×

นักลงทุนถล่มขายหุ้นค้าปลีก หลังกำไรบริษัทเครือเจ้าสัว ‘BJC-CPAXT’ ต่ำกว่าคาด 8% กดหุ้นไทยดิ่ง 20 จุด ช่วงเช้า

09.11.2023
  • LOADING...
หุ้นค้าปลีก

ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยช่วงเช้านี้ (9 พฤศจิกายน) ดัชนี SET ร่วงลงมาแตะ 1,389.46 จุด ลดลงมากสุด 22.31 จุด จากวันก่อนหน้า จากแรงกดดันของหุ้นในกลุ่มค้าปลีก (COMM) ที่มีส่วนกดดันดัชนีมากที่สุดกว่า 4 จุด อย่างหุ้น บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ลดลง 9.24%, บมจ.คอมเซเว่น (COM7) ลดลง 8.89% และ บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า (CPAXT)​ ลดลง 5.36% 

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากตลาดหุ้นเปิดทำการในช่วงบ่าย ดัชนี SET เริ่มฟื้นตัว ทำให้การติดลบของดัชนีลดลงมาเหลือประมาณ 10 จุด

 

ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า หุ้นไทยวันนี้ถูกกดดันจากหุ้นในกลุ่มค้าปลีกเป็นหลัก หลังจากที่กำไรในไตรมาส 3 ของหุ้นขนาดใหญ่อย่าง BJC และ CPAXT ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ราว 8% 

 

“แรงขายหุ้นค้าปลีกขนาดใหญ่ทำให้ SET ไหลลงหลุด 1,400 จุด จนเสีย Sentiment และมีแรงขายตามมา” 

 

ทั้งนี้ BJC มีรายได้รวมในไตรมาส 3 ประมาณ 4.11 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% จากปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 930 ล้านบาท ลดลง 16.1% ขณะที่ CPAXT มีรายได้รวม 1.19 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% และมีกำไรสุทธิ 1.67 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7% 

 

นอกจากหุ้นในกลุ่มค้าปลีกแล้ว หุ้นของ บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) ก็เป็นอีกหนึ่งตัวที่กำไรในไตรมาส 3 ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ส่งผลให้ราคาหุ้น BH ลดลง 6.43% 

 

ภาดลกล่าวต่อว่า ผลประกอบการของหุ้นค้าปลีกขนาดใหญ่ที่ออกมาผิดคาด ทำให้นักลงทุนกังวลต่อหุ้นค้าปลีกตัวอื่นๆ เช่น COM7 ว่าอาจจะมีผลประกอบการไม่ดีอย่างที่คาด 

 

“หนึ่งในปัจจัยที่กดดันหุ้นค้าปลีกคือรอยต่อของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งประชาชนบางส่วนอาจชะลอการใช้จ่ายก่อนหน้านี้ เพื่อรอเงินจากรัฐบาล คล้ายกับที่เราเห็นก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลประกาศนโยบายลดค่าธรรมเนียมการโอน ทำให้คนชะลอซื้อบ้าน” 

 

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันต่อหุ้นค้าปลีกน่าจะเป็นเพียงปัจจัยระยะสั้น เพราะสินค้าของบริษัทเหล่านี้ส่วนมากเป็นปัจจัย 4 

 

ส่วนภาพรวมดัชนีหุ้นไทยในระยะสั้น เชื่อว่าหากดัชนีลดลงไปใกล้ 1,360 จุด จะเป็นจุดของการเข้าซื้อเพื่อรอการฟื้นตัว แต่การที่ดัชนีจะวิ่งผ่าน 1,420 จุด ยังค่อนข้างยาก เพราะปัจจุบันเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติและสถาบันขนาดใหญ่ไหลไปยังพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐอเมริกา 

 

ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า แรงกดดันต่อหุ้นกลุ่มค้าปลีกเป็นปัจจัยเฉพาะตัว หลังจากผลประกอบการไตรมาส 3 ไม่ดีนัก เพราะก่อนหน้านี้เป็นช่วงสุญญากาศ เป็นรอยต่อจากรัฐบาลเก่ามารัฐบาลใหม่ ทำให้มาตรการกระตุ้นต่างๆ มาเริ่มในไตรมาส 4 

 

อย่างไรก็ตาม สัญญาณบวกที่เริ่มเห็นคือดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเดือนตุลาคมออกมาล่าสุดที่ 60.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 58.7 สูงสุดนับแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน

 

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ดีขึ้นมาจากทั้งความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม การหางาน และรายได้ในอนาคต ทำให้ผลกระทบต่อหุ้นค้าปลีกน่าจะเป็นแค่ระยะสั้น และเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ

 

“งบไตรมาส 4 จะดีขึ้นแน่นอนจากไตรมาสก่อน ต่อให้ไม่มีมาตรการกระตุ้น เพราะจะได้อานิสงส์จากปัจจัยฤดูกาล และการที่รัฐบาลจะประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับดิจิทัลวอลเล็ตในวันพรุ่งนี้น่าจะเป็นอีกปัจจัยบวกระยะสั้น”​

 

ส่วนภาพรวมดัชนี SET เชื่อว่าจะไม่ทำจุดต่ำสุด หลังจากบอนด์ยีลด์ผ่านจุดพีคไปแล้ว หากสมมติฐานนี้ถูกต้อง ตลาดหุ้นทั่วโลกจะผ่านจุดต่ำสุดในระยะสั้นไปแล้ว แต่การฟื้นตัวหลังจากนี้ขึ้นกับการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนของแต่ละประเทศ

 

“ตลาดที่จะขึ้นได้แรงกว่าต้องเห็นการปรับประมาณการกำไรขึ้น ซึ่งหุ้นสหรัฐฯ นำโด่ง นักวิเคราะห์ปรับเพิ่มประมาณการอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ไทยยังไม่เห็นการฟื้นตัวของกำไรมากนัก ทำให้การขึ้นแรงๆ ยังเป็นไปได้ยาก จะเป็นการย่ำฐานมากกว่า จนกว่าตลาดจะซึมซับงบไตรมาส 3 และรอให้มีมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising