วิกฤตความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านยกระดับความร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดที่สุ่มเสี่ยงต่อภาวะเฉียดสงครามมากที่สุดอีกครั้ง เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกคำสั่งสังหาร พล.ต. กัสเซม โซเลมานี นายพลระดับสูงของอิหร่าน เมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา ส่งผลให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางตึงเครียดจนหลายฝ่ายวิตกว่าอาจเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้น
ความขัดแย้งของสหรัฐฯ-อิหร่านมีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมโลกจึงต้องจับตาความเคลื่อนไหวของทั้งสองฝ่ายอย่างใกล้ชิด ติดตามได้ในบทความนี้
พลิกปมขัดแย้งสหรัฐฯ-อิหร่าน ไม้เบื่อไม้เมาตลอดกาล
แม้สหรัฐฯ กับอิหร่านจะเป็นไม้เบื่อไม้เมามาตลอด 4 ทศวรรษ แต่ก็ไม่เคยเปิดสงครามกันโดยตรง เพราะสหรัฐฯ ประเมินได้ไม่ยากว่าถ้าใช้กำลังทหารกับอิหร่านอาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์และความมั่นคงของพันธมิตรตนในภูมิภาคตะวันออกกลาง เนื่องจากอิหร่านอาจตอบโต้ด้วยการโจมตีเป้าหมายฐานทัพของสหรัฐฯ ในประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลาง
ครั้งหนึ่ง คอลิน เพาเวลล์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ เคยพูดเตือนอดีตกษัตริย์แห่งซาอุดีอาระเบียว่า “คุณไม่สามารถเอาชนะอิหร่านด้วยกำลังทหารได้หรอก ขนาดเรายังไม่คิดว่าจะทำได้เลย”
ที่ผ่านมาสหรัฐฯ มักใช้มาตรการคว่ำบาตรเพื่อลงโทษอิหร่าน จนนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยเชื่อว่าสหรัฐฯ คงไม่ต้องการหรือไม่พร้อมจะเปิดสงครามกับอิหร่านเหมือนที่เคยทำกับอัฟกานิสถานหรืออิรัก แต่พอมาในยุคของทรัมป์ที่มีบุคลิกไม่ค่อยมั่นคงทางอารมณ์นัก บวกกับการที่แวดล้อมไปด้วยที่ปรึกษาด้านความมั่นคงสายเหยี่ยวอย่าง จอห์น โบลตัน และรัฐมนตรีต่างประเทศสายแข็งอย่าง ไมค์ ปอมเปโอ ขณะที่ตัวทรัมป์เองก็มีนโยบายที่แข็งกร้าวกับอิหร่านอยู่แล้ว และพรรครีพับลิกันของเขาที่เคยมีนโยบายมักก่อสงครามก็ยิ่งทำให้สถานการณ์มีความไม่แน่นอนสูง และสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการเผชิญหน้ากันโดยตรง
สหรัฐฯ มีปัญหากับอิหร่านมาตลอดนับตั้งแต่การปฏิวัติอิหร่าน ปี 1979 เนื่องจากมองว่าอิหร่านเป็นภัยต่อสันติภาพโลก และไม่ต้องการให้อิหร่านพัฒนานิวเคลียร์หรือแม้แต่ขีปนาวุธร้ายแรงที่จะส่งผลต่อความมั่นคงของพันธมิตรสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง
หลายครั้งสถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเพราะสหรัฐฯ ทั้งขู่และคว่ำบาตรอิหร่านอย่างหนัก แต่ทั้งคู่ก็ไม่เคยเผชิญหน้าหรือทำสงครามกันโดยตรงเลย แม้ว่าในปี 1988 สหรัฐฯ จะเคยยิงเครื่องบินพาณิชย์อิหร่านตกจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 290 รายมาแล้วก็ตาม
รัฐบาลสหรัฐฯ เกือบทุกสมัย ไม่ว่าจะในยุคของรีพับลิกันหรือเดโมแครตต่างก็เคยแสดงท่าทีข่มขู่อิหร่าน โดยเฉพาะการขู่ในทำนองว่าอาจจัดการกับอิหร่านด้วยมาตรการทางทหาร (ทรัมป์ก็เช่นเดียวกัน) แต่จนถึงบัดนี้สหรัฐฯ ก็ยังไม่เคยเข้าไปโจมตีหรือทำสงครามกับอิหร่านเลย เหมือนกับที่สหรัฐฯ ไม่เคยโจมตีเกาหลีเหนือเลย แม้ว่าจะขู่มาตลอด
การมองอดีตที่ผ่านมาและหาเหตุผลว่าทำไมสหรัฐฯ ถึงไม่เปิดสงครามโจมตีอิหร่านอาจช่วยให้เราเข้าใจหรือมีประโยชน์ในการวิเคราะห์นโยบายของสหรัฐฯ ต่ออิหร่านมากขึ้น ทั้งนี้อาจมีหลากเหตุผลและหลายปัจจัยที่อธิบายว่าทำไมสหรัฐฯ ไม่โจมตีอิหร่าน เช่น อิหร่านไม่ใช่ประเทศหัวเดียวกระเทียมลีบ ที่ผ่านมาสหรัฐฯ มักจะโจมตีหรือทำสงครามกับประเทศที่ประเมินแล้วว่าไม่มีประเทศที่ 3 ยื่นมือเข้ามาช่วยโดยตรง หรือไม่เลือกทำสงครามที่มีหลายแนวรบ แต่จะมุ่งเผด็จศึกอย่างเบ็ดเสร็จโดยเร็วอย่างกรณีสงครามอัฟกานิสถานและอิรักที่ผ่านมา
สำหรับอิหร่านซึ่งเป็นขั้วชีอะห์ มีพันธมิตรที่พร้อมจะจับมือในยามสงคราม เช่น ซีเรีย หรือรัสเซียไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ตลอดจนกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน และกลุ่มฮูตีในเยเมน อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับตุรกีและกาตาร์อีกด้วย
นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังคงเมื่อยล้าและติดหล่มสงครามมากมายทั้งในอิรักและอัฟกานิสถาน ตลอดจนการเข้าไปสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธในซีเรีย การปราบปรามกลุ่มอัลกออิดะห์ในภาคใต้ของเยเมน และปัญหาสงครามกลางเมืองในลิเบีย การเปิดสงครามกับอิหร่านอีกแนวรบอาจทำให้เกิดกระแสต่อต้านสงครามภายในสหรัฐฯ ด้วย
ด้านแสนยานุภาพของอิหร่านก็ไม่ธรรมดา เพราะมีความทันสมัยมาก โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศพันธมิตรสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีเหนือหรือรัสเซีย เป็นต้น นอกจากนี้อิหร่านยังเป็นประเทศที่มีอำนาจทางทหารที่ใหญ่มากที่สุดประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง มีขีปนาวุธที่โจมตีได้ทั้งในระยะใกล้และระยะกลาง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วตะวันออกกลาง และมีระบบป้องกันการโจมตีที่ทันสมัย ดังนั้นการเข้าสู่สงครามของสหรัฐฯ จึงไม่ง่ายเหมือนตอนบุกอัฟกานิสถานและอิรัก ที่สำคัญอิหร่านมีกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน (IRGC) ที่เข้มแข็ง หากย้อนดูสงคราม 8 ปี อิรัก-อิหร่าน ก็จะเห็นว่าอิรักไม่สามารถเอาชนะอิหร่านได้
อีกเหตุผลสำคัญคือแม้อิหร่านจะไม่สามารถโจมตีข้ามทวีปไปถึงสหรัฐฯ ได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าฐานทัพสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางทั้งหมดตกอยู่ในระยะโจมตีของอิหร่าน รวมไปถึงกลุ่มประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางอย่างอิสราเอลด้วย เพราะสหรัฐฯ ดูแลปกป้องอิสราเอลเสมือนไข่ในหิน มีนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าสาเหตุที่สหรัฐฯ ไม่โจมตีอิหร่านเพราะกลัวว่าอิหร่านจะระดมสรรพกำลังโจมตีอิสราเอล
เหตุผลเชิงยุทธศาสตร์อีกประการที่สำคัญคือสหรัฐฯ อาจมองอิหร่านเป็นศัตรูโปรด (Favored Enemy) เพราะการดำรงอยู่ของอิหร่านซึ่งเป็นผู้นำขั้วชีอะห์แห่งภูมิภาคนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ต่อความมั่นคงของอิสราเอล เพราะตราบใดที่การเมืองของการแบ่งแยกและความแตกร้าวระหว่างซุนนีกับชีอะห์ยังฝังรากลึกในตะวันออกกลาง สงครามตัวแทนและการแทรกแซงของมหาอำนาจก็ยังจะเป็นปัจจัยในการกำหนดทิศทางของภูมิภาค
เหตุผลหนึ่งอาจคล้ายกับกรณีที่สหรัฐฯ ไม่เคยโจมตีเกาหลีเหนือ ก็เพราะต้องการคงพันธมิตรอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นไว้ในการพึ่งพิงของตัวเอง เพื่อการครอบงำเชิงนโยบาย หรือการเสริมอำนาจต่อรองของสหรัฐฯ ในกลุ่มประเทศโซนตะวันออกไกล กล่าวคือถ้าไม่มีเกาหลีเหนือ ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงสหรัฐฯ ไม่มีอินเดีย ปากีสถานก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งสหรัฐฯ หรือไม่มีจีน ฟิลิปปินส์ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสหรัฐฯ
ในทำนองเดียวกัน หากไม่มีอิหร่าน หรืออิหร่านถูกทำให้อ่อนแอมากจนเกินไป ประเทศซาอุดีอาระเบียและกลุ่มประเทศซุนนีอื่นๆ ก็อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงและอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ มากขนาดนี้ สุดท้ายกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางอาจหันกลับไปสู่หัวใจของปัญหาในภูมิภาคหรือปัญหาการยึดครองปาเลสไตน์นั่นเอง เหมือนเช่นที่เคยปรากฏมาแล้วเมื่อครั้งอาหรับร่วมมือกันทำสงครามกับอิสราเอลในอดีต ซึ่งจะส่งกระทบต่อความมั่นคงของอิสราเอลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ด้วยเหตุผลข้อสุดท้ายนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าถึงแม้สหรัฐฯ จะสามารถทำให้อิหร่านหายไปได้ในพริบตา แต่สหรัฐฯ ก็คงไม่ทำ เพราะสหรัฐฯ ใช้ประโยชน์จากความเป็นศัตรูและความเป็นมิตรในภูมิภาคเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงของตนเองและอิสราเอล (advantage of having friends and enemies)
หากมองจากสถานะ ‘ศัตรูโปรด’ สิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการเห็นคืออิหร่านที่ไม่อ่อนแอจนไร้เขี้ยวเล็บในการต่อสู้กับขั้วอำนาจซุนนีในตะวันออกกลาง ในขณะเดียวกันก็ไม่ปล่อยให้มีความเข้มแข็งจนเกินเลย โดยเฉพาะการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่จะเป็นภัยคุกคามต่ออิสราเอล
ดังนั้นจึงไม่แปลกว่าทำไมโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านจึงเป็นวาระสำคัญของสหรัฐฯ ที่ต้องเฝ้าจับตา หากมีข้อบ่งชี้ว่าอิหร่านมีแสนยานุภาพเกินขีดที่จะรับได้ หรือมีผลต่อระดับความมั่นคงของอิสราเอลเกินไป สหรัฐฯ อาจพิจารณาใช้มาตรการต่างๆ เพื่อหยุดยั้งโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นการดำเนินการหลักๆ ใน 2 ระดับคือ
1. ระดับปกติ ว่าด้วยการลงโทษหรือคว่ำบาตรเพื่อสกัดกั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและปิดกั้นการสนับสนุนจากภายนอก
2. ระดับรุนแรง ในลักษณะของการทำสงครามตัวแทน
แม้ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ไม่เคยเปิดฉากทำสงครามกับอิหร่านโดยตรง แต่พอมาในยุคของประธานาธิบดีขวาจัดอย่างทรัมป์ ทำให้เกิดข้อกังวลว่าสถานการณ์อาจลุกลามบานปลายเป็นสงครามได้ เพราะเงื่อนไขปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก ทรัมป์อาจตัดสินใจเข้าสู่สงครามหากประเมินว่าตัวเองรบแล้วชนะเบ็ดเสร็จ ซึ่งอาจจะประเมินถูกหรือผิดก็ได้ หรือมีความเป็นไปได้ในกรณีที่สงครามนั้นให้ประโยชน์ต่อสหรัฐฯ ในเชิงยุทธศาสตร์การเมืองโลกและสถานการณ์ในภูมิภาค หรืออาจจำใจต้องทำเพราะไม่มีทางเลือกอื่น
จากเงื่อนไขใหม่สู่วิกฤตความตึงเครียด ‘เฉียดสงคราม’
สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านที่ดำเนินมาจนถึงจุดวิกฤตจนเกือบจะเผชิญหน้ากัน หากมองผ่านๆ อาจเห็นว่าเป็นผลมาจากนโยบายที่แข็งกร้าวของทรัมป์ และปัญหาข้อพิพาทเรื่องนิวเคลียร์อิหร่านเหมือนเช่นที่ผ่านๆ มา แต่หากมองจากเงื่อนไขโครงสร้างอำนาจที่เปลี่ยนไปของตะวันออกกลางจะพบสาเหตุว่าทำไมทรัมป์ถึงพยายามกดดันอิหร่านแบบทุ่มสุดตัว ทรัมป์ต้องการอะไร การทำความเข้าใจที่มาของวิกฤตความตึงเครียดครั้งล่าสุดอาจจำแนกได้ดังนี้
1. ทรัมป์และนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่ออิหร่าน
ทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์อิหร่านมาตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นประธานาธิบดี และยังวิจารณ์นโยบายของ บารัก โอบามา ที่มีต่ออิหร่านด้วย เขาเชื่อว่าอิหร่านยังมีการสะสมยูเรเนียมตลอดเวลา แม้กระทั่งในระหว่างการเจรจาทำข้อตกลงนิวเคลียร์ ซึ่งทรัมป์ไม่เห็นด้วยกับการเจรจานิวเคลียร์กับอิหร่านที่นำไปสู่การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรในที่สุด ทรัมป์มีความคิดว่าควรยกระดับการคว่ำบาตรมากขึ้นเป็น 2 เท่าด้วยซ้ำ
ทรัมป์ไม่เห็นด้วยอย่างมากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยโอบามา พร้อมกับประเทศสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ จีน และรัสเซีย รวมทั้งเยอรมนีและสหภาพยุโรป ไปทำข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านในปี 2015 (หรือเรียกว่า P5+1) จนนำไปสู่การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านในที่สุดเพื่อแลกกับการยุติโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน ข้อตกลงฉบับนี้มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า ‘ข้อตกลงร่วมแผนปฏิบัติการที่ครอบคลุม’ (Joint Comprehensive Plan of Action หรือ JCPOA) เพราะทรัมป์ยังมองว่าข้อตกลงนี้มีความบกพร่องและไม่อาจหยุดยั้งการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านได้ ทรัมป์เรียกข้อตกลงฉบับนี้ว่าข้อตกลงแห่งความ ‘หายนะ’ และ ‘เสียสติ’
ทรัมป์หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับท่าทีของสหรัฐฯ ที่มีต่ออิหร่านภายใต้รัฐบาลโอบามาว่าทำให้กระทบต่อความสัมพันธ์กับอิสราเอลซึ่งไม่พอใจข้อตกลงนิวเคลียร์นี้ เพราะจะเปิดทางให้อิหร่านเข้มแข็งขึ้นมาหลังถูกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ และจะเป็นภัยคุกคามอย่างมากต่ออิสราเอล
ด้วยท่าทีและจุดยืนของทรัมป์ต่ออิหร่าน ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าแนวโน้มสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านที่ดีขึ้นในสมัยโอบามาจะกลับมาตึงเครียดหนักกว่าเดิม
ในช่วงกลางปี 2016 และต้นปี 2017 อิหร่านได้ทำการทดลองยิงขีปนาวุธพิสัยกลาง ซึ่งอิหร่านยืนยันว่าเป็นการทดลองตามปกติ แต่ก็ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรเป็นระลอกๆ โดยมุ่งเป้าไปที่ภาคธุรกิจเอกชนและตัวบุคคล สหรัฐฯ กล่าวหาอิหร่านว่าละเมิดข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำขึ้นในปี 2015 ทั้งที่อิหร่านยืนยันว่าไม่ได้ละเมิดข้อตกลงแต่อย่างใด และมองว่าการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ นั้นขาดความชอบธรรม ซึ่งอิหร่านจะยังคงเดินหน้าโครงการทดลองขีปนาวุธของตน นอกจากนี้ยังชี้ว่าสหรัฐฯ เองเป็นตัวที่กระตุ้นให้เกิดปัญหาการแข่งขันด้านอาวุธในภูมิภาค เพราะสหรัฐฯ ยังคงขายอาวุธให้กับพันธมิตรของตัวเองในตะวันออกกลาง ซึ่งอาวุธเหล่านี้ถูกนำไปใช้โจมตีชาวปาเลสไตน์และเยเมน
ในขณะเดียวกันสหรัฐฯ ก็อ้างเหตุผลการคว่ำบาตรว่าเป็นส่วนหนึ่งของการลงโทษอิหร่าน เนื่องจากสหรัฐฯ มองว่าให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏในเยเมน
ทั้งสองฝ่ายยั่วยุและท้าทายกันไปมาอยู่ตลอด ทรัมป์แสดงท่าทีในทำนองว่าอาจใช้ทุกวิธีการเพื่อจัดการกับอิหร่าน รวมไปถึงการเข้าไปเปลี่ยนแปลงระบอบในอิหร่าน หรือหลังจากที่อิหร่านทดลองขีปนาวุธ ทรัมป์ได้ข่มขู่ว่า “อิหร่านกำลังเล่นกับไฟ… ซึ่งเขาไม่ใจดีเหมือนอดีตประธานาธิบดีโอบามา” ในขณะที่อิหร่านไม่สนใจคำขู่และประกาศว่าจะใช้มาตรการตอบโต้อย่างเท่าเทียม
ทรัมป์แสดงออกถึงความพยายามในการล้มข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านมาโดยตลอด จนกระทั่งในเดือนพฤษภาคม 2018 ทรัมป์ได้ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าว
การประกาศถอนตัวครั้งนี้เกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู นำเสนอข้อมูลที่มีทั้งภาพถ่ายและวิดีโอ โดยเชื่อว่าเป็นหลักฐานใหม่ที่ยืนยันว่าอิหร่านยังแอบพัฒนานิวเคลียร์โดยปกปิดประชาคมโลกมานานหลายปี และพร้อมจะนำมาใช้ได้ทุกเมื่อ
เนทันยาฮูอ้างถึงเอกสารหลายหมื่นชิ้นน้ำหนักรวมครึ่งตันว่าถูกนำไปเก็บในสถานที่ลับแห่งหนึ่งในกรุงเตหะราน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของอิสราเอลในสายตาประชาคมโลกถือว่าไม่น่าเชื่อถือ เพราะอิสราเอลเองเป็นคู่ขัดแย้งกับอิหร่านอยู่แล้ว และที่สำคัญคือหากย้อนกลับไปในปี 2003 ก่อนที่สหรัฐฯ จะบุกยึดอิรัก อิสราเอลเป็นประเทศสำคัญที่ให้ข้อมูลหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหาต่อ ซัดดัม ฮุสเซน ในเวลานั้น แต่จนถึงขณะนี้ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าเป็นข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอย
หลังจากทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน สหรัฐฯ ก็เดินหน้ามาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในระดับสูงสุดกับอิหร่านและชาติใดก็ตามที่ช่วยเหลืออิหร่านในเรื่องนิวเคลียร์ ซึ่งรวมไปถึงบรรษัทข้ามชาติที่ค้าขายและลงทุนกับอิหร่านด้วย กล่าวคือสหรัฐฯ จะไม่ให้อิหร่านได้ขายน้ำมันเลย ยิ่งไปกว่านั้นทรัมป์ยังขึ้นบัญชีกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน หรือ Islamic Revolutionary Guard Corps (IRGC) ให้เป็นกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากเพราะ IRGC มีสถานะเป็นกองทัพแห่งชาติของอิหร่านด้วย
อิหร่านได้ตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ทั้งข่มขู่ว่าถ้าอิหร่านส่งออกน้ำมันไม่ได้ ชาติอื่นๆ ในแถบอ่าวเปอร์เซียก็จะส่งออกไม่ได้เหมือนกัน เพราะอิหร่านจะปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งน้ำมันของโลก โดยปริมาณน้ำมัน 1 ใน 5 ของโลก หรือ 17.2 ล้านบาร์เรลต่อวันถูกส่งออกสู่ตลาดโลกผ่านช่องแคบนี้ ถ้ามีการปิดเส้นทางนี้จริงจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง
นอกจากนี้ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ของอิหร่านยังประกาศจะไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขบางส่วนของข้อตกลงนิวเคลียร์ และจะเดินหน้าเพิ่มการสะสมยูเรเนียมสมรรถนะต่ำที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และสามารถใช้ผลิตเป็นอาวุธได้ด้วย หากชาติยุโรปไม่ปกป้องผลประโยชน์ของอิหร่าน โดยขีดเส้นตายไว้ 60 วัน
ที่สำคัญในช่วงปลายเดือนเมษายน 2019 อิหร่านได้ตอบโต้ด้วยการขึ้นบัญชีกองบัญชาการกลางสหรัฐฯ หรือ CENCOM ทั้งหมดในตะวันออกกลางเป็นกลุ่มก่อการร้ายเช่นกัน
จากนั้นไม่นานในวันที่ 5 พฤษภาคม สถานการณ์ก็ร้อนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อสหรัฐฯ จัดส่งเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส อับราฮัม ลินคอล์น และกองบินทิ้งระเบิด รวมทั้งเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 และระบบขีปนาวุธ Patriot รวมทั้งกำลังพลอีก 1,500 นาย เข้าไปยังตะวันออกกลางบริเวณทะเลอาหรับ โดยอ้างว่าได้รับรายงานข่าวกรองซึ่งระบุว่ามีข้อบ่งชี้ที่เชื่อถือได้ว่ากองกำลัง IRGC ของอิหร่านมีแผนคุกคามหรือจะโจมตีผลประโยชน์และทหาร ตลอดจนพันธมิตรของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง
ปัญหายิ่งตึงเครียดมากขึ้น หลังมีการลอบโจมตีเรือบรรทุกน้ำมัน 4 ลำบริเวณนอกชายฝั่งของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในอ่าวโอมานเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม แบ่งเป็นเรือของซาอุดีอาระเบีย 2 ลำ, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ลำ และนอร์เวย์ 1 ลำ โดยสหรัฐฯ ยืนยันว่าเป็นฝีมือของอิหร่าน แต่อิหร่านปฏิเสธว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังการโจมตีนี้
ถัดมาไม่กี่วัน สถานการณ์ส่อเค้ารุนแรงขึ้นเมื่อสหรัฐฯ สั่งให้นักการทูตที่ไม่มีภารกิจจำเป็นเดินทางออกจากอิรักทันที ด้วยเหตุผลว่ามีภัยคุกคามจากกลุ่มที่ได้รับการหนุนหลังโดยอิหร่าน ขณะที่ทรัมป์ได้ออกคำเตือนกับอิหร่านว่า “หากโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ก็เตรียมตัวพบจุดจบได้เลย”
เหตุการณ์ยิ่งเลวร้ายขึ้นหลังจากมีการโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันอีก 2 ลำในวันที่ 12 มิถุนายน โดยเป็นเรือสัญชาติญี่ปุ่นและนอร์เวย์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่นายกรัฐมนตรีอาเบะ ซินโซ ของญี่ปุ่นเดินทางไปพบผู้นำสูงสุดของอิหร่าน โดยหนึ่งในวัตถุประสงค์ของการเยือนคือเพื่อส่งสารของทรัมป์ถึงผู้นำอิหร่าน แต่ถูก อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ปฏิเสธที่จะรับสาร โดยผู้นำอิหร่านระบุว่าเข้าใจในความหวังดีของญี่ปุ่น แต่ไม่ขอเจรจาใดๆ กับ “คนอย่างโดนัลด์ ทรัมป์”
ทั้งสหรัฐฯ และพันธมิตรอย่างซาอุดีอาระเบียต่างกล่าวโทษอิหร่านว่าอยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรมเหล่านี้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ชาติอาหรับร่วมกันต่อต้านอิหร่าน และพยายามชี้ให้โลกเห็นว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามต่ออุปทานน้ำมันของโลก ทรัมป์ออกคำสั่งส่งกำลังทหารสหรัฐฯ เข้าไปเสริมในตะวันออกกลางอีก 1,000 นาย
ถัดมาอีกหนึ่งสัปดาห์ เกิดเหตุระทึกที่นำไปสู่ความตึงเครียดถึงขีดสุด เมื่ออิหร่านได้ยิงโดรนสอดแนมของสหรัฐฯ แบบ RQ-4A Global Hawk ร่วงบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งมีเครื่องบินรบของสหรัฐฯ ขึ้นบินประกบมาด้วย โดยอิหร่านได้เตือนแล้วว่าอย่ารุกล้ำเข้ามาในน่านฟ้าของอิหร่าน แต่โดรนและนักบินสหรัฐฯ ยังคงรุกเข้ามา อิหร่านจึงเลือกยิงโดรนลำดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยืนยันว่าโดรนของตนบินอยู่ในน่านฟ้าสากล
ในขณะที่โลกจับตาอย่างกังวลว่าสหรัฐฯ จะตอบโต้อย่างไร และเกรงว่าอาจจะทำให้เกิดการเผชิญหน้ากัน ปรากฏว่าทรัมป์ได้ทวีตข้อความภายหลังว่าได้ออกคำสั่งโจมตีเป้าหมายในอิหร่านไปแล้ว 3 จุด แต่ทว่าได้สั่งยุติกลางคันเพียงแค่ 10 นาทีก่อนที่ปฏิบัติการจะเริ่มขึ้น เพราะได้ข้อมูลว่าหากมีการโจมตีจะทำให้มีคนเสียชีวิตประมาณ 150 คน แต่บางกระแสข่าวบอกว่าเพราะถูกทักท้วงจากสมาชิกคองเกรส
คำสั่งโจมตีดังกล่าวถือได้ว่าเป็นความตึงเครียดที่ดำเนินมาจนถึงขีดสุดและเกือบล้ำเส้นแดงเข้าสู่สงครามแล้ว การที่อิหร่านเลือกยิงอากาศยานไร้นักบินลำเดียวหลังจากที่แจ้งเตือนแล้ว และไม่โจมตีเครื่องบินลำที่มีนักบินสหรัฐฯ อยู่ ทำให้เห็นว่าอิหร่านเองก็เลี่ยงความสูญเสียต่อชีวิตทหารสหรัฐฯ อย่างที่สุด ส่วนทรัมป์ก็สั่งยกเลิกปฏิบัติการกลางคัน แล้วหันมาใช้มาตรการคว่ำบาตรหนักขึ้น โดยพุ่งเป้าไปยังผู้นำสูงสุดของอิหร่านและคนใกล้ชิด รวมทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ IRGC นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังได้สั่งให้กองทัพไซเบอร์เปิดปฏิบัติการโจมตีระบบควบคุมขีปนาวุธของอิหร่านด้วย
การคว่ำบาตรผู้นำสูงสุดของอิหร่าน แม้จะเป็นทางเลือกที่ดูดีกว่าคำสั่งโจมตี แต่ในอีกด้านหนึ่งยิ่งทำให้แนวทางการเจรจาเพื่อหาทางออกระหว่างกันเป็นไปได้ยากขึ้น รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านมองว่าการคว่ำบาตรผู้นำสูงสุดอย่าง อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี เท่ากับประตูการทูตระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านได้ถูกปิดแล้วอย่างถาวร
ที่กล่าวมาคือปัจจัยด้านนโยบายของทรัมป์ที่มีต่ออิหร่านมาตั้งแต่ต้น และทำให้สถานการณ์ดำเนินมาถึงจุดตึงเครียดที่สุด โดยทรัมป์ยังยืนยันเป้าหมายของเขาว่าจะไม่ยอมให้อิหร่านครอบครองนิวเคลียร์อย่างเด็ดขาด ความกังวลเรื่องนิวเคลียร์และการพัฒนาแสนยานุภาพทางทหาร รวมทั้งอิทธิพลของอิหร่านที่กำลังขยายตัวในตะวันออกกลางยิ่งบีบให้สหรัฐฯ ต้องจัดการกับอิหร่านเพื่อรักษาสถานภาพเดิม (Status Quo) ของโครงสร้างอำนาจในภูมิภาคนี้ที่กำลังสั่นคลอนอิทธิพลของสหรัฐฯ และเขย่าขวัญอิสราเอล ตลอดจนพันธมิตรชาติมุสลิมในแถบอ่าวเปอร์เซีย โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย ดังนั้นทรัมป์และนโยบายแข็งกร้าวของเขาก็เป็นเงื่อนไขใหม่ที่สำคัญซึ่งนำพาสถานการณ์สู่ความวิกฤต
2. โครงสร้างอำนาจตะวันออกกลางในระยะเปลี่ยนผ่าน
การเปลี่ยนแปลงหรือแนวโน้มการปรับตัวของดุลอำนาจในตะวันออกกลางที่กำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านนี้อาจเป็นเหตุผลสำคัญเบื้องหลังที่ขับเคลื่อนนโยบายของทรัมป์ต่ออิหร่าน ซึ่งกำลังขยายอิทธิพลมากขึ้นในตะวันออกกลางและได้รับการหนุนหลังจากรัสเซีย การแผ่อิทธิพลของอิหร่าน ผู้นำขั้วชีอะห์ในตะวันออก พร้อมๆ กับบทบาทรัสเซียที่เพิ่มมากขึ้น เป็นผลให้เกิดความสั่นคลอนในผลประโยชน์และอิทธิพลของขั้วตรงข้ามทั้งสหรัฐฯ อิสราเอล และซาอุดีอาระเบียอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
หากย้อนพิจารณาลักษณะโครงสร้างอำนาจในตะวันออกกลางจะพบว่ามีความสัมพันธ์อย่างมากต่อการกำหนดพฤติกรรมระหว่างประเทศและทิศทางความร่วมมือหรือความขัดแย้งในภูมิภาค กล่าวคือในยุคหลังการปฏิวัติอิหร่าน ปี 1979 ส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วกันชัดเจนมากระหว่างขั้วกลุ่มประเทศมุสลิมซุนนีที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย กับขั้วมุสลิมสายชีอะห์ที่นำโดยอิหร่าน กลุ่มหลังอาจจะมีพลังอำนาจและพันธมิตรน้อยกว่ากลุ่มแรก ลักษณะเช่นนี้นอกจากนำไปสู่ความขัดแย้งแล้วยังก่อให้เกิดสงครามตัวแทนด้วย กล่าวคือสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ฝ่ายเดียวกับซาอุดีอาระเบียร่วมกันหนุน ซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำอิรัก ในการทำสงครามตัวแทนกับอิหร่าน หรือที่เรียกกันว่าสงคราม 8 ปี อิรัก-อิหร่าน
ต่อมาในปี 1990 หลังจากที่อิรักรุกรานคูเวตจนนำไปสู่สงครามอ่าว นำโดยสหรัฐฯ (Gulf War 1991) ผลของสงครามทำให้โครงสร้างอำนาจในตะวันออกกลางเปลี่ยนไปโดยแตกออกเป็น 3 ขั้ว ได้แก่ ขั้วซาอุดีอาระเบีย ขั้วอิหร่าน และขั้วอิรัก ทั้งสามฝ่ายต่างเป็นศัตรูกัน แม้ความขัดแย้งจะเพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยลักษณะโครงสร้างอำนาจแบบนี้ทำให้เกิดการถ่วงดุล 3 ฝ่าย ซึ่งแต่ละฝ่ายก็ค่อนข้างระมัดระวังหรือสงวนท่าทีไม่ให้เพลี่ยงพล้ำสู่การเผชิญหน้ากับอีกฝ่าย
ด้วยลักษณะโครงสร้างที่ถ่วงดุลกันแบบนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่เกิดสงครามในตะวันออกกลางตลอดทศวรรษ 1990 แต่พอสหรัฐฯ ทำสงครามโค่นล้ม ซัดดัม ฮุสเซน และยึดครองอิรักในปี 2003 นับจากนั้นโครงสร้างอำนาจในตะวันออกกลางก็กลายเป็นสองขั้วที่แข่งขันกันเข้มข้นอีกครั้งระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน สภาพเช่นนี้ทำให้เกิดสงครามตัวแทนขึ้นในหลายประเทศ และรุนแรงขึ้นนับตั้งแต่เหตุการณ์อาหรับสปริง ปี 2011
เหตุการณ์อาหรับสปริงที่ประชาชนลุกฮือโค่นอำนาจผู้ปกครองของตัวเองเริ่มต้นที่ตูนิเซียและลุกลามไปทั่วตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ทำให้หลายประเทศเกิดภาวะสับสนวุ่นวายและเกิดสุญญากาศทางอำนาจ ทั้งอิหร่านและซาอุดีอาระเบียต่างพยายามขยายอิทธิพลในภูมิภาคโดยการสนับสนุนกลุ่มตัวแทนของฝ่ายตัวเองให้สามารถสถาปนาอำนาจในประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นที่มาของสงครามตัวแทนในหลายประเทศ โดยซาอุดีอาระเบียมีสหรัฐฯ และชาติตะวันตกหนุนหลังอีกที ส่วนอิหร่านก็มีรัสเซียคอยช่วยเหลือ
ผลของอาหรับสปริงและการแข่งขันกันระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน ตลอดจนการที่รัสเซียเข้ามาแสดงบทบาท ทำให้มีความเปลี่ยนแปลงในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และดุลอำนาจในภูมิภาคนี้อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปรากฏการณ์การขยายอิทธิพลของอิหร่าน หรือที่เรียกว่า ‘ชีอะห์จันทร์เสี้ยว’ (Shia Crescent) ซึ่งหมายถึงวงอิทธิพลของอิหร่านที่เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางโดยมีลักษณะโค้งคล้ายรูปจันทร์เสี้ยว หมายรวมถึงประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชีอะห์ ประเทศที่มีชีอะห์เป็นชนกลุ่มน้อยแต่มีพลัง ประเทศที่มีกลุ่มติดอาวุธหรือตัวแทนของอิหร่าน และอาจหมายรวมไปถึงชาติที่แสดงท่าทีเป็นมิตรกับอิหร่านด้วย อันที่จริงผู้ที่ใช้คำว่า Shia Crescent คือกษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่ 2 ของจอร์แดนตั้งแต่ปี 2004 ซึ่งในปัจจุบันได้ขยายตัวไปมากทั้งในเยเมน อิรัก ซีเรีย และเลบานอน นอกจากนั้นยังมีประเทศอย่างกาตาร์และตุรกีที่เป็นมิตรกันด้วย ความกังวลต่ออิทธิพลของอิหร่านที่เพิ่มมากขึ้น ครั้งหนึ่งมกุฎราชกุมารมูฮัมมัด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดีอาระเบีย ถึงกับบอกว่ามันคือ ‘ชีอะห์จันทร์เต็มดวง’ (Shia Full Moon) แล้ว
ผลลัพธ์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของปรากฏการณ์อาหรับสปริงคือมันทำให้เกิดกระแสความนิยมอิสลามการเมือง (Political Islam) หรือการผสมผสานแนวทางศาสนากับรูปแบบการปกครองสมัยใหม่เพื่อการบริหารประเทศ เน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพสื่อ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน กลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันกระแสนี้คือกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) จนประสบความสำเร็จในหลายประเทศ และปัจจุบันก็ยังได้รับความนิยมมากขึ้น
นอกจากนี้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมยังมีจุดยืนคือการเรียกร้องความเป็นเอกภาพระหว่างประเทศมุสลิมเพื่อช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ สนับสนุนแนวทางการต่อสู้ของกลุ่มฮามาสต่ออิสราเอล กระแสการเติบโตของแนวทางอิสลามการเมืองและการปฏิรูปตะวันออกกลางหลังอาหรับสปริงดังกล่าวทำให้เกิดกลุ่มพันธมิตรขั้วที่ 3 ขึ้นมา ซึ่งมีอิสระในการดำเนินนโยบายต่างประเทศเป็นของตัวเองมากกว่าจะถูกครอบงำจากมหาอำนาจภายนอก ที่สำคัญกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์ที่ดีและมีแนวโน้มจับมือกับอิหร่าน กลุ่มนี้ประกอบด้วยตุรกี กาตาร์ ตูนิเซีย โมร็อกโก อียิปต์ (ในสมัยอดีตประธานาธิบดีมูฮัมมัด มุรซี) และยังมีผู้นำประเทศมุสลิมอื่นๆ นอกภูมิภาคที่มีจุดยืนสนับสนุนกลุ่มนี้ เช่น ปากีสถาน และมาเลเซีย เป็นต้น
ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในตะวันออกกลางในระยะเปลี่ยนผ่านโดยมีกลุ่มใหม่ปรากฏขึ้นมาและการขยายอิทธิพลของอิหร่านจึงส่งผลกระทบในเชิงภูมิรัฐศาสตร์อย่างมาก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ซาอุดีอาระเบียและอิสราเอลรู้สึกไม่มั่นคง ทั้งสองประเทศจึงไม่พอใจโอบามาที่ไปทำข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านจนนำไปสู่การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน เพราะมองว่านอกจากข้อตกลงนี้จะเปิดโอกาสให้อิหร่านพัฒนาขีปนาวุธได้แล้วยังจะทำให้อิหร่านสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย ซึ่งเท่ากับว่าอิหร่านสามารถสร้างความเข้มแข็งจากภายในทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคง ในขณะเดียวกันก็สามารถขยายอิทธิพลและสร้างเครือข่ายพันธมิตรภายนอกได้มากขึ้น
เมื่อทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี และด้วยนโยบายที่เน้นสนับสนุนอิสราเอลอย่างเต็มที่ จึงมีความชัดเจนและหนักหน่วงในการดำเนินมาตรการต่อต้านอิหร่านรวมทั้งกลุ่มภราดรภาพมุสลิมมาตั้งแต่ต้น โดยเริ่มจุดประเด็นนี้ในระหว่างเยือนซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศแรกหลังรับตำแหน่งประธานาธิบดี ในครั้งนั้นทรัมป์เรียกร้องให้โลกอาหรับต่อต้านอิหร่านที่เขากล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังความวุ่นวายในภูมิภาค และกล่าวหากลุ่มภราดรภาพมุสลิมว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย
จากนั้นทรัมป์ก็เดินหน้าถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์และคว่ำบาตรระดับสูงสุดถึงขั้นพุ่งตรงไปที่ตัวผู้นำสูงสุด อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี และรัฐมนตรีต่างประเทศ พร้อมขึ้นบัญชีกลุ่ม IRGC เป็นกลุ่มก่อการร้าย รวมทั้งความพยายามที่จะขึ้นบัญชีกลุ่มภราดรภาพมุสลิมว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายต่างชาติด้วย
ดังนั้นโครงสร้างและดุลอำนาจในระยะเปลี่ยนผ่านที่ส่งผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์ทั้งของสหรัฐฯ ในระดับโลก ความมั่นคงของอิสราเอลในภูมิภาค และอิทธิพลที่ถูกลดทอนของซาอุดีอาระเบีย จึงเป็นปัญหาภูเขาน้ำแข็งที่เร่งให้ทรัมป์ต้องจัดการอิหร่านอย่างถึงที่สุด
3. อิหร่านที่ (ต้อง) อ่อนแอจากภายในและโดดเดี่ยวจากภายนอก
อาจกล่าวได้ว่านับตั้งแต่ทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดี เขาเดินหน้าผลักดันเรื่องอิหร่านเป็นวาระสำคัญในนโยบายต่างประเทศ โดยไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่การนำสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านตามที่เขาได้หาเสียงไว้ แต่มาตรการและเครื่องมือต่างๆ ที่ทรัมป์ใช้กดดันอิหร่านแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ต้องการทำให้อิหร่านอ่อนแอจากภายในและโดดเดี่ยวจากภายนอก
อิหร่านที่อ่อนแอจากภายใน
อิหร่านหวังไว้ว่าหลังจากทำข้อตกลงนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ ที่นำไปสู่การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจะทำให้เศรษฐกิจของอิหร่านดีขึ้นหรือทำให้ประเทศพอจะลืมตาอ้าปากได้บ้าง แต่เมื่อทรัมป์ขึ้นมาทุกอย่างก็เปลี่ยนไป การถอนตัวจากข้อตกลงและคว่ำบาตรระดับสูงสุด รวมทั้งแซงก์ชันประเทศที่ทำธุรกิจกับอิหร่านทั้งหมด เท่ากับการขีดเส้นให้อิหร่านเดิน 2 ทางเท่านั้นคือ
อิหร่านอยู่ในข้อตกลงฯ ต่อไปร่วมกับประเทศอื่นในกลุ่ม P5+1 (ยกเว้นสหรัฐฯ) หมายความว่าอิหร่านยังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของข้อตกลงนิวเคลียร์ ในขณะเดียวกันก็ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรอย่างหนัก ประเทศใน P5+1 แม้ไม่ถอนตัวจากข้อตกลงตามสหรัฐฯ แต่ก็ไม่อาจดำเนินการค้าขายกับอิหร่านได้ เพราะจะโดนสหรัฐฯ ลงโทษทางเศรษฐกิจไปด้วย สภาพเช่นนี้จะทำให้อิหร่านต้องถูกจำกัดการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ตามเงื่อนไขของข้อตกลง และยังต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจจากการถูกคว่ำบาตร อันเป็นสภาพที่เสียเปรียบหรือถูกจำกัดมากกว่าในช่วงก่อนทำข้อตกลงนิวเคลียร์เสียอีก เพราะในตอนนั้นอย่างน้อยก็สามารถเสริมยูเรเนียมได้เต็มที่โดยไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงใดๆ ดังนั้นอิหร่านจึงเลือกที่จะใช้วิธีไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงบางส่วน แต่ก็ไม่ถอนตัวจากข้อตกลงทั้งหมดเพื่อกลับไปเสริมยูเรเนียมตามเดิม
การคว่ำบาตรอย่างหนักย่อมทำให้เกิดผลต่อระบบเศรษฐกิจของอิหร่านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีการประท้วงภายในเกิดขึ้นเป็นระยะๆ อันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจ กลุ่มคนที่ประท้วงอาจไม่มากนัก และส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ แต่ส่งผลต่อเสถียรภาพภายในของอิหร่านและกดดันรัฐบาลอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเปิดช่องให้กลุ่มต่อต้านภายในใช้เป็นโอกาสในการโค่นระบอบเดิม
การขึ้นบัญชี IRGC ซึ่งเป็นองค์กรที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของอิหร่านให้เป็นกลุ่มก่อการร้าย นอกจากมุ่งสร้างความสั่นคลอนในโครงสร้างที่เป็นรากฐานสำคัญของระบอบอิหร่านที่แข็งแกร่งแล้ว ยังเป็นความพยายามในการทำลายฐานรายได้และระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะ IRGC เป็นองค์กรที่ทรงอิทธิพลในทางเศรษฐกิจอย่างมากในอิหร่าน และมีกิจการในความดูแลมากมาย
สหรัฐฯ ทราบดีว่า IRGC นั้นสำคัญขนาดไหนต่อการดำรงอยู่อย่างมีเสถียรภาพของอิหร่านทั้งทางความมั่นคง การเมือง และเศรษฐกิจ ดังนั้นคงกดดันอิหร่านไม่ได้ในสภาพที่อิหร่านมีความแข็งแกร่งภายใน จึงต้องมุ่งโจมตี IRGC เพื่อกัดกร่อนเสถียรภาพจากข้างใน
ในเวลาเดียวกันสหรัฐฯ ก็พยายามแสดงออกว่ายืนอยู่ข้างประชาชนชาวอิหร่านที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ
การกัดเซาะและปิดกั้นการพัฒนาขีดความสามารถด้านแสนยานุภาพทางทหารไปพร้อมๆ กันเพื่อให้อิหร่านอ่อนแอหรือตัดกำลังอิหร่านจากภายใน โดยขีดเส้นให้อิหร่านเลือกเดินในแนวทางนี้หรืออยู่ในข้อตกลงต่อไปอาจไม่ประสบความสำเร็จหากไม่คว่ำบาตรอิหร่านอย่างถึงที่สุด รวมทั้งประเทศที่ทำธุรกิจกับอิหร่านด้วย ด้วยเหตุนี้อิหร่านจึงแก้สถานการณ์ด้วยการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงบางส่วนเพื่อเดินหน้าพัฒนาด้านความมั่นคง และขณะเดียวกันก็ยังได้อ้างความชอบธรรมเพื่อหวังค้าขายสร้างความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ตราบที่ยังมีข้อตกลงนี้อยู่
อิหร่านถอนตัวจากข้อตกลง เป็นอีกหนึ่งทางเลือกซึ่งการตัดสินใจเช่นนี้จะทำให้อิหร่านกลับไปโดดเดี่ยวมากขึ้น ซึ่งจะกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องการการพัฒนาในระยะยาว การกดดันระดับสูงสุดของสหรัฐฯ ที่ดำเนินควบคู่ไปกับการส่งสัญญาณพร้อมเจรจากับอิหร่านนั้นชี้ให้เห็นว่าสหรัฐฯ ปูทางให้อิหร่านตัดสินใจว่าจะอยู่ในข้อตกลงเดิมแบบถูกกดดันหนัก หรือจะถอนตัวจากข้อตกลงแบบถาวรแล้วกลับไปโดดเดี่ยวเหมือนเดิม หรือจะฉีกข้อตกลงเดิมแล้วมานั่งคุยทำข้อตกลงกันใหม่ภายใต้เงื่อนไขที่สหรัฐฯ พอใจ หรือตามที่รัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ ปอมเปโอ เคยเปิดเผยในเดือนพฤษภาคม 2018 โดยยื่นข้อเรียกร้อง 12 ประการให้อิหร่านยอมรับเพื่อบรรจุไว้ในการทำข้อตกลงใหม่ ซึ่งเน้นควบคุมไม่ให้อิหร่านสามารถพัฒนานิวเคลียร์และขีปนาวุธได้เลย เน้นปิดกั้นหรือขจัดอิทธิพลทางทหารและการเมืองของอิหร่านในภูมิภาค กล่าวคือต้องการให้อิหร่านถอนกำลังและการสนับสนุนของตัวเองในซีเรีย เยเมน อิรัก ยุติการสนับสนุนกลุ่มฮูตี ตาลีบัน อัลกออิดะห์ ฮิซบอลเลาะห์ และฮามาส เป็นต้น อิหร่านต้องยุติพฤติกรรมที่เป็นภัยคุกคามเพื่อนบ้านและพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาค ทั้งการข่มขู่ว่าจะทำลายอิสราเอล หรือยิงขีปนาวุธโจมตีซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หยุดคุกคามเส้นทางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและการโจมตีทางไซเบอร์
ไม่ว่าอิหร่านจะเลือกตัดสินใจอย่างไรตามแนวทางข้างต้น ก็ถูกตีกรอบให้อ่อนกำลังหรือจำกัดขีดความสามารถและการพัฒนาลงทั้งทางด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ อิหร่านถูกบีบให้มีทางเลือกไม่มากนัก หากอิหร่านเลือกที่จะเจรจาภายใต้การกดดัน นอกจากจะเสียเปรียบแล้วยังอาจนำไปสู่ความวุ่นวายและการประท้วงภายในของกลุ่มอนุรักษนิยมที่ไม่เห็นด้วยกับการเจรจาทำข้อตกลงตั้งแต่ต้น
อิหร่านที่โดดเดี่ยวจากภายนอก
มาตรการกดดันและคว่ำบาตรอิหร่านคงไม่เป็นผลหากไม่โดดเดี่ยวอิหร่าน หรือหากอิหร่านยังคงสามารถค้าขายหรือสร้างความร่วมมือกับประชาคมโลกได้ตามปกติ ดังนั้นสหรัฐฯ จึงใช้มาตรการระดับสูงสุดเพื่อโดดเดี่ยวอิหร่านใน 3 ด้าน ตามลำดับ
1. โดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจจากการคว่ำบาตรการค้าต่ออิหร่านและต่อกลุ่มบุคคล องค์กร และประเทศที่ค้าขายกับอิหร่านทั้งหมด
2. โดดเดี่ยวด้านความมั่นคงด้วยการขึ้นบัญชี IRGC เป็นกลุ่มก่อการร้าย เพราะกลุ่มกองกำลัง IRGC ของอิหร่านมีหน่วยกุดส์ที่มีอิทธิพลและมีความร่วมมือด้านความมั่นคงกับประเทศต่างๆ ทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย เป็นทางการและไม่เป็นทางการ หรือมีความสัมพันธ์กับกลุ่มติดอาวุธที่เป็นตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐหลายๆ กลุ่มในภูมิภาค
3. โดดเดี่ยวทางการเมืองด้วยการคว่ำบาตรผู้นำสูงสุดและรัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ทั้งนี้แม้ว่าการคว่ำบาตรผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณ อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี จะไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบใดๆ ในทางปฏิบัติ แต่ในทางสัญลักษณ์ สหรัฐฯ พยายามชี้ให้โลกเห็นว่ากำลังโจมตีระบอบและผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อีกทั้งการมุ่งคว่ำบาตรรัฐมนตรีต่างประเทศก็มีนัยคือการโดดเดี่ยวทางการทูตหรือการระหว่างประเทศของอิหร่านด้วย การที่ประเทศใดก็ตามมีการเจรจาทางการทูตหรือการสร้างความร่วมมือใดๆ ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับอิหร่าน แม้จะกระทำได้หรือไม่ได้ถูกสหรัฐฯ สั่งห้าม แต่ในทางปฏิบัติอาจหมายถึงการดำเนินนโยบายที่ไม่สอดรับกับสหรัฐฯ
นโยบายและมาตรการต่างๆ ของสหรัฐฯ ต่ออิหร่านที่ปรากฏและนำมาสู่ความตึงเครียดระลอกใหม่ครั้งนี้เป็นความพยายามทำให้อิหร่านอ่อนแอจากภายในและโดดเดี่ยวจากภายนอก แต่หากเครื่องมือต่างๆ ที่สหรัฐฯ นำมาใช้กับอิหร่านยังไม่สามารถหยุดยั้งหรือจำกัดการพัฒนาขีดความสามารถทางทหาร ความมั่นคง และเศรษฐกิจ รวมทั้งอิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาคได้ จนกระทบต่อสถานภาพเดิมทางภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคงของอิสราเอล ในกรณีเลวร้ายที่สุด สหรัฐฯ อาจพิจารณาใช้มาตรการที่หนักขึ้น รวมถึงมาตรการฝ่ายเดียวโดยใช้กำลังกับอิหร่าน หรือไม่ก็มาตรการหลายฝ่ายโดยสร้างกลุ่มพันธมิตรทางทหารกับกลุ่มประเทศอาหรับด้านหนึ่ง นาโต้และพันธมิตรยุโรปอีกด้านหนึ่ง หรือแม้แต่อิสราเอลด้วย ซึ่งจะเป็นฉากทัศน์สงครามที่ส่งผลต่อโลกอย่างมาก
Security Dilemma สภาวะความมั่นคงของรัฐที่ทำให้รัฐในระบบระหว่างประเทศไม่มั่นคง
Security Dilemma เป็นศัพท์เฉพาะทางความมั่นคงที่ใช้กันในแวดวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งอธิบายว่าภายใต้สถานการณ์ของโลกที่มีลักษณะเป็น ‘อนาธิปไตย’ (Anarchy) หรือสภาวะที่ขาดอำนาจควบคุมจากส่วนกลาง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือในสังคมระหว่างประเทศนั้น แต่ละรัฐยึดมั่นในอำนาจสูงสุดของตนเอง (Sovereignty) ใครจะมาบังคับไม่ได้ รัฐจึงตกอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า ‘กลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางความมั่นคง’ หรือ Security Dilemma อันเป็นสภาพที่รัฐกังวลว่าจะไม่มั่นคง จึงทำทุกวิถีทางเพื่อสร้างและปกป้องความมั่นคงให้กับตัวเองด้วยการสะสมอาวุธหรือพัฒนาแสนยานุภาพทางทหาร โดยอาจไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อรุกรานรัฐอื่นๆ เพียงแค่ต้องการปกป้องตนเองในโลกที่ไร้ระเบียบและไร้อำนาจสูงสุดที่จะคุ้มครองรัฐหนึ่งๆ ได้ แต่ในความเป็นจริงการสะสมอาวุธจะทำให้รัฐอื่นๆ มองว่าเป็นภัยคุกคามเช่นกัน จึงเริ่มสะสมอาวุธและสร้างความเข้มแข็งทางทหารขึ้นมาให้ทัดเทียมหรือเหนือกว่าเพื่อประกันความมั่นคงของตน
สภาพเช่นนี้นำพารัฐและสังคมระหว่างประเทศไปสู่ความไม่มั่นคง ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามได้ ดังนั้น Security Dilemma จึงหมายถึง ‘สภาวะความมั่นคงที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคง’ ในลักษณะที่ไม่มีทางเลือก เพราะรัฐต่างๆ จะกังวลต่อความมั่นคงของตนจนพากันถลำลึกสู่ความไม่มั่นคง เช่น จีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตนในปี 1964 เพราะแข่งกับสหรัฐฯ แต่ทำให้เพื่อนบ้านอย่างอินเดียที่เคยรบกันในปี 1962 ไม่สบายใจ และเร่งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์บ้างจนสำเร็จในปี 1974 ปากีสถานซึ่งทำสงครามกับอินเดียมาแล้ว 3 ครั้งก็ต้องเร่งพัฒนานิวเคลียร์ขึ้นมาจนสำเร็จในปี 1998 ทำให้ปัจจุบันภูมิภาคนี้เป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อภัยสงครามนิวเคลียร์มากที่สุด
อีกตัวอย่างคลาสสิกคือสงครามเพโลพอนนีเซียน อันมีสาเหตุหนึ่งมาจากที่กรีกมีความกังวลว่าจะถูกเปอร์เซียรุกราน เอเธนส์จึงสร้างกองกำลังและสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างเต็มที่ ทำให้พวกสปาร์ตาซึ่งมีกองทหารที่แข็งแกร่งมองเอเธนส์อย่างหวาดระแวงว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อตน จนท้ายที่สุดนำไปสู่ความขัดแย้งและทำสงครามกัน
ดังนั้น Security Dilemma คือ ‘สภาวะความมั่นคงของรัฐที่ทำให้รัฐในระบบระหว่างประเทศไม่มั่นคง’ สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านและภูมิภาคตะวันออกกลางก็มีสภาวะเช่นเดียวกัน และกำลังถลำลึกเข้าสู่วิกฤตมากขึ้น สหรัฐฯ มีความกังวลต่อโครงการนิวเคลียร์และแสนยานุภาพทางการทหารที่มากขึ้นของอิหร่าน เพราะต้องการปกป้องความมั่นคงให้กับพันธมิตรของตนในภูมิภาค โดยเฉพาะอิสราเอล
ส่วนอิหร่านก็เดินหน้าพัฒนาขีดความสามารถทางทหารและการป้องกันประเทศ เพราะไม่ไว้ใจสหรัฐฯ ที่อาจโจมตีอิหร่านเหมือนที่ทำกับอัฟกานิสถานและอิรัก หรือแม้แต่กับลิเบีย อิหร่านเองก็มองว่าอิสราเอลซึ่งเป็นเหมือนไข่ในหินของสหรัฐฯ นอกจากได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตกทั้งเงินและอาวุธแล้วยังมีนิวเคลียร์อีกด้วย อิสราเอลซึ่งมาตั้งรัฐในดินแดนปาเลสไตน์ก็มองว่าตัวเองเหมือนไข่แดงที่ล้อมรอบไปด้วยประเทศอาหรับซึ่งเคยทำสงครามกันมาแล้วหลายครั้ง ก็จำเป็นต้องมีแสนยานุภาพทางทหารเพื่อป้องกันตนเอง แม้ในบางครั้งจะเป็นการป้องกันในเชิงรุกหรือโจมตีประเทศอื่นๆ ก็ตาม
เมื่ออิหร่านมีการพัฒนานิวเคลียร์และขีปนาวุธที่มีศักยภาพมากขึ้น ประกอบกับอิทธิพลทางการเมืองที่กำลังขยายตัวในตะวันออกกลาง ซาอุดีอาระเบียย่อมไม่สบายใจและมองเป็นภัยคุกคามที่สำคัญ ซาอุดีอาระเบียจึงไม่เพียงแต่ซื้ออาวุธจำนวนมากจากสหรัฐฯ แต่ยังพยายามรวบรวมพันธมิตรทางทหารในกลุ่มอาหรับเพื่อรับมือกับอิหร่าน ที่สำคัญคือซาอุดีอาระเบียเริ่มคิดที่จะพัฒนานิวเคลียร์ขึ้นมาแล้ว เพราะมองว่าถ้าอิหร่านมีได้ หรือสหรัฐฯ ไม่สามารถหยุดยั้งโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านได้ ซาอุดีอาระเบียก็จำเป็นต้องมีด้วย
สถานการณ์เช่นนี้ยิ่งเร่งให้รัฐในตะวันออกกลางเข้าสู่สภาวะ Security Dilemma มากขึ้น สหรัฐฯ ถูกกดดันจากพันธมิตรในตะวันออกกลางให้ต้องสกัดกั้นอิทธิพลและการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านเพื่อยื้อสถานะเดิม (Status Quo) หาไม่แล้วก็จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์และผลประโยชน์ของสหรัฐฯ อย่างมาก
หากมองสถานการณ์ตามแนวคิดสภาพจริงนิยม (Realism) การที่สหรัฐฯ สกัดกั้นอิหร่านจากการพัฒนานิวเคลียร์และขีปนาวุธป้องกันประเทศอาจไม่ได้เป็นไปเพื่อปกป้องอิสราเอลหรือพันธมิตรอื่นในตะวันออกกลางเท่านั้น หากแต่สหรัฐฯ ไม่ต้องการให้เกิดดุลแห่งความหวาดกลัวระหว่างคู่ขัดแย้งในตะวันออกกลาง (Balance of Terror) เพราะหากอิหร่านมีนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองจะหมายถึงอำนาจต่อรองกับอิสราเอลหรือแม้แต่สหรัฐฯ มากขึ้น เมื่อนั้นการปะทะกันหรือทำสงครามนิวเคลียร์จะไม่ใช่ทางออก เพราะทั้งสองฝ่ายจะกลัวความสูญเสีย ในกรณีแบบนี้ซาอุดีอาระเบียก็ต้องมีด้วย
ลักษณะของดุลอำนาจดังกล่าว แม้อิหร่านจะต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น แต่เป็นภาพที่สหรัฐฯ ไม่พึงปรารถนา เพราะจะหมายถึงอิทธิพลที่ลดลงของสหรัฐฯ ต่อกลุ่มประเทศอาหรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คล้ายกับปากีสถานยุคนายกรัฐมนตรีอิมรอน ข่าน ที่ตัดสินใจออกห่างจากสหรัฐฯ เนื่องจากมั่นใจในศักยภาพด้านการป้องกันหรือป้องปราม เพราะมีนิวเคลียร์อยู่ เท่ากับสร้างดุลความหวาดกลัวกับอินเดียแล้ว ในขณะที่รัฐบาลก่อนๆ อยู่ใต้อิทธิพลสหรัฐฯ เพราะผลประโยชน์ด้านอื่นๆ
ดังนั้นความอันตรายของวิกฤตกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางความมั่นคงขณะนี้จึงอยู่ที่การตัดสินใจของสหรัฐฯ ว่าจะหยุดยั้งอิหร่านอย่างไรไม่ให้พัฒนาไปสู่จุดที่สามารถสร้างดุลความหวาดกลัวกับรัฐคู่ขัดแย้งได้ ทั้งที่อิหร่านยืนยันไม่เจรจากับสหรัฐฯ ภายใต้แรงกดดันที่บังคับให้อิหร่านต้องรับทุกเงื่อนไข หากสหรัฐฯ กดดันบีบคั้นทุกอย่างแล้วยังไม่สามารถหยุดยั้งอิหร่านได้ สหรัฐฯ คงมี 2 แนวทาง
แนวทางแรกคือปล่อยให้อิหร่านพัฒนาดุลแห่งความหวาดกลัวดังกล่าวขึ้นในภูมิภาค ซึ่งกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐฯ อย่างรุนแรง อิสราเอลกับซาอุดีอาระเบียก็คงไม่ต้องการให้เกิดขึ้น สหรัฐฯ เพียงคว่ำบาตรมากที่สุดเท่าที่ทำได้ แนวทางที่สองคือพิจารณาใช้กำลังจัดการขั้นเด็ดขาดต่ออิหร่านร่วมกับพันธมิตรซาอุดีอาระเบียและอิสราเอล การเลือกแนวทางนี้อาจไม่ง่าย แต่ก็ไม่แน่ เพราะสถานการณ์บีบบังคับดังที่ได้กล่าวมา
กรณีเลวร้ายที่สุดที่เหตุการณ์อาจบานปลายสู่การใช้กำลังเผชิญหน้าหรือทำสงครามกันจะเป็นฉากทัศน์อันตรายที่ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมาก และไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น
แต่หากมองในมุมของรัฐที่ขัดแย้งหรือเกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์เหล่านี้อาจมองฉากทัศน์สงครามที่ต่างกันบนฐานความคิดที่ไม่ปฏิเสธการใช้กำลัง แต่ก็ไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสียกับตัวเอง หรือถ้ามีสงครามเกิดขึ้นจริงๆ ใครต้องการอะไร ที่ไหน เมื่อไร และอย่างไร คำถามเหล่านี้อาจทำให้เข้าใจสถานการณ์ได้มากขึ้น ถ้าถามว่า “หากสงครามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คุณต้องการให้มันเป็นแบบไหน”
ถ้าถามอิหร่าน คงได้คำตอบว่า “ไม่ต้องการทำสงครามกับสหรัฐฯ แต่ก็พร้อมตอบโต้ และขอให้พันธมิตรอย่างรัสเซีย ซีเรีย กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน กลุ่มฮูตีในเยเมน และกลุ่มติดอาวุธในประเทศต่างๆ ที่อิหร่านสนับสนุนให้เข้าร่วมในสงครามนี้ด้วย”
ถ้าถามสหรัฐฯ สหรัฐฯ คงต้องการ “ใช้มาตรการหลายฝ่ายก่อน โดยดึงนาโต้และพันธมิตรชาติตะวันตกมาร่วม หรือไม่ก็กดดันให้พันธมิตรอาหรับรวมกลุ่มกันโจมตีอิหร่าน ส่วนสหรัฐฯ จะสนับสนุนอยู่ห่างๆ และรับประกันความปลอดภัยของเส้นทางขนส่งน้ำมันออกจากช่องแคบฮอร์มุซ”
ถ้าถามซาอุดีอาระเบีย คงต้องการให้ “สหรัฐฯ และอิสราเอลใช้กำลังกับอิหร่านโดยตรง แต่ไม่ควรยืดเยื้อหรือส่งผลต่อการขนส่งน้ำมันออกจากช่องแคบฮอร์มุซ”
ถ้าถามอิสราเอล คงต้องการให้ “สหรัฐฯ ถล่มฐานกำลังของอิหร่านในประเทศต่างๆ ทั้งในเยเมน อิรัก ซีเรีย และเลบานอน ไม่ต้องไปเผชิญหน้าโดยตรงกับอิหร่าน เพราะอิหร่านขู่ว่าถ้าสหรัฐฯ โจมตีอิหร่าน อิสราเอลจะอยู่บนโลกนี้ได้อีกแค่ครึ่งชั่วโมง ในอีกด้านหนึ่ง ให้กลุ่มประเทศอาหรับรวมตัวเป็นพันธมิตรทางทหาร (อาหรับนาโต้) โจมตีอิหร่าน เพราะจะเป็นการต่อสู้ระหว่างอิหร่านกับอาหรับ ไม่เกี่ยวกับอิสราเอล… หรือหากไม่มีใครลงมือ อิสราเอลอาจเปิดฉากโจมตีอิหร่านเอง”
ทั้งหมดคือฉากทัศน์อันตรายและเบื้องหลังภูเขาน้ำแข็งของวิกฤตที่ไม่ได้มีเฉพาะสหรัฐฯ กับอิหร่านเท่านั้น แต่เป็นปัญหาใหญ่ในเชิงโครงสร้างอำนาจระยะเปลี่ยนผ่านที่กระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์ของมหาอำนาจทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาค
หวังว่าฉากทัศน์อันตรายเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น และทุกฝ่ายจะตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมา โดยสามารถหาทางแก้ไขผ่านกระบวนการพูดคุยเจรจาระหว่างกัน หรือใช้กลไกสหประชาชาติเข้าคลี่คลายได้สำเร็จ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- www.trtworld.com/opinion/donald-trump-s-anti-iran-camp-is-wading-into-dangerous-waters-26484
- www.armscontrol.org/act/2018-06/news/saudi-arabia-threatens-seek-nuclear-weapons
- www.aljazeera.com/news/2018/05/mike-pompeo-speech-12-demands-iran-180521151737787.html
- eastwest.eu/en/opinions/iran-today-tomorrow-economy/shia-crescent-myth-reality-map
- www.bbc.com/news/world-us-canada-44200621
- www.thejournal.ie/iran-nuclear-deal-netanyahu-3987314-Apr2018/
- www.reuters.com/article/us-usa-trump-iran-tweet/trump-tweets-iran-is-playing-with-fire-says-wont-be-as-kind-as-obama-idUSKBN15I1HP