×

เลือกตั้งอิตาลี 2018: อนาคตสหภาพยุโรปกับปัญหาผู้ลี้ภัย ในวันที่มาถึงทางแยกอีกครั้ง

01.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ปัญหาผู้อพยพและอนาคตของสหภาพยุโรป กลายเป็นสองประเด็นสำคัญในเกมการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยผลโพลล่าสุดเผยว่า มีชาวอิตาลีกว่า 1 ใน 3 ยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองที่ตนจะเทคะแนนเสียงให้ในวันที่ 4 มีนาคมนี้ ซึ่งอาจทำให้มีโอกาสพลิกล็อกเกิดขึ้น
  • ผลโพลส่วนใหญ่ต่างสนับสนุนให้พรรค Five Star Movement ที่ต้องการลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป กำลังได้รับคะแนนนิยมมากที่สุดในขณะนี้ อันเป็นผลพวงมาจากมาตรการรัดเข็ดขัดและแนวทางเรื่องการจัดการปัญหาผู้อพยพของอียู ซึ่งหากพรรคการเมืองนี้ได้รับชัยชนะและจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ อนาคตของสหภาพยุโรปก็จะถูกสั่นคลอนอีกครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  • ผลการสำรวจล่าสุด Jacques Delors Institute พบว่า มีชาวอิตาลีเพียง 36% เท่านั้น ที่มองว่าอิตาลีได้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกอียู

หลังจากที่นายเซอร์จิโอ มัตตาเรลลา (Sergio Mattarella) ประธานาธิบดีของอิตาลีตัดสินใจประกาศยุบสภา เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และกำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคมที่จะถึงนี้เป็นวันเลือกตั้งครั้งสำคัญของอิตาลี ซึ่งผลการเลือกผู้นำฝ่ายบริหารคนใหม่ในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อคนอิตาลีภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังจะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับประชาคมโลกไม่น้อย โดยเฉพาะอนาคตของสหภาพยุโรป

 

 

ปัจจุบัน อิตาลีถือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของทวีปยุโรปและรั้งอันดับที่ 3 ประเทศที่มีเขตเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเขตเศรษฐกิจยูโรโซน รองจากเยอรมนีและฝรั่งเศส โดยรัฐสภาของอิตาลีประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (630 ที่นั่ง) และสมาชิกวุฒิสภา (315 ที่นั่ง) ซึ่งมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร

 

ใครเป็นใครในการเลือกตั้งอิตาลี 2018

เกมการเมืองของอิตาลีก่อนการเลือกตั้งเป็นการแข่งขันกันระหว่างผู้เล่น 3 ฝ่ายหลัก ได้แก่

 

Matteo Renzi

 

  • กลุ่ม Centre-Left ที่เกิดจากการรวมกลุ่ม ภายใต้การนำของพรรคอดีตรัฐบาลเดิมอย่าง พรรค Democratic Party (PD) ที่มีหัวหน้าพรรคคือ นายมัตเตโอ เรนซี (Matteo Renzi) อดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังพ่ายแพ้ต่อการสนับสนุนลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2016 จะกลับมาลงสนามชิงเก้าอี้ตัวเดิมอีกครั้ง ด้วยการชูนโยบาย Pro-EU

 

Silvio Berlusconi

Matteo Slavini

 

  • กลุ่ม Centre-Right ที่เป็นการรวมกลุ่มของพรรคการเมืองที่ต่อต้านกระแสผู้อพยพที่เดินทางเข้ามาในยุโรป (Anti-Migrant League) ภายใต้การนำของ 2 พรรคการเมืองสำคัญอย่างพรรค Forza Italia (FI) ของอดีตนายกรัฐมนตรี 4 สมัยของอิตาลีอย่างนายซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี (Silvio Berlusconi) ที่อยู่ในช่วงเพิกถอนสิทธิห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองจนถึงปี 2019 สืบเนื่องมาจากกรณีทุจริตการจัดเก็บภาษี โดยชูนโนบายการปรับลดภาษีและส่งกลับผู้อพยพที่เดินทางเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย และพรรคขวาสุดโต่งอย่าง พรรค Northern League (Lega Nord) ของนายมัตเตโอ ซัลวินี (Matteo Slavini) เพื่อนคนสนิทของนางมารีน เลอ แปน (Marine Le Pen) ผู้นำฝ่ายขวาคนสำคัญของฝรั่งเศส มาพร้อมนโยบาย “คนอิตาลีต้องมาก่อน (Italians First)” ซึ่งเชื่อว่า อิตาลีควรจะมีสิทธิเลือกได้ว่า ใครบ้างที่จะสามารถเดินทางเข้าประเทศและอาศัยอยู่ภายในอิตาลีได้

 

Luigi Di Maio

 

  • พรรค Five Star Movement (M5S) พรรคการเมืองที่ต่อต้านกลุ่มกระแสอำนาจเดิมในสังคม (Anti-establishment) ภายใต้การนำของนายลุยจิ ดิมาอิโอ (Luigi Di Maio) ที่เตรียมแผนปฏิรูปภาษี เพิ่มสวัสดิการให้กับคนยากจน ต้องการยกเลิกกฎหมายกว่า 400 ฉบับภายในปีแรก หากได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล พร้อมทั้งยังสนับสนุนแนวทางให้อิตาลีลาออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปตามสหราชอาณาจักร และมีแนวทางจะอนุญาตให้เปิดสถานค้าบริการได้อย่างถูกกฎหมาย เพื่อเพิ่มช่องทางในการจัดเก็บภาษีให้กับรัฐบาล และกระตุ้นให้อัตราการเกิดของอิตาลีเพิ่มมากขึ้น

 

ประเด็นสำคัญและผลโพลของการเลือกตั้งในครั้งนี้

‘ประเด็นปัญหาผู้ลี้ภัย’ เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต่างๆ ในทวีปยุโรปกำลังเผชิญหน้า รวมถึงรัฐบาลอิตาลี ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา มีผู้อพยพและผู้ลี้ภัยกว่า 600,000 คน ยอมเสี่ยงชีวิตเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและขึ้นฝั่งที่อิตาลี จากข้อมูลขององค์กรข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่า ในปี 2017 ที่ผ่านมามีผู้อพยพราว 119,250 คนเดินทางมายังอิตาลี ซึ่งมีมากกว่า 3,000 เสียชีวิตในขณะเดินทางทั้งจากการจมน้ำ ขาดแคลนอาหารและยารักษาโรค จึงทำให้ปัญหาผู้อพยพมีความสำคัญอย่างมากในการเลือกตั้งครั้งนี้

 

นายมัตเตโอ เรนซี ตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาลมีท่าทีประนีประนอมต่อประเด็นปัญหานี้ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่ม Centre-Right ซึ่งท่าทีส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกับนางอังเกลาร์ แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เพื่อนคนสนิทที่มีบทบาทสำคัญในสหภาพยุโรปที่เปิดรับผู้อพยพ จนเกิดกระแสตีกลับและความวุ่นวายภายในประเทศตามมา

 

ขณะที่นายซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี เคยให้สัมภาษณ์ว่า กลุ่มผู้อพยพที่เดินทางเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายเปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่รอการปะทุขึ้น ซึ่งมีแนวนโยบายสอดคล้องกับผู้นำพรรคสมาชิกร่วมกลุ่ม Centre-Right อย่างนายมัตเตโอ ซัลวินี ที่ต้องการจะปิดพรมแดนประเทศ เพิ่มมาตรการตรวจคนเข้าเมือง และส่งผู้อพยพกลับประเทศต้นทางอย่างน้อยปีละ 100,000 คน โดยแนวทางของพรรค Five Star Movement ก็มีความพยายามที่จะยกเลิกการเดินทางเข้าประเทศทางเรือที่นำพากลุ่มผู้อพยพจำนวนมากเดินทางเข้าประเทศ

 

 

จากผลโพลของ Termometro Politico ที่สำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างกว่า 4,500 คน เมื่อวันที่ 12-16 ก.พ. ที่ผ่านมา พบว่า พรรค Five Star Movement ได้รับคะแนนนิยมสูงที่สุด 26.3% ตามมาด้วย พรรค Democratic Party 21.3% และพรรค Forza Italia ของนายแบร์ลุสโคนีได้รับเสียงสนับสนุนไป 15.9%

 

ผลโพลตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ชาวอิตาลีส่วนใหญ่พอใจกับจุดยืนและแนวทางของพรรค Five Star Movement ที่กำลังขับเคี่ยวมากับพรรคอดีตรัฐบาลในช่วงโค้งสุดท้าย โดยเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในขณะนี้ ซึ่งหากพรรค M5S ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้และผลักดันให้อิตาลีลาออกจากการเป็นสมาชิกอียูตามเจตนารมณ์เดิม ก็อาจจะยิ่งส่งผลกระทบต่อ ‘อนาคตของสหภาพยุโรป’ ในวันที่เริ่มอ่อนแรงลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลังจากที่สหราชอาณาจักรมีกำหนดการจะลาออกจากการเป็นสมาชิกอียูโดยสมบูรณ์ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ปี 2019 โดยจะยื่นเรื่องเจรจาให้อียูผ่อนคลายมาตรการรัดเข็มขัดที่มีต่ออิตาลีลงเป็นอันดับแรก

 

จากผลการสำรวจล่าสุด Jacques Delors Institute พบว่า จากเดิมที่ชาวอิตาลีส่วนใหญ่กว่า 80% มองว่า การเป็นสมาชิกอียูส่งผลดีต่อประเทศ นับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจมาในช่วงทศวรรษ 1990 แต่เมื่อช่วงปลายปี 2017 ที่ผ่านมา ตัวเลขดังกล่าวกลับลดลงและพบว่า มีชาวอิตาลีเพียง 36% เท่านั้น ที่มองว่าอิตาลีได้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกอียู

 

แต่อย่างไรก็ตาม แม้พรรค M5S ของนายดิมาอิโอจะได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด แต่ผลคะแนนเสียงดังกล่าวอาจไม่มากเกินกึ่งหนึ่ง กล่าวคือ ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมาก (Hung Parliament) ซึ่งอาจจะทำให้นายดิมาอิโอ ต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองของอิตาลีในอนาคตอย่างแน่นอน

 

 

แต่ถ้าหากการเลือกตั้งในวัน 4 มี.ค. นี้ กลุ่ม Centre-Right ได้รับชัยชนะและพรรค Forza Italia ของนายแบร์ลุสโคนี ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในกลุ่ม จะส่งผลให้นายแบร์ลุสโคนี ที่เป็นหัวหน้าพรรคในทางพฤตินัย มีสิทธิเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ให้ประธานาธิบดีมัตตาเรลลารับรอง

 

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา นายแบร์ลุสโคนี เผยว่า จะเสนอชื่อนายอันโตนิโอ ทาญานี (Antonio Tajani) ประธานรัฐสภายุโรป ที่พึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อช่วงต้นปี 2017 ที่ผ่านมา การตัดสินใจเลือกเสนอชื่อนายทาญานี เป็นการแสดงจุดยืนทางการเมืองว่า หากพรรค Forza Italia ของตนได้รับเลือก อิตาลีจะยังคงเป็นสมาชิกของอียูต่อไปอย่างแน่นอน ในขณะที่หากพรรค Northern League ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในกลุ่ม นายซัลวินีจะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของดินแดนมักกะโรนีและเส้นพาสต้าในทันที หรือเก้าอี้ผู้นำฝ่ายบริหารจะกลับไปอยู่กับอดีตนายกรัฐมนตรีเรนซีอีกสมัย

 

อาจจะต้องมาร่วมลุ้นกันว่า ผลการเลือกตั้งอิตาลีในครั้งนี้จะเป็นไปในทิศทางใด อนาคตของอียูจะถูกสั่นคลอนอีกครั้งหรือไม่ และวิกฤตผู้อพยพที่ไหลทะลักเข้ายุโรป โดยเฉพาะในอิตาลีนี้จะคลี่คลายลงอย่างไร 4 มี.ค. นี้ รู้กัน!

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising