×

Itaewon Class ศึกษากลยุทธ์ธุรกิจที่ไม่ยอมแพ้ของเถ้าแก่พัคแซรอย

29.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ศึกษากลยุทธ์การทำธุรกิจของเถ้าแก่พัคแซรอยจากซีรีส์ Itaewon Class
  • ‘ความเชื่อมั่นในตัวเอง’ เป็นพลังงานผลักดันเราไปข้างหน้า สร้างความน่าเชื่อถือ มีจุดยืน มีความเชื่อที่ชัดเจน ซึ่งเป็นเสาหลักที่แสดงให้เห็นทิศทางการทำงานในภาพรวม
  • ‘ชีวิตใคร คนนั้นมีสิทธิ์เลือก’ การเปิดโอกาสให้ทีมงานมีอิสระในการทำงานจะทำให้เกิดความทุ่มเทมากขึ้น เพราะไม่ใช่การทำงานตามสั่งจากบนลงล่าง
  • เมื่อร้านทันบัมต้องปิดชั่วคราว หลายคนมองว่าเถ้าแก่พัคแซรอยไม่น่าจะสู้ไหว ถึงคราวต้องเลิกกิจการแน่ๆ แต่ตรงกันข้าม เขากลับใช้เวลาที่ร้านต้องปิด 2 เดือนให้กลายเป็นโอกาส

Itawon Class คือซีรีส์เกาหลีที่แนะนำมากในช่วงนี้ เพราะเหมาะกับทุกเพศเกือบทุกวัย (เด็กเกินไปไม่แนะนำ) ไม่มีฉากโรแมนติกจิกหมอนให้มากมาย เนื้อๆ เน้นๆ ไปกับเรื่องราวของ พัคแซรอย เด็กหนุ่มที่ชีวิตพลิกผันในชั่วข้ามคืน ถูกเหยียบจมดินไม่เหลืออะไร และด้วยความคิดที่ ‘ไม่ยอมแพ้’ ทำให้เขากลับมาเป็นเถ้าแก่ร้านทันบัม ร้านอาหารที่พัคแซรอยทุ่มทั้งชีวิตเพื่อให้รอดและเติบโตอย่างยิ่งใหญ่! 

 

ในช่วงโควิด-19 เราก็ไม่ต่างจากผู้คนกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลกที่ต้องเก็บตัวอยู่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา แต่สิ่งที่แตกต่างคือเราจะเก็บตัวอย่างไรเพื่อพัฒนาตัวเองและพัฒนางานที่เราทำให้ดีขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับเศรษฐกิจที่จะต้องใช้เวลาฟื้นตัวอีกยาวนาน และเพื่อเตรียมจิตใจให้มีแรงสู้กับปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา

 

ลองหาเวลาว่างดูซีรีส์ Itawon Class ที่ได้ทั้งความสนุก และยังได้ศึกษากลยุทธ์การทำธุรกิจของเถ้าแก่พัคแซรอยไปในเวลาเดียวกัน ถ้าพร้อมแล้ว เรามาดูกันว่าซีรีส์เรื่องนี้บอกเล่ากลยุทธ์อะไรไว้บ้าง

 

**บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของซีรีส์

 

 

เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำให้เราเป็นเรา 

อย่างแรกที่จำเป็นคือ ‘ความเชื่อมั่นในตัวเอง’ ที่จะเป็นพลังงานผลักดันเราไปข้างหน้า ยิ่งถ้าเป็นผู้นำทีมหรือองค์กรยิ่งจำเป็นต้องมี เพราะจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ มีจุดยืน มีความเชื่อที่ชัดเจน ซึ่งเป็นเสาหลักที่แสดงให้เห็นทิศทางการทำงานในภาพรวม

 

พัคแซรอยเป็นคนที่มีจุดยืนชัดเจนในการทำงาน คือเป็นคนไม่ยอมแพ้และทำงานตลอดเวลา ทั้งเรื่องหลังออกจากคุก เราแทบไม่เคยเห็นฉากในบ้านของเขาเลย ฉากส่วนใหญ่เป็นการทำงานและชีวิตภายนอกบ้าน นอกจากนี้เขายังเป็นคนที่มีความมุ่งมั่น วางแผนอะไรไว้ก็จะทำให้สำเร็จให้ได้ ไม่ล้มเลิก ไม่ยอมแพ้ เพราะมีความเชื่อว่า “ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ มันก็ไม่มีอะไรที่เราทำได้”

 

และแม้ความเชื่อที่เขายึดถือมาตลอดจะทำให้ต้องเจอกับวิกฤตชีวิตครั้งใหญ่หลายต่อหลายครั้ง แต่เขาไม่เคยละทิ้งความเชื่อนั้น และยังคงตัวตนในการเป็น ‘พัคแซรอย’ ลูกชายที่พ่อภูมิใจ

 

 

“คนของผมคือครอบครัวของผม” ความเชื่อมั่นที่ส่งต่อไปถึงลูกทีม

อย่างหนึ่งที่พัคแซรอยซื้อใจผู้คนได้อยู่หมัดก็คือความจริงใจที่แสดงให้เห็นว่าเขามองคนในทีมเป็นครอบครัว คำว่า ‘คนของผม’ ที่เถ้าแก่พูดอยู่บ่อยครั้งให้ความหมายของสายสัมพันธ์ที่มากกว่าการเป็นนายจ้าง-ลูกน้อง และในฉากหนึ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนคือตอนที่ตัดสินใจไม่ไล่เชฟของร้านอย่างมาฮยอนอีออก แต่กลับให้เงินเดือนสองเท่าเพื่อให้เธอฝึกฝนการทำอาหารให้ดีกว่านี้ นั่นก็เพราะพัคแซรอยเชื่อในความสามารถ และเชื่อว่าทัศนคติของทีมงานสำคัญกว่า 

 

การผลักดันทีมงานให้ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดด้วยความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ กลับส่งผลบวกให้มาฮยอนอีก้าวขึ้นมาเป็นเชฟฝีมือดีโดยที่ไม่เคยเรียนทำอาหารที่ไหน ทั้งหมดคือการไม่ยอมแพ้และความพยายามบนความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าแบบเดียวกับที่เถ้าแก่พัคแซรอยทำให้เห็นมาตลอด

 

ความเชื่อมั่นนั้นยังสะท้อนผ่านการให้สิทธิ์ให้เสียงกับสมาชิกในทีม Itaewon Class ทุกคนมีอิสระ มีสิทธิ์ในการแนะนำ โต้เถียง ตัดสินใจร่วมกัน อย่างที่เถ้าแก่พัคแซรอยบอกอยู่เสมอว่า ‘ชีวิตใคร คนนั้นมีสิทธิ์เลือก’ การเปิดโอกาสให้ทีมงานมีอิสระในการทำงานจะทำให้เกิดความทุ่มเทมากขึ้น เพราะไม่ใช่การทำงานตามสั่งจากบนลงล่าง สิ่งนี้สร้างความน่าเชื่อถือและความเคารพในตัวผู้นำได้ดี

 

และแม้จะปล่อยให้สมาชิกในทีมตัดสินใจหรือแก้ปัญหาบางอย่างแล้วเกิดข้อผิดพลาดตามมา พัคแซรอยกลับเป็นคนแบกรับความผิดทั้งหมดเอาไว้เอง เพราะในฐานะเถ้าแก่ แม้ทีมจะคิดเห็นหรือแนะนำอย่างไร แต่สุดท้ายเขาเองที่เป็นคนตัดสินใจ  

 

 

“ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้” กล้าตั้งเป้าหมายใหญ่และลงมือทำให้สำเร็จ

นักธุรกิจ บริษัทใหญ่ องค์กรระดับโลก ต่างไม่ได้วางเป้าหมายไว้แค่ 1-2 ปี แต่วางยาวไปในระดับ 10-20 ปี และเป้าหมายนั้นก็ต่างเกินตัว ‘คิดใหญ่ ไม่คิดเล็ก’ เพื่อท้าทายความสามารถว่าเราจะนำพาองค์กรไปสู่จุดหมายได้หรือไม่

 

พัคแซรอยในวัย 20 ปลาย ผู้ชายที่เรียนหนังสือไม่จบมัธยม ติดคุก ทำงานใช้แรงงาน ไม่เคยเปิดกิจการใดๆ แต่กลับเริ่มต้นเปิดร้านอาหารทันบัมในย่านอิแทวอน ย่านที่ดินราคาแพงอันดับ 3 ของโซล เกาหลีใต้ แรงผลักดันที่ยิ่งใหญ่ของเขาคือการแก้แค้น ชางแดฮี เจ้าของบริษัทอาหารอันดับหนึ่งของเกาหลีใต้ 

 

พลังแง่ลบกลับกลายเป็นพลังงานขับเคลื่อนสู่แผนธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ ความน่าสนใจคือพัคแซรอยไม่ได้มุ่งที่ประเด็นการแก้แค้นทั้งหมด แต่ศึกษาและทำความเข้าใจการทำธุรกิจจากศัตรู วิเคราะห์ข้อผิดพลาดและนำมาปรับใช้กับธุรกิจตัวเอง เขาเดินตามรอยด้วยการเริ่มธุรกิจจากร้านเล็กๆ คิดเมนูดังของร้านที่กลายเป็นจุดเด่นและเอกลักษณ์ เปิดบริษัท IC (Itaewon Class) ขายแฟรนไชส์ทั่วประเทศและมองไกลไปถึงระดับโลก นอกจากนี้ยังสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารต่างๆ วางขายในตลาด ด้วยความตั้งใจพื้นฐานคือการทำอาหารอร่อยให้ผู้คนได้กิน ซึ่งแผนทั้งหมดนี้พัคแซรอยไม่ได้คิดเอาหน้างาน แต่เป็นการวางแผนคิดการใหญ่ไว้ตั้งแต่ต้น 

 

 

พลิกวิกฤตเป็นโอกาสเมื่อร้านต้องปิดชั่วคราว 

ไม่ใช่แค่มองไปข้างหน้า ต้องรู้จักรับมือกับอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ในตอนหนึ่งของ Itaewon Class เมื่อร้านทันบัมต้องปิดชั่วคราว หลายคนมองว่าเถ้าแก่พัคแซรอยไม่น่าจะสู้ไหว ถึงคราวต้องเลิกกิจการแน่ๆ เพราะค่าเช่าก็ต้องเสีย เงินเดือนพนักงานก็ต้องจ่าย ในขณะที่รายรับไม่มีเข้ามาเลย แต่ตรงกันข้าม เขากลับใช้เวลาที่ร้านต้องปิด 2 เดือนให้กลายเป็นโอกาสได้อย่างไม่น่าเชื่อ

 

ช่วงที่ร้านปิดชั่วคราว พัคแซรอยทำอะไรบ้าง 

  • รับ ชางกึนซู มาเป็นพนักงานเสิร์ฟ และรับ โชอีซอ มาเป็นผู้จัดการ ซึ่งทั้งคู่ได้กลายเป็น ‘คนของเขา’ ที่มาสมัครงานด้วยความเชื่อมั่นในตัวพัคแซรอยอย่างแท้จริง
  • โชอีซอช่วยคิดแผนการตลาดโดยอาศัยช่องทางโซเชียลมีเดียที่เธอถนัด และยังตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่เป็นคนหนุ่มสาว
  • นอกจากแผนการตลาด ยังปรับปรุงคุณภาพพนักงาน การเสิร์ฟ การจัดจาน รสชาติอาหาร ทั้งยังปรับปรุงการตกแต่งร้านใหม่ เมนูใหม่ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค
  • พัคแซรอยมักจะออกไปเดินดูร้านคนอื่นๆ ในย่านอิแทวอนว่าเป็นอย่างไรกันบ้างอยู่เป็นประจำ เพื่อให้ตัวเองยังอยู่ในกระแสและความเร็วเดียวกับโลกภายนอก

 

 

อีกช่วงหนึ่งของ Itaewon Class ในตอนที่ทันบัมพบกับปัญหาใหญ่ เมื่อนักลงทุนถอนตัวจากการให้ทุนหมื่นล้านวอน ทำให้พัคแซรอยต้องติดประกาศหน้าร้านว่า ‘ปิดร้าน 1 สัปดาห์ และจะกลับมาพร้อมบริการที่ดียิ่งขึ้น’ การปิดตัวชั่วคราวของทันบัมตรงกับการแข่งขันรายการสุดยอดร้านอร่อยในสัปดาห์สุดท้ายเพื่อหาผู้ชนะ เขาจึงแบ่งทีมเพื่อทำงานตรงหน้าให้ดีที่สุด โดยมอบหมายให้มาฮยอนอีตั้งใจกับการเตรียมแข่งขัน โดยให้ ชเวซึงกวอน คอยช่วยเหลือ ขณะที่ตัวเขาเองและโชอีซอจะออกไปหานักลงทุนมาช่วยสานต่อแผนการขยายตลาดของทันบัม 

 

นี่คือการแบ่งทีมตามหน้าที่และพัฒนาตัวเองในช่วงเวลายากลำบาก คือการไม่ยึดติดกับอดีตที่กลับไปแก้ไขไม่ได้ แต่มุ่งหน้าหาทางออกให้กับปัญหาด้วยการทำให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม 

 

 

ธุรกิจคือเรื่องของผู้คน

เคล็ดลับการทำธุรกิจของเถ้าแก่พัคแซรอยคือประโยคสำคัญที่ว่า ‘ธุรกิจคือเรื่องของผู้คน’ เขามองการทำร้านทันบัมว่าเป็นธุรกิจที่ให้ ‘คุณค่า’ มากกว่าเรื่อง ‘ราคา’ สิ่งนี้สร้างความเชื่อใจให้ทั้งกับตัวธุรกิจ ลูกจ้าง พันธมิตร และลูกค้า 

 

หัวใจการบริหารงานของเขาวางบนเส้นทางที่ใสสะอาด ไม่มีกลโกง ทรยศ หักหลัง เราจะเห็นวิธีการทำงานของเขาที่จริงใจและตรงไปตรงมากับลูกทีม กับพันธมิตรก็เลือกใช้ผู้ผลิตที่มีคุณภาพเป็นผู้จัดส่งวัตถุดิบของทางร้าน กับลูกค้าเขาก็ใส่ใจในรายละเอียด พิถีพิถันกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท 

 

เรายังมองเห็นว่านอกจากธุรกิจของตัวเอง ในตอนหนึ่งของซีรีส์ พัคแซรอยยังเข้าไปช่วยปรับปรุงธุรกิจใกล้เคียงที่อยู่ในบริเวณเดียวกันเพื่อให้ทั้งย่านรอดไปด้วยกัน นอกจากจะทำให้ทั้งย่านนั้นคึกคักขึ้นจากผู้คนที่เข้ามาใช้บริการ ยังเป็นการสร้างฐานความเชื่อมั่นที่เขามีต่อเจ้าของธุรกิจอื่นๆ ซึ่งอาจกลายเป็นพันธมิตรคนสำคัญในภายหลัง

 

 

เปิดเผยด้านอ่อนแอให้เห็น 

“มีวันที่เหนื่อยมาก เสียใจมาก แต่ก็มีวันที่สนุก พัคแซรอยบอกไว้แบบนี้ในตอนท้ายของซีรีส์ ความหมายของประโยคนี้ตีความในเชิงการทำงานได้เช่นเดียวกันว่า มันมีวันที่ดี มีวันที่ประสบความสำเร็จ และมีวันที่ล้มเหลว เป็นวัฏจักรธรรมดาของโลกมนุษย์ แม้เขาจะเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้ ไม่เคยมานั่งฟูมฟายกับปัญหา หรือถ้ามีใครถามว่าเหนื่อยไหม เขาก็ตอบเพียงว่า “เหนื่อยนิดหน่อย”

 

แต่ผู้นำในการทำงานก็เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง มีด้านแข็งแกร่งและด้านอ่อนแอ การเปิดเผยให้เห็นด้านอ่อนแอบ้างอย่างจริงใจไม่ใช่ข้อเสีย มันเป็นการแสดงให้เห็นมิติอันเป็นปกติธรรมดาของมนุษย์ พัคแซรอยทำให้เห็นบาลานซ์ที่ชัดเจนของความแข็งแกร่งและอ่อนแอที่ทำให้เขาเป็นผู้นำที่ลูกทีมเทใจให้ ในยามที่บริษัทเจอปัญหาอุปสรรคเพียงใด เขามักจะเป็นคนที่ตัดสินใจหาทางออกได้เสมอ และวันที่เขาร้องไห้ ลูกทีมของเขาก็อยากจะเข้ามาช่วยเหลือ เพราะมองเห็นเถ้าแก่ของตัวเองเป็นมากกว่าผู้นำในทางธุรกิจ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X