×

3 คำตอบ: กรณีสหรัฐฯ-อิหร่าน ไม่ค่อยกระทบเศรษฐกิจ-ค่าเงินบาท เพราะอะไร?

10.01.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งสหรัฐฯ-อิหร่าน เพราะไทยมีการส่งออกไปตะวันออกกลางราว 2.8% แต่ส่งผลกระทบบางส่วนต่อราคาน้ำมัน ทองคำ ค่าเงินบาท
  • ราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นสูงในระยะสั้น แต่จะกลับสู่ระดับเดิมเพราะปัญหาซัพพลายน้ำมันล้นโลก 
  • ค่าเงินบาทยังอยู่ตัว เพราะมี ธปท. ดูแลผ่านเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่ช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสแข็งค่า ส่วนราคาทองคำแม้จะเพิ่มขึ้นสูง แต่เริ่มปรับลดลงแล้ว

หลังความขัดแย้งสหรัฐฯ-อิหร่านที่ปะทุเมื่อ 3 มกราคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลง ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้น แต่ราคาน้ำมันดิบที่เป็นต้นทุนของธุรกิจกลับเพิ่มสูงขึ้น แต่เรื่องเหล่านี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร 

 

กรุงไทยยันความขัดแย้งสหรัฐฯ-อิหร่านจบไว กระทบเศรษฐกิจไทยน้อย

จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดทุน สายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า ประเทศไทยไม่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับอิหร่านมากนัก ดังนั้นไทยเจอความไม่แน่นอนในตลาดสูงขึ้น ซึ่งตลาดไทยไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และน่าจะจบลงในระยะสองสัปดาห์นี้โดยไม่ลุกลามเป็นสงครามที่ต้องตั้งกลุ่มพันธมิตร ปัจจุบันยังไม่มีการจับมือเป็นพันธมิตรระหว่างกัน แต่ยังขู่กันทั้งสองประเทศ ดังนั้นนักลงทุนในตลาดจะเริ่มเคยชินกับสถานการณ์นี้ จนความกังวลลดลง

 

ขณะที่ผลกระทบต่อตลาดครั้งนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. ในระยะราคาน้ำมันพุ่งขึ้น ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง (อาจทำให้เงินบาทแข็งค่า) 2. ราคาทองคำเพิ่มขึ้น เพราะนักลงทุนหันไปลดสินทรัพย์เสี่ยงมาซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) 3.อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และทั่วโลกลดลงอย่างรวดเร็ว

 

 

ถึงดอลลาร์สหรัฐจะอ่อน แต่บาทไม่แข็งค่า เพราะ ธปท. คอยดูแล 

กรณีความขัดแย้งสหรัฐฯ-อิหร่าน คาดว่ายืดเยื้อในระยะสองสัปดาห์นี้ และคาดการณ์ว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอ่อนค่าในกรอบ 30.15-30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่า เพราะแม้ราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นทำให้นักลงทุนบางส่วนเข้าซื้อทองคำเพิ่ม แต่บางส่วนอาจต้องการขายทองคำเพื่อเก็งกำไร 

 

ปัจจุบันค่าเงินบาทยังอยู่ในทิศทางแข็งค่าจากโครงสร้างของไทยที่ยังเกินดุลการค้า แต่ช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทปรับอ่อนค่าขึ้น เพราะการดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่านเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูล ตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2562 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 222,960 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.73 ล้านล้านบาท) ซึ่งสูงกว่าสิ้นปี 2561 ที่อยู่ระดับ 205,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.20 ล้านล้านบาท)

 

กรอบการเงินบาท ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ 30.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยในระยะสั้นนี้มีโอกาสปรับตัวอ่อนค่าสูงสุดที่ 30.70-30.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนทิศทางหลังไตรมาส 2 และ 3 ปี 2563 นี้มีโอกาสที่ค่าเงินบาทและสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียจะแข็งค่าขึ้น หากดอลลาร์สหรัฐที่มีทิศทางอ่อนค่า เพราะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้คาดการณ์ว่า ณ ไตรมาส 4 ปี 2563 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 28.70-29.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

 

 

เมื่อโลกไม่ขาดแคลนน้ำมันดิบอีกต่อไป แต่โลกยังวุ่นวาย ต้องลงทุนอย่างไร

ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบโลก (เบรนท์) วันนี้ (10 มกราคม) อยู่ที่ 65.31 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปรับลดลงจากช่วงที่มีการตอบโต้รุนแรงที่ราว 68 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันที่ปรับลดลงสู่ระดับเดิม เพราะโลกยังมีปัญหาซัพพลายน้ำมันล้นตลาด

 

จิติพลกล่าวว่า ปัจจุบันซัพพลายน้ำมันล้นตลาดเพราะความต้องการใช้น้ำมันของทั้งโลกลดลง ขณะเดียวกันแม้น้ำมันจากอิหร่านหายไปจากตลาด ทว่าโลกจะไม่ขาดแคลนน้ำมันอีกต่อไป 

 

ทั้งนี้ปัจจุบันกำลังผลิตน้ำมันของอิหร่านทั้งหมดอยู่ที่ 3.8 ล้านบาร์เรล แต่มีการผลิตออกสู่ตลาดจริงที่ 2 ล้านบาร์เรล ขณะที่รายใหญ่อย่างซาอุดีอาระเบียมีกำลังการผลิตทั้งหมดอยู่ที่ 11.5 ล้านบาร์เรล ตอนนี้มีการผลิตออกสู่ตลาดอยู่ 9.8 ล้านบาร์เรล 

 

ดังนั้น จากปัญหาความขัดแย้งสหรัฐฯ-อิหร่าน คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในระยะสั้นคือ สองสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบโลกยังเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์สหรัฐฯ-อิหร่านครั้งนี้ แต่จะไม่ยืดเยื้อ เพราะรอบนี้มองว่าการโจมตีของสหรัฐฯ เป็นเหตุผลทางการเมือง ทางธนาคารกรุงไทยคาดว่าในระยะสั้นราคาน้ำมันจะลดลงมาอยู่ระดับ 60-65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเหมือนในช่วงก่อนหน้า 

 

 

ทั้งนี้การโจมตีที่มีผลรุนแรงต่อสถานการณ์น้ำมันคือ ช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมปีที่แล้ว ที่มีการยิงโดรนโจมตีโรงกลั่นน้ำมันในซาอุดีอาระเบีย ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 10% 

 

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส (บล.เอเซีย พลัส) กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์ความตึงเครียดที่อาจจะยืดเยื้อทำให้เชื่อว่าเม็ดเงินไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยง ไหลเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำให้ราคาเพิ่มขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (Bond Yield) ทั่วโลกปรับลดลง รวมถึงไทย กระทบผลตอบแทนในอนาคต ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยคือราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะหนุนอัตราเงินเฟ้อในปี 2563 กระทบกำลังซื้อระยะสั้น เนื่องจากราคาสินค้าเพิ่มขึ้นและภาพส่งออก เพราะไทยมีการส่งออกไปตะวันออกกลางราว 2.8% จากตลาดการส่งออกทั้งหมด หลักๆ คือยานยนต์

 

กลยุทธ์การลงทุนที่แนะนำคือ การเข้าลงทุนหุ้นปันผลสูง กองทุนอสังหาริมทรัพย์โครงสร้างพื้นฐาน และหุ้นเด่นรับภัยแล้ง เช่น BBL MCS PTT ฯลฯ 

 

 

 

 

ราคาทองคำยังต้องลุ้นอะไรบ้าง

จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า ราคาทองคำยังผันผวนและมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง หากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่านยืดเยื้อออกไป โดยส่วนตัวมองว่าราคาทองมีโอกาสยืนเหนือ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ 

 

ส่วนกรอบล่างราคาทองมีโอกาสจะลงไปต่ำถึง 1,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพราะในระยะยาวราคาทองคำยังเป็นขาลง เพราะภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังไม่ดี เพราะการค้าโลกยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ ทำให้กำลังซื้อไม่มี 

 

นักลงทุนต้องระมัดระวังมากขึ้น ต้องติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างใกล้ชิด รวมถึงการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำ

 

สุดท้ายความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน นอกจากเป็นปัจจัยทางการเมืองและอาจไม่กระทบเศรษฐกิจไทยมากนัก แต่เราต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising