×

มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นพร้อมสืบราชบัลลังก์ เตรียมเข้าสู่รัชสมัยใหม่อย่างเป็นทางการ 1 พ.ค. นี้

23.02.2019
  • LOADING...
Akihito

เจ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น พร้อมด้วยเจ้าหญิงมาซาโกะ พระชายา ทรงประทานสัมภาษณ์ต่อสื่อท้องถิ่นของญี่ปุ่นก่อนวันพระราชสมภพในวันนี้ (23 ก.พ.) ว่า ในช่วงเวลานี้พระองค์กำลังทรงเตรียมความพร้อมต่อการสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดา อีกทั้งยังมีพระประสงค์สานต่อสิ่งที่สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะได้ทรงกระทำไว้ตลอดรัชสมัยของพระองค์ นั่นคือการดูแลทุกข์สุขของประชาชน ใกล้ชิดประชาชน และพัฒนาประเทศ

 

ขณะที่เจ้าหญิงมาซาโกะ มกุฎราชกุมารีแห่งญี่ปุ่นจะทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระจักรพรรดินีพระองค์ใหม่เคียงข้างพระสวามี อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายแสดงความกังวลต่อการปฏิบัติพระกรณียกิจของพระองค์ เนื่องจากเจ้าหญิงทรงมีปัญหาด้านพลานามัยอยู่บ่อยครั้ง

 

พิธีสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิจะมีขึ้นในวันที่ 30 เมษายน โดยญี่ปุ่นจะเข้าสู่รัชสมัยใหม่อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ พร้อมกับการขึ้นครองราชย์ของเจ้าชายนารุฮิโตะ ในฐานะสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่แห่งแดนอาทิตย์อุทัย นับเป็นการเปลี่ยนแผ่นดินญี่ปุ่นในรอบ 30 กว่าปีนับตั้งแต่ปี 1989 โดยสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ถือเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นที่ตัดสินพระทัยสละราชสมบัติพระองค์แรกในรอบ 200 ปี

 

ราชบัลลังก์ญี่ปุ่นจะสืบสันตติวงศ์จากรัชทายาทที่เป็นเพศชายเท่านั้น หลังจากเจ้าชายนารุฮิโตะขึ้นครองราชย์ คาดว่าเจ้าชายฟุมิฮิโตะ เจ้าอากิชิโนะ พระอนุชา และเจ้าชายฮิซะฮิโตะ พระนัดดา ที่อยู่ในสายการสืบราชบัลลังก์ลำดับถัดไปจะทรงมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเจ้าชายนารุฮิโตะทรงไม่มีพระโอรส มีแต่พระธิดา

 

ทั้งการสละราชสมบัติและการสละฐานันดรศักดิ์ ทำให้จำนวนสมาชิกของราชวงศ์เก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 2,000 ปีลดน้อยลงเป็นอย่างมาก มีผู้เสนอให้แก้กฎมณเฑียรบาลอนุญาตให้รัชทายาทเพศหญิงสามารถสืบทอดตำแหน่งประมุขของประเทศได้  ซึ่งการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นได้น้อยมากในราชวงศ์ และอาจเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อรอการเปลี่ยนผ่านเท่านั้น โดยพระจักรพรรดินีที่ทรงดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศพระองค์สุดท้ายคือ จักรพรรดินีโกะ-ซะกุระมะชิ ในปี 1763

 

อีกทั้งยังมีการเสนอให้นำระบบนางสนมกลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิกของราชวงศ์ แต่ก็ยังมีเสียงทัดทานอยู่มาก เนื่องจากผู้หญิงเพียงคนเดียวอาจทำลายภาพลักษณ์และวัฒนธรรมที่ดีงามของราชวงศ์ดอกเบญจมาศนี้ลงได้

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X