×

อิสราเอลสังหารผู้นำฮิซบอลเลาะห์ โหมไฟขัดแย้งอิหร่าน จะเกิดอะไรต่อ?

29.09.2024
  • LOADING...
อิสราเอล

อิสราเอลเดินหมากสำคัญในความขัดแย้งตะวันออกกลางด้วยการส่งเครื่องบินรบทิ้งระเบิดชานกรุงเบรุตของเลบานอน สังหาร ฮัสซัน นาสรัลเลาะห์ ผู้นำกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน พร้อมด้วยผู้บัญชาการรบและผู้นำอาวุโสอีกหลายคน

 

ปฏิบัติการปลิดชีพผู้นำฮิซบอลเลาะห์เกิดขึ้นหลังจากที่เลบานอนเผชิญการโจมตีอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงกรณีเหตุระเบิดเพจเจอร์และวิทยุวอล์กกี้ทอล์กกี้ที่พุ่งเป้าสมาชิกฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นฝีมือหน่วยข่าวกรองอิสราเอล

 

ขณะที่อิสราเอลตัดสินใจส่งเครื่องบินรบโจมตีเลบานอนครั้งใหญ่ เพื่อตอบโต้การยิงจรวดข้ามพรมแดนใส่หลายเมืองทางตอนเหนือของอิสราเอล และยืนยันว่ากำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการบุกภาคพื้นดินอีกหลังจากนี้

 

การโจมตีอย่างรุนแรง ต่อเนื่อง และรวดเร็วของอิสราเอล สร้างความตกตะลึงแก่ทั่วโลก ท่ามกลางไฟสงครามในฉนวนกาซาที่ยังไม่สิ้นสุด

 

อิสราเอลซึ่งเผชิญแนวรบรอบด้านจากกลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านให้การสนับสนุน ประกาศกร้าวพร้อมตอบโต้อิหร่านและใครก็ตามที่โจมตีอิสราเอล ชนิด ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ ส่งผลให้นานาชาติเกิดความกังวลว่าสถานการณ์ขัดแย้งจะขยายวงกว้างไปสู่สงครามระดับภูมิภาคหรือไม่

 

ความเคลื่อนไหวของอิสราเอลและอิหร่าน รวมถึงกลุ่มฮิซบอลเลาะห์และกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยผลกระทบจากการขยายวงของสงคราม แน่นอนว่าทั่วโลกรวมถึงไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

 

ฮิซบอลเลาะห์จะทำอย่างไรต่อ?

 

การโจมตีต่อเนื่องหลายระลอกส่งผลให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์เผชิญความเสียหายที่รุนแรงถึงระดับโครงสร้างบังคับบัญชา เนื่องจากผู้บัญชาการระดับสูงมากกว่าสิบคนถูกลอบสังหาร ในขณะที่ระบบสื่อสารถูกทำลายจากเหตุระเบิดอุปกรณ์สื่อสาร อีกทั้งอาวุธจำนวนมากยังถูกทำลายในการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล

 

ความสูญเสียทั้งหมดเรียกได้ว่าอาจทำให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ตกอยู่ในภาวะสุญญากาศทางอำนาจ

 

ผศ. ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้เชี่ยวชาญสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ชี้ว่า การที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์สูญเสียผู้นำน่าจะส่งผลกระทบไม่น้อย

 

“ผมคิดว่าน่าจะส่งผลอยู่ไม่น้อยครับ เพราะไม่เพียงเสียผู้นำ ซึ่งก็คงมีคนใหม่ขึ้นมาแทนที่ แต่ประเด็นคือเป็นจังหวะที่อิสราเอลกำลังรุกหนัก ในขณะที่ระบบการสื่อสารของฮิซบอลเลาะห์ก็ถูกทำลาย การติดต่อ เชื่อมโยง วางแผน และการบัญชาการ ก็ทำได้จำกัด”

 

โดยเขามองว่าสถานการณ์ที่น่าจับตามองอย่างใกล้ชิดหลังจากนี้คือท่าทีของอิสราเอลว่าจะโจมตีต่อหรือไม่ และอิหร่านจะมีความเคลื่อนไหวอย่างไร

 

“ตอนนี้นอกจากจับตาฮิซบอลเลาะห์แล้ว ต้องดูว่าอิสราเอลจะหยุดแค่นี้หรือรุกต่อ แต่ที่แน่ๆ คืออิหร่านกำลังถูกกดดันหนักที่สุด แม้ไม่ต้องการเข้าสู่สงคราม แต่จะยื้ออย่างไรเมื่อพันธมิตรถูกถล่มและท้าทายขนาดนี้”

 

หลังจากนี้คาดว่าสภาชูรา (Shura Council) หรือสภาที่ปรึกษาของฮิซบอลเลาะห์ที่มีสมาชิกราว 7-8 คน จะประชุมเพื่อตัดสินใจว่าใครที่เหมาะสมจะรับตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของฮิซบอลเลาะห์แทนที่นาสรัลเลาะห์

 

บุคคลที่เชื่อว่าจะถูกวางตัวเป็นผู้นำคนใหม่คือ ฮาเชม ซาฟีดดีน หัวหน้าสภาบริหารของกลุ่ม โดยที่ผ่านมาเขาทำหน้าที่ดูแลกิจการทางด้านการเมือง นอกจากนี้เขายังเป็นสมาชิกสภาญิฮาด ซึ่งทำหน้าที่จัดการปฏิบัติการทางทหาร และเป็นลูกพี่ลูกน้องทางฝั่งมารดาของนาสรัลเลาะห์

 

โมฮัมเหม็ด อัลบาชา นักวิเคราะห์ความมั่นคงตะวันออกกลางที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์ BBC ว่า “การสูญเสียนาสรัลเลาะห์จะส่งผลอย่างมาก และอาจทำให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ไม่มั่นคง และต้องเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ทางการเมืองและการทหารในระยะสั้น”

 

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของฮิซบอลเลาะห์นั้นยังไม่ใช่การยอมจำนนหรือขอให้มีการเจรจาสันติภาพกับอิสราเอล โดยในแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์ ทางกลุ่มยืนยันการเสียชีวิตของนาสรัลเลาะห์ และประกาศว่าจะดำเนินปฏิบัติการทางทหารต่อไป เพื่อสนับสนุนฉนวนกาซาและการปกป้องเลบานอน

 

ฮิซบอลเลาะห์ยังคงมีนักรบหลายพันคน ซึ่งหลายคนเป็นทหารผ่านศึกที่เพิ่งผ่านสงครามในซีเรีย และต้องการให้มีการแก้แค้นอิสราเอล

 

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่ากลุ่มฮิซบอลเลาะห์จะไม่หายไปง่ายๆ โดยทางรอดที่ดีที่สุดในตอนนี้คือการใช้ความอดทนและรอคอยจังหวะ ในขณะที่ผู้สนับสนุนหลักอย่างอิหร่านยังไม่สามารถปกป้องพวกเขาได้

 

นอกจากนี้เชื่อว่าฮิซบอลเลาะห์ยังมีขีปนาวุธอีกจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นขีปนาวุธนำวิถีพิสัยไกลที่แม่นยำและสามารถโจมตีกรุงเทลอาวีฟและเมืองอื่นๆ ทั่วอิสราเอลได้ ซึ่งสถานการณ์ ณ ตอนนี้เป็นแรงกดดันระดับสูงให้ทางกลุ่มอาจต้องรีบนำอาวุธเหล่านี้มาใช้ก่อนจะถูกอิสราเอลทำลาย

 

แต่หากขีปนาวุธเหล่านี้ถูกนำไปใช้จริง และเกิดการโจมตีครั้งใหญ่ที่ทำลายระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิสราเอลอย่าง Iron Dome รวมถึงสังหารพลเรือนจำนวนมาก อิสราเอลอาจตอบโต้ขั้นรุนแรงด้วยการทำลายโครงสร้างพื้นฐานของเลบานอน หรือแม้แต่ขยายการตอบโต้ไปถึงอิหร่านที่เป็นผู้สนับสนุนฮิซบอลเลาะห์

 

อิหร่านจะลงมือแก้แค้น?

 

อีกคำถามสำคัญคือ อิหร่านจะแก้แค้นให้ฮิซบอลเลาะห์ หรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในสถานการณ์ครั้งนี้มากหรือน้อยแค่ไหน?

 

ที่ผ่านมาอิหร่านค่อนข้างระมัดระวังในการขัดแย้งโดยตรงกับอิสราเอล แม้ว่าสงครามเงาที่ดำเนินมาอย่างยาวนานจะถูกผลักดันให้เปิดกว้างมากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยในช่วงเดือนเมษายน อิหร่านตัดสินใจใช้โดรนและขีปนาวุธโจมตีใส่อิสราเอล เพื่อตอบโต้ที่อิสราเอลโจมตีสถานกงสุลอิหร่านในกรุงดามัสกัสของซีเรีย ซึ่งส่งผลให้ผู้บังคับบัญชาทางทหารระดับสูงของอิหร่านเสียชีวิต

 

ผู้สังเกตการณ์มองว่าการตอบโต้โดยตรงของอิหร่านในสถานการณ์ล่าสุดนี้ อาจดึงสหรัฐฯ ให้เข้าไปมีส่วนในความขัดแย้งที่อาจลุกลามสู่ระดับภูมิภาค

 

CNN รายงานความเห็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ที่เชื่อว่าอิหร่านจะเข้าแทรกแซงความขัดแย้งและการโจมตีที่เกิดขึ้นในเลบานอน หากอิหร่านพิจารณาแล้วว่ากำลังจะสูญเสียกลุ่มฮิซบอลเลาะห์

 

ด้าน อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ประกาศคำมั่นว่าจะแก้แค้นอิสราเอล และไม่ปล่อยให้การพลีชีพของนาสรัลเลาะห์ที่เขายกย่องเป็น ‘ผู้ยิ่งใหญ่’ ต้องสูญเปล่า

 

โดยอิหร่านยังมีกลุ่มติดอาวุธที่เป็นพันธมิตรอีกหลายกลุ่มในตะวันออกกลาง ซึ่งเรียกกันว่า ‘แกนแห่งการต่อต้าน’ (Axis of Resistance) นอกจากกลุ่มฮิซบอลเลาะห์และฮามาส ยังมีกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน และอีกหลายกลุ่มในซีเรียและอิรัก ซึ่งอิหร่านอาจขอให้กลุ่มเหล่านี้เพิ่มการโจมตีฐานทัพของอิสราเอลและสหรัฐฯ ในภูมิภาค

 

นอกจากนี้อิหร่านยังเดินเกมบนเวทีระหว่างประเทศ โดย อามีร์ ซาอิด อิราวานี ทูตอิหร่านประจำสหประชาชาติ ขอให้มีการเรียกประชุมฉุกเฉินของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เพื่อ “ประณามการกระทำของอิสราเอลในเงื่อนไขที่รุนแรงที่สุด” และเรียกร้องให้ UNSC ดำเนินการทันทีและเด็ดขาด เพื่อยับยั้งการรุกรานเลบานอนของอิสราเอลที่กำลังดำเนินอยู่ และป้องกันไม่ให้สถานการณ์นี้ “ลากภูมิภาคตะวันออกกลางเข้าสู่สงครามเต็มรูปแบบ”

 

อย่างไรก็ตาม พื้นที่สำหรับการแก้ปัญหาทางการทูตดูเหมือนจะจำกัดและไม่มีผลที่ชัดเจน เห็นได้จากความพยายามเจรจาข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซาระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้

 

อิสราเอลจะเดินหมากอย่างไรต่อ?

 

สิ่งที่นานาชาติได้ความชัดเจนจากท่าทีของอิสราเอลตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ อิสราเอลไม่มีความตั้งใจที่จะหยุดปฏิบัติการทางทหาร หรือตอบรับข้อเสนอหยุดยิง 12 วัน ที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในยุโรปพยายามผลักดันเพื่อคลี่คลายสถานการณ์

 

อิสราเอลมองว่ากองทัพของตนนั้นกำลังไล่บดขยี้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์จนสู้ไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องเดินหน้าต่อคือการโจมตีอย่างหนักต่อไป จนกว่าภัยคุกคามจากขีปนาวุธและจรวดของฮิซบอลเลาะห์จะหมดไป

 

เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล แถลงยืนยันว่า การสังหารนาสรัลเลาะห์นั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเป้าหมายในการทำให้ประชาชนอิสราเอลที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือใกล้ชายแดนเลบานอน สามารถกลับบ้านและใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย

 

เขากล่าวอย่างท้าทายและไร้ซึ่งความกลัวต่ออิหร่านว่า หากอิหร่านโจมตีอิสราเอล อิสราเอลก็จะโจมตีกลับ และชี้ว่าทั่วทั้งอิหร่านและตะวันออกกลาง ไม่มีจุดไหนที่พลังอำนาจของอิสราเอลนั้นไปไม่ถึง

 

สำหรับสิ่งที่จะเกิดต่อไปของสถานการณ์ ณ ตอนนี้ อิสราเอลอาจไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการส่งกำลังทหารบุกเลบานอนภายหลังการโจมตีทางอากาศหลายระลอก

 

โดยทางออกอย่างการให้ฮิซบอลเลาะห์ยอมจำนนอาจไม่เกิดขึ้น แต่การที่อิสราเอลจะส่งกำลังทหารเข้าไปในเลบานอนก็อาจไม่ทำให้การสู้รบยุติลงได้ง่ายๆ และอาจต้องยืดเยื้อยาวนานไม่ต่างจากการบุกฉนวนกาซา

 

ขณะที่ แอรอน เดวิด มิลเลอร์ อดีตผู้เจรจาตะวันออกกลางของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ CNN ว่า การโจมตีเลบานอนของอิสราเอลจะไม่ยุติลงในเร็วๆ นี้ และจะไม่ยุติลงด้วยวิธีทางการทูต

 

“ในกรณีที่ดีที่สุด มันเป็นเรื่องของการป้องปราม การบริหารจัดการ และบางที หากฮิซบอลเลาะห์ อิสราเอล และอิหร่าน เปิดใจที่จะยอมรับ การทำข้อตกลงนั้นจะช่วยยุติความขัดแย้งได้” เขากล่าว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X