×

‘สัตว์ประหลาดสีเขียว’ ภาพชวนพิศวงจากกล้องเจมส์ เว็บบ์ ในห้วงอวกาศ

โดย Mr.Vop
14.04.2023
  • LOADING...
เจมส์ เว็บบ์

เมื่อราว 340 ปีที่แล้ว ช่วงที่บ้านเมืองสมัยอยุธยากำลังวุ่นวาย ปลายยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เข้าสู่ต้นยุคสมเด็จพระเพทราชา บนท้องฟ้ายามค่ำคืนยามนั้นมีจุดแสงสว่างปรากฏขึ้นใหม่ใกล้กลุ่มดาวค้างคาวบนท้องฟ้าทางทิศเหนือ แสงสว่างนั้นมาจากการระเบิดของดาวฤกษ์ที่มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์หลายเท่า เราเรียกว่าปรากฏการณ์นั้นว่ามหานวดารา (ซูเปอร์โนวา) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปตลอดอายุขัยอันยาวนานของจักรวาล แต่มหานวดาราที่เกิดขึ้นในสมัยอยุธยาที่ว่านี้ ถือเป็นครั้งที่ใกล้ยุคสมัยของเราในปัจจุบันมากที่สุด

 

กลุ่มก๊าซและฝุ่นผงที่หลงเหลือจากการระเบิดของดาวฤกษ์ในปรากฏการณ์มหานวดาราจะคงอยู่ไปอีกยาวนานนับพันล้านปี นักดาราศาสตร์เรียกสิ่งที่หลงเหลือนี้ว่า SNR หรือ Supernova Remnant มีลักษณะเป็นกลุ่มฝุ่นหลากสีเหมือนเนบิวลา

 

เจมส์ เว็บบ์

 

SNR ของกลุ่มดาวค้างคาว หรือที่รู้จักกันเป็นสากลว่า กลุ่มดาวแคสซิโอเปีย มีชื่อที่ตั้งขึ้นมาเรียกโดยเฉพาะว่า ‘แคสซิโอเปีย เอ’ หรือ ‘แคส เอ’ อยู่ห่างจากโลกของเราออกไปประมาณ 11,000 ปีแสงในบริเวณแขนเพอร์ซิอุสของดาราจักรทางช้างเผือก ถือเป็นหนึ่งในวัตถุท้องฟ้าที่สวยงามน่าสนใจ และเป็นหนึ่งในเป้าหมายถ่ายภาพของหอดูดาวทั่วโลก (ขวาสุดในแผนที่ดาวด้านบน)

 

แต่กล้องโทรทรรศน์ในหอดูดาวใดๆ ก็ไม่อาจเทียบประสิทธิภาพของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ อันทรงพลัง ที่ล่าสุดทีมนักดาราศาสตร์ได้ทดลองหันกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ไปยังทิศทางของแคส เอ เพื่อทดสอบศักยภาพการตรวจวัดรังสีอินฟราเรดของกล้องฯ ว่าจะสามารถจับภาพที่กล้องโทรทรรศน์อื่นมองไม่เห็นได้ไหม 

 

และแล้วก็ได้ภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจขึ้นมา นั่นคือภาพที่ทีมงานตั้งชื่อเล่นไว้ว่า ‘สัตว์ประหลาดสีเขียว’ ซึ่งเป็นภาพที่เต็มไปด้วยรายละเอียดมากมายของกลุ่มฝุ่นและก๊าซที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นแคสซิโอเปีย เอ

 

“ภาพที่ได้จากเจมส์ เว็บบ์ ทำให้เราได้เห็นรายละเอียดอันน่าทึ่งที่เราไม่เคยเข้าถึงมาก่อน” เทีย เทมิม นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ระบุในแถลงการณ์ของทีมงานถึงผลงานในครั้งนี้

 

“แสงอินฟราเรดเป็นแสงที่ตาคนเรามองไม่เห็น เราจึงต้อง ‘ย้อมสี’ ภาพที่ได้จากเจมส์ เว็บบ์ เพื่อให้เรามองเห็นมันขึ้นมาได้” ทีมงานอธิบาย “ในภาพเราจะพบแสงสีแดงและส้มบริเวณรอบนอก มันคือกลุ่มฝุ่นอุณหภูมิอุ่นที่หลุดออกมาก่อนการระเบิดของดาวฤกษ์โบราณดวงนั้น ภายในเราจะเห็นแสงสีชมพู รวมทั้งเส้นสายที่กระจุกตัวและพันกันเป็นลักษณะเงื่อนภายในโครงสร้างคล้ายฟองสบู่ นอกจากนี้เรายังพบธาตุเรืองแสงอย่างอาร์กอน นีออน และออกซิเจน และที่เราสนใจที่สุดคือ เส้นสายสีเขียวจางๆ ที่พันเป็นวง

 

“มันเหมือนการชันสูตรดวงดาวที่ตายแล้ว เพื่อตรวจสอบว่าก่อนหน้านี้ดาวฤกษ์เคยมีลักษณะอย่างไรและระเบิดได้อย่างไร” แดนนี มิลลิซาฟเลวิก ผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเพอร์ดู และ ผอ.ฝ่ายตรวจสอบของโครงการกล้องโทรทรรศน์เจมส์ เว็บบ์ ผู้เป็นหัวหน้าทีมงานที่อยู่เบื้องหลังการบันทึกภาพล่าสุดนี้ กล่าวเสริมในแถลงการณ์

 

“ชื่อสัตว์ประหลาดเขียวที่ทีมเราตั้งขึ้นมานั้นเราเอามาจากตัวมาสคอตของสวนสาธารณะเฟนเวย์ในบอสตัน” ผศ.มิลลิซาฟเลวิก เฉลย 

 

“แต่สิ่งที่เราได้มานั้นถือเป็นสิ่งที่ท้าทายมากในการทำความเข้าใจ เนื่องจากรายละเอียดของสิ่งต่างๆ ในภาพมันซับซ้อนมาก

 

“การเกิดมหานวดารานั้นสำคัญต่อชีวิตเรา แรงระเบิดจะกระจายธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียมหรือธาตุเหล็ก ไปทั่วอวกาศระหว่างดวงดาว เพื่อให้กำเนิดแก่ดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ดวงใหม่ ธาตุเหล่านี้เป็นส่วนประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย รวมทั้งมนุษย์ด้วย

 

“หากเข้าใจกระบวนการระเบิดของดาวฤกษ์ เราจะเข้าใจต้นกำเนิดของตัวเราเอง… ผมตั้งใจจะใช้ชีวิตการทำงานที่เหลืออยู่ เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่อยู่ในข้อมูลเหล่านี้” ผศ.มิลลิซาฟเลวิก ทิ้งท้าย

 

ภาพ: NASA / ESA / CSA / D. Milisavljevic (Purdue) / T. Temim (Princeton) / I. De Looze (Ghent University) / J. DePasquale (STScI) และ https://www.go-astronomy.com/constellations.php?Name=Cassiopeia

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising