×

อิสราเอลสังหารหัวหน้าฮามาส ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตี 7 ตุลาคม สำคัญแค่ไหน และสงครามกาซาจะยุติหรือไม่?

18.10.2024
  • LOADING...
อิสราเอล

การสังหาร ยาห์ยา ซินวาร์ ผู้นำกลุ่มฮามาส ถือเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของอิสราเอลในสงครามกวาดล้างกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา หลังจากที่สงครามเดินหน้ามาครบ 1 ปีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยังเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่สำหรับกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นทั้งองค์กรการเมืองและกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ที่พยายามต่อต้านการยึดครองและกดขี่ของอิสราเอลมายาวนาน

 

จากรายงานข่าวที่ปรากฏพบว่า ซินวาร์นั้นไม่ได้เสียชีวิตในปฏิบัติการพิเศษที่วางแผนมาอย่างดี แต่เสียชีวิตหลังการเผชิญหน้าโดยบังเอิญกับกองกำลังทหารอิสราเอลในเมืองราฟาห์ ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา โดยภาพถ่ายในที่เกิดเหตุแสดงให้เห็นซินวาร์ในชุดสู้รบนอนเสียชีวิตอยู่บนซากปรักหักพังของอาคารที่ถูกกระสุนรถถังยิงใส่

 

กองทัพอิสราเอลยืนยันตัวตนของซินวาร์ด้วยข้อมูล DNA ลายนิ้วมือ และประวัติทันตกรรม ที่เก็บไว้ในช่วงที่ซินวาร์เคยถูกจำคุกในอิสราเอลนานกว่า 2 ทศวรรษ

 

ซินวาร์ซึ่งมีฉายาว่านักฆ่าแห่งข่านยูนิส (The Butcher of Khan Younis) เมืองเอกทางใต้ของกาซา ถือเป็นบุคคลสำคัญที่มีบทบาทอย่างมากในปฏิบัติการทางทหารและการก่อการร้ายของฮามาส ซึ่งอิสราเอลเชื่อว่าเขาเป็น ‘หัวหน้าสถาปนิก’ ผู้อยู่เบื้องหลังแผนส่งกองกำลังติดอาวุธข้ามพรมแดนบุกโจมตีทางตอนใต้ของอิสราเอล ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,200 คน และมีชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติจำนวนมาก รวมถึงชาวไทย ที่ถูกจับเป็นตัวประกันไปกักขังในกาซา ซึ่งเป็นชนวนให้อิสราเอลเปิดฉากสงครามที่ยืดเยื้อจนถึงวันนี้

 

โดยคำถามที่เกิดขึ้นหลังการเสียชีวิตของซินวาร์คือ เขามีความสำคัญอย่างไรต่อฮามาส และผลกระทบที่ตามมาหลังจากนี้จะเป็นเช่นไร จะส่งผลถึงขั้นทำให้สงครามในฉนวนกาซายุติได้หรือไม่? 

 

ยาห์ยา ซินวาร์ คือใคร?

 

ยาห์ยา ซินวาร์ เกิดและเติบโตในค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองข่านยูนิสเมื่อปี 1962 ช่วงที่อียิปต์ปกครองกาซา โดยเขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านอาหรับศึกษาจากมหาวิทยาลัยอิสลามในกาซา ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในองค์กรนักศึกษาชาตินิยมปาเลสไตน์ และถูกคุมขังเนื่องจากร่วมกิจกรรมต่อต้านการยึดครองของอิสราเอลในปี 1985

 

ซินวาร์เข้าร่วมกลุ่มฮามาสในช่วงปลายทศวรรษ 1980 และมีตำแหน่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เขาเป็นผู้ก่อตั้งหน่วยข่าวกรองระหว่างประเทศของกลุ่มฮามาสที่รู้จักกันในชื่อ Majd และเป็นที่รู้จักจากการใช้วิธีทรมานอย่างโหดร้ายกับผู้ต้องสงสัยว่าร่วมมือกับอิสราเอล

 

ในปี 1988 ซินวาร์ถูกจำคุกในอิสราเอลด้วยโทษจำคุกตลอดชีวิต 4 ครั้ง ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าวางแผนสังหารทหารอิสราเอล 2 นาย และชาวปาเลสไตน์ 4 คนที่ต้องสงสัยว่าร่วมมือกับอิสราเอล 

 

ซินวาร์เคยกล่าวว่า เขาใช้เวลาหลายปีในเรือนจำอิสราเอลเพื่อศึกษาศัตรู รวมถึงเรียนรู้การอ่านและพูดภาษาฮีบรูผ่านมหาวิทยาลัยเปิด

 

ในปี 2011 เขาได้รับการปล่อยตัวในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษ โดยมีนักโทษชาวปาเลสไตน์กว่า 1,000 คนได้รับการปล่อยตัวแลกเปลี่ยนกับ กิลาด ชาลีต ทหารอิสราเอลที่ถูกขังในกาซานานกว่า 5 ปี

 

หลังจากนั้นในปี 2017 ซินวาร์ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา และเป็นผู้นำกองพลน้อยอัลกัสซัมที่อยู่เบื้องหลังแผนโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม โดยอิสราเอลเชื่อว่าเขาคือหัวหน้าสถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลังแผนโจมตีทั้งหมด

 

ขณะที่ซินวาร์กลายมาเป็นประธานฝ่ายการเมืองของกลุ่มฮามาสตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แทนที่ อิสมาอิล ฮานิเยห์ ที่เสียชีวิตจากการถูกลอบวางระเบิดในที่พักที่กรุงเตหะราน 

 

สำหรับแนวคิดและวิธีการในการต่อต้านอิสราเอลของซินวาร์หลายครั้งถูกมองว่าค่อนข้างสุดโต่ง โดยเขาใช้การโจมตีด้วยระเบิดฆ่าตัวตายสังหารพลเรือนชาวอิสราเอลหลายร้อยคนในช่วงเหตุการณ์อินติฟาดาครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ลุกฮือของชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาระหว่างปี 2000-2005 ก่อนที่การโจมตีด้วยระเบิดฆ่าตัวตายจะลดลง

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ไม่กี่สัปดาห์ก็ปรากฏรายงานข่าวจาก The Wall Street Journal ว่า ซินวาร์สั่งการให้ผู้บัญชาการในเวสต์แบงก์หวนกลับมาใช้การระเบิดฆ่าตัวตายในการตอบโต้กองทัพอิสราเอลมากขึ้น แต่คำสั่งดังกล่าวยังไม่ได้รับการตอบรับจากสมาชิกอาวุโสคนอื่นๆ แต่อย่างใด

 

ผลกระทบจากการสังหารซินวาร์

 

ผศ. ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้เชี่ยวชาญสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ให้ความเห็นต่อผลกระทบที่ตามมาหลังการสังหารซินวาร์ โดยเชื่อว่าจะไม่กระทบการต่อสู้ของฮามาส เพราะฮามาสยึดอุดมการณ์ ไม่ได้สู้เพื่อแก้แค้น 

 

เขามองว่าเป้าหมายของฮามาสคือให้อิสราเอลหยุดยิงและถอนทหาร ขณะที่มองว่าการตายของซินวาร์อาจนำไปสู่การหยุดยิงชั่วคราวและเปิดทางให้มีการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในกาซา ส่วนในเรื่องตัวผู้นำฮามาสก็จะมีการแต่งตั้งคนใหม่ขึ้นมาแทน

 

สงครามจะยุติ?

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายฝ่ายจับตามองคือท่าทีของอิสราเอลต่อการสังหารผู้นำสูงสุดของฮามาส ว่าจะเป็นสัญญาณไปสู่การยุติสงครามในฉนวนกาซาได้หรือไม่

 

แต่ความหวังดังกล่าวอาจเป็นไปได้ยาก โดย เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล แถลงว่า การเสียชีวิตของซินวาร์ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของสงครามในฉนวนกาซา แต่เป็นวันแห่งการเริ่มต้นของจุดจบของกลุ่มฮามาส ซึ่งการสู้รบจะยังเดินหน้าต่อไปจนกว่าตัวประกันทั้งหมดจะได้รับการปล่อยตัว

 

“วันนี้เราทำให้ชัดเจนอีกครั้งว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ทำร้ายเรา วันนี้เราแสดงให้โลกเห็นอีกครั้งว่าชัยชนะของความดีเหนือความชั่วมีอยู่จริง แต่สงครามยังไม่จบสิ้น มันยากลำบาก ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ยังรอเราอยู่ข้างหน้า เราต้องมีความอดทน ความสามัคคี ความกล้าหาญ และความมั่นคง เราจะสู้ไปด้วยกัน และด้วยความช่วยเหลือของพระเจ้า เราจะชนะไปด้วยกัน” เขากล่าว

 

ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีอิสราเอลย้ำถึงเป้าหมายสงครามในกาซาคือ การทำลายโครงสร้างทั้งหมดของกลุ่มฮามาส ทั้งในส่วนกองกำลังทหารและการเมือง รวมทั้งนำตัวประกันกลับบ้าน

 

แต่ทั้งสองเป้าหมายยังไม่ประสบความสำเร็จ แม้ว่าสงครามจะคร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์ไปแล้วอย่างน้อย 42,000 คน และทำให้ฉนวนกาซาพังพินาศย่อยยับ ขณะที่ตัวประกันที่เหลืออีกเกือบ 100 ชีวิต รวมถึงคนไทยอีก 6 คน จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ทราบชะตากรรม

 

ในอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่น่าจับตามองจากการที่กลุ่มฮามาสสูญเสียผู้นำคือ สถานการณ์ในเลบานอนที่อิสราเอลยังเดินหน้าโจมตีกลุ่มฮิซบอลเลาะห์อย่างต่อเนื่อง

 

ผศ. ดร.มาโนชญ์ มองว่า การเสียชีวิตของซินวาร์เป็นการตัดกำลังฮามาสที่เป็นพันธมิตรของฮิซบอลเลาะห์ และเป็นโอกาสที่อิสราเอลจะสามารถยกระดับการโจมตีฮิซบอลเลาะห์ โดยเมื่อฮิซบอลเลาะห์อ่อนแอแล้ว จึงค่อยโจมตีตอบโต้ศัตรูหลักอย่างอิหร่านตามเวลาที่เหมาะสมที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ โดยไม่ต้องพะวงกับแนวรบทางเหนือ 

 

ภาพ: Mohammed Salem / File Photo TPX Images of the Day / Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising