×

‘เหมือนหลุดจาก Top Gun ภาคแรก’ เหตุเฮลิคอปเตอร์ตก สะท้อนอิหร่านใช้เครื่องบินเก่า ซื้อจากสหรัฐฯ ตั้งแต่สงครามเย็น

21.05.2024
  • LOADING...

จากเหตุการณ์น่าเศร้าที่เฮลิคอปเตอร์ที่ประธานาธิบดีอิบราฮิม ไรซีของอิหร่านโดยสารประสบอุบัติเหตุตกนั้น ถือว่าเป็นอุบัติเหตุที่ค่อนข้างร้ายแรง เพราะนอกจากจะเป็นการสูญเสียบุคคลระดับผู้นำประเทศแล้ว ยังอาจส่งผลต่อภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองทั้งภายในอิหร่านเองและในภูมิภาค เพราะอย่างที่เราทราบกันดีก็คือไรซีเป็นนักการเมืองสายสุดโต่งที่มีแรงกดดันจากการชุมนุมประท้วงในอิหร่านอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่เป็นอิหร่านให้การสนับสนุนฮามาสอย่างเปิดเผย ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

 

แต่สิ่งที่น่าสนใจและคาดว่าหลายๆ คนคงจะสงสัยก็คือ เฮลิคอปเตอร์ที่ประธานาธิบดีอิหร่านโดยสารและประสบเหตุตก ก็คือเฮลิคอปเตอร์ Bell 212 ของบริษัท Bell Helicopter หรือในปัจจุบันคือ Bell Textron ของสหรัฐอเมริกานั่นเอง แต่เราคงทราบกันดีว่าสหรัฐฯ และอิหร่าน มีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง และสหรัฐฯ คว่ำบาตรอิหร่านมาอย่างยาวนาน แต่ทำไมจึงมีเฮลิคอปเตอร์ของสหรัฐฯ ในอิหร่านได้

 

เรื่องนี้อาจต้องย้อนกลับไปถึงช่วงทศวรรษที่ 70 ในช่วงที่อิหร่านอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าชาร์ ซึ่งอิหร่านเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นกับสหรัฐฯ ในช่วงจุดสูงสุดของสงครามเย็น จากจุดยืนนี้ทำให้อิหร่านจัดหายุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ มาเป็นจำนวนมาก และจากการที่อิหร่านมีรายได้ค่อนข้างมาก จึงทำให้อาวุธที่จัดหามาล้วนเป็นอาวุธที่ทันสมัย ในทางกลับกันสหรัฐฯ ในช่วงนั้นมีนโยบายที่จะสนับสนุนพันธมิตรทั่วโลกอย่างเต็มที่ จึงขายอาวุธให้โดยแทบไม่มีข้อจำกัด

 

เมื่อมามองอากาศยานแล้ว อิหร่านจัดหาเครื่องบินขับไล่ที่มีสมรรถนะสูงอย่าง F-4 Phantom II, F-5 Tiger รวมถึง F-14 Tomcat สุดยอดเครื่องบินรบซึ่งอิหร่านเป็นประเทศเดียวที่สหรัฐฯ ขายให้ สำหรับเครื่องบินประเภทอื่นก็เช่น เครื่องบินลำเลียง C-130 Hercules, เครื่องบินโดยสาร Boeing 707, Boeing 747 และเฮลิคอปเตอร์อย่าง Bell 206, Bell 212, CH-47 Chinook เป็นต้น

 

พูดง่ายๆ ว่า หลับตามองกองทัพอิหร่านในตอนนี้ อาวุธที่ใช้ส่วนหนึ่งก็เหมือนหลุดออกมาจากหนังเรื่อง Top Gun ภาค 1 ในปี 1986 นั่นเอง

 

แต่จุดเปลี่ยนคือในปี 1979 อิหร่านเกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่จากการปฏิวัติอิสลาม ซึ่งรวมถึงการบุกสถานทูตสหรัฐฯ ประจำอิหร่าน และจับนักการทูตเป็นตัวประกันเป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะเจรจาปล่อยตัวได้สำเร็จ แต่เหตุการณ์นี้ก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศขาดสะบั้นลง ซึ่งก็รวมถึงการคว่ำบาตรการขายอาวุธให้กับอิหร่านด้วยเช่นกัน

 

ด้วยความโชคดีคือ ก่อนที่จะเกิดการปฏิวัติอิสลาม กองทัพอิหร่านได้จัดหาอาวุธที่ใช้กับอากาศยานและอะไหล่จำนวนมากจากสหรัฐฯ จึงทำให้สามารถใช้งานอากาศยานต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง และอากาศยานเหล่านี้ก็แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการรบในสงครามระหว่างอิรักและอิหร่านซึ่งดำเนินมาเป็นเวลาหลายปี

 

อิหร่านก็รู้ดีว่าอาวุธและอะไหล่ที่มีนั้นไม่สามารถใช้งานได้ตลอดไป จึงออกนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและอุตสาหกรรมการบินในประเทศ เพื่อให้พึ่งพาตนเองได้ โดยใช้วิธีลอกแบบและทำวิศวกรรมย้อนกลับอากาศยานและระบบอาวุธที่จัดหามาจากสหรัฐฯ และเริ่มจากการผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่เลียนแบบเพื่อให้ใช้งานกับอากาศยานของสหรัฐฯ ได้ หลังจากนั้นจึงพัฒนาระบบเอวิโอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถของอากาศยาน ไปจนถึงสามารถผลิตอากาศยานเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง ตัวอย่างที่เห็นก็เช่น เครื่องบินขับไล่แบบ Azarakhsh, Kowsar, และ Saeqeh ที่เป็นการทำวิศวกรรมย้อนกลับและพัฒนาจากเครื่องบินขับไล่ F-5 นั่นเอง

 

แต่แม้อิหร่านจะสามารถจัดหาอากาศยานใหม่จากทั้งจีน และโซเวียตซึ่งต่อมาคือรัสเซีย เข้าประจำการได้ ปัญหาจากการคว่ำบาตรทำให้อิหร่านไม่สามารถเรียนรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเปลี่ยนแปลงไปได้เป็นเวลานาน การพัฒนาอากาศยานเองของอิหร่านนั้นแม้ว่าจะมีประสิทธิภาพและใช้งานได้ แต่ต้องยอมรับว่ายิ่งเวลาผ่านไป ประสิทธิภาพของเครื่องบินที่อิหร่านมีใช้งานก็ยิ่งห่างจากเครื่องบินที่ผลิตออกมาใหม่และเครื่องบินที่ประเทศที่เป็นศัตรูกับอิหร่านใช้งานอยู่ในปัจจุบัน

 

อย่างที่เราเห็นก็คือ มองไปในกองทัพอากาศอิหร่านทุกวันนี้ก็เหมือนยังอยู่ในสมัยหนังเรื่อง Top Gun ภาค 1 อยู่ ผสมกับเครื่องบินรุ่นเก่าของจีนและรัสเซียที่ยังใช้งานอยู่ ทั้งที่ในปัจจุบันหนัง Top Gun: Maverick หรือภาค 2 ออกมาราว 2 ปีแล้ว ซึ่งแปลว่าอิหร่านใช้งานอากาศยานเหล่านี้มากว่า 50 ปี และแน่นอนว่าโครงสร้างอากาศยานหลายแบบคงจะใกล้หมดอายุหรือหมดอายุไปแล้ว คงต้องจัดหาอากาศยานใหม่จากทั้งการผลิตเองและซื้อจากต่างประเทศค่อนข้างแน่ และอิหร่านก็เริ่มดำเนินการบ้างแล้ว เช่น จัดหาเครื่องบินขับไล่ Su-35 จำนวน 24 ลำจากรัสเซีย เป็นต้น

 

แต่เครื่องบินที่ผลิตในสหรัฐฯ ยังคงเป็นเครื่องบินหลักของกองทัพอิหร่านไปอีกพักใหญ่ ซึ่งก็รวมถึง Bell 212 ที่ประธานาธิบดีอิหร่านใช้โดยสารด้วยเช่นกัน แน่นอนว่าจากสภาพที่ปรากฏค่อนข้างเป็นไปได้สูงที่อาจเกิดจากสภาพอากาศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยเทคโนโลยีของเฮลิคอปเตอร์ Bell 212 ที่มีเครื่องช่วยการเดินอากาศน้อย และต้องเน้นการบินด้วยสายตา (Visual Flight Rule: VFR) และอิหร่านไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ของเฮลิคอปเตอร์แบบนี้ได้ อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำไปสู่โศกนาฏกรรม แตกต่างจากเฮลิคอปเตอร์ของประเทศอื่นที่นำมาใช้เป็นเฮลิคอปเตอร์รับ-ส่งบุคคลสำคัญ ซึ่งมักจะมี 2-3 เครื่องยนต์ มีระบบช่วยเหลือต่างๆ มากมาย ทั้งเรดาร์อากาศ ระบบนักบินอัตโนมัติ หรือระบบความปลอดภัยต่างๆ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของบุคคลสำคัญ

 

เหตุการณ์นี้อาจเป็นตัวจุดชนวนที่ทำให้อิหร่านต้องปรับปรุงและพัฒนาฝูงบินใหม่จากทั้งการผลิตในประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดหาจากประเทศที่เป็นพันธมิตรของอิหร่านและมีเทคโนโลยีสูง เช่น รัสเซีย ก็เป็นได้ ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X