×

วาทะเดือด ‘เยลเลน’ ปะทะ ‘วอร์เรน’ ประเด็น BlackRock ไม่เข้าข่ายสถาบันการเงินขนาดใหญ่

25.03.2021
  • LOADING...
วาทะเดือด ‘เยลเลน’ ปะทะ ‘วอร์เรน’ ประเด็น BlackRock ไม่เข้าข่ายสถาบันการเงินขนาดใหญ่

กลายเป็นการโต้เถียงที่ดุเดือดร้อนแรง เมื่อวุฒิสมาชิก เอลิซาเบธ วอร์เรน ต้องการไขความกระจ่างต่อจุดยืนและท่าทีของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่มีต่อ BlackRock บริษัทด้านการจัดการกองทุนการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลกว่า เพราะเหตุใดบริษัทดังกล่าวจึงไม่เข้าข่าย ‘ธนาคารหรือสถาบันการเงินขนาดใหญ่’ ที่ Too Big to Fail ที่รัฐบาลสามารถใช้กฎหมาย Dodd-Frank เข้าไปควบคุมจัดการได้ ทั้งๆ ที่สินทรัพย์ในการบริหารจัดการของ BlackRock มีมูลค่าสูงถึง 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่า GDP รายปีของหลายประเทศทั่วโลก

 

โดยกฎหมาย Dodd-Frank ถือเป็นกลไกสำคัญของการควบคุมความเสี่ยงและความประพฤติของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่สามารถสร้างผลกระทบฉับพลันต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจทั่วโลกที่เคยเห็นในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008 ซึ่งผลของกฎหมาย Dodd-Frank ทำให้สหรัฐฯ ตั้งสภากำกับดูแลเสถียรภาพทางการเงิน หรือ Financial Stability Oversight Council (FSOC) ขึ้นมาเพื่อดูแลสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่มีสินทรัพย์มากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า ประเด็นข้องใจของวอร์เรนก็คือ ทำไม BlackRock ที่มีมูลค่าสินทรัพย์มากกว่าที่กำหนดถึง 180 เท่าถึงไม่เข้าข่ายเงื่อนไขดังกล่าว

 

งานนี้ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลัง ผู้รับหน้าที่ตอบระบุว่า การกำหนดประเภทของสถาบันการเงินว่าจะเข้าข่ายหรือไม่มีความสำคัญน้อยกว่าการเฝ้าจับตาและตั้งข้อสังเกตต่อพฤติกรรมหรือการกระทำของธนาคาร หรือสถาบันการเงินนั้นๆ มากกว่า ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ FSOC เข้าสอบสวนความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการแห่ถอนเงินของกองทุน Mutual Fund ในช่วงปี 2016-2017

 

อย่างไรก็ตาม คำตอบดังกล่าวไม่ได้สร้างความพอใจให้กับวอร์เรนแม้แต่น้อย และสวนกลับทันที การที่ BlackRock ไม่เข้าข่ายก็เท่ากับว่าทำให้หน่วยงานของรัฐไม่มีการตรวจสอบ BlackRock เพิ่มเติม

 

รายงานระบุว่า หลังจากจี้ถามหลายครั้ง ในที่สุดเยลเลนก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะกำหนดสถาบันการเงินที่ความผิดพลาดจะส่งผลเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้วอร์เรนวกกลับมาถามต่อว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นทำไม BlackRock จึงได้รับการยกเว้นไม่ถูกตรวจสอบ ฝ่ายเยลเลนตอบเพียงว่า FSOC เคยทำการตรวจสอบ BlackRock ในอดีตแล้ว และจะทำต่อในอนาคต

 

แน่นอนว่าวอร์เรนไม่ได้พอใจกับคำตอบที่ได้สักเท่าไรนัก แถมยังตอกกลับปิดท้ายขอให้ทางกระทรวงการคลังทำหน้าที่ด้วย โดยระบุว่า ในเมื่อสภาคองเกรสให้เครื่องมือในการเฝ้าระวังความเสี่ยงแล้ว การนำไปใช้ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X