หลังจากเกิดกรณีที่รองประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายประมง โดยระบุว่า กฎหมายดังกล่าวทำให้ขั้นตอนการแจ้งสินค้าสัตว์น้ำเข้า-ออก ค่อนข้างยุ่งยาก อีกทั้งยังมีการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำจากประเทศเพื่อนบ้านที่ยังติดใบเหลือง-ใบแดง จากปัญหาการทำประมงตามกฎ IUU ทำให้เกิดการแย่งส่วนแบ่งการตลาดภายในประเทศ
ล่าสุด (12 มิ.ย.) อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ออกมาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า การออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และแก้ไข ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการปฏิรูปการประมงเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคการประมงของไทย โดยทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องต้องมีความโปร่งใสและเป็นธรรม สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดสายการผลิต ซึ่งในบางเรื่องเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น การที่ชาวประมงและผู้ประกอบการต้องมีการจัดทำเอกสาร เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้า ตั้งแต่จับสัตว์น้ำจนถึงส่งออก เพื่อให้ผู้ซื้อปลายทางมั่นใจได้ว่าสินค้าเหล่านั้นมีแหล่งที่มาที่ถูกต้อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคปลายทาง ว่าสินค้าสัตว์น้ำนั้นไม่มาจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย หรือเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ภายใต้นโยบายที่มุ่งไปสู่ความยั่งยืน
นอกจากนี้ กรมประมงยังได้มีการติดตามสถานการณ์การนำเข้ามาโดยตลอด ซึ่งพบว่าปริมาณสินค้าสัตว์น้ำเพื่อการบริโภคในประเทศที่ได้จากการทำการประมงทะเลจากประเทศเพื่อนบ้านที่ยังติดปัญหา IUU อยู่นั้น จากข้อมูลการนำเข้าของด่านตรวจสัตว์น้ำกรมประมง พบว่ามีปริมาณการนำเข้าเพียง 9,000 ตัน/ปี เมื่อเปรียบเทียบกับผลผลิตภายในประเทศ ถือได้ว่าเป็นปริมาณที่น้อยมาก เพียงร้อยละ 0.6 พร้อมยืนยันว่า กรมประมงยังคงเข้มงวดในการควบคุมการนำเข้า เช่นเดียวกับมาตรการที่ไทยใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำในประเทศเหมือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ทางกรมประมงยังกำหนดมาตรการด้านสุขอนามัย โดยดำเนินการเฝ้าระวังสุ่มตรวจตัวอย่างสัตว์น้ำที่นำเข้า ณ ด่านตรวจสัตว์น้ำ เพื่อตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง พร้อมติดตาม เฝ้าระวัง สถานการณ์ดังกล่าว เพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: