หลังขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2017 ได้ไม่นาน โดนัลด์ ทรัมป์ ก็เปิดฉากไล่กดดันอิหร่านอย่างที่ไม่เคยมีประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใดเคยทำมาก่อน เริ่มต้นจากการถอนตัวแต่เพียงฝ่ายเดียวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘แผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม’ (Joint Comprehensive Plan of Action: JCPOA) อันเป็นความตกลงระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งมีการลงนามกันเมื่อปี 2015 ระหว่างประเทศอิหร่านกับ P5+1 (สมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา บวกเยอรมนี) และสหภาพยุโรป
นอกจากจะถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านแล้ว สหรัฐฯ ยังประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านในระดับสูงสุด ทั้งยังได้ประกาศขึ้นบัญชีดำให้กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (Islamic Revolutionary Guards Corps: IRGC) เป็นองค์การก่อการร้ายอีกด้วย
ทั้งนี้ IRGC ถือเป็นกองกำลังทหารชั้นดีที่สุดของอิหร่าน ก่อตั้งขึ้นไม่นานหลังการปฏิวัติอิหร่านเมื่อปี 1979 เพื่อทำหน้าที่ปกป้องระบอบการปกครองของผู้นำสูงสุด เป็นกองกำลังทหารที่ทรงอิทธิพลทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจในอิหร่าน และมีบทบาทแผ่ขยายอิทธิพลของอิหร่านไปยังพื้นที่อื่นๆ ในตะวันออกกลาง (BBC 18 ตุลาคม 2009) ด้วยความสำคัญของ IRGC จึงไม่แปลกที่สหรัฐฯ จะพุ่งเป้าโจมตีไปที่หน่วยงานอันเป็น ‘แก่นกลางโครงสร้าง’ ของระบอบการปกครองอิหร่านนี้
ล่าสุด สหรัฐฯ ยังยกเลิกมาตรการผ่อนปรนที่ให้บางประเทศสามารถซื้อขายน้ำมันกับอิหร่านได้ในปริมาณจำกัด หมายความว่านับจากวันที่ 2 พฤษภาคม 2019 เป็นต้นไป สหรัฐฯ จะไม่ยอมให้น้ำมันของอิหร่านสามารถส่งออกไปขายในตลาดโลกได้อีก เรื่องนี้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอิหร่านอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะรายได้จากการขายน้ำมันคือท่อหล่อเลี้ยงสำคัญทางเศรษฐกิจของอิหร่าน
เท่านั้นยังไม่พอ สหรัฐฯ ยังส่งเรือโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก 1 ลำ และชุดระบบขีปนาวุธต่อต้านการโจมตีทางอากาศ ‘แพทริออต’ ไปเสริมความแข็งแกร่งให้เรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี และเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์แบบ B-52 ซึ่งได้ออกเดินทางเข้าไปประจำการในอ่าวเปอร์เซียก่อนหน้านี้แล้ว
ความเคลื่อนไหวทั้งหมดเหล่านี้หมายความชัดเจนว่า สหรัฐฯ กำลังเพิ่มความกดดันเข้าใส่อิหร่านอย่างหนักหน่วง
อะไรคือทางเลือกของอิหร่านท่ามกลางแรงกดดันรอบด้าน
ยุทธศาสตร์การตอบโต้ที่อิหร่านเลือกใช้นับตั้งแต่ทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใหม่ๆ ถือว่าไม่ค่อยได้ผลมากนัก ในระยะแรกรัฐบาลอิหร่านเลือกใช้แนวทางสายกลาง หรืออาจเรียกว่าเป็นการใช้เครื่องมือทางการทูต ไม่ต้องการเผชิญหน้า และยอมที่จะอยู่ภายใต้กฎกติกาตามข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ได้ลงนามไว้กับชาติมหาอำนาจ แม้จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ แต่อิหร่านก็มุ่งรักษาไว้ซึ่งความชอบธรรมทางการเมือง หวังเพียงว่าตนเองจะได้รับการปกป้องคุ้มครองและได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทดแทนจากมหาอำนาจอื่นๆ ที่ลงนามร่วมกันในข้อตกลงนิวเคลียร์ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป
ทั้งนี้สหภาพยุโรปถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญยิ่งของอิหร่าน ทั้งในฐานะผู้ส่งออกและนำเข้า ปริมาณการค้าระหว่างกันมีมากกว่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 40 ของปริมาณการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของอิหร่าน ขณะเดียวกัน อิหร่านก็สามารถอาศัยสหภาพยุโรปเป็นตัวถ่วงดุลและลดแรงเสียดทานจากสหรัฐฯ เพราะขณะนี้นอกเหนือจากรัสเซียแล้ว สหภาพยุโรปถือเป็นขั้วอำนาจที่สหรัฐฯ ไม่สามารถมองข้ามความสำคัญได้ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการในตะวันออกกลาง นอกจากนี้สหภาพยุโรปยังเป็นตัวหลักสำคัญในการช่วยพัฒนาความเจริญทางเทคโนโลยีด้านต่างๆ ให้กับอิหร่านผ่านความร่วมมือระดับทวิภาคี ตลอดจนได้เข้ามาช่วยอิหร่านในปัญหายาเสพติดและปัญหาผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานที่มีอยู่จำนวนมากในอิหร่าน (ดลยา เทียนทอง, 2549: 61-62)
อย่างไรก็ตาม การใช้แนวทางการทูตดังกล่าวและการปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์อย่างเคร่งครัดของอิหร่านดูเหมือนจะไม่ได้ผล อิหร่านต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจอันเป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ อย่างหนัก ขณะที่สหภาพยุโรปก็ไม่สามารถช่วยอะไรอิหร่านได้มากนัก ด้วยเหตุนี้อิหร่านจึงได้ประกาศแสดงท่าทีตอบโต้สหรัฐฯ โดยข่มขู่ว่าจะลดพันธสัญญาบางส่วนที่กำหนดอยู่ในข้อตกลงนิวเคลียร์ และหันกลับมาดำเนินกิจกรรมพัฒนานิวเคลียร์ภายใน 6 เดือน ความจริงแล้วหากอิหร่านจะทำเช่นนั้นจริงก็ไม่ถือว่าอิหร่านละเมิดข้อตกลง เพราะตามมาตรา 26 และ 36 ของข้อตกลง ซึ่งระบุเปิดทางให้อิหร่านสามารถยกเลิกพันธสัญญาของตนเองบางส่วนหรือทั้งหมดได้หากว่าสหรัฐฯ และฝ่ายอื่นๆ ที่เข้าร่วมไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี กล่าวว่า “มันจะเป็นก้าวย่างแรกของอิหร่านในการแสดงปฏิกิริยาตอบโต้สหรัฐฯ ที่ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ เช่นเดียวกับความล้มเหลวของยุโรปในการทำตามสัญญา” (BBC 8 พฤษภาคม 2019)
เมื่อแนวทางทางการทูตใช้ไม่ได้ผลอิหร่านก็คงแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้นเพื่อตอบโต้สหรัฐฯ เป็นธรรมดา มีความเป็นไปได้ว่าอิหร่านอาจเลือกใช้แนวทางไม่เฉพาะแค่ลดการปฏิบัติตามพันธสัญญาบางประการของข้อตกลงนิวเคลียร์เท่านั้น แต่อาจถึงขั้นถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้ พร้อมๆ กับยกเลิกการเป็นภาคีสมาชิกของสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Non-Proliferation of Nuclear Weapons หรือเรียกทั่วไปว่า Non-Proliferation Treaty หรือ NPT) ซึ่งอิหร่านได้ลงนามไว้ในปี 1968 และกลับไปเริ่มพัฒนาโครงการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเพื่อการผลิตอาวุธนิวเคลียร์อย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง สถานการณ์เช่นนี้จะทำให้เกิดความตึงเครียดอย่างหนัก และอาจทำให้สหรัฐฯ ตัดสินใจใช้ปฏิบัติการทางทหารเข้าไปทำลายสถานที่ต้องสงสัยว่าเป็นโรงงานนิวเคลียร์ในประเทศอิหร่าน
แต่ถึงอย่างนั้น แนวทางการกลับไปเริ่มพัฒนาโครงการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเพื่อการผลิตอาวุธนิวเคลียร์เต็มรูปแบบก็นับเป็นทางเลือกที่สามารถกดดันสหรัฐฯ เหมือนที่อิหร่านเคยทำสำเร็จในยุคของประธานาธิบดีบารัก โอบามา จนทำให้สหรัฐฯ ขณะนั้นต้องยอมเจรจาจนบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน แนวทางอย่างนี้ก็อาจใช้กดดันประธานาธิบดีทรัมป์ได้เช่นกันเพื่อให้สหรัฐฯ กลับมาเจรจาตกลงกับอิหร่านใหม่ โดยปราศจากการตั้งเงื่อนไขกดดันอิหร่านอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
แต่เนื่องด้วยแนวทางการหันกลับไปพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์คงต้องใช้เวลานาน แนวทางอย่างนี้จึงอาจถูกมองจากอิหร่านว่าคงไม่เกิดประสิทธิผลในระยะสั้นท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่อิหร่านกำลังเผชิญอยู่ เพราะยิ่งยื้อเวลาออกไปเศรษฐกิจของอิหร่านก็จะยิ่งเสียหายหนักขึ้น ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่อิหร่านจะเลือกใช้แนวทางที่เกิดประสิทธิภาพในเวลาที่สั้นที่สุด คือการทำลายและสร้างความเสียหายให้กับเรือบรรทุกน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย หรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็น 2 ประเทศที่ประกาศพร้อมที่จะผลิตและส่งออกน้ำมันเพิ่ม ทดแทนน้ำมันของอิหร่านที่จะขาดหายไปในตลาดโลก
มาตรการสำคัญอีกอย่างของอิหร่านคือการอ้างเหตุผลต่างๆ นานาเพื่อปิดช่องแคบฮอร์มุซที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของอิหร่านมาเป็นเวลานาน ช่องแคบนี้ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่อิหร่านใช้ต่อรองทางการเมืองกับสหรัฐฯ เพราะเป็นช่องทางสำคัญที่ผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางใช้ส่งน้ำมันออกไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ
สำหรับอิหร่านแล้ว แนวทางอย่างนี้อาจสามารถกดดันประธานาธิบดีทรัมป์ได้เป็นอย่างดี เพราะหากอิหร่านเลือกใช้วิธี ‘ทำลาย’ อย่างนี้ ผลกระทบกับราคาน้ำมันโลกก็จะเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง จึงไม่แปลกที่ล่าสุดสหรัฐฯ จะส่งเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี และเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์แบบ B-52 ออกไปประจำการ ณ อ่าวเปอร์เซีย จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ อ้างการส่งกองกำลังของสหรัฐฯ ดังกล่าวเข้าอ่าวเปอร์เซียว่า เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ สำหรับตอบโต้การโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐฯ หรือพันธมิตรในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทั้งโดยฝีมือของกลุ่มตัวแทน กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน หรือการโจมตีโดยกองทัพอิหร่านตรงๆ เขายังกล่าวอีกว่า “สหรัฐฯ จะโจมตีแบบไม่ยั้ง ถ้าผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ถูกอิหร่านโจมตี” (BBC 14 พฤษภาคม 2019)
แนวทางกดดันอิหร่านอย่างหนักหน่วงใช้ได้ผลหรือไม่
แม้สหรัฐฯ จะตัดสินใจส่งเรือบรรทุกเครื่องบินและเครื่องบินทิ้งระเบิดไปยังอ่าวเปอร์เซียเพื่อกดดันอิหร่าน แต่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ออกมาแถลงหลังจากนั้นไม่นานว่า สหรัฐฯ ไม่ต้องการทำสงครามหรือก่อความขัดแย้งกับอิหร่าน (BBC. 14 พฤษภาคม 2019) ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ก็กล่าวเรียกร้องให้คนในชาติรวมใจเป็นหนึ่ง เพราะสถานการณ์ขณะนี้ อิหร่านถูกกดดันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้สภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ยิ่งกว่าเมื่อครั้งที่ประเทศทำสงครามอิรัก-อิหร่านเมื่อปี 1980-1988 ประธานาธิบดีรูฮานี กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “ช่วงที่เรามีสงคราม เราไม่ได้มีปัญหาธนาคาร ไม่มีปัญหาการขายน้ำมัน หรือส่งออกนำเข้า และการแซงก์ชันก็จำกัดอยู่เพียงการขายอาวุธ แต่แรงกดดันจากศัตรูครั้งนี้ คือสงครามที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของเรา…” (ข่าวสดออนไลน์ 13 พฤษภาคม 2562)
ดูจากท่าทีของทั้ง 2 ฝ่ายอาจพอสรุปได้ว่า สหรัฐฯ เองภายใต้การนำของทรัมป์ไม่ได้ต้องการที่จะทำให้ความตึงเครียดกับอิหร่านระลอกล่าสุดบานปลายกลายเป็นสงคราม ในขณะที่อิหร่านเองก็ไม่ต้องการเห็นประเทศและประชาชนของตนเองเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสอย่างที่อิหร่านไม่เคยเจอมาก่อนอันเกิดจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ฉะนั้นประเด็นใหญ่ขณะนี้จึงไม่ใช่คำถามว่าจะเกิดสงครามหรือไม่ เพราะทั้ง 2 ฝ่ายไม่ต้องการเสี่ยงใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายของตนเอง แต่คำถามที่น่าจับตาคือ สหรัฐฯ มีเป้าหมายอะไรในการใช้มาตรการกดดันอิหร่านอย่างหนักขณะนี้ และมาตรการกดดันที่ว่านี้จะใช้ได้ผลหรือไม่
อันที่จริงสหรัฐฯ มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการใช้มาตรการกดดันอิหร่าน ประการแรกสหรัฐฯ ต้องการให้อิหร่านยอมมาเจรจาทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ ใหม่เพื่อที่สหรัฐฯ จะวางเงื่อนไขจนแน่ใจได้ว่าอิหร่านจะไม่สามารถกลับมาพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้อีก
ประการต่อมาคือการหยุดยั้งไม่ให้อิหร่านเคลื่อนไหวขยายอิทธิพลในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างที่พฤติกรรมของอิหร่านบ่งชี้อยู่ในปัจจุบัน
และประการสุดท้ายคือ อิหร่านต้องไม่พัฒนาและทดลองขีปนาวุธอีกต่อไป ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านฉบับนี้ แม้จะมีความชัดเจนในเป้าหมาย แต่วิธีการที่จะบรรลุเป้าหมายของสหรัฐฯ เหล่านี้ไม่มีความชัดเจน มาตรการกดดันด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งบีบคั้นเศรษฐกิจอิหร่าน เรียกกองทัพ IRGC ของอิหร่านว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย เคลื่อนไหวให้เกิดการเปลี่ยนระบอบการปกครองจากภายใน ไม่ยอมให้อิหร่านส่งขายน้ำมันได้อีก วิธีการเหล่านี้ดูเหมือนจะใช้ไม่ได้ผลหากพิจารณาเหตุผลดังต่อไปนี้
ไม่มีทางหยุดยั้งอิหร่านส่งออกน้ำมัน
การที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการสกัดกั้นไม่ให้อิหร่านสามารถส่งน้ำมันออกไปขายในตลาดได้นั้น สหรัฐฯ อาจหวังผลอย่าน้อย 3 ประการด้วยกันคือ ประการแรก หวังว่าซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ประการต่อมาคือ คาดหวังว่าลูกค้ารายใหญ่ที่ซื้อน้ำมันจากอิหร่าน ไม่ว่าจะเป็นตุรกี อินเดีย และจีน จะลดการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านเนื่องจากกลัวมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ประการสุดท้าย อิหร่านขายน้ำมันได้น้อยลงหรือขายไม่ได้เลยจนทำให้อิหร่านมีรายได้ลดลง กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ
แต่ในความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นไปอย่างที่สหรัฐฯ คาดหวัง เพราะซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์คงไม่สามารถเพิ่มผลผลิตของตนเองทดแทนน้ำมันจากอิหร่านได้นานมากนักท่ามกลางความกังวลในภาวะผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะเดียวกัน น้ำมันอิหร่าน ซึ่งเป็นน้ำมันหนัก (Heavy Oil) หรือเป็นน้ำมันดิบที่มีความหนาแน่นสูง คงไม่สามารถทดแทนด้วยน้ำมันดิบที่เป็น ‘Light Crude’ ของซาอุดีอาระเบียได้ ด้วยเหตุนี้ ตุรกี, จีน, อินเดีย หรือแม้แต่สหภาพยุโรป ซึ่งต้องการน้ำมันชนิดที่มีอยู่ในอิหร่าน ก็ต้องหาทางเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เพื่อนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านอยู่ดี ขณะเดียวกัน อิหร่านเป็นประเทศที่มีอิทธิพลเหนือช่องแคบฮอร์มุซ ที่ผ่านมาอิหร่านก็ประกาศจะปิดช่องแคบนี้เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ อีกทั้งอิหร่านยังสามารถใช้วิธีโจมตีโครงสร้างพื้นฐานของการผลิตและการส่งขายน้ำมันของประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอ่าวเปอร์เซียได้
คว่ำบาตรอาจไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมอิหร่านได้
การใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านในระดับสูงสุด และประกาศขึ้นบัญชีดำให้กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (Islamic Revolutionary Guards Corps: IRGC) เป็นองค์การก่อการร้ายสากล ถูกออกแบบมาให้มีเป้าหมายอย่างหนึ่งคือ การหยุดยั้งไม่ให้อิหร่านเคลื่อนไหวขยายอิทธิพลออกไปในพื้นที่ต่างๆ ของตะวันออกกลาง แต่เป้าหมายอย่างนี้คงจะไม่สามารถบรรลุความสำเร็จได้ง่ายๆ เพราะสำหรับอิหร่านแล้ว การสนับสนุนช่วยเหลือพันธมิตรของตนเองในภูมิภาค ทั้งประเทศอิรัก ซีเรีย เลบานอน และเยเมน ถือเป็นผลประโยชน์สำคัญของชาติที่อิหร่านไม่สามารถแลกกับอะไรได้ พันธมิตรเหล่านี้คือเกราะกำบังอย่างดีของอิหร่านที่ต้องเผชิญกับศึกหลายด้าน ทั้งอิสราเอล พันธมิตรอาหรับ และมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ แม้อิหร่านจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากไปกับการสนับสนุนค้ำจุนรัฐและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ซึ่งเป็นพันธมิตรเหล่านี้ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจของตนเองก็ตาม
การเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นแค่เรื่องเพ้อฝัน
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ ปอมเปโอ อธิบายว่า การที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการกดดันอิหร่านอย่างถึงที่สุดขณะนี้ “เป้าหมายก็เพื่อให้อิหร่านหันกลับมาสู่โต๊ะเจรจา” คำพูดอย่างนี้จะเชื่อได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน แต่ที่แน่ๆ คือทั้ง ไมค์ ปอมเปโอ และ จอห์น โบลตัน เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายว่าเป็นฝ่ายที่สนับสนุนนโยบายเปลี่ยนระบอบการปกครอง (Regime Change) ในตะวันออกกลางมาตั้งนานแล้ว โดยเฉพาะการนำกำลังเข้าไปโค่นล้ม ซัดดัม ฮุสเซน เพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองในอิรักเมื่อปี 2003 ในประเด็นนี้ ซัยยิด ฮุสเซน มุซาเวียน นักยุทธศาสตร์ชาวอิหร่าน ซึ่งเคยเป็นโฆษกให้คณะผู้เจรจานิวเคลียร์อิหร่านมาแล้วในอดีต ได้เขียนบทความไว้ในเว็บไซต์ Middle East Eye ซึ่งอธิบายอย่างน่าสนใจว่า “สหรัฐฯ กำลังวางกำลังเข้าปิดล้อมอิหร่านในวิถีทางทำนองเดียวกับวิธีซึ่งคณะบริหารของ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ได้เคยกระทำในตอนที่เตรียมการเข้าทำสงครามอย่างผิดกฎหมาย เพื่อเปลี่ยนการปกครองของอิรัก” (Seyed Hossein Mousavian: 2019)
ถึงอย่างนั้น กรณีของอิหร่านย่อมไม่เหมือนอิรัก เพราะปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าการเปลี่ยนระบอบการปกครองจะสำเร็จหรือไม่ คือความชอบธรรมของรัฐบาลในสายตาประชาชนทั่วไป กรณีของอิรัก ประชากรส่วนใหญ่ในอิรักเห็นพ้องที่จะถอดถอนโค่นล้มผู้นำ ทำให้การเข้าไปเปลี่ยนระบอบการปกครองของสหรัฐฯในปี 2003 เป็นเรื่องง่าย ในทางตรงข้าม กรณีอิหร่าน รัฐบาลและผู้นำของประเทศยังมีความชอบธรรมอยู่สูงในหมู่ประชาชน แม้จะมีฝ่ายต่อต้านบ้าง แต่คนเหล่านั้นก็ไม่ได้มีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนระบอบการปกครองในอิหร่านได้ ขณะเดียวกันอิหร่านปัจจุบันก็ยังได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรอย่างแนบแน่น ทั้งมหาอำนาจอย่างจีนและรัสเซีย แน่นอนว่ามาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้อิหร่านเกิดความยากลำบากทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจัยเพียงเท่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะสามารถเปลี่ยนระบอบการปกครองจากภายในของอิหร่านได้ หรือมันจะมีพลังมากพอที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของอิหร่านในการเคลื่อนไหวขยายอิทธิพลในตะวันออกกลางได้
ในทางกลับกัน มาตรการกดดันของสหรัฐฯ ต่ออิหร่านจะสร้างความทุกข์ยากให้ประชาชนพลเมืองของอิหร่าน อีกทั้งเพิ่มความขัดแย้งและความตึงเครียดมากยิ่งขึ้นในตะวันออกกลาง อันจะเกิดรอยร้าวความแตกแยกระหว่างสหรัฐฯ กับชาติพันธมิตรในยุโรปเอง ขณะเดียวกันความตึงเครียดกับอิหร่านอาจนำไปสู่การปะทะ เผชิญหน้า และสุดท้ายผลเสียหายก็อาจย้อนกลับมาทำร้ายสหรัฐอเมริกาเองในภายหลัง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- ดลยา เทียนทอง. “ปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน: ระเบิดเวลาที่นับถอยหลัง”. เอเชียปริทัศน์. กรกฎาคม-ธันวาคม 2549. หน้า 48-77.
- Seyed Hossein Mousavian. “As the US pushes Iran to the brink, Tehran may need to get tough”. middleeasteye.net. 6 May 2019. สืบค้นได้ใน www.middleeasteye.net/opinion/irans-risky-options
- “Profile: Iran’s Revolutionary Guards”. BBC. 18 October 2009. สืบค้นได้ใน news.bbc.co.uk/2/hi/middle_east/7064353.stm
- “นิวเคลียร์: อิหร่านจะเริ่มไม่ทำตามข้อตกลงนิวเคลียร์แล้ว”. BBC. 8 พฤษภาคม 2019. สืบค้นได้ใน www.bbc.com/thai/international-48200748
- คมปทิต สกุลหวง. สหรัฐฯ ฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน โหมเพลิงความขัดแย้งครั้งใหม่ให้โลก. The Standard. 11 พฤษภาคม 2018. สืบค้นได้ใน thestandard.co/trumps-iran-nuclear-deal
- “US does not seek war with Iran, says Mike Pompeo”. BBC. 14 May 2019. สืบค้นได้ใน www.bbc.com/news/world-middle-east-48272208
- “อัพเดตแสนยานุภาพทัพสหรัฐ เคลื่อนเข้าอ่าวเปอร์เซีย ล้อมอิหร่าน”. ข่าวสดออนไลน์. 13 พฤษภาคม 2562. สืบค้นได้ใน www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_2508633