×

ผิดหรือที่จะไม่นับถือศาสนา? เมื่อความเชื่อและความไม่เชื่อต้องอยู่ร่วมสังคมเดียวกัน

18.03.2021
  • LOADING...
ไม่นับถือศาสนา

HIGHLIGHTS

  • ภาพรวมปรากฏการณ์ของผู้ไม่นับถือศาสนาทั่วโลก จากผลสำรวจองค์กรพิว (The Pew Forum on Religion & Public Life) พบว่าจำนวนคนที่ไม่นับถือศาสนา (Irreligious Persons) ทั่วโลก เพิ่มมากขึ้นสูงถึง 1,100 ล้านคน มากเป็นอันดับสาม รองจากผู้นับถือศาสนาคริสต์และอิสลาม 
  • ปัญหาหนึ่งในเรื่องการนับถือศาสนาในสังคมไทยคือ เราไม่เคยมองว่าการนับถือศาสนาเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตย หนำซ้ำยังมองข้ามไปว่าสิ่งเหล่านี้เป็นคนละเรื่องกัน ศาสนาคือเรื่องของศาสนา ประชาธิปไตยหรือเรื่องสิทธิเสรีภาพคือเรื่องทางโลก สองสิ่งนี้ไม่ควรเกี่ยวข้องหรือนำมายุ่งเกี่ยวกัน นี่คือมายาคติที่เป็นปัญหา ทั้งที่สิ่งเหล่านี้คือเรื่องเดียวกันและไม่สามารถแยกขาดจากกันได้
  • คนรุ่นเก่าหรือคนที่เชื่อในศาสนาก็มักจะโจมตีว่าคนรุ่นใหม่คือพวกล้างขนบจารีต ทำลายวัฒนธรรมอันดีงาม ส่วนคนรุ่นใหม่หรือผู้ที่ยึดหลักวิทยาศาสตร์เป็นแกนในการดำเนินชีวิต ก็มักมองว่าคนพวกนั้นงมงาย ไร้สาระ ไม่เป็นสมัยใหม่ ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น

ในสังคมไทย เรื่องการไม่นับถือศาสนาถือเป็นประเด็นใหญ่และเป็นปรากฏการณ์สำคัญหนึ่งของสังคมวันทุกวันนี้ เด็กรุ่นใหม่หลายต่อหลายคนมีปัญหากับครอบครัวด้วยเหตุผลดังกล่าวจำนวนมาก 

 

ครั้งหนึ่งมีน้องที่รู้จักกับผู้เขียนมาปรึกษาว่าทะเลาะกับพ่อแม่ เพราะอยากจะออกจากศาสนาที่ตนเองนับถืออยู่ เขาบอกว่าไม่อยากไปร่วมกิจกรรมหรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เพราะรู้สึกว่าไม่ได้อะไรจากสิ่งเหล่านั้น และซ้ำร้ายเขามองว่ากฎเกณฑ์ทางศาสนากลายเป็นข้อจำกัดในการใช้ชีวิตของเขาอีกด้วย ถือเป็นเสียงสะท้อนของปัญหาหนึ่งจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

 

ทีนี้หากมาดูภาพรวมปรากฏการณ์ของผู้ไม่นับถือศาสนาทั่วโลก จากผลสำรวจองค์กรพิว (The Pew Forum on Religion & Public Life) พบว่าจำนวนคนที่ไม่นับถือศาสนา (Irreligious Persons) ทั่วโลก เพิ่มมากขึ้นสูงถึง 1,100 ล้านคน มากเป็นอันดับสาม รองจากผู้นับถือศาสนาคริสต์และอิสลาม 

 

โดยประเทศที่มีผู้ไม่นับถือศาสนามากที่สุดคือประเทศจีน 700 ล้านคน รองลงมาคือประเทศญี่ปุ่น 72 ล้านคน และสหรัฐอเมริกากว่า 51 ล้านคน ส่วนในสังคมไทย นักวิชาการด้านศาสนวิทยากล่าวว่า แม้ยังไม่มีสถิติที่แน่ชัด แต่คาดการณ์ว่ามีผู้ไม่นับถือศาสนาเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 20 โดยระบุถึงสาเหตุหลักๆ ว่าคนจำนวนมากมองว่าศาสนาไม่จำเป็นต่อชีวิต ทำให้งมงาย รวมถึงเกิดจากความผิดหวังกับบุคคลทางศาสนา

 

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจจากปรากฏการณ์ดังกล่าว คืองานวิจัยโดย พิปปา นอร์ริส และ รอนอลด์ อิงเกิลฮาร์ท เปิดเผยว่า สังคมที่มีระบบสาธารณสุขดี มีระบบกระจายอาหารดี มีที่อยู่อาศัยเพียงพอ มีความยากจนต่ำ และมีความเท่าเทียมกันสูง คนในสังคมนั้นยิ่งมีแนวโน้มที่จะไม่นับถือศาสนาเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม สังคมที่ชีวิตคนไม่แน่นอน ความกินอยู่แร้นแค้น และมีความเสี่ยงจะเสียชีวิตสูง คนจะยิ่งเคร่งครัดศาสนา

 

จริงๆ ในกรณีนี้ก็ถือว่าไม่แปลกมาก เพราะหากดูตามหลักการพื้นฐานการเกิดขึ้นของศาสนา เหตุผลสำคัญของการกำเนิดเกิดขึ้นคือ เพื่อมาตอบสนองสภาวะความไม่มั่นคงของชีวิตของมนุษย์ เช่นเดียวกับการกำเนิดของศาสนาแรกๆ ของโลก อย่างศาสนาบูชาผีหรือบูชาธรรมชาติ (Animism) เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะฟ้าร้อง ฟ้าผ่า น้ำท่วม คนในยุคนั้นไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านั้นได้ และปรากฏการณ์เหล่านั้นก็ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในการใช้ชีวิตของคน มนุษย์จึงสร้างศาสนาขึ้นมาเพื่อบูชาอ้อนวอนใช้เป็นเครื่องมือสร้างทางจิตใจ 

 

อย่างไรก็ตาม แม้โลกจะวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน มนุษย์สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ หรือมีวิทยาศาสตร์มาช่วยผู้คนค้นหาความจริงกับเหตุการณ์ต่างๆ ได้แล้ว แต่สภาวะความไม่มั่นคงในชีวิตของมนุษยก็ไม่ได้หายไปไหน แต่กลับเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบอื่นๆ เช่น การแข่งขันในการทำธุรกิจ การต่อสู้เพื่อความอยู่รอดในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม หรือแม้แต่การต่อสู้กับสภาวะบางสิ่งบางอย่างที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถตอบสนองได้ กรณีที่เห็นได้ชัดที่สุดหากจะยกตัวอย่างคือ กรณีผู้ป่วยโรงมะเร็งระยะสุดท้ายที่วิทยาศาสตร์หมดหนทางที่จะให้คำตอบสำหรับชีวิตมนุษย์แล้ว สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสภาวะความไม่มั่นคงในรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ยุคปัจจุบัน

 

กลับมาสู่คำถามที่เป็นปัญหาโจทย์หลักของบทความนี้คือ ผิดหรือไม่ที่จะไม่นับถือศาสนา ผู้เขียนคิดว่าคำถามนี้เป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะตอบได้ว่าผิดหรือไม่ เพราะเรื่องเหล่านี้ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคล ซึ่งถือเป็นสิทธิเสรีภาพของแต่ละบุคคล คนไม่เชื่อเขาก็บอกว่าไม่ผิดที่จะไม่มีศาสนา ส่วนคนที่เชื่อก็มองว่าเป็นเรื่องผิดเพราะทำลายขนบ แต่สิ่งสำคัญคือเราไม่ควรเอาความเชื่อ (ทั้งที่เชื่อว่าผิดหรือเชื่อว่าไม่ผิด) ของเราเองไปยัดเยียดหรือกดทับความเชื่อของคนอื่น อันนี้ต่างหากที่น่าจะเป็นประเด็นที่เราทุกคนควรจะตระหนัก

 

ทีนี้คำถามคือแล้วอะไรที่เป็นปัญหา แล้วอะไรที่ควรจะเป็นจุดกึ่งกลางทางออกของปัญหา ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าสนใจมากกว่า 

 

ปัญหาหนึ่งในเรื่องการนับถือศาสนาในสังคมไทยคือ เราไม่เคยมองว่าการนับถือศาสนาเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตย หนำซ้ำยังมองข้ามไปว่าสิ่งเหล่านี้เป็นคนละเรื่องกัน ศาสนาคือเรื่องของศาสนา ประชาธิปไตยหรือเรื่องสิทธิเสรีภาพคือเรื่องทางโลก สองสิ่งนี้ไม่ควรเกี่ยวข้องหรือนำมายุ่งเกี่ยวกัน นี่คือมายาคติที่เป็นปัญหา ทั้งที่สิ่งเหล่านี้คือเรื่องเดียวกันและไม่สามารถแยกขาดจากกันได้

 

ที่น่าสนใจมายาคตินี้ต้องบอกว่าไม่ได้มีเฉพาะในกลุ่มแนวคิดอนุรักษนิยมเท่านั้น แต่ยังปรากฏอยู่เป็นจำนวนมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือกลุ่มคนที่เรียกร้องประชาธิปไตยด้วย 

 

คนรุ่นเก่าหรือคนที่เชื่อในศาสนาก็มักจะโจมตีว่าคนรุ่นใหม่คือพวกล้างขนบจารีต ทำลายวัฒนธรรมอันดีงาม ส่วนคนรุ่นใหม่หรือผู้ที่ยึดหลักวิทยาศาสตร์เป็นแกนในการดำเนินชีวิต ก็มักมองว่าคนพวกนั้นงมงาย ไร้สาระ ไม่เป็นสมัยใหม่ ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น

 

ดังนั้นแกนกลางทางออกของปัญหาจึงไม่ใช่อยู่ที่ว่าคุณจะนับถือศาสนาหรือไม่ หรือถกเถียงกันว่าอะไรดีกว่ากัน แกนกลางทางออกหลักที่ผู้เขียนอยากเสนอ ประการแรกเลยคือ เราต้องทำลายมายาคติที่มองว่าศาสนาคือคนละเรื่องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตยออกก่อน

 

ประการที่สองคือ เราทุกคนต้องสร้างชุดการรับรู้และความเข้าใจใหม่ว่าการนับถือศาสนาหรือไม่นับถือศาสนาเป็น ‘สิทธิเสรีภาพ’ ขั้นพื้นฐานประการหนึ่งภายใต้หลักการประชาธิปไตย คุณมีสิทธิและเสรีภาพที่จะนับถือศาสนา และคุณก็มีสิทธิและเสรีภาพที่จะไม่นับถือศาสนา คนที่เลือกที่จะนับถือก็ไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ใช่งมงายไร้สาระ เพราะสิ่งเหล่านั้นก็อาจจะมีคุณค่าบางอย่างในชีวิตและตัวตนของเขา พูดให้ถึงที่สุด แม้หลายคนที่ไม่นับถือศาสนาจะมองว่ามันงมงาย ไร้สาระ ไม่เป็นเหตุเป็นผล เขาก็มีสิทธิที่จะเชื่อหรืองมงาย เรามีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ แต่เราไม่มีสิทธิไปเหยียดเขา ดังนั้นคำตอบจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าอะไรดีกว่ากัน แต่คำตอบมันควรจะอยู่ที่ว่าคนๆ นั้นถือสิทธิส่วนบุคคล ส่วนใครจะมองว่าความเชื่อเหล่านั้นค้ำยันโครงสร้างอำนาจแบบอุปถัมภ์ที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน อันนั้นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งไว้ต้องคุยกันต่อ

 

ดังนั้นกล่าวโดยสรุปหากจะถามว่า “ผิดหรือไม่ผิด” ถ้าจะ ‘นับถือ’ หรือ ‘ไม่นับถือ’ ศาสนา คำตอบที่ได้คือ “ตอบไม่ได้” เพราะส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าการตั้งคำถามลักษณะนี้ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรมากนัก ส่วนตัวกลับมองว่าสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าคือคำถามที่ว่า “อะไรคือจุดกึ่งกลาง” “อะไรคือแกนกลาง” ที่ความเชื่อและความไม่เชื่อนี้จะอยู่ด้วยกันได้ ซึ่งผู้เขียนก็ได้เสนอไปเบื้องต้นแล้ว คือ ต้องทำลายมายาคติที่เข้าใจว่าศาสนากับสิทธิเสรีภาพเป็นคนละเรื่องไม่ควรยุ่งเกี่ยวกันออกไปให้หมด และสร้างชุดความเข้าใจใหม่ว่า ความเชื่อหรือความไม่เชื่อเป็นสิทธิเสรีภาพที่สำคัญประการหนึ่งภายใต้หลักการของประชาธิปไตย

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising