×

อีสาน: วัฒนธรรมที่ไม่เคยมีคำว่า ‘เก่า’ เมื่อความปังบังเกิด อัตลักษณ์อีสานจึงทรงพลัง

02.07.2022
  • LOADING...
วัฒนธรรมอีสาน

HIGHLIGHTS

  • มุมมองของคนทั่วไปก่อนหน้านี้สักสิบกว่าปีที่ผ่านมา หรืออาจจะยังคงหลงเหลืออยู่บ้างในปัจจุบัน มีวิธีคิดและมุมมองต่อภาพลักษณ์คนอีสานในแง่ลบมาตลอด เช่น มองว่าเป็นดินแดนแห่งความแร้นแค้น ดินแดนแห่งความจน ภาพลักษณ์เหล่านี้ถูกนำเสนออยู่อย่างต่อเนื่องผ่านสื่อในหลายๆ ช่องทาง ไม่ว่าจะทั้งละครทีวี หรือแม้แต่บทเพลงลูกทุ่ง
  • อะไรทำให้เพลงอีสาน หรือวัฒนธรรมอีสานได้รับการยอมรับขนาดนี้ คำตอบที่เข้าใจง่ายที่สุดคือ วัฒนธรรมอีสานไม่ว่าจะในรูปแบบใดๆ เป็นวัฒนธรรมที่ไม่มีความตายตัว

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเราจะเห็นปรากฏการณ์หนึ่งของวัฒนธรรมอีสานที่น่าสนใจคือ การร่วมงานกันระหว่างเวทีหมอลำชื่อดังอย่าง ‘ระเบียบวาทะศิลป์’ กับเวทีนางงามน้องใหม่ที่นับวันยิ่งเริ่มได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นอย่างมิสแกรนด์ไทยแลนด์ และไม่เพียงแค่ระเบียบวาทะศิลป์เท่านั้น เวทีนางงานน้องใหม่นี้ยังได้ร่วมงานกับวงหมอลำระดับตำนานอย่าง ‘เสียงอิสาน’ สองวัฒนธรรมใหญ่นี้ (วัฒนธรรมหมอลำ กับ วัฒนธรรมการดูนางงาม) ได้ผนวกและประสานกันได้อย่างลงตัว ระเบิดความสนุกสนาน สร้างความตื่นเต้นและตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ติดตามทั้งสองวัฒนธรรมได้อย่างมหัศจรรย์ 

 

ทำไมอีสานจึง ‘ปัง’

หากย้อนกลับไปจะพบว่าเอาเข้าจริงแล้ว กระแสวัฒนธรรมอีสานถูกนำเสนอและได้รับการยอมรับอยู่แล้วในปัจจุบัน ไม่ว่าจะวงหมอลำ บทเพลงลูกทุ่งอีสานอินดี้ หรือแม้แต่ภาพยนตร์หลายเรื่องที่บอกเล่าวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนอีสาน อย่าง ไทบ้านเดอะซีรีส์, ส่ม ภัค เสี่ยน, ส้ม ปลา น้อย หรือแม้แต่ภาพยนตร์แนวสยองขวัญระดับโลกอย่าง ‘ร่างทรง’

 

ไม่เพียงเท่านั้นในสื่อประเภทเพลงลูกทุ่งที่ใส่กลิ่นอายความเป็นอีสานผสมผสานเข้าไปอย่างเพลง ‘วอนหลวงพ่อรวย’ ของ มนต์แคน แก่นคูน ก็ได้รับการตอบรับจากคนในสังคมไทยล้นหลาม ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบทเพลงที่มียอดผู้รับชมในยูทูบสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในประเทศไทย มียอดผู้รับชมมากกว่า 300 ล้านกว่าวิวถึง 2 ปีซ้อน 

 

หรือแม้แต่วงนักร้องเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังอย่าง BNK48 ก็ได้นำวัฒนธรรมเพลงอีสานไปทำเพลงของวงตนเองเป็นเพลงเด่นประจำรุ่นอย่าง ‘โดดดิด่ง’ และยังสร้างภาพยนตร์บอกเล่าที่มาของการทำเพลง โดดดิด่ง นี้ด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมอีสานเริ่มเป็นที่ยอมรับ และเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนในสังคมไทยปัจจุบันมากขึ้น

 

คำถามสำคัญของผู้เขียนก็คือ อะไรคือสิ่งที่ทำให้วัฒนธรรมอีสานนั้นทรงพลัง และกลายเป็นวัฒนธรรมมวลชนที่ต้องกล่าวว่า ทุกวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไม่เคยฟังเพลงแนวลูกทุ่งอีสาน หรือเพลงที่มีกลิ่นอายของวัฒนธรรมอีสานผสานอยู่ในนั้น 

 

