กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เปิดตัวนวัตกรรมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา หรือระบบ iSEE 2.0 (Information System for Equitible Education) ตั้งเป้าให้ทุกคน ‘มองเห็น’ สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการบูรณาการแก้ปัญหาและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ
iSEE คือฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่รวบรวมข้อมูลรายบุคคลของเด็กและเยาวชนผู้ขาดเเคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับ 6 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงข้อมูลจากระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS)
ปัจจุบัน iSEE มีข้อมูลเด็กๆ กว่า 4 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งผ่านการคัดกรองและตรวจสอบรายชื่อถึง 3 ชั้น ได้แก่
- การตรวจสอบข้อมูลเชิงประจักษ์ด้วยแอปพลิเคชัน CCT
- การรับรองข้อมูล 3 ฝ่ายโดยผู้ปกครอง ครู และกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน
- การรับรองความถูกต้องของข้อมูลโดยคณะกรรมการสถานศึกษากว่า 150,000 คนทั่วประเทศ ประกอบด้วยผู้นำชุมชนท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้แทนผู้ปกครองอย่างน้อย 5 คนต่อโรงเรียน
“จุดเด่นของระบบ iSEE คือแสดงข้อมูลสุขภาวะและทุพโภชนาการของเด็กและเยาวชน ข้อมูลสถานะครัวเรือนและสุขภาพ ข้อมูลการเดินทางระหว่างไปโรงเรียน และข้อมูลสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน” ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษากล่าว
โดยข้อมูลที่มีรายละเอียดซับซ้อนเหล่านั้นจะถูกออกแบบและนำเสนอผ่านกราฟ ตาราง และอินโฟกราฟิกที่เข้าใจง่าย เข้าถึงได้จากทุกที่ทุกเวลา ตอบโจทย์การใช้งานจริงของภาคีเครือข่าย เพื่อสนับสนุนผู้ที่ต้องการเป็นนักวิจัย สตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการทางสังคม และสื่อมวลชน ให้มีพลังในการขับเคลื่อนวาระทางสังคมมากขึ้น
จากการประมวลผลข้อมูลปี 2562 ชี้ว่า มีนักเรียนหายไปจากระบบการศึกษากว่าครึ่งหลังจบการศึกษาระดับมัธยมต้น โดย 3 จังหวัดที่มีเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษามากที่สุด ได้แก่ ตาก กรุงเทพฯ และแม่ฮ่องสอน
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม และลองใช้งาน iSEE ได้ที่ https://isee.eef.or.th/