×

‘ข้อมูลมีค่าเหมือนน้ำมัน’ แจ็ค หม่า ปรับกลยุทธ์ขับเคลื่อน Alibaba ด้วย Big data

18.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ทิศทางใหม่ของ Alibaba ในวาระครบรอบ 18 ปี มุ่งไปที่การปรับโมเดลธุรกิจใหม่ ให้สอดคล้องกับการเป็นบริษัทระดับโลก ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล สร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันจากประสบการณ์ในตลาดโลก และลุยตลาดออฟไลน์
  • 9 ปีที่แล้ว Alibaba ตัดสินใจเบนเข็มจากอีคอมเมิร์ซมาเป็นบริษัทข้อมูล ลงทุนพัฒนาบริการคลาวด์คอมพิวเตอร์จนกลายเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ในจีน เพราะมองว่าในอนาคตข้อมูลจะมีมูลค่ามหาศาลเช่นเดียวกับน้ำมัน
  • เป้าหมายของ Alibaba ไม่ใช่การขยายกิจการอีคอมเมิร์ซไปทั่วโลก แต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของอีคอมเมิร์ซ ซึ่งรวมไปถึงบริการชำระเงินและโลจิสติกส์

     สัปดาห์ที่แล้ว งานฉลองครบรอบ 18 ปีของบริษัทยักษ์ใหญ่ Alibaba เรียกเสียงฮือฮาจากชาวเน็ตทั่วโลกด้วยคลิป แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารเต้นท่า ไมเคิล แจ็คสัน แต่ไฮไลต์ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ การประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ของ Alibaba

     บนเวที แจ็ค หม่า ได้กล่าวกับพนักงานบริษัทกว่า 40,000 คนที่เข้าร่วมงานว่า บริษัทที่ก่อตั้งขึ้นในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ ในปี 1999 เติบโตมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าในตลาดหุ้นสูงสุดเป็นอันดับที่ 6 ของโลกในวันนี้ ขณะเดียวกันสิ่งต่างๆ รอบข้างก็เปลี่ยนไปเช่นกัน

     ดังนั้น Alibaba จะเดินเหมือนเดิมไม่ได้

     “ธุรกิจต้องขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า”

     เขาชี้ว่าปัจจุบัน Alibaba มีขนาดใหญ่เท่าเศรษฐกิจของประเทศในศตวรรษที่ 21 แต่เขาตั้งเป้าไว้ไกลกว่านั้น คือเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับที่ 5 ของโลกในอีก 20 ปีข้างหน้า

     และขุมพลังของ Alibaba ก็คือ ‘เทคโนโลยี’ และ ‘ทักษะความสามารถ’ ของพนักงานบริษัท

“เราเป็นบริษัทข้อมูล”

Photo: STR/AFP

 

18 ปีของการขับเคลื่อนด้วยความฝัน

     “18 ปีก่อน เรามองเห็นโอกาส ตอนนี้เราเห็นความท้าทาย ทั้งศาสนา การเมือง ความขัดแย้ง โรคภัยไข้เจ็บ และความเหลื่อมล้ำ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีจะทำให้คนจำนวนมากตกงาน แต่เรามีความสามารถทางเทคโนโลยี และพื้นฐานด้านนี้แข็งแรง

     “เราจะเผชิญกับความท้าทายในอนาคตด้วยเทคโนโลยีที่มีและพนักงานมากความสามารถกว่า 54,000 คน

     “ตลอด 18 ปีที่ผ่านมา เราทำได้ดีเพราะเราเป็นพวก Idealist และความฝันก็พาเรามายืนตรงจุดนี้ได้สำเร็จ

     “ถ้าเราไม่มีความฝัน ไม่มีความมุ่งมั่น เราจะกลายเป็นคนทื่อ เราจะสูญเสียอะไรไปก็ได้ แต่อย่าละทิ้งความฝัน”

     แจ็ค หม่า ชี้ว่าลูกค้า พาร์ตเนอร์ และพนักงาน คือกุญแจสู่ความสำเร็จของ Alibaba และลูกค้าต้องมาเป็นอันดับแรกเสมอ เขายังกำชับกับพนักงานทุกคนว่าอย่าทะนงตนหรือนิ่งเฉยกับความสำเร็จ แต่จงพัฒนาตัวเองตลอดเวลา

     แต่บริษัทที่มีอายุ 18 ปีจะขับเคลื่อนด้วยความฝันอย่างเดียวไม่ได้ แจ็ค หม่า กล่าวถึงทิศทางใหม่ที่บริษัทจะต้องไป ในการสัมภาษณ์กับสำนักข่าว Bloomberg ว่าการเริ่มต้นธุรกิจโดยไม่ต้องมีสินทรัพย์มากมาย (asset-light) นั้นเป็นเรื่องดี แต่เมื่อบริษัทโต ก็ต้องรู้จักลงทุน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน แต่ต้องมีความสมดุล ไม่มากไม่น้อยเกินไป

     เมื่อโลกเปลี่ยนก็ต้องปรับ ฉะนั้น Alibaba จะคิดแบบเดิมไม่ได้

ข้อมูลเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งสำหรับมนุษย์ในการพัฒนาสังคม สุดท้ายแล้วมันจะมีมูลค่าเหมือนกับน้ำมัน

Photo: alizila

 

ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล

     หลายคนอาจจดจำ Alibaba ในฐานะธุรกิจอีคอมเมิร์ซยักษ์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดรายหนึ่ง แต่แจ็ค หม่า ไม่คิดเช่นนั้น เพราะคนในบริษัทไม่ได้มองว่า Alibaba เป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซมา 9 ปีแล้ว

     “เราเป็นบริษัทข้อมูล”

     Alibaba เริ่มเข้าสู่วงการคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ตั้งแต่ปี 2009 หลังจาก Amazon เปิดตัวบริการระบบคลาวด์ได้ 3 ปี ปัจจุบันเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุดในจีน แต่เมื่อเทียบกับบริษัทระดับโลก บริการคลาวด์ของ Alibaba ยังคงตามหลัง AWS ของ Amazon, Microsoft, Google และ IBM อยู่

     “เรายังไม่รู้ว่าจะสร้างรายได้จากข้อมูลได้อย่างไร แต่ข้อมูลเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งสำหรับมนุษย์ในการพัฒนาสังคม สุดท้ายแล้วมันจะมีมูลค่าเหมือนกับน้ำมัน ดังนั้นเราต้องหาวิธีให้ได้”

 

Photo: alizila

 

     โจเซฟ ไฉ่ หรือ โจ ไฉ่ รองประธานบริษัทเป็นคนที่น่าจับตาในเรื่องนี้ เขาได้เข้าร่วมการประชุม Singapore Summit เมื่อวันท่ี 17 กันยายนที่ผ่านมา เขากล่าวว่ายุคนี้ธุรกิจต้องเปิดรับ AI และ Alibaba ก็กำลังลงทุนด้าน AI ในภาคเกษตรกรรม โดยจับมือกับ GCL บริษัทโซลาร์เซลล์เพื่อเก็บข้อมูลและใช้ AI พัฒนาระบบการผลิต

     “ทุกอย่างมันเป็นเรื่องของข้อมูล การเก็บข้อมูลเพื่อที่จะควบคุมและบริหารจัดการข้อมูลในอุตสาหกรรมการผลิต” ไฉ่ กล่าว

     ด้าน J.P.Morgan คาดการณ์ว่าธุรกิจคลาวด์จะสร้างรายได้ให้กับ Alibaba คิดเป็น 15% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2021

สิ่งที่ Alibaba ทำคือการกระจาย ‘โครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ’ ของบริษัท ไม่ใช่ขยายตลาด

 

สร้างข้อได้เปรียบจากการลงสนามแข่งระดับโลก

     เขายังกล่าวเปรียบเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่างบริษัท Tencent ยักษ์ใหญ่ไอทีที่ลุยตลาดบริการชำระเงิน ระบบคลาวด์ และบริการทางการเงินว่า ทั้ง Alibaba และ Tencent ต่างก็มีเป้าหมายร่วมกันคือ ก้าวออกจากตลาดจีน แต่มีสิ่งที่ Tencent ไม่มี นั่นคือ ประสบการณ์ของบริษัทระดับโลก ขณะที่ Alibaba นั้นขับเคี่ยวกับ Amazon มานานและกำลังรุกคืบธุรกิจอีคอมเมิร์ซเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

     “ผมคิดว่า โพนี หม่า (Pony Ma) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแห่ง Tencent ไม่มีประสบการณ์ทำธุรกิจในตลาดโลกเหมือนเรา มันเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา ส่วน Amazon ผมคิดว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซเพิ่งเริ่มเมื่อ 20-25 ปีก่อน ดังนั้น ยังไม่มีใครเป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงการทำธุรกิจในประเทศอื่น เราต่างก็เป็นมือใหม่ด้วยกันทั้งนั้น คุณควรจะกังวลเรื่องการเจาะตลาดท้องถิ่น” เขากล่าว

     แล้วกลุยทธ์สำคัญของการบุกตลาดโลกคืออะไร?

     หม่าชี้ว่าสิ่งที่ Alibaba ทำคือการกระจาย ‘โครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ’ ของบริษัท ไม่ใช่ขยายตลาด

     “เราพยายามสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับบริการจ่ายเงินออนไลน์ โลจิสติกส์ และระบบคลาวด์”

     ที่ผ่านมา Alipay บริการชำระเงินของบริษัท Ant Financial ในเครือ Alibaba Group ประสบความสำเร็จในการขยายตลาดสู่ต่างประเทศอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือประเทศไทย ที่พบเห็นป้าย Alipay ได้ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้า ยันร้านสะดวกซื้อ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีน

     เว็บไซต์ Business Wire ระบุว่าปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ Alipay กว่า 450 คนล้านจากทั่วโลก ไม่เพียงเท่านั้น Ant Financial ยังไล่ซื้อ ควบรวมกิจการ และจับมือผู้ให้บริการชำระเงินรายใหญ่ในต่างประเทศ เช่น ซื้อ helloPay บริการชำระเงินของ Lazada ช้อปปิ้งออนไลน์ มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ Alipay เป็นแบรนด์ระดับโลก เช่นเดียวกับ Visa, Paypal หรือ Apple Pay ด้วยซ้ำ และร่วมมือกับ First Data ขยายตลาดของ Alipay ในสหรัฐอเมริกาและอเมริกาเหนือ

     ความสำเร็จของ Alipay ทำให้ธนาคารยักษ์ใหญ่ในจีนและรัฐบาลที่ถือหุ้นในธนาคารไม่พอใจ แต่ผู้ก่อตั้ง Alibaba ประกาศชัดว่าเขาไม่สนใจเข้าซื้อธนาคารแม้แต่น้อย

     “เราพยายามจะปฏิรูปการทำธุรกิจในรูปแบบรัฐวิสาหกิจ ธนาคารส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยชอบเรา แต่เราไม่ได้สนใจซื้อธนาคารเพื่อที่จะเปลี่ยนระบบเลย แต่เพราะเราไล่ต้อนพวกเขาต่างหาก พวกเขาจึงต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง

     “เวลาที่พยัคฆ์ไล่ตามคุณ คุณจะวิ่งได้เร็วกว่าที่คิด”

 

บุกตลาดออฟไลน์
     เห็นได้ชัดว่าทั้ง Amazon และ Alibaba กำลังพุ่งเป้ามาที่ ‘ออฟไลน์’ สวนกระแสค้าปลีกเชนใหญ่ที่ขาดทุนและปิดตัวไปในหลายประเทศ โดย Amazon ชิงเปิดดีลซื้อกิจการ Whole Foods และมีข่าวว่าจะนำคอนเซปต์ร้านค้าอัจฉริยะ Amazon Go มาใช้ Whole Foods อีกด้วย ฝ่าย Alibaba เองก็มีแผนบุกตลาดออฟไลน์เช่นกัน

     Alibaba แอบซุ่มพัฒนาคอนเซปต์ร้านค้าอัจฉริยะมากว่า 2 ปีแล้ว ซึ่งก็คือซูเปอร์มาร์เก็ต Hema ที่มี 13 สาขาในเมืองจีน และเพิ่งเปิดตัวกับสื่ออย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคม จุดเด่นคือเน้นขายอาหารสดและอาหารทะเลที่ลูกค้าสามารถนั่งรับประทานได้เลย และมีเคาน์เตอร์ที่รับชำระเงินผ่านแอปฯ Hema ที่ผูกกับ Alipay เท่านั้น โดยไม่ต้องใช้เงินสด นอกจากนี้ยังมีบริการเดลิเวอรีสำหรับลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ภายใน 30 นาที ซึ่ง แจ็ค หม่า มั่นใจว่านี่คือโฉมใหม่ของธุรกิจค้าปลีก ขณะที่ โจ ไฉ่ เผยว่า Alibaba จะนำโมเดลนี้ไปใช้กับห้างสรรพสินค้าอื่นๆ

     “เราไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของห้างเหล่านี้เลย เราซื้อ Intime Department Store (ห้างสรรพสินค้าใหญ่ในจีน) เพื่อเป็นตัวอย่างหรือต้นแบบการทดลองพัฒนาว่าห้างที่เชื่อมโยงออฟไลน์กับออนไลน์เข้าด้วยกันจะเป็นอย่างไร แต่ผมไม่คิดว่าการลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์มากมายจะคุ้มทุน ผมคิดว่าเราจะหาทางร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจมากกว่า”

     และทั้งหมดนี้คืออนาคตที่ Alibaba กำลังจะก้าวไป

 

Cover Photo: MAHAN VATSYAYANA/AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X