ก่อนได้รับการยอมรับ คือการดูถูก

ในวิธีคิดหรือมุมมองของคนทั่วไปก่อนหน้านี้สักสิบกว่าปีที่ผ่านมา หรืออาจจะยังคงหลงเหลืออยู่บ้างในปัจจุบัน มีวิธีคิดและมุมมองต่อภาพลักษณ์คนอีสานในแง่ลบมาตลอด เช่น มองว่าเป็นดินแดนแห่งความแร้นแค้น ดินแดนแห่งความจน ภาพลักษณ์เหล่านี้ถูกนำเสนออยู่อย่างต่อเนื่องผ่านสื่อในหลายๆ ช่องทาง ไม่ว่าจะทั้งละครทีวี หรือแม้แต่บทเพลงลูกทุ่ง

 

ในละครทีวีถ้าเราสังเกตกันให้ดี คนอีสานจะถูกจัดให้อยู่ในบทบาทของการเป็นคนใช้ และหากมองในมุมมองประวัติศาสตร์ คนอีสานถือว่าเป็นคนใช้ในขนบละครไทยลำดับสอง คำถามคือลำดับแรกคือใคร หากใครเคยได้ยินประโยคสั้นๆ ที่พูดว่า “คุณนายขาแมลงสาบ” (เสียงเหน่อๆ) ใช่แล้ว คนใช้ในขนบละครไทยลำดับแรกคือคนบ้านนอกจากสุพรรณบุรี หลังจากนั้นเมื่อสุพรรณบุรีเจริญขึ้น และคนอีสานเริ่มไหลเข้ามาหางานในเมืองกรุงในช่วงทศวรรษ 2530 คนอีสานถึงได้รับบทการเป็นคนใช้ในละครต่อจากคนสุพรรณบุรี และเมื่อเวลาผ่านไปจนถึงปัจจุบัน ขนบคนใช้ก็เปลี่ยนจากคนอีสานกลายเป็นคนต่างด้าว (ในความหมายที่รัฐมักเรียก) ที่เข้ามาค้าแรงงานในเมืองไทย

 

ในบทเพลงลูกทุ่งที่พูดถึงดินแดนอีสานหรือคนอีสาน ผู้เขียนมองอย่างคร่าวๆ ว่ามี 3 ยุคด้วยกัน

 

ยุคแรกคือเป็นลักษณะบทเพลงที่เป็น ‘คนกรุงต่างถิ่นเข้าไปเชยชมความแปลกหรือความมหัศจรรย์ของคนอีกสาน’ เช่น เพลง ฮักสาวขอนแก่น หรือ หนุ่ม น.ป.ข. ที่บอกเล่าลักษณะคล้ายผู้ชายที่กำลังไปเชยชมผู้หญิงอีสานที่มีลักษณะพิเศษบางประการ เช่น สวยงาม ขยันทำมาหากิน 

 

ในยุคที่สองคือ ‘ยุคกอดกระเป๋าเข้ากรุง’ หากจะนึกเร็วๆ เราก็จะนึกถึงนักร้องสองคนที่โดดเด้งขึ้นมาในหัวเลยคือ ไมค์ ภิรมย์พร เพลง ละครชีวิต “…จากแดนอีสานบ้านเกิดเมืองนอน มาเล่นละครบทชีวิตหนัก…” หรือ ต่าย อรทัย เพลง ดอกหญ้าในป่าปูน “…หัวใจติดดิน สวมกางเกงยีนส์เก่าๆ ใส่เสื้อตัวร้อยเก้าๆ กอดกระเป๋าใบเดียวติดกาย กราบลาแม่พ่อหลังจากเรียนจบ ม.ปลาย ลาทุ่งดอกคูณไสว มาอาศัยชายคาป่าปูน…” รวมถึงอีกหลายต่อหลายบทเพลงที่บอกเล่าถึงชีวิตที่ต้องหนีจากความแร้นแค้นจากดินแดนอีสาน มาหาความฝันความหวังในเมืองกรุง บทเพลงนี้จะเติบโตและเป็นที่นิยมในช่วงทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา 

 

จนเข้าสู่ยุคที่สาม คือยุคปัจจุบัน บทเพลงอีสานกลายเป็นบทเพลงที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวคนอีสานอย่างแท้จริง เป็นบทเพลงที่ถือว่าเป็นการประกาศอัตลักษณ์ความเป็นอีสานออกมาอย่างไม่สนไม่แคร์ว่าใครจะฟังได้หรือฟังไม่ได้ ซึ่งคลื่นลูกที่สามของเพลงอีสานนี้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีการทำเพลง ไม่ว่าจะทั้งห้องอัด หรือช่องทางการเผยแพร่ที่มีมากมายและหลากหลายขึ้น ไม่จำเป็นจะต้องหอบกระเป๋ามาตามหาฝันในเมืองกรุงที่ต้องพึ่งพานายทุนอีกต่อไป

 

ไม่เคยเก่า เพราะเข้าได้กับทุกแนว

คำถามคือ แล้วอะไรทำให้เพลงอีสาน หรือวัฒนธรรมอีสานได้รับการยอมรับขนาดนี้ คำตอบที่เข้าใจง่ายที่สุดคือ วัฒนธรรมอีสานไม่ว่าจะในรูปแบบใดๆ เป็นวัฒนธรรมที่ไม่มีความตายตัว ไม่มีความตายตัวในที่นี้หมายถึงว่าไม่มีกรอบของความถูกต้องที่สุด ไม่มีนิยามความถูกผิดที่ตายตัว เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมอีสานจึงเหมือนกับน้ำ น้ำที่สามารถอยู่ได้ในทุกบรรจุภัณฑ์ มันจึงทำให้เกิดความเป็นอีสานในรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา 

 

ยกตัวอย่าง ‘วงหมอลำ’ จากหมอลำที่ลำกับแคน ประยุกต์มาเป็นหมอลำซิ่งที่นำความหลากหลายทั้งทางดนตรีและการแสดงเข้ามาผสมผสานกลายเป็นอีสานใหม่ ไม่ว่าจะ เครื่องเสียงปังๆ ดนตรีโจ๊ะๆ ที่เป็นรากฐานความมักม่วนของคนอีสานอยู่แล้ว หรือเราจะเห็นการแต่งกายของหมอลำในปัจจุบัน มีทั้งการใส่ชุดลิเก มีทั้งการแต่งกายเท่ๆ แบบหนุ่มสาวเกาหลี หรือแม้กระทั่งการนำวัฒนธรรมวายเข้าไปประกอบการนำเสนอ มีการจิ้นระหว่างพระเอกหมอลำกับนายเอกหมอลำ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ไม่เคยมีคำว่า ‘ผิด’ ในวัฒนธรรมนี้ แต่ที่เขาคำนึงถึงคือ “ทำอย่างไรให้คนดูหน้าเวทีสนุกไปกับเรา” หรือแม้กระทั่งรถแห่ เราก็เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นใหม่ๆ ที่อีสานทั้งนั้น

 

หรือตัวอย่างที่เด่นชัดอีกอย่างหนึ่ง ‘ส้มตำอีสาน’ ส้มตำอีสานไม่ใช่สิ่งที่มีเพียงแค่ ‘ตำปูปลาร้า’ เท่านั้นที่ถูกต้องที่สุด แต่ส้มตำอีสานกินกับอะไรได้ทุกอย่าง จะกินกับหน่อไม้ กินกับกุ้งสด กินกับปูสด กินกับผักสด หมูทอด อะไรต่อมิอะไรได้หลากหลาย จนกลายเป็นเมนูตำใหม่ๆ เยอะแยะมากมาย ไม่ว่าจะตำซั่ว ตำถาด ตำปูสด ตำกุ้งสด ตำป่า ฯลฯ นี่คือเสน่ห์ของความไม่ตายตัวทางวัฒนธรรม 

 

ดังนั้นความสำเร็จ ความปัง ความใหม่ของวัฒนธรรมอีสาน เกิดขึ้นจากการไม่มีคำนิยามความ ‘ถูก-ผิด’ ที่ตายตัว ไม่เพียงเท่านั้นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้วัฒนธรรมอีสานไม่มีถูกผิดที่ตายตัวคือ ความหัวขบถของคนอีสาน เพราะฉะนั้นอีสานพร้อมจะแตกแถวเปิดรับความใหม่ และต่อสู้กับกรอบคำนิยามเดิมๆ ด้วยความขบถจนกลั่นกรองออกมาเป็นวัฒนธรรมอีสานใหม่ได้ทุกยุค นี่คือความสำคัญและความปังที่ทรงพลังมหาศาล

 

เมื่อความปังบังเกิด อัตลักษณ์อีสานจึงทรงพลัง

จากปรากฏการณ์ดังที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดของวัฒนธรรมอีสานอันทรงพลัง สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการลบภาพลักษณ์ และลบอัตลักษณ์ความเป็นอีสานเดิมๆ ที่เป็นมุมมองในแง่ลบของคนจำนวนมากได้เป็นอย่างดี ลบภาพความแร้นแค้น ลบภาพความกันดาร ลบภาพคนใช้ในละครหลังข่าวออกไป 

 

ดังนั้นเราจึงจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันการฟังเพลงอีสาน การแสดงตัวว่าเป็นคนอีสาน ไม่ใช่เรื่องน่าอายอีกต่อไป วัฒนธรรมอีสานจากเคยเป็นคนใช้กลายเป็นนางเอกของเรื่องราวในละคร ดารา นักร้อง หลายต่อหลายคนกล้าที่จะพูดภาษาอีสานของตัวเอง ประกาศอัตลักษณ์ความเป็นอีสานผ่านภาษาของตนเองได้อย่างไม่เขินอายอีกต่อไป และความเป็นอีสานกลับเป็นความเท่ ความสนุก ความอร่อย ที่ใครต่อใครก็ต่างอยากเป็นส่วนหนึ่ง เช่นเดียวกับเวทีนางงามน้องใหม่อย่างมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising