×

นากอร์โน-คาราบัค ถึงคราว ‘สิ้นชาติ’ ถาวรแล้วหรือไม่? หลังผู้คนอพยพตั้งรกรากในอาร์เมเนียแทน

01.10.2023
  • LOADING...
นากอร์โน-คาราบัค

หากผู้อ่านติดตามเรื่องราวของพื้นที่อดีตสหภาพโซเวียตผ่านงานเขียนของผู้เขียนมาโดยตลอด คงจะพอจำเรื่องราวของดินแดนพิพาทระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานที่มีชื่อว่า ‘นากอร์โน-คาราบัค’ (Nagorno-Karabakh) หรือ ‘อาร์ตซัค’ (Artsakh) ได้ว่า ดินแดนแห่งนี้ในแต่ละปีจะมีอย่างน้อยหนึ่งครั้งที่มีการปะทะกันด้วยกำลัง

 

และที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ มหาอำนาจที่มีอิทธิพลต่อทั้งสองคู่ขัดแย้งนี้ก็คือ ‘พี่ใหญ่’ อย่าง ‘รัสเซีย’ ที่มีบทบาทเป็นกาวใจ เป็นคนกลางในการระงับไม่ให้ไฟแห่งความขัดแย้งลุกลามบานปลาย

 

ที่ผ่านมาความขัดแย้งกรณีนากอร์โน-คาราบัคที่คุกรุ่นมาตลอด 30 กว่าปี นับตั้งแต่สหภาพโซเวียต (USSR) กำลังจะล่มสลายจนถึงปัจจุบันมีลักษณะที่เป็นการปะทะกันทางกำลังทหารที่ไม่เคยมีฝ่ายใดแพ้หรือชนะอย่างเด็ดขาดเสียทีเดียว เนื่องจากรัสเซียในฐานะพี่ใหญ่มักจะเข้ามาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยให้สถานการณ์เย็นลง นับตั้งแต่ช่วงต้นความขัดแย้งที่ชาวนากอร์โน-คาราบัค ผู้มีเชื้อสายอาร์เมเนียที่นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอาร์เมเนียในการสู้กับฝ่ายอาเซอร์ไบจาน ผู้มีเชื้อสายเติร์กและนับถือศาสนาอิสลามจนสามารถตั้งรัฐปกครองตนเองได้ 

 

แต่ถึงกระนั้นรัฐบาลอาร์เมเนียก็ไม่เคยประกาศผนวกดินแดนพิพาทนี้ และในขณะเดียวกันในเชิงกฎหมาย (De Jure) อาร์เมเนียก็ไม่เคยประกาศรับรองเอกราชให้กับดินแดนพิพาทนี้เช่นกัน อีกทั้งในเมื่อไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมายในฐานะดินแดนของอาร์เมเนีย องค์การ CSTO หรือ ‘NATO ค่ายรัสเซีย’ ที่นำโดยรัสเซียก็ไม่มีพันธะทางกฎหมายในการปกป้องดินแดนนี้ให้อาร์เมเนีย (ทำได้เพียงเข้ามาไกล่เกลี่ยไม่ให้สองฝ่ายยิงกัน)

 

เรียกได้ว่าเปิดช่องโหว่ ‘ระเบิดเวลา’ ให้กับตัวเองโดยไม่รู้ตัวมานานกว่า 30 ปี

 

เวลา 3 ทศวรรษมากพอที่จะหล่อหลอมให้เกิดปัจจัยต่างๆ เกื้อหนุนให้ฝ่ายอาเซอร์ไบจานมีความแข็งแกร่งและเหนือกว่าอาร์เมเนียหลายขุม อาทิ อาเซอร์ไบจานเป็นประเทศที่มีพื้นที่ติดทะเลแคสเปียน อันเป็นขุมทรัพย์ทางปิโตรเลียมที่สำคัญที่นำรายได้มาอุ้มชูเศรษฐกิจอาเซอร์ไบจานให้แข็งแกร่ง รวมไปถึงการพัฒนากองทัพให้แข็งแกร่งมากขึ้นเช่นกัน ในขณะที่อาร์เมเนียเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเล (Landlocked Country) และพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ทั้งยังมีพื้นที่ขนาดเล็กกว่า จึงมีข้อจำกัดในการพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเอง

 

ปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศก็มีอิทธิพลต่อเหตุการณ์นี้ กล่าวคืออาเซอร์ไบจานสามารถเล่นบทบาทเป็นได้ทั้งเพื่อนบ้านที่ดีต่อทั้งรัสเซียและตุรกี ผู้มีเชื้อสาย ผู้คน ศาสนา และภาษาพูดที่ใกล้เคียงกันสนับสนุนมาโดยตลอด ในขณะที่อาร์เมเนียหัวเดียวกระเทียมลีบ ต้องพึ่งพารัสเซียเป็นหลัก แม้ว่ารัสเซียจะเคยมีบทบาทเป็นพี่ใหญ่ในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งของสองประเทศ โดยเฉพาะความขัดแย้งในปี 2020 ที่ลุกลามใหญ่โต รัสเซียก็ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้ามากู้สถานการณ์ทัน เพื่อไม่ให้ฝ่ายอาร์เมเนียแพ้มากเกินไป แต่ทว่าในยุคปี 2023 รัสเซียยังคงติดพันสงครามในยูเครนจนไม่สามารถกลับมาเล่นบทบาทเป็นพี่ใหญ่เต็มกำลังได้เหมือนเดิม เปิดช่องให้อาเซอร์ไบจานใช้โอกาสนี้ในการนำกำลังเข้าบุกยึดและเข้าควบคุมแคว้นนากอร์โน-คาราบัคได้อย่างเด็ดขาด (แต่ทางฝ่ายผู้นำอาเซอร์ไบจานก็ให้คำมั่นเช่นกันว่าจะปกป้องสิทธิของชาวบ้านเชื้อสายอาร์เมเนีย)

 

กว่าอาร์เมเนียจะตั้งรับเหตุการณ์นี้ได้ก็สายไปเสียแล้ว ได้แต่กล่าวโทษทุกฝ่ายทั้งรัสเซียที่ไม่ช่วย ทั้งอาเซอร์ไบจานและตุรกีที่รวมหัวกันเล่นงาน จนกลุ่มกองกำลังติดอาวุธตัดสินใจยอมแพ้และปลดอาวุธ ทำให้ผู้คนเชื้อสายอาร์เมเนียนับแสนคนที่เกิดและเติบโตในแคว้นนากอร์โน-คาราบัคของอาเซอร์ไบจาน ตัดสินใจทิ้งบ้านเกิดและอพยพไปตั้งรกรากอยู่ที่อาร์เมเนียแทน เนื่องจากหวั่นถูกเลือกปฏิบัติและถูกกวาดล้างชาติพันธุ์

 

ต่อไปนี้เขตการปกครองตนเองที่ชื่อว่านากอร์โน-คาราบัค หรืออาร์ตซัค ก็คงเหลือเพียงตำนานที่ไร้ผู้คนเชื้อสายอาร์เมเนียอาศัยอยู่

 

เพราะความเป็นรัฐบาลของนากอร์โน-คาราบัคจะสิ้นสุดอำนาจลงแล้ว หลัง ซัมเวล ชาห์รามันยัน ประธานาธิบดีของกลุ่มประชาชนเชื้อสายอาร์เมเนียในภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค ออกกฤษฎีกาสั่งยุบดินแดนแห่งนี้ในเดือนมกราคม 2024 เป็นอันสิ้นสุดการดำรงอยู่ของเขตการปกครองดังกล่าวอย่างเป็นทางการ 

 

แฟ้มภาพ: Knovakov / Shutterstock

อ้างอิง: 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising