ปัญหาปากท้อง ข้าวยากหมากแพง ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการถูกชนชั้นปกครองกดขี่ ล้วนเป็นปัญหาที่สร้างความขัดแย้งและเป็นชนวนให้ประชาชนลุกฮือขึ้นประท้วงต่อต้านรัฐบาลหรือคณะผู้นำประเทศมานักต่อนักตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่เว้นแม้แต่อิหร่าน ซึ่งปกครองในระบอบกึ่งเผด็จการเทวาธิปไตย (Theocracy) และมีกฎหมายควบคุมการประท้วง รวมถึงการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างเข้มงวด
เหตุประท้วงการทำงานของรัฐบาลเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2017 โดยชาวอิหร่านลุกฮือขึ้นต่อต้านและตั้งคำถามกับรัฐบาลและระบอบอิสลาม จนลุกลามบานปลายกลายเป็นเหตุปะทะกันเป็นวันที่ 6 (3 มกราคม 2018) มียอดผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 21 คน และมีผู้ถูกจับกุมแล้วกว่า 450 คนในหลายเมืองสำคัญทั่วประเทศ
แม้ว่าวันนี้ (4 ม.ค.) ผู้บัญชาการของกองกำลังเพื่อการปฏิวัติอิหร่านจะออกมาประกาศว่าการปลุกระดมประชาชนเพื่อประท้วงต่อต้านรัฐบาลอิหร่านสิ้นสุดลงแล้ว และระดับการประท้วงก็ลดความรุนแรงลง หลังมีประชาชนหลายหมื่นคนออกมารวมตัวกันสนับสนุนรัฐบาลให้อยู่ในอำนาจต่อไป
แต่อะไรคือสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ชาวอิหร่านไม่พอใจรัฐบาลจนนำไปสู่การประท้วงที่ดำเนินยืดเยื้อนานนับสัปดาห์ และบานปลายกลายเป็นเหตุจลาจลนองเลือดครั้งนี้? แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงเพราะปัญหาค่าครองชีพสูงเท่านั้น แต่ยังมาจากปัญหาภายในประเทศที่หมักหมมมานานหลายปีอีกด้วย
เหตุเกิดจาก ‘ไข่’
ปัญหาใหญ่ในหลายๆ กรณีมักมีต้นตอมาจากปัญหาที่อาจดูเป็นเรื่องเล็ก ที่อิหร่านก็เช่นกัน เพราะหนึ่งในปัจจัยที่สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนอิหร่านเป็นอย่างมากคือปัญหาราคาไข่ที่แพงขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับปี 2016
หนังสือพิมพ์ Financial Tribune ของอิหร่านรายงานว่า ราคาไข่ในอิหร่านปรับตัวเพิ่มขึ้น 9% ในช่วงวันที่ 16-22 ธันวาคมปีที่ผ่านมา และแพงขึ้นเฉลี่ยถึง 53.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไข่ 1 ถาด (30 ฟอง) มีราคาสูงถึง 126,000-175,000 เรียลอิหร่าน (ประมาณ 3-4.1 เหรียญสหรัฐ) ขณะที่บางพื้นที่ขายกันถึงถาดละ 210,000 เรียล (5.01 เหรียญสหรัฐ)
การที่ไข่แพงขึ้นย่อมสะท้อนค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างหลีกหนีไม่พ้น ส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อนกันถ้วนหน้าจนเกิดความขุ่นเคืองรัฐบาลที่ไม่สามารถควบคุมราคาไข่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เศรษฐกิจย่ำแย่ อัตราว่างงานพุ่งสูงลิ่ว
อัตราว่างงานเป็นหนึ่งในมาตรวัดสุขภาพทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ขณะที่อิหร่านมีอัตราการว่างงานสูงถึง 12% ซึ่งหมายความว่าประชากรวัยทำงาน 100 คน จะมีคนตกงานมากถึง 12 คน โดยกลุ่มผู้ว่างงานส่วนใหญ่เป็นประชาชนในวัยหนุ่มสาว
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคของอิหร่านยังคงเคลื่อนไหวที่ระดับประมาณ 10% ในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงมาก ถึงแม้ว่าจะลดลงมาจากระดับ 40% ในปี 2013 ซึ่งเป็นปีที่ฮัสซัน โรฮานี ได้รับเลือกตั้งให้มาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของอิหร่านเป็นสมัยแรกก็ตาม
นโยบายที่ล้มเหลวของประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี?
อิหร่านเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ในกลุ่มโอเปก ซึ่งพึ่งพาการส่งออกน้ำมันในฐานะแหล่งรายได้หลักของประเทศ ดังนั้นนโยบายส่วนใหญ่ของอิหร่านจึงให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมน้ำมันเป็นลำดับต้นๆ และบ่อยครั้งก็มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมพลังงานในประเทศ และทำให้รายได้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมดังกล่าว
ในช่วงปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโรฮานีได้พยายามอย่างหนักในการเจรจากับนานาชาติ โดยยอมจำกัดขอบเขตการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมในโครงการนิวเคลียร์ของตนเพื่อแลกกับเงื่อนไขให้นานาชาติผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร ซึ่งรวมไปถึงการอนุญาตให้อิหร่านขายน้ำมันในตลาดต่างประเทศได้ โดยปัจจุบันปริมาณการผลิตน้ำมันของอิหร่านได้ดีดตัวขึ้นสู่ระดับก่อนหน้าการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ในปี 2011 ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอิหร่านก็อยู่ในทิศทางการฟื้นตัว หลังจากที่เคยหดตัวลงในช่วงระหว่างปี 2012-2013
อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอิหร่านเกือบทั้งหมดล้วนมาจากอุตสาหกรรมน้ำมัน ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์ และทำให้เกิดปัญหาการกระจายรายได้ รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม
ปัญหาเรื้อรังในภาคการเงิน
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เคยออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลอิหร่านทำการปฏิรูประบบการเงินอย่างเร่งด่วน เนื่องจากบริษัทอิหร่านที่อยู่นอกภาคพลังงานจำนวนมากต่างก็ประสบปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธนาคารต่างๆ ส่งผลให้สถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำงอกเงยขึ้นมาอย่างรวดเร็วโดยที่ปราศจากการกำกับดูแลจากหน่วยงานรัฐบาล โดยปัญหาดังกล่าวได้ฝังรากลึกมานานนับตั้งแต่สิ้นสุดยุครัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีมะห์มูด อะห์มะดีเนจาด
และเมื่อปีที่แล้วได้เกิดกระแสความกังวลเกี่ยวกับการล้มละลายของสถาบันการเงินขนาดใหญ่บางแห่งในอิหร่าน ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อภาคธนาคารของอิหร่านโดยรวม เป็นเหตุให้ลูกค้าสถาบันการเงินเหล่านั้นได้ออกมาชุมนุมเรียกร้องขอถอนเงินฝากจากบัญชีทั้งหมด ขณะที่ประธานาธิบดีโรฮานีพยายามกอบกู้วิกฤตในภาคการเงิน โดยออกมายืนยันเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณวงเงิน 3 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อพยุงภาคการเงินของประเทศ
การปลุกปั่นโดยรัฐบาลต่างชาติ
ถึงแม้ประชาคมโลกจะมองว่าเหตุการณ์ประท้วงในอิหร่านครั้งนี้มีต้นตอมาจากปัญหาภายในที่หมักหมมมานานหลายปี แต่อิหร่านกลับยืนกรานว่ารัฐบาลต่างชาติต่างหากที่อยู่เบื้องหลังการประท้วงครั้งนี้ อยาตอลเลาะห์ อะลี โฮไซนี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ระบุว่า ศัตรูนอกประเทศพยายามก่อความไม่สงบขึ้นในอิหร่านโดยใช้เครื่องมือต่างๆ ทั้งเงิน อาวุธ การเมือง และข่าวกรอง ขณะที่นักวิเคราะห์เชื่อว่า ‘ศัตรู’ ที่คาเมเนอีกล่าวถึงนี้หมายถึงสหรัฐอเมริกา อิสราเอล และซาอุดีอาระเบีย
อย่างไรก็ดี แม้อิหร่านจะไม่ได้แสดงหลักฐานที่บ่งชัดว่าสหรัฐฯ อิสราเอล หรือซาอุดีอาระเบีย เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์จลาจลในหลายเมืองของอิหร่าน แต่หลังจากที่การประท้วงทวีความรุนแรงขึ้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้ออกมาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าตนจะสนับสนุนชาวอิหร่านที่ถูกกดขี่ให้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลต่อไป ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าท่าทีของทรัมป์เช่นนี้ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในประเทศ และอาจทำให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางทวีความตึงเครียดยิ่งขึ้น
ไม่ว่าสาเหตุการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอิหร่านครั้งนี้จะมาจากอะไร แต่ย่อมเป็นสัญญาณเตือนว่า รัฐบาลและชนชั้นปกครองของอิหร่านควรหันมาใส่ใจปัญหาปากท้องและการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพราะปัญหาเหล่านี้เปรียบดั่งระเบิดเวลาที่รอวันระเบิด และสามารถก่อคลื่นใต้น้ำที่นำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลได้ทุกเมื่อ เพราะอิหร่านก็เคยเห็นตัวอย่างของพลังมวลชนมาแล้วในช่วงที่เกิดกระแสการปฏิวัติในโลกมุสลิม หรือ ‘อาหรับสปริง’ เมื่อ 7 ปีที่แล้ว
Photo: AFP
อ้างอิง: