เป็นอีกครั้งที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ได้ยกระดับองค์ความรู้ของมนุษย์เกี่ยวกับจักรวาลในยุคแรกเริ่ม โดยในครั้งนี้นักดาราศาสตร์ระบุว่า ข้อมูลที่ได้จากเจมส์ เว็บบ์ เผยให้เห็นวัตถุที่คาดว่าเป็นกาแล็กซีขนาดใหญ่ 6 กาแล็กซีที่มีมวลพอๆ กับกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา โดยถือกำเนิดขึ้นประมาณ 540-770 ล้านปี หลังจากปรากฏการณ์บิ๊กแบง (เมื่อ 1.38 หมื่นล้านปีก่อน) หรือภาพที่เราเห็นนี้คือกาแล็กซีเก่าแก่ที่มีอายุราวๆ 1.3 หมื่นล้านปีเลยทีเดียว
วัตถุเหล่านี้มีอายุย้อนไปถึงสมัยที่เอกภพมีอายุเพียง 3% ของอายุปัจจุบัน และมีขนาดใหญ่กว่าที่นักดาราศาสตร์เคยตั้งสันนิษฐานเอาไว้สำหรับกาแล็กซีที่เกิดหลังบิ๊กแบงเพียงไม่กี่ร้อยล้านปี ทำให้นี่เป็นอีกครั้งที่วงการดาราศาสตร์จะต้องทำความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับการถือกำเนิดของกาแล็กซีในยุคแรกเริ่มของจักรวาล
โจเอล เลจา (Joel Leja) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Penn State ซึ่งเป็นผู้ร่วมวิจัยกล่าวว่า “วัตถุเหล่านี้ใหญ่กว่าที่ใครๆ คาดคิดไว้มาก เราคาดหวังเพียงว่าจะพบกาแล็กซีที่ขนาดเล็กอยู่ในเวลานี้ แต่เรากลับได้ค้นพบกาแล็กซีที่มีมวลพอๆ กับทางช้างเผือก”
เจมส์ เว็บบ์ ถูกปล่อยขึ้นสู่ห้วงอวกาศในปี 2021 และได้เริ่มปล่อยข้อมูลที่น่าทึ่งออกมาอยู่เป็นระยะตั้งแต่ปี 2022 ที่ผ่านมา โดยการค้นพบครั้งนี้ได้รายละเอียดมาจากข้อมูลชุดแรกที่ NASA เปิดเผยออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 โดยเจมส์ เว็บบ์ จะบันทึกภาพในย่านรังสีอินฟราเรดที่สามารถตรวจจับแสงจากดาวหรือกาแล็กซีที่เก่าแก่ได้
อย่างไรก็ตาม การค้นพบดังกล่าวยังต้องรอการตรวจสอบและยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าภาพที่เห็นเหล่านี้คือกาแล็กซีจริงๆ ไม่ใช่มาจากแหล่งกำเนิดแสงอื่นๆ เช่น หลุมดำที่มีมวลมหาศาล แต่ถึงเช่นนั้น เลจากล่าวว่า นี่เป็นการค้นพบที่น่าสนใจมาก เพราะพวกมันมีมวลมหาศาลเทียบเท่ากับ 1 หมื่นล้านถึง 1 แสนล้านเท่าของดวงอาทิตย์ ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ใกล้เคียงกับมวลของทางช้างเผือก
ภาพ: NASA / Reuters
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2023/02/22/world/webb-telescope-massive-early-galaxies-scn/index.html
- https://www.reuters.com/lifestyle/science/galaxies-spotted-by-webb-telescope-rewrite-understanding-early-universe-2023-02-22/
- https://www.theguardian.com/science/2023/feb/22/universe-breakers-james-webb-telescope-detects-six-ancient-galaxies