9 ใน 10 ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของ Financial Times ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ‘อิตาลี’ คือประเทศในกลุ่มยูโรโซนที่มีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะเกิดวิกฤตหนี้ จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และซื้อพันธบัตรลดลงของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
Marco Valli หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร UniCredit กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลอิตาลีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Giorgia Meloni กำลังพยายามจะเพิ่มวินัยทางการคลังด้วยการตั้งงบขาดดุลลดลงจาก 5.6% ของ GDP ในปี 2022 เป็น 4.5% ในปีนี้ และจะลดเหลือ 3% ในปีถัดไป แต่หนี้สาธารณะของอิตาลีที่มีสัดส่วนสูงถึง 145% ของ GDP ก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการแก้ไขเชิงโครงสร้าง ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ซับซ้อนก็ทำให้เศรษฐกิจอิตาลีมีความเปราะบางต่อแรงเทขายในตลาดพันธบัตร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ภาวะ เศรษฐกิจถดถอย อาจอยู่ใกล้กว่าที่คิด เปิดกลยุทธ์รับมือเน้น Predict-Prepare-Perform
- ‘ไบเดน’ ปัดเศรษฐกิจโลกตกต่ำไม่ได้มาจากดอลลาร์แข็ง แต่มาจากนโยบายที่ผิดพลาดของประเทศอื่น
- ภาระ ‘ผ่อนบ้าน’ อาจเป็นพายุลูกใหม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก เมื่อดอกเบี้ยบ้านแพงสุดรอบ 15 ปี
นับตั้งแต่ที่ ECB เริ่มต้นขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจากระดับติดลบ 0.5% เมื่อ 6 เดือนก่อน จนมาอยู่ที่ 2% ในปัจจุบัน ต้นทุนการกู้ยืมของอิตาลีได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยล่าสุดผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของอิตาลีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.6% สูงขึ้นเกือบ 4 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่าผลตอบแทนพันธบัตรประเภทเดียวกันของเยอรมนีถึง 2.1%
Veronika Roharova หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร Credit Suisse กล่าวว่า รัฐบาลอิตาลียังไม่ได้ทำอะไรที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนมากนักในขณะนี้ แต่ความกังวลก็พร้อมที่จะปรากฏขึ้นเมื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นและการออกตราสารหนี้จะเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
เมื่อไม่นานมานี้คณะกรรมการนโยบายการเงินของ ECB ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าพวกเขาจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อในช่วงต้นปีนี้ โดย Klaas Knot หนึ่งในคณะกรรมการที่ถือเป็นสายเหยี่ยว ระบุว่า ครึ่งหลังของวงจรการขึ้นดอกเบี้ยของ ECB เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์จากหลายสำนักเชื่อว่า ECB ประเมินความเสี่ยงของเงินเฟ้อสูงเกินไป ในขณะเดียวกันก็ประเมินความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่ำเกินไป
ล่าสุด Kristalina Georgieva ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ออกมาเตือนว่า ครึ่งหนึ่งของประเทศในกลุ่ม EU จะต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ ขณะที่ 4 ใน 5 ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของ Financial Times คาดการณ์ว่า ECB จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยภายในครึ่งแรกของปีนี้ และ 2 ใน 3 ของนักเศรษฐศาสตร์มองว่า ECB จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยลงในปีหน้า เพื่อตอบสนองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแรงลง โดยเฉลี่ยแล้วนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของ ECB จะอยู่ที่ไม่เกิน 3%
ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นของ Financial Times อีกชิ้นหนึ่งที่สำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์แนวหน้าในสหราชอาณาจักรมากกว่า 100 คน ระบุว่า อังกฤษจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เลวร้ายที่สุด และจะมีการฟื้นตัวที่อ่อนแอที่สุดในกลุ่มประเทศ G7 ในปีนี้
อ้างอิง: