NASA เปิดเผยภาพถ่ายล่าสุดจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ที่บันทึกภาพของบริเวณกำเนิดดาวฤกษ์ Sagittarius C ในช่วงคลื่นอินฟราเรดอย่างคมชัด พร้อมเผยให้เห็นดาวฤกษ์ที่กำลังก่อตัว เช่นเดียวกับรายละเอียดแปลกใหม่ในบริเวณใกล้เคียงใจกลางกาแล็กซี
Sagittarius C อยู่ห่างจากหลุมดำมวลยิ่งยวด Sagittarius A* ณ ใจกลางของกาแล็กซีทางช้างเผือกไปราว 300 ปีแสง ซึ่งประกอบด้วยดาวฤกษ์ที่กำลังก่อตัวขึ้นมาไม่น้อยกว่า 500,000 ดวง ในบริเวณกระจุกดาวฤกษ์สีส้มสว่างตรงกลางภาพ โดยดาวฤกษ์ในบริเวณนี้โคจรอยู่อัดแน่นใกล้กันมาก จนแสงดาวจากเบื้องหลังไม่อาจส่องสว่างทะลุมาได้
นอกจากดาวฤกษ์ที่กำลังก่อตัว อุปกรณ์ NIRCam ของกล้องเจมส์ เว็บบ์ ที่บันทึกภาพในช่วงคลื่นอินฟราเรดใกล้ ยังเผยให้เห็นกลุ่มเมฆมืดทางตนบนของรูป ซึ่งเป็นบริเวณที่จะมีดาวฤกษ์ถือกำเนิดขึ้นมาในอนาคต เช่นเดียวกับพื้นที่สีฟ้าที่เต็มไปด้วยไฮโดรเจนที่แตกตัวเป็นไอออน ซึ่งปรากฏโครงสร้างคล้ายเข็มแหลมที่กระจายตัวอยู่ทั่วทิศในพื้นที่ดังกล่าว โดยนักดาราศาสตร์ยังไม่มั่นใจแน่ชัดว่าคืออะไร
ซามูเอล โควี หัวหน้าทีมวิจัยที่ศึกษาข้อมูลดังกล่าว ระบุว่า “ไม่มีข้อมูลในช่วงคลื่นอินฟราเรดของพื้นที่ดังกล่าว ที่มีความละเอียดเทียบเท่ากับกล้องเจมส์ เว็บบ์มาก่อน นั่นคือเหตุผลที่เราได้เห็นอะไรใหม่ๆ ในภาพนี้เป็นครั้งแรก ข้อมูลจากกล้องเจมส์ เว็บบ์จะช่วยให้เราศึกษาการก่อตัวของดาวฤกษ์ในสภาพแวดล้อมที่เราไม่เคยได้รู้จักมากก่อน”
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก เป็นบริเวณที่มีสภาพแวดล้อมที่หฤโหดที่สุด ทั้งความหนาแน่น แปรปรวน และองค์ประกอบของสสารต่างๆ “นั่นจึงเป็นจุดที่ทฤษฎีการก่อตัวของดาวฤกษ์จะได้รับการทดสอบขั้นสุด” ตามความเห็นของ โจนาธาน แทน จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย หนึ่งในอาจารย์ที่ปรึกษาของงานวิจัยดังกล่าว
ด้วยระยะห่างเพียง 25,000 ปีแสงจากโลก ทำให้กล้องเจมส์ เว็บบ์สามารถศึกษาดาวฤกษ์แบบแยกเห็นรายละเอียดแต่ละดวงได้ ซึ่งอาจช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจกระบวนการก่อตัวของดาวฤกษ์ และผลกระทบที่อาจมีจากสภาพแวดล้อมของบริเวณต่างๆ ในแต่ละกาแล็กซีได้ดียิ่งขึ้น
ภาพ: NASA, ESA, CSA, STScI, Samuel Crowe (UVA)
อ้างอิง: