นักดาราศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ถ่ายภาพบริเวณแกนกลางกาแล็กซี Messier 82 หรือ M82 แสดงให้เห็นรายละเอียดของบริเวณการกำเนิดดาวฤกษ์อย่างรวดเร็วเป็นครั้งแรก
กาแล็กซี M82 ได้รับความสนใจจากนักดาราศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้จะมีขนาดเล็กเป็นครึ่งหนึ่งของกาแล็กซีทางช้างเผือก แต่กลับมีอัตราการกำเนิดดาวฤกษ์เร็วกว่าในทางช้างเผือก 10 เท่า หรือเรียกว่าเป็นดาราจักรแบบ ‘Starburst Galaxy’
อย่างไรก็ตาม กระบวนการกำเนิดดาวฤกษ์ยังคงเป็นปริศนาและอุปสรรคในการศึกษาโดยนักดาราศาสตร์บนโลก เนื่องจากบริเวณกำเนิดดาวฤกษ์มักถูกปกคลุมด้วยกลุ่มฝุ่นก๊าซอย่างหนาแน่น แต่ด้วยประสิทธิภาพของกล้องเจมส์ เว็บบ์ ที่สำรวจจักรวาลในช่วงคลื่นอินฟราเรด ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาบริเวณแกนกลางของดาราจักร M82 ด้วยรายละเอียดอย่างที่ไม่เคยถูกตรวจพบมาก่อน
แม้บริเวณแกนกลางสุดสว่างจะยังปกคลุมไปด้วยฝุ่นก๊าซสีน้ำตาล แต่อุปกรณ์ NIRCam บนกล้องเจมส์ เว็บบ์ สามารถตรวจจับบริเวณที่พบธาตุเหล็กเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นซากหลงเหลือจากการเกิดซูเปอร์โนวา เช่นเดียวกับการพบไฮโดรเจนจากการแผ่รังสีของดาวฤกษ์ใกล้เคียง รวมถึงการศึกษาลมดาราจักร ที่เป็นการเคลื่อนที่ของก๊าซต่างๆ ในกาแล็กซี ซึ่งมีอิทธิพลต่ออัตราการเกิดดาวฤกษ์อย่างรวดเร็วใน M82
นอกจากนี้ แต่ละจุดสว่างที่ปรากฏในภาพถ่ายจากกล้องเจมส์ เว็บบ์ ยังแสดงให้เห็นดาวฤกษ์แต่ละดวง รวมถึงกระจุกดาวฤกษ์ต่างๆ ซึ่ง รีเบคกา เลวี หนึ่งในทีมวิจัยการศึกษาครั้งนี้ระบุว่า “ภาพถ่ายนี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถของกล้องเจมส์ เว็บบ์ ที่ทำให้เราสามารถแยกแต่ละจุดเล็กๆ ได้ และช่วยให้ระบุจำนวนของกระจุกดาวฤกษ์ในกาแล็กซีนี้ได้อย่างแม่นยำ”
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยหวังว่าข้อมูลการสำรวจเพิ่มเติมจากกล้องเจมส์ เว็บบ์ ในอนาคต อาทิ การตรวจดูสเปกตรัมของกาแล็กซี M82 เช่นเดียวกับภาพถ่ายมุมกว้างความละเอียดสูง จะช่วยให้นักดาราศาสตร์ระบุอายุที่ชัดเจนของดาวฤกษ์แต่ละแห่งได้ เช่นเดียวกับช่วงเวลาของกระบวนการกำเนิดดาวฤกษ์ในกาแล็กซีแห่งนี้ ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจจักรวาลในยุคแรกเริ่มได้มากยิ่งขึ้น
ภาพ: NASA, ESA, CSA, STScI, Alberto Bolatto (UMD)
อ้างอิง: