ตลาดพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) กำลังส่งสัญญาณอันตรายไปทั่วโลก เมื่ออัตราผลตอบแทน (yield) พันธบัตรระยะยาว โดยเฉพาะรุ่นอายุ 40 ปี พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงเข้าใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งในวันนี้ (28 พฤษภาคม) หลังผลการประมูลล่าสุดสะท้อนอุปสงค์ที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว
สถานการณ์ดังกล่าวจุดชนวนความกังวลระลอกใหม่เกี่ยวกับการไหลออกของเงินทุนจากตลาดสหรัฐฯ และการล่มสลายของ Yen Carry Trade หรือกลยุทธ์การกู้เงินสกุลเยนที่มีดอกเบี้ยต่ำมาก ไปลงทุนต่อในสินทรัพย์สกุลเงินอื่นที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า เพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย และความปั่นป่วนที่อาจลุกลามไปทั่วตลาดการเงินโลก
อุปสงค์ต่อพันธบัตรญี่ปุ่นต่ำสุดรอบเกือบปี
ล่าสุดในการประมูลพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 40 ปีในวันนี้ (28 พฤษภาคม) ปรากฏว่า อุปสงค์อยู่ในระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ส่งผลให้ยีลด์พันธบัตรอายุ 40 ปี ดีดตัวขึ้น 0.05% แตะระดับ 3.335% หลังจากพุ่งทำสถิติสูงสุดตลอดกาลที่ 3.689% เมื่อสัปดาห์ก่อน
ตั้งแต่ต้นปี ยีลด์ของพันธบัตรญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 0.70% ส่วนยีลด์พันธบัตรอายุ 30 ปี ก็ปรับตัวขึ้นกว่า 0.60% มาอยู่ที่ 2.914%
ความปั่นป่วนในตลาดพันธบัตรญี่ปุ่น ซึ่งมีมูลค่ากว่า 7.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มก่อตัวขึ้นนับตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ประกาศ ‘วันปลดแอก’ (Liberation Day) ด้วยมาตรการกำแพงภาษีเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสำคัญหลายประการที่ส่งผลให้อุปสงค์พันธบัตรญี่ปุ่นอ่อนแอลง ได้แก่
1. ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เริ่มทยอยลดขนาดงบดุลและลดปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตรลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดลดการถือครองไปแล้ว 21 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 1.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำลังลดการซื้อลงไตรมาสละ 4 แสนล้านเยน
2. นักลงทุนสถาบันในประเทศชะลอการลงทุน โดยปกติแล้ว พันธบัตรระยะยาวพิเศษ (Super-long bonds) ที่ให้ยีลด์น่าสนใจมักถูกซื้อโดยบริษัทประกันชีวิตและนักลงทุนสถาบันอื่นๆ ของญี่ปุ่น แต่ครั้งนี้พวกเขาไม่ได้เข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่ BOJ ทิ้งไว้
3. อุปสงค์จากต่างชาติอาจไม่เพียงพอ แม้ในเดือนเมษายนจะมีเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวมากกว่า 10 ปี สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 2.29 ล้านล้านเยน ซึ่งอาจเป็นผลจากกระแส ‘Sell America’ ที่นักลงทุนเริ่มตั้งคำถามถึงสถานะสินทรัพย์ปลอดภัยของพันธบัตรสหรัฐฯ แต่ปริมาณการถือครองของนักลงทุนต่างชาติก็ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้เล่นรายใหญ่ในญี่ปุ่น
กูรูการเงินเสียงแตก เสี่ยง ‘หายนะตลาดโลก’ หรือแค่ ‘ซึมยาว’
การพุ่งขึ้นของยีลด์พันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นกำลังจุดชนวนความกังวลอย่างหนักถึงผลกระทบที่จะตามมา
นักวิเคราะห์จาก Macquarie เตือนว่า อาจถึงจุดเปลี่ยนที่นักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่อันดับสองของโลก โดยมีสินทรัพย์ต่างประเทศสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 533.05 ล้านล้านเยน หรือ 3.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2024 จะตัดสินใจดึงเงินทุนจำนวนมหาศาลกลับจากสหรัฐฯ และตลาดอื่นๆ เข้ามาลงทุนในพันธบัตรญี่ปุ่นที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น
ด้าน อัลเบิร์ต เอ็ดเวิร์ดส์ นักกลยุทธ์ระดับโลกของ Societe Generale เตือนว่า หากยีลด์ JGB ยังคงไต่ระดับสูงขึ้น อาจจุดชนวนหายนะของตลาดการเงินโลก (Global Financial Market Armageddon) โดยยีลด์ที่สูงขึ้นและเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นกว่า 8% ตั้งแต่ต้นปี จะลดความน่าสนใจในการลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนญี่ปุ่น โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ที่มีเม็ดเงินจากญี่ปุ่นไหลเข้าไปจำนวนมาก
ไมเคิล เกยด์ ผู้จัดการพอร์ตของ Tidal Financial Group มองว่า “ญี่ปุ่นดูเหมือนระเบิดเวลาที่กำลังนับถอยหลัง หากความเชื่อมั่นในสินทรัพย์ปลอดภัยดั้งเดิมอย่าง JGB พังทลาย ความเชื่อมั่นในตลาดโลกก็อาจพังตามไปด้วย”
เดวิด โรช นักกลยุทธ์ของ Quantum Strategy กล่าวว่า การไหลกลับของเงินทุนสู่ญี่ปุ่นเป็นสัญญาณของ ‘การสิ้นสุดความโดดเด่นของสหรัฐฯ’ และจะส่งผลให้สภาพคล่องทั่วโลกตึงตัวขึ้น ลดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเหลือเพียง 1% และขยายเวลาของตลาดหมีในสินทรัพย์ส่วนใหญ่ออกไป
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าผลกระทบอาจไม่รุนแรงเท่าที่กังวล แต่จะเป็นการซึมยาวมากกว่าที่จะพังทลายอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม BOJ มีกำหนดจะทบทวนแผนการเข้าซื้อพันธบัตรในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินระหว่างวันที่ 16-17 มิถุนายนนี้ โดยผู้ว่าการ คาซูโอะ อุเอดะ กล่าวว่าจะติดตามพัฒนาการของตลาดอย่างใกล้ชิด
ภาพ: Connect Images / Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2025-05-28/why-investors-are-worried-about-japan-s-bond-market?srnd=homepage-asia&sref=CVqPBMVg
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2025-05-28/japan-40-year-bond-sale-demand-is-weakest-since-july?srnd=homepage-asia&sref=CVqPBMVg
- https://www.cnbc.com/2025/05/28/japan-government-bond-yields-spark-fears-of-carry-trade-unwind.html