Citigroup คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่น (ไม่นับรวมราคาอาหารสด แต่ยังนับรวมราคาพลังงาน) จะพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปี ที่ระดับ 3.5% ในเดือนตุลาคม เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 3% และ 2.8% ในเดือนกันยายนและสิงหาคม สอดคล้องกับมุมมองของ SMBC Nikko Securities และ NLI Research Institute ที่คาดว่าตัวเลขจะอยู่ที่ 3.4% และ 3.5% โดยเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กดดันให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นคือมาตรการลดค่าธรรมเนียมโทรศัพท์มือถือที่จะหมดลงในเดือนตุลาคม โดยมีการประเมินว่าปัจจัยนี้จะมีผลทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นถึง 0.24% ขณะเดียวกัน ผลสำรวจของ Teikoku Databank ยังพบว่าราคาอาหารหลายชนิดจะมีการปรับเพิ่มขึ้นในเดือนดังกล่าวอีกด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ออกมาพูดถึงความจำเป็นในการติดตามผลกระทบของเงินเฟ้อที่จะมีต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคประเทศ แม้ว่า BOJ ยังยืนกรานที่จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ซึ่งส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงในรอบ 32 ปีต่อไปก็ตาม
อย่างไรก็ดี บางสำนักวิจัยยังมองว่านโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวของญี่ปุ่นที่เริ่มขึ้นในเดือนนี้อาจมีผลต่อการคำนวณเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า โดยธนาคาร Barclays คาดว่า นโยบายนี้อาจช่วยลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อลงได้ราว 0.4% และคาดว่าเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงไตรมาสสุดท้ายของญี่ปุ่นจะอยู่ที่ราว 3% เท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ญี่ปุ่นจ๋าพี่มาแล้ว! นี่คือ 5 เซอร์ไพรส์เล็กๆ จากญี่ปุ่นที่เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง
- ‘ญี่ปุ่น’ แชมป์พาสปอร์ตทรงอิทธิพลปี 2022 เที่ยวได้ 193 จุดหมายปลายทางโดยไม่ต้องขอวีซ่า
- ร้านโอมากาเสะทั่วโลกขาดแคลน ‘เชฟซูชิชาวญี่ปุ่น’ แย่งตัวกันอุตลุด ยิ่งได้ภาษาจะถูกเสนอค่าจ้างสูงถึง 2.2 ล้านบาทต่อปี
อ้างอิง: