผู้บริโภค’ ซึ่งเป็นตัวแปรหลัก
ขึ้นภาษีบริโภคจาก 8% เป็น 10%
1 ตุลาคม 2019 เป็นวันแรกที่ภาษีบริโภคของญี่ปุ่น หรือ Consumption Tax ซึ่งที่ประเทศไทยเรียกว่า VAT หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 8% มาเป็น 10% ก่อนจะมาถึงวันนี้การขึ้นได้ถูกเลื่อนมา 2 ครั้งแล้ว การเพิ่มขึ้นนี้ครอบคลุมถึงสินค้าและบริการส่วนใหญ่ ตั้งแต่อาหาร เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงการขนส่งและค่ารักษาพยาบาล
ความน่าสนใจคือภาษีบริโภค 10% ไม่ได้ถูกใช้สำหรับสินค้าทุกอย่าง เช่น การซื้อแบบกลับบ้านที่ร้าน Starbucks ภาษียังคงเป็นอัตรา 8% แต่หากกินที่ร้านจะถูกเก็บภาษี 10% ตัวเลขที่ไม่เหมือนกันนี้อาจนำไปสู่ความสับสนของผู้บริโภคได้
แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนภาษีจะขึ้นอย่างเป็นทางการ ชาวญี่ปุ่นต่างออกมาซื้อสินค้าไว้ก่อนจำนวนมาก Nikkei Asian Review รายงานว่า Bic Camera เชนร้านค้าปลีกอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ ระบุว่ายอดขายทีวี OLED เพิ่มขึ้น 4 เท่าในเดือนกันยายนจากปีก่อน ในขณะที่ยอดขายเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และเครื่องซักผ้าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
ไม่เพียงเท่านั้น ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในเส้นทางสัญจรหลักของกรุงโตเกียวต่างคลาคล่ำไปด้วยลูกค้าจำนวนมากตลอดทั้งคืน ผู้จัดการสถานีบริการน้ำมันกล่าวว่า “ปริมาณการใช้งานของลูกค้าเพิ่มขึ้น 30% จากวันธรรมดาและอาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”
เก็บ ‘ภาษีบริโภค’ มาช่วยอุ้ม ‘สังคมสูงวัย’ และสร้างความสมดุลให้บัญชี
ที่มาที่ไปของการเก็บภาษีบริโภคเกิดขึ้นในช่วงที่แดนซามูไรเกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ในปี 1989 แรกเริ่มมีเป้าหมายเพื่อนำเงินที่เก็บได้จากอัตรา 3% เป็นเงินทุนสำหรับการใช้สวัสดิการสังคม เนื่องจากรัฐเริ่มรับรู้ถึงประชากรในอนาคตของประเทศมากขึ้น ก่อนที่ภาษีจะเพิ่มขึ้นเป็น 5% ในปี 1997
แต่การใช้จ่ายภาครัฐยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยญี่ปุ่นยังคงต่อสู้กับภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเจอปัญหาสังคมสูงวัย ซึ่งขณะนี้จำนวนผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไปคิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรทั่วประเทศแล้ว ขณะเดียวกันอัตราการเกิดยังเป็นตัวเลขที่ต่ำต่อเนื่อง
เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายสวัสดิการสังคมของประเทศที่เกิดขึ้นอย่างล้นหลาม ขณะเดียวกันการขาดดุลทางการคลังมานานหลายทศวรรษส่งผลให้ ‘หนี้สาธารณะ’ เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
ดังนั้นการปรับขึ้นภาษีอีกครั้งจะกลายเป็นสิ่งสำคัญที่เลี่ยงไม่ได้ เพราะนอกจากจะได้เงินมารับมือสังคมสูงวัยแล้ว เงินภาษีที่เก็บได้มากขึ้นจะทำให้ตัวเลขทางบัญชีกลับสู่ภาวะสมดุลภายในปี 2025
ในปี 2012 ได้มีการพูดคุยกันระหว่างระหว่างบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งนำมาสู่การปูทางในการเพิ่มอัตราภาษีบริโภค โดยได้กำหนดให้อัตราภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 8% ในเดือนเมษายน 2014 และ 10% ในเดือนตุลาคม 2015 ก่อนจะมีการเลื่อนมา 2 ครั้ง และนำมาสู่การขึ้นอย่างเป็นทางการในวันนี้
ต้องระวัง ‘ภาวะถดถอย’ ทางเศรษฐกิจ
แม้ว่าการปรับครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลมีเงินเพิ่มขึ้น 4.6 ล้านล้านเยนเพื่อรับมือกับสังคมสูงวัยที่กำลังกัดกินเศรษฐกิจของแดนอาทิตย์อุทัย แต่มีผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่าการเพิ่มขึ้นตามแผนไม่เพียงพอ บางคนถึงกับแนะนำว่าจำเป็นต้องเพิ่มภาษีบริโภคให้เกิน 20% ตัวอย่างเช่น องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ได้แนะนำให้ญี่ปุ่นเพิ่มภาษีบริโภคเป็น 25% หรือ 26%
ด้วยเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ญี่ปุ่นมีอัตราภาษีบริโภคที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับสหภาพยุโรปที่มีการเก็บเฉลี่ย 15-20% ที่สำคัญปัจจุบันมีประชากรเพียง 40% เท่านั้นที่จ่ายเงินสำหรับภาษีเงินได้และค่าประกันสังคม เมื่อคนกลุ่มนี้เกษียณ ภาษีรายได้จะลดลงเหลือศูนย์ ในขณะเดียวกันภาษีบริโภคก็จะมีความเท่าเทียมกันมากขึ้นในการที่ประชาชนที่มีอายุมากกว่า 65 ปีจะยังคงต้องจ่ายส่วนแบ่งของตัวเอง
แต่นั่นเป็นข้อที่ต้องมีการคิดให้รอบคอบเสียก่อน เพราะการปรับขึ้นในครั้งนี้ยังมาพร้อมกับความเสี่ยงที่ต้องรับมือ เพราะการขึ้นก่อนหน้าจาก 3% เป็น 5% ในปี 1997 และขึ้นมาเป็น 8% ในปี 2014 นำมาซึ่งภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ
นักวิเคราะห์มองว่าการขึ้นภาษีทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืดในช่วงที่ความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งจะเข้ามากดดันการลงทุนซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการเติบโต อีกทั้งการปรับขึ้นภาษียังสร้างภาระให้กับครัวเรือนญี่ปุ่นเป็นมูลค่า 2 ล้านล้านเยน (18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
“เราจะใช้ความพยายามอย่างเร่งด่วนและเต็มที่ในการป้องกันความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะแกว่งตัวลง” โยชิฮิเดะ ซูกะ เลขาธิการหัวหน้าคณะรัฐมนตรีกล่าวในวันก่อนการขึ้นภาษี
มาตรการที่ว่านี้มีทั้งลดหย่อนภาษีสำหรับการซื้อบ้านและรถยนต์ การคงอัตราการเก็บภาษีสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ไปจนถึงการให้เงินคืน (Rewards Program) 5% สำหรับการใช้จ่ายเงินสดในร้านขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวน 5 แสนร้านค้า ซึ่งจะเข้าร่วมในโครงการจนถึงเดือนมิถุนายน 2020
ส่วนบรรดาร้านค้าอื่นๆ ได้ปรับตัวด้วยการลดราคาสินค้าและดึงดูดลูกค้าให้จ่ายเงินสด จึงเชื่อกันว่าผลกระทบจากการขึ้นภาษีในครั้งนี้อาจจะไม่มากเท่ากับครั้งก่อนหน้าก็เป็นไปได้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- asia.nikkei.com/Economy/Japan-raises-consumption-tax-to-10
- www.nytimes.com/aponline/2019/09/30/world/asia/ap-as-japan-economy-.html
- www.japantimes.co.jp/news/2019/09/25/business/economy-business/consumption-tax-japan-raise-beyond-10-percent#.XZLkhOf7Q_U
- www.japantimes.co.jp/news/2019/09/25/business/economy-business/consumption-tax-rate-needs-hiked-15-2025-sustain-social-welfare#.XZK7guf7Q_U
- asia.nikkei.com/Economy/Japan-crosses-new-aging-milestone-with-20-now-70-or-older