เมื่อวานนี้ (10 ก.ย.) เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ประกาศปักธงเตรียมผนวกพื้นที่บางส่วนของเขตเวสต์แบงก์ที่ยึดครองมาได้จากปาเลสไตน์เป็นของอิสราเอล หากเขาชนะการเลือกตั้งนั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศเป็นสมัยที่ 5 ติดต่อกัน สร้างกระแสความไม่พอใจเป็นอย่างมากในตะวันออกกลาง พร้อมทำลายความฝันของชาวปาเลสไตน์ที่เหลืออยู่น้อยนิด ที่หวังอยากจะแยกตัวเป็นรัฐ
บรรดาผู้นำในรัฐอาหรับต่างประณามท่าทีดังกล่าวของผู้นำอิสราเอล โดยระบุว่า จุดยืนนี้จะเป็นการทำลายความมุ่งหวังที่จะนำไปสู่การแก้ไขปมปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ในอนาคต ทั้งนี้ เนทันยาฮูระบุ จะประกาศอำนาจอธิปไตยเหนือหุบเขาจอร์แดน ซึ่งถือเป็นพื้นที่ผลิตอาหารที่สำคัญของปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์ โดยหลังจากจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ คาดจะมีการผนวกรวมพื้นที่และดินแดนที่ชาวยิวไปตั้งรกรากอาศัยอยู่เพิ่มเติมอีก
หากการประกาศอำนาจอธิปไตยเกิดขึ้นจริง จะกลืนกินพื้นที่ส่วนใหญ่ในเขตเวสต์แบงก์ และทำให้ปาเลสไตน์กลายเป็นดินแดนที่ซ้อนอยู่ในอิสราเอลที่มีขนาดเล็กลงกว่าเดิม กระจัดกระจาย ถูกโดดเดี่ยว และไม่เป็นปึกแผ่น โดยในปัจจุบันมีชาวปาเลสไตน์กว่า 2.5 ล้านคน อาศัยอยู่ที่เขตเวสต์แบงก์และเยรูซาเล็มตะวันออก ซึ่งมีชาวยิวเข้าไปตั้งรกรากและอาศัยอยู่เกือบ 7 แสนคน โดยอิสราเอลเคยประกาศผนวกรวมเยรูซาเล็มตะวันออกแล้ว แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก
ทางด้าน อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) คัดค้านการประกาศท่าทีดังกล่าว โดยระบุว่า การคาดหวังนี้จะทำลายความพยายามในการฟื้นฟูการเจรจาระหว่างกัน ทำลายสันติภาพในภูมิภาค รวมถึงการหาทางออกให้กับปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ โดยการเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันที่ 17 กันยายนนี้ ซึ่งเนทันยาฮูล้มเหลวในการจัดตั้งรัฐบาลผสมในการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ภาพ: Menahem Kahana / AFP / Getty Images
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: