กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ถ่ายภาพดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ Epsilon Indi Ab ยืนยันการพบดาวเคราะห์ที่ห่างโลกไป 12 ปีแสงเป็นครั้งแรก
เอลิซาเบธ แมทธิวส์ หัวหน้าคณะดาราศาสตร์ในการค้นพบครั้งนี้ จาก Max Planck Institute for Astronomy เปิดเผยว่า “การค้นพบครั้งนี้น่าตื่นเต้นมาก เพราะดาวเคราะห์ดวงนี้มีความคล้ายคลึงกับดาวพฤหัสบดีมาก แม้จะมีมวลมากกว่าและร้อนกว่าเล็กน้อย แต่มันคล้ายกับดาวพฤหัสบดีมากกว่าดาวเคราะห์ดวงอื่นที่เราเคยถ่ายภาพได้”
คณะนักดาราศาสตร์ใช้อุปกรณ์โคโรนากราฟของอุปกรณ์สำรวจช่วงอินฟราเรดกลาง (MIRI) บนกล้องเจมส์ เว็บบ์ เพื่อบันทึกภาพดาวเคราะห์ Epsilon Indi Ab ที่มีอุณหภูมิเพียง 2 องศาเซลเซียส และเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่เย็นสุดเท่าที่เคยถูกถ่ายภาพได้โดยตรง
ในภาพถ่ายจากกล้องเจมส์ เว็บบ์ จะเห็นดาวเคราะห์ดวงนี้ปรากฏเป็นจุดสีส้มสว่างอยู่ด้านซ้ายของภาพ ส่วนแสงจากดาวฤกษ์ Epsilon Indi A ถูกบดบังด้วยอุปกรณ์โคโรนากราฟที่มีการลงเส้นประสีขาวแสดงถึงขอบเขตการบังแสงดาว เพื่อให้อุปกรณ์ MIRI สามารถบันทึกภาพของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้
แคโรไลน์ มอร์ลีย์ นักดาราศาสตร์จาก University of Texas ระบุว่า “นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าต้องมีดาวเคราะห์อยู่ในระบบดาวนี้มานานกว่าทศวรรษแล้ว รวมถึงมีการจินตนาการถึงดาวเคราะห์ในระบบดาว Epsilon Indi ทั้งในนิยาย Star Trek หรือวิดีโอเกม Halo มันจึงน่าตื่นเต้นที่เราได้ค้นพบดาวเคราะห์อยู่ตรงนั้นจริง และมีโอกาสได้สำรวจคุณสมบัติของมันเพิ่มเติม”
การค้นพบครั้งนี้ทำให้ Epsilon Indi Ab เป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อยู่ใกล้โลกสุดเป็นอันดับ 12 โดยเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมวลมากกว่าดาวพฤหัสบดีที่อยู่ใกล้โลกสุด พร้อมทำให้ยอดรวมดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่น ซึ่งยืนยันการตรวจพบแล้วในตอนนี้ อยู่ที่ 5,690 ดวง
ภาพ: NASA, ESA, CSA, STScI, E. Matthews (Max Planck Institute for Astronomy)
อ้างอิง